ข้อตกลงพลาซา (อังกฤษ: Plaza Accord) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ปฏิญญาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (อังกฤษ: Announcement of the Ministers of Finance and Central Bank Governors of France, Germany, Japan, the United Kingdom, and the United States)[1][2][3] เป็นข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก อันได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนีตะวันตก, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีเพิ่มค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลทั้งห้าประเทศได้ลงนามข้อตกลงนี้ในวันที่ 22 กันยายน 1985 ที่โรงแรมพลาซา ในนครนิวยอร์ก

อัตราแลกเปลี่ยนก่อนและหลังข้อตกลงพลาซา
  ฟรังก์ฝรั่งเศสเทียบดอลลาร์สหรัฐ (FRF/USD)
  เยนญี่ปุ่นเทียบดอลลาร์สหรัฐ (JPY/USD)
  มาร์คเยอรมันเทียบดอลลาร์สหรัฐ (DEM/USD)
โรงแรมพลาซาในนครนิวยอร์ก

ข้อตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่เยอรมนีตะวันตกและญี่ปุ่นได้ดุลการค้ากับสหรัฐอย่างมหาศาล สหรัฐประสบภาวะขาดดุลการค้าถึงร้อยละ 3.5 ของมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าอเมริกาถูกประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงวางแผนที่จะลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงเพื่อให้สินค้าของสหรัฐในสายตาของชาวโลกมีราคาถูกลง

การลงนามข้อตกลงพลาซาส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งปีห้าเดือน จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 1987 มีการทำข้อตกลงลูฟวร์เพื่อยับยั้งการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับเงินเยนนับตั้งแต่ข้อตกลงพลาซาบังคับใช้[4]

ข้อตกลงนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีสามารถซื้อหาสินค้าต่างประเทศได้ในราคาถูกลงเกือบเท่าตัว แต่ในทางตรงข้าม สินค้าญี่ปุ่นในสายตาชาวโลกก็มีราคาแพงขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน ในระยะแรกดูเหมือนสินค้าญี่ปุ่นยังคงขายได้แม้มีราคาแพงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นมีความโดดเด่นจนไม่อาจทดแทนด้วยสินค้าจากที่อื่น แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงในระยะยาว[5]

เมื่อภาคการผลิตในญี่ปุ่นทำผลกำไรลดต่ำลง จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าและขนส่งได้สะดวก ซึ่งก็คือกลุ่มอาเซียน4 (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย)[5] หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นต้องปลดคนงานราวหนึ่งในสาม มีการกู้ยืมเงินเพื่อการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่[5] และสุดท้ายฟองสบู่ก็แตกจนเศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาติดต่อกันถึงสองทศวรรษตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 – 2010 ซึ่งเรียกยุคนี้ว่า "สองทศวรรษที่หายไป" (The Lost 2 Decades)

อีกด้านหนึ่ง ประเทศเยอรมนีตะวันตกไม่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงพลาซาหนักหนาเท่าญี่ปุ่น เนื่องจากเยอรมนีตะวันตกมีนโยบายรักษาระดับราคาสินค้าให้คงที่ ภาครัฐส่งเสริมการวิจัยและการยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออก ตลอดจนมีกลไกการเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประชาคมยุโรป ภาคการส่งออกของเยอรมนีจึงยังคงสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนภายหลังมีข้อตกลงพลาซา[6] นอกจากนี้ก็มีการกำกับดูแลตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวด เศรษฐกิจเยอรมันจึงไม่เกิดภาวะฟองสบู่เหมือนญี่ปุ่น

อ้างอิง แก้

  1. "Economy: Announcement of [G5] Finance Ministers & Central Bank Governors (the Plaza Agreement)". margaretthatcher.org. Margaret Thatcher Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-03. สืบค้นเมื่อ 2018-12-03.
  2. "Announcement the Ministers of Finance and Central Bank Governors of France, Germany, Japan, the United Kingdom, and the United States (Plaza Accord)". g8.utoronto.ca. University of Toronto. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-03. สืบค้นเมื่อ 2018-12-03.
  3. Funabashi, Yōichi (1989). Managing the Dollar: From the Plaza to the Louvre (ภาษาอังกฤษ). Peterson Institute. pp. 261–271. ISBN 9780881320978.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  4. Brook, A, F Sedillot and P Ollivaud (2004). "Channel 1: Exchange Rate Adjustment". OECD Economics Working Paper 390 - "Channels for Narrowing the US Current Account Deficit and Implications for Other Economies" (online ed.). Oxford; New York: OECD. p. 8, figure 3. doi:10.1787/263550547141.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 พีรเดช ชูเกียรติขจร และ นลิตรา ไทยประเสริฐ (2014). ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศญ่ปุ่นและเอเชีย ที่มีต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุนทางตรงจากประเทศญี่ปุ่นสู่ 4 ประเทศในอาเซียนและ 3 ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ วารสารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. CHING TAT TSE (2021). A Comparative Analysis of the Economic Impacts of West Germany and Japan After the Plaza Accord.