ทาเกดะ ชิงเง็ง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ทาเกดะ ชิงเง็ง (ญี่ปุ่น: 武田 信玄; โรมาจิ: Takeda Shingen; 1 ธันวาคม ค.ศ. 1521 - 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1573) ไดเมียวแห่งแคว้นคาอิ (ญี่ปุ่น: 甲斐; โรมาจิ: Kai) ผู้นำตระกูลทาเกดะ เป็นไดเมียวคนสำคัญในยุคเซ็งโงกุ ได้รับยกย่องว่าเป็นไดเมียวที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญที่สุดคนหนึ่ง และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของอูเอซูงิ เค็นชิงในแถบภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ได้รับฉายาว่า "พยัคฆ์แห่งคาอิ" (ญี่ปุ่น: 甲斐の虎; โรมาจิ: Kai-no-Tora)
ทาเกดะ ชิงเง็ง 武田 信玄 | |
---|---|
ทาเกดะ ชิงเง็ง | |
เกิด | 1 ธันวาคม ค.ศ. 1521 โคฟุ, แคว้นคาอิ, ญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1573 แคว้นมิกาวะ, ญี่ปุ่น | (51 ปี)
ชื่ออื่น | ทาเกดะ ฮารูโนบุ (武田晴信) คัตสึจิโยะ (勝千代) |
อาชีพ | ซามูไร |
วัยเด็ก
แก้ทาเกดะ ชิงเง็งเกิดเมื่อ ค.ศ. 1521 ที่ปราสาทโคฟุ (ญี่ปุ่น: 甲府; โรมาจิ: Kōfu) แคว้นคาอิ จังหวัดยามานาชิในปัจจุบัน เป็นบุตรชายคนโตของทาเกดะ โนบูโตระ (ญี่ปุ่น: 武田信虎; โรมาจิ: Takeda Nobutora) ไดเมียวแห่งแคว้นคาอิ กับนางโออิ (ญี่ปุ่น: 大井の方; โรมาจิ: Ōi-no-kata) ภรรยาเอกของโนบูโตระ ในปีเดียวกันนั้นเองโนบูโตระผู้เป็นบิดามีชัยชนะเหนือตระกูลอิมางาวะ[1] (ญี่ปุ่น: 今川; โรมาจิ: Imagawa) เมื่อเสร็จสิ้นการรบจึงได้ตั้งชื่อให้บุตรชายว่า คัตสึจิโยะ (ญี่ปุ่น: 勝千代; โรมาจิ: Katsuchiyo) ในค.ศ. 1534 คัตสึจิโยะได้แต่งงานกับบุตรสาวของอูเอซูงิ โทโมโอกิ (ญี่ปุ่น: 上杉朝興; โรมาจิ: Uesugi Tomooki) แต่ทว่าภรรยาคนแรกของคัตสึจิโยะได้เสียชีวิตลงในปีเดียวกัน ในค.ศ. 1535 คัตสึจิโยะจึงแต่งงานใหม่อีกครั้งกับบุตรสาวของซันโจ คินโยริ (ญี่ปุ่น: 三条公頼; โรมาจิ: Sanjō Kinyori) ซึ่งเป็นขุนนางในราชสำนักเกียวโต เนื่องด้วยความสัมพันธ์อันดีกับเมืองเกียวโต ทำให้ในพิธีเง็นปุกุของคัตสึจึโยะในปีเดียวกันนั้น คัตสึจึโยะได้รับชื่อ "ฮารุ" จากโชกุนอาชิกางะ โยชิฮารุ (ญี่ปุ่น: 足利義晴; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiharu) รวมทั้งได้คำว่า "โนบุ" จากโนบูโตระบิดาของตน รวมกันได้ชื่อใหม่ว่า ทาเกดะ ฮารูโนบุ (ญี่ปุ่น: 武田晴信; โรมาจิ: Takeda Harunobu)
แต่ทว่าโนบูโตระ บิดาของฮารูโนบุ หมายจะให้บุตรชายคนโปรดของตน คือ ทาเกดะ โนบูชิเงะ (ญี่ปุ่น: 武田信繁; โรมาจิ: Takeda Nobushige) ให้เป็นทายาทสืบทอดตระกูลทาเกดะ ในค.ศ. 1541 ด้วยความช่วยเหลือของซามูไรใต้บังคับบัญชาของบิดา[2] และความช่วยเหลือจากอิมางาวะ โยชิโมโตะ (ญี่ปุ่น: 今川義元; โรมาจิ: Imagawa Yoshimoto) ผู้ซึ่งเป็นพี่เขย (อิมางาวะ โยชิโมโตะได้สมรสกับนางจิวเก-อิน ญี่ปุ่น: 定恵院; โรมาจิ: Jyukei-in ซึ่งเป็นพี่สาวของฮารูโนบุ) ฮารูโนบุได้ก่อการยึดอำนาจจากโนบูโตระบิดาของตน และเนรเทศบิดาของตนไปเป็นตัวประกันที่แคว้นซูรูงะ (ญี่ปุ่น: 駿河; โรมาจิ: Suruga) ซึ่งปกครองโดยตระกูลอิมางาวะ
การขยายอำนาจในแถบคันโต
แก้เมื่อได้ขึ้นปกครองตระกูลทาเกดะแล้ว ฮารูโนบุจึงได้เริ่มทำการขยายอำนาจไปยังแคว้นชินาโนะ (ญี่ปุ่น: 信濃; โรมาจิ: Shinano) ทางตอนเหนือจังหวัดนางาโนะในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยซามูไรหลายตระกูล ฮารูโนบุเอาชนะทัพของตระกูลต่าง ๆ ในแคว้นชินาโนะได้ ในยุทธการเซซาวะ (Sezawa) ในค.ศ. 1542 และยุทธการโอตาอิฮาระ (ญี่ปุ่น: 小田井原の戦い; โรมาจิ: Ōtaihara-no-tatakai) ใน ค.ศ. 1547 แต่พ่ายแพ้อย่างราบคาบแก่มูรากามิ โยชิกิโยะ (ญี่ปุ่น: 村上義清; โรมาจิ: Murakami Yoshikiyo) ในยุทธการอูเอดาฮาระ (ญี่ปุ่น: 上田原の戦い; โรมาจิ: Uedahara-no-tatakai) ในค.ศ. 1548 ในค.ศ. 1551 ทาเกดะ ฮารูโนบุได้บวชเป็นพระภิกษุมีชื่อว่า ชิงเง็ง (ญี่ปุ่น: 信玄; โรมาจิ: Shingen) แม้จะบวชเป็นพระภิกษุแต่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำตระกูลทาเกดะและทำสงครามต่อไป จนเป็นที่รู้จักด้วยชื่อทาเกดะ ชิงเง็ง
เมื่อรวบรวมแคว้นชินาโนะให้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองได้แล้ว ตระกูลทาเกดะจึงต้องขัดแย้งกับตระกูลอูเอซูงิแห่งแคว้นเอจิโงะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตระกูลที่กำลังเรืองอำนาจอยู่ในแถบคันโต โดยมีนางาโอะ คาเงโตระ (ญี่ปุ่น: 長尾景虎; โรมาจิ: Nagao Kagetora) หรือต่อมาภายหลังคืออูเอซูงิ เค็งชิง (ญี่ปุ่น: 上杉謙信; โรมาจิ: Uesugi Kenshin) ไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่แห่งคันโตอีกคนหนึ่ง สองมหาอำนาจแห่งคันโตได้สู้รบกันในยุทธการคาวานางาจิมะ (ญี่ปุ่น: 川中島の戦い; โรมาจิ: Kawanagajima-no-tatakai) ใกล้กับเมืองนางาโนะในปัจจุบัน อันเป็นยุทธการครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ในบริเวณภาคตะวันออกของญี่ปุ่น เป็นจำนวนห้าครั้ง ในค.ศ. 1554, ค.ศ. 1555, ค.ศ. 1557, ค.ศ. 1561 และค.ศ. 1564 โดยที่ไม่มีฝ่ายใดชนะอย่างเด็ดขาด ในยุทธการคาวานางาจิมะครั้งที่สี่ในค.ศ. 1561 ทาเกดะ ชิงเง็งได้สูญเสียน้องชายคือทาเกดะ โนบูชิเงะ และทหารเอกคนสำคัญคือยามาโมโตะ คันซูเกะ (ญี่ปุ่น: 山本勘助; โรมาจิ: Yamamoto Kansuke)
ในค.ศ. 1565 บุตรชายคนโตของชิงเง็งคือ ทาเกดะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 武田義信; โรมาจิ: Takeda Yoshinobu) ได้ก่อกบฏหมายจะยึดอำนาจจากชิงเง็งแต่ไม่สำเร็จจึงถูกลงโทษกักขังไว้ที่วัดโทโก (ญี่ปุ่น: 東光寺; โรมาจิ: Tōkō-ji) ในเมืองโคฟุ จนกระทั่งโยชิโนบุเสียชีวิตสองปีต่อมาใน ค.ศ. 1567 ชิงเง็งจึงแต่งตั้งให้บุตรชายคนที่สี่คือ ทาเกดะ คัตสึโยริ (ญี่ปุ่น: 武田勝頼; โรมาจิ: Takeda Katsuyori) ที่เกิดกับภรรยาน้อยคือ นางซูวะ (ญี่ปุ่น: 諏訪御料人; โรมาจิ: Suwa-Goryōnin) เป็นทายาทสืบทอดตระกูลทาเกดะต่อไป
ในค.ศ. 1560 อิมางาวะ โยชิโมโตะ ได้ถูกโอดะ โนบูนางะ สังหารในยุทธการโอเกฮาซามะ (ญี่ปุ่น: 桶狭間の戦い; โรมาจิ: Okehazama-no-tatakai) ทำให้ตระกูลอิมางาวะตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและผู้นำคนใหม่คือ อิมางาวะ อูจิซาเนะ (ญี่ปุ่น: 今川氏真; โรมาจิ: Imagawa Ujizane) บุตรชายของโยชิโมโตะผู้เป็นหลานของชิงเง็ง (บุตรของนางจิวเก-อินพี่สาว) นั้นก็ไม่เข้มแข็ง ชิงเง็งจึงนำทัพตระกูลทาเกดะเข้ารุกรานแคว้นซูรูงะของตระกูลอิมางาวะ (จังหวัดชิซูโอกะในปัจจุบัน) ในค.ศ. 1568 และในค.ศ. 1569 ได้ยกทัพเข้ารุกรานแคว้นซางามิ (ญี่ปุ่น: 相模; โรมาจิ: Sagami) (จังหวัดคานางาวะในปัจจุบัน) ของตระกูลโฮโจ (ญี่ปุ่น: 北条; โรมาจิ: Hōjō) อีกตระกูลที่กำลังเรืองอำนาจในภาคตะวันออก เข้าล้อมปราสาทโอดาวาระที่มั่นของตระกูลโฮโจแต่ไม่สำเร็จ จนทำสัญญาสงบศึกกับตระกูลโฮโจไปในที่สุดในค.ศ. 1571
ในค.ศ. 1572 โชกุนอาชิกางะ โยชิอากิ (ญี่ปุ่น: 足利義昭; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiaki) ได้ร้องขอให้ทาเกดะ ชิงเง็งต้านทานการขยายอำนาจของโอดะ โนบูนางะ ชิงเกนจึงนำทัพเข้ารุกรานแคว้นโทโตมิ (ญี่ปุ่น: 遠江; โรมาจิ: Tōtōmi) จังหวัดชิซูโอกะ อันเป็นดินแดนของตระกูลโทกูงาวะ นำโดยโทกูงาวะ อิเอยาซุ ขุนพลคนสำคัญของโอดะ โนบูนางะ ชิงเง็งสามารถเอาชนะอิเอยาซุได้ในยุทธการมิกาตะงาฮาระ (ญี่ปุ่น: 三方ヶ原の戦い; โรมาจิ: Mikatagahara-no-tatakai)
อวสานของตระกูลทาเกดะ
แก้ในช่วงชีวิตของทาเกดะ ชิงเง็ง ได้สร้างตระกูลทาเกดะให้เป็นหนึ่งในตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดในภูมิภาคคันโต และสามารถต้านทานการขยายอำนาจของโอดะ โนบูนางะได้ แต่ทว่าทาเกดะ ชิงเง็ง ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในค.ศ. 1573 ด้วยอายุ 52 ปี บุตรชายคนที่สี่คือ ทาเกดะ คัตสึโยริ สืบทอดตำแหน่งเป็นผู้นำตระกูลทาเกดะ และทำสงครามกับตระกูลโทกูงาวะในแคว้นโทโตมิต่อมา โดยสามารถยึดปราสาททากาเท็นจิง (ญี่ปุ่น: 高天神城; โรมาจิ: Takatenjin-jō) ได้ในค.ศ. 1574 แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการล้อมปราสาทนางาชิโนะ (ญี่ปุ่น: 長篠城; โรมาจิ: Nagashino-jō) ของตระกูลโทกูงาวะในค.ศ. 1575 จนกระทั่งโอดะ โนบูนางะและโทกูงาวะ อิเอยาซุได้ร่วมมือกันเอาชนะตระกูลทาเกดะในยุทธการเทมโมกูซัง ญี่ปุ่น: 天目山の戦い; โรมาจิ: Temmokuzan-no-tatakai) ในค.ศ. 1582 ทาเกดะ คัตสึโยริพ่ายแพ้และกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไป หลังจากการเสียชีวิตของทาเกดะ ชิงเง็ง เพียงเก้าปี อำนาจของตระกูลทาเกดะจึงได้ล่มสลายลงไปจากภูมิภาคคันโตและถูกแทนที่ด้วยการปกครองของตระกูลโอดะ
ฟูริงกะซัน
แก้กองทัพของทาเกดะ ชิงเง็ง ถือธงเป็นคำว่า ฟู-ริง-กะ-ซัน (ญี่ปุ่น: 風林火山; โรมาจิ: Fūrinkazan) แปลว่า ลม-ป่า-ไฟ-ภูเขา อันมาจากข้อความในตำราพิชัยสงครามของซุนวูอันเป็นลักษณะของกองทัพที่ดีว่า "รวดเร็วดั่งลม เงียบสงัดดั่งป่าไม้ น่าเกรงขามดั่งไฟ มั่นคงดั่งขุนเขา"
ครอบครัว
แก้- บิดา: ทาเกดะ โนบูโตระ (ญี่ปุ่น: 武田信虎; โรมาจิ: Takeda Nobutora ค.ศ. 1494 - 1574)
- มารดา: โออิ-โนะ-กาตะ (ญี่ปุ่น: 大井の方; โรมาจิ: Ōi-no-kata ค.ศ. 1497 - 1552) บุตรสาวของโออิ โนบูซาโตะ (ญี่ปุ่น: 大井信達; โรมาจิ: Ōi Nobusato)
- พี่น้องร่วมมารดา:
- ภรรยาเอกคนที่หนึ่ง: บุตรสาวของอูเอซูงิ โทโมโอกิ (ญี่ปุ่น: 上杉朝興; โรมาจิ: Uesugi Tomooki)
- ภรรยาเอกคนที่สอง: ซันโจ-โนะ-กาตะ (ญี่ปุ่น: 三条の方; โรมาจิ: Sanjō no kata ค.ศ. 1521 - 1570) บุตรสาวของซันโจ คินโยริ (ญี่ปุ่น: 三条公頼; โรมาจิ: Sanjō Kinyori)
- บุตรชายคนที่ 1: ทาเกดะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 武田義信; โรมาจิ: Takeda Yoshinobu ค.ศ. 1538 - 1567)
- บุตรชายคนที่ 2: อุนโนะ โนบูจิกะ (ญี่ปุ่น: 海野信親; โรมาจิ: Unno Nobuchika ค.ศ. 1541 - 1582) ไปเป็นบุตรบุญธรรมของ อุนโนะ ยูกิโยชิ (ญี่ปุ่น: 海野幸義; โรมาจิ: Unno Yukiyoshi)
- บุตรชายคนที่ 3: ทาเกดะ โนบูยูกิ (ญี่ปุ่น: 武田義信; โรมาจิ: Takeda Nobuyuki ค.ศ. 1543- 1553)
- บุตรสาวคนที่ 1: โอไบ-อิน (ญี่ปุ่น: 黄梅院; โรมาจิ: Ōbai-in ค.ศ. 1543 - 1569) สมรสกับ โฮโจ อูจิมาซะ
- บุตรสาวคนที่ 2: เค็นโช-อิน (ญี่ปุ่น: 見性院; โรมาจิ: Kenshō-in - ค.ศ. 1622)
- ภรรยาน้อย: ซูวะ-โกเรียวนิง (ญี่ปุ่น: 諏訪御料人; โรมาจิ: Suwa-Goryōnin ค.ศ. 1530 - 1555) บุตรสาวของซูวะ โยริชิเงะ (ญี่ปุ่น: 諏訪頼重; โรมาจิ: Suwa Yorishige)
- บุตรชายคนที่สี่: ทาเกดะ คัตสึโยะริ (ญี่ปุ่น: 武田勝頼; โรมาจิ: Takeda Katsuyori) ค.ศ. 1546 - 1582)
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-25. สืบค้นเมื่อ 2011-11-06.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-27. สืบค้นเมื่อ 2011-11-06.