ศิลปะนัมบัง (ญี่ปุ่น: 南蛮美術โรมาจิNanban bijutsu) หมายถึง ศิลปะญี่ปุ่นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16–17 ที่ได้รับอิทธิพลจากพวกนัมบัง (南蛮, "คนเถื่อนจากภาคใต้") ซึ่งหมายถึงพ่อค้าและนักบวชจากยุโรป โดยเฉพาะชาวโปรตุเกส ซึ่ง "นัมบัง" เป็นคำยืมจากภาษาจีนว่า "หนานหมาน" แปลตรงตัวว่า "คนเถื่อนจากภาคใต้" เช่นกัน แต่มีความหมายสื่อถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในญี่ปุ่นนำคำนี้มาใช้สำหรับเรียกคนโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาค้าขายในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1543 แล้วจึงถูกใช้เรียกชาวยุโรปอย่างรวม ๆ ในเวลาต่อมา และคำนี้ก็ใช้เรียกภาพวาดที่ชาวยุโรปนำมาญี่ปุ่นด้วย[1][2]

เครื่องเขินญี่ปุ่นที่ผลิตตามความต้องการของคณะเยสุอิต ผลิตในยุคอาซูกิ–โมโมยามะ ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติคีวชู
ฉากกั้นห้องแบบญี่ปุ่นศิลปะนัมบัง

ประวัติ แก้

ศิลปะนัมบังเกิดขึ้นครั้งแรกหลังการเดินทางของชาวโปรตุเกสสู่คีวชูใน ค.ศ. 1543 และเริ่มมีการผลิตศาสนวัตถุของศาสนาคริสต์ เช่น รูปเคารพอย่างคริสตศิลป์ และฉากกั้นห้องญี่ปุ่นศิลปะนัมบัง (南蛮屏風) มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันนี้กว่า 90 ฉาก[3] เป็นภาพลงสีแสดงให้เห็นนักเดินทางชาวต่างชาติเดินทางมายังท่าเรือของญี่ปุ่น และกำลังเดินไปตามท้องถนนของญี่ปุ่น[4] ภาพที่ได้รับความนิยมที่สุดคือภาพนักรบต่างชาติ รังสรรค์โดยศิลปินจากสำนักคาโน (狩野派) ร่วมกับสำนักโทซะ (土佐派) ผสมผสานงานศิลป์จากต่างประเทศให้เข้ากับการวาดภาพของญี่ปุ่น เช่น ทัศนียภาพเชิงเส้น (linear perspective) การใช้วัสดุเทียบเท่า (alternative materials) และเทคนิค (techniques) แต่ศิลปะตะวันตกนี้ส่งอิทธิพลแก่ศิลปะญี่ปุ่นได้ไม่นาน เพราะเกิดการกดขี่และการประกาศห้ามนับถือศาสนาคริสต์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งการปิดประเทศช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1630 ศิลปะนัมบังจึงเสื่อมสูญไป[1][5]

อิทธิพลย้อนกลับ แก้

คตินิยมศิลปะญี่ปุ่นยังไม่แพร่หลายไปสู่โลกตะวันตกจนกระทั่งญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้งในคริสต์ทศวรรษที่ 1850–1860 แต่ก็มีหลักฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่อาณานิคมเม็กซิโกของสเปน ดังจะพบว่าเครื่องเขินของญี่ปุ่นส่งอิทธิพลจากเครื่องเขินยุคก่อนฮิสแปนิก เรียกว่า "มาเก" (maque) ตรงกับเครื่องเขินญี่ปุ่นคือ "มากิเอะ" (蒔絵) จากการแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านเรือกำปั่นมะนิลา (Manila galleon) ซึ่งเดินทางไปมาระหว่างมะนิลาในฟิลิปปินส์กับอากาปุลโกในเม็กซิโก ระหว่าง ค.ศ. 1565–1815[6]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Okamoto, Yoshitomo (1972). The Namban Art of Japan. Weatherhill. ISBN 0-8348-1008-5.
  2. "Nanban-e". Japanese Architecture and Art Net Users System. สืบค้นเมื่อ 28 March 2011.
  3. 南蛮屏風 Kobe City Museum
  4. Testa, Giuseppina Aurora (2020-07-03). ""Mōko Shūrai Ekotoba" (Illustrated Account of the Mongol Invasions)". Eikón / Imago (ภาษาอังกฤษ). 9: 35–57. doi:10.5209/eiko.73275. ISSN 2254-8718.
  5. "Nanban-byoubu". Japanese Architecture and Art Net Users System. สืบค้นเมื่อ 28 March 2011.
  6. Lake, Rodrigo Rivero (2006). Namban: Art in Viceregal Mexico. Turner. ISBN 978-84-7506-693-6.