โทกูงาวะ โยชิโนบุ
โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川 慶喜; とくがわ よしのぶ; โรมาจิ: Tokugawa Yoshinobu สามารถอ่านได้อีกอย่างว่า โทกูงาวะ เคกิ (Tokugawa Keiki), 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913) เป็นโชกุนลำดับที่ 15 และโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลเอโดะแห่งประเทศญี่ปุ่น
โทกูงาวะ โยชิโนบุ 徳川慶喜 | |
---|---|
โทกูงาวะ โยชิโนบุ, ค.ศ. 1867 | |
โชกุนแห่งเอโดะ | |
ดำรงตำแหน่ง 29 ส.ค. 1866 – 19 พ.ย. 1867 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิโคเม จักรพรรดิเมจิ |
ก่อนหน้า | โทกูงาวะ อิเอโมจิ |
ถัดไป | สิ้นสุด |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 เอโดะ, ญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | พฤศจิกายน 22, 1913 เขตบุงเกียว โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น | (76 ปี)
โทกูงาวะ โยชิโนบุ | |||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
คันจิ | 徳川 慶喜 | ||||
ฮิรางานะ | とくがわ よしのぶ | ||||
|
โยชิโนบุเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลเอโดะมาหลายสมัย และได้เคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปรัฐบาลโชกุนซึ่งกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่จบลงด้วยความล้มเหลวอย่างรุนแรงยิ่ง ภายหลังเมื่อสละตำแหน่งและถวายอำนาจของโชกุนคืนแก่จักรพรรดิเมจิแล้ว โยชิโนบุได้เกษียณตนเองและใช้ชีวิตโดยหลบเลี่ยงจากสายตาของสาธารณชนตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี นับว่าเป็นโชกุนผู้มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ปฐมวัย
แก้โทกูงาวะ โยชิโนบุ เกิดอยู่ที่นครเอโดะ (โตเกียว) โดยเป็นบุตรคนที่ 7 ของโทกูงาวะ นาริอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ซึ่งแคว้นนี้นับเป็น 1 ใน 3 สายตระกูลสำคัญของตระกูลโทกูงาวะ (โกะซังเคะ) ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งโชกุน
เมื่อแรกเกิดนั้น โยชิโนบุใช้ชื่อว่า "มะสึไดระ ชิจิโรมะ"[1] และได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้นิยมการทหารอย่างเข้มงวด[2] เขาได้รับการสั่งสอนในวิชาอักษรศาสตร์และศิลปะการป้องกันตัว ตลอดจนถึงการศึกษาหลักวิชารัฐศาสตร์และการปกครองตามธรรมเนียมดั้งเดิม[3]
ด้วยการส่งเสริมของผู้เป็นบิดา ชิจิโรมะจึงได้รับการยอมรับเป็นบุตรบุญธรรมของสายตระกูลฮิโตะสึบาชิ อันเป็นตระกูลสำคัญหนึ่งตระกูลหนึ่งของตระกูลโทกูงาวะ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนได้มากยิ่งขึ้น[4] เขาได้อยู่ในตำแหน่งของผู้นำตระกูลในปีค.ศ. 1847 พร้อมทั้งได้รับยศและราชทินนามจากราชสำนัก และไดรับการเปลี่ยนชื่อเป็น "โยชิโนบุ"[5] ต่อมาเมื่อโทกูงาวะ อิเอซาดะ โชกุนลำดับที่ 13 ได้เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1858 โยชิโนบุจึงได้ถูกเสนอชื่อในฐานะของผู้สืบทอดผู้มีศักยภาพในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว[6] ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนของเขาถูกโน้มน้าวใจด้วยความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ภายในตระกูล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงการข้ามภายใต้การนำของอี นะโอะสุเกะ กลับเป็นฝ่ายชนะ โทกูงาวะ โยะชิโตะมิ ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อของฝ่ายดังกล่าวได้ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งโชกุนคนที่ 14 ในชื่อ โทกูงาวะ อิเอโมจิ[7] หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่กำลังเกิดการกวาดล้างศักราชอันเซ โยชิโนบุพร้อมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนก็ถูกลงโทษด้วยการกักตัวในบ้านพักประจำแคว้นที่นครเอโดะ[8] ตัวโยชิโนบุเองก็ถูกถอดจากฐานะผู้นำของตระกูลฮิโตะสึบาชิด้วย
ยุคแห่งการสำเร็จราชการแทนโชกุนของไทโร อี นะโอะสุเกะ เป็นที่จดจำจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดและการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือด หลังการลอบสังหารอีที่ประตูซะกุระดะในปีค.ศ. 1860 โยชิโนบุก็ได้รับคืนฐานะผู้นำตระกูลฮิโตะสึบาชิอีกครั้ง และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ดูแลโชกุน (ญี่ปุ่น: 将軍後見職; โรมาจิ: shōgun atomi-shoku; ทับศัพท์: โชงุง อะโตะมิ-โชะคุ) ในปีค.ศ. 1862 และได้รับการแต่งตั้งภายในระยะเวลาอันสั้น[9] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้เอง พันธมิตรที่ใกล้ชิดโยชิโนบุ 2 คน คือ มะสึไดระ โยะชินะงะ และมะสึไดระ คะตะโมะริ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งระดับสูงเช่นกัน โดยโยะชินะงะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมือง (ญี่ปุ่น: 政治総裁職; โรมาจิ: seiji sōsai shoku; ทับศัพท์: เซญิ โซไซ โชะคุ) ,[10] ส่วนคะตะโมะริอยู่ในตำแหน่งผู้พิทักษ์พระนครเกียวโต (ญี่ปุ่น: 京都守護職; โรมาจิ: Kyoto Shugoshoku; ทับศัพท์: เกียวโตชุโงะโชะคุ) .[11] ในเวลาต่อมาบุรุษทั้งสามนี้ ได้มีบทบาทอย่างยิ่งในการปราบปรามเหตุไม่สงบทางการเมืองในกรุงเกียวโต และรวบรวมพันธมิตรต่างๆ เพื่อต่อต้านกิจกรรมของฝ่ายกบฏจากแคว้นโจชู นอกจากนี้ทั้งสามยังเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มการเมืองแนวทาง "โคบุ-กัตไต" (ประสานราชสำนักกับรัฐบาล) ซึ่งพยายามหาทางทำให้ราชสำนักกับรัฐบาลโชกุนปรองดองกันด้วยการแต่งงานทางการเมือง[12]
ในปีค.ศ. 1864 โยชิโนบุในฐานะผู้บัญชาการกองทหารล้อมวัง ประสบความสำเร็จในการขับไล่กองกำลังของแคว้นโจชูซึ่งพยายามยึดครองประตูฮะมะงุริของพระราชวังหลวงที่เกียวโต ปฏิบัติการดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการใช้กำลังทหารจากพันธมิตรระหว่างแคว้นไอสึกับแคว้นซัตสึมะ[13]
ดำรงตำแหน่งโชกุน
แก้หลังมรณกรรมของโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ อย่างกะทันหันในปีค.ศ. 1866 โยชิโนบุถูกเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งเป็นโชกุนลำดับที่ 15[14] เขาเป็นโชกุนตระกูลโทกูงาวะเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งอยู่นอกนครเอโดะ เพราะเขาจะไม่มีโอกาสได้เหยียบย่างสู่ปราสาทเอโดะเลยตลอดสมัยแห่งการเป็นโชกุน[15]
ทันทีที่โยชิโนบุได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีการปฏิรูปรัฐบาลโชกุนครั้งใหญ่เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ในการสร้างโรงหล่อปืนใหญ่ที่เมืองโยโกซูกะ ภายใต้การอำนวยการของเลออองซ์ แวร์นี (Leonce Verny) และบรรดาผู้ติดตามจากคณะทูตทหารฝรั่งเศส เพื่อปรับปรุงกองทัพของรัฐบาลหรือรัฐบาลโชกุนให้มีความทันสมัย[16]
กองทัพแห่งชาติทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ซึ่งรัฐบาลโชกุนได้ดำเนินการจัดตั้งมาก่อนอยู่แล้ว ก็ได้รับการเสริมกำลังโดยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส และการจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐ[17] นักสังเกตการณ์จำนวนมากมองว่ารัฐบาลเอโดะกำลังวางรากฐานไปสู่การปรับปรุงฐานกำลังและอำนาจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะล้มเหลวลงในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี
สงครามโบะชิง
แก้ด้วยความหวาดกลัวต่อการเสริมความมั่นคงของรัฐบาลโชกุนภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด ซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ แคว้นโจชู และแคว้นโทซะ ได้รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลใหม่ ภายใต้คำขวัญ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน" ("ซนโนโจอิ") และผสมด้วยความกล้วว่าโชกุนผู้นี้จะเป็นเหมือนดั่ง "กำเนิดใหม่ของอิเอยาซุ" ซึ่งจะช่วงชิงอำนาจจากจักรพรรดิสืบต่อไป ทั้งหมดจึงร่วมกันปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งจุดจบของระบอบโชกุน แม้ว่าเป้าหมายในบั้นปลายของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคว้นโทซะซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองสายกลางมากกว่าอีกสองแคว้น ได้เสนอการประนีประนอมโดยให้โชกุนโยชิโนบุยอมสละตำแหน่งของตนเสีย แต่ยังคงให้สิทธิเป็นประธานสภาปกครองประเทศชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นอันประกอบด้วยไดเมียวจากแคว้นต่างๆ ในที่สุดแล้ว ยามาโนะอูจิ โทโยโนริ ไดเมียวแห่งโทซะ พร้อมด้วยโกะโต โชจิโร ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสนิท ก็ได้เรียกร้องให้โยชิโนบุลาออกจากตำแหน่ง[18] เพื่อให้แนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
โยชิโนบุได้สละตำแหน่งในปลายปีค.ศ. 1867 ยังผลคือการถวายอำนาจการปกครองบ้านเมืองคืนแก่จักรพรรดิอย่างเป็นทางการ[19] หลังจากนั้นจึงมีการถอนกำลังรบของรัฐบาลโชกุนจากนครหลวงเกียวโตมาประจำอยู่ที่เมืองโอซะกะ อย่างไรก็ตาม แคว้นซัตสึมะและแคว้นโจชูถึงแม้จะสนับสนุนการจัดตั้งสภาไดเมียว แต่ก็คัดค้านในการให้โยชิโนบุขึ้นเป็นประธานสภาดังกล่าว[18] ทั้งสองแคว้นได้รับราชโองการลับจากจักรพรรดิ[18] ให้ใช้กำลังในการต่อต้านโยชิโนบุ (ซึ่งภายหลังได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมเอกสาร)[20] และเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากของทั้งสองแคว้นเข้าสู่กรุงเกียวโต[21] มีการเรียกประชุมโดยฝ่ายราชสำนักเกิดขึ้น เพื่อริบยศศักดิ์และที่ดินทั้งหมดของโยชิโนบุ[22] ถึงแม้ว่าจะไม่มีปฏิกิริยาใดที่อาจตีความได้ว่าฝ่ายโยชิโนบุจะทำความผิดหรือก่อความรุนแรงก็ตาม สำหรับผู้ที่คัดค้านการประชุมดังกล่าวก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย[21] โยชิโนบุแสดงท่าทีคัดค้านและร่างหนังสือประท้วงเพื่อจะนำส่งไปยังราชสำนัก[23] ด้วยการร้องขอของบริวารจากแคว้นไอสึ แคว้นคุนะวะ และแคว้นอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วยส่วนน้อยนิดจากซัตสึมะและโจชู โยชิโนบุได้เคลื่อนพลจำนวนมากไปกับตนเพื่อนำหนังสือดังกล่าวไปสู่ราชสำนัก[24]
เมื่อกองทัพโทกูงาวะมาถึงนอกนครหลวงเกียวโต ขบวนทัพทั้งหมดถูกยับยั้งไม่ให้เข้ามาในเขตพระนครหลวงและถูกโจมตีโดยทัพของซัตสึมะและโจชู เปิดฉากการปะทะกันครั้งแรกของสงครามโบะชิงในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิ[25] แม้กำลังของฝ่ายโทกูงาวะจะเหนือกว่า แต่โยชิโนบุได้ละทิ้งกองทัพของตนท่ามกลางการต่อสู้เมื่อตระหนักว่าฝ่ายซัตสึมะและโจชูต่อสู้ภายใต้ราชธวัชของพระจักรพรรดิ และหลบหนีไปยังนครเอโดะ[26] เขาได้กักกันตนเองให้อยู่แต่ในที่พัก และนำส่งหนังสือยอมสวามิภักดิ์ถวายแก่พระจักรพรรดิ ข้อตกลงสันติภาพได้ถูกส่งมายังโยชิโนะบุผ่านทางทะยะสึ คะเมะโนะสุเกะ ประมุขผู้เยาว์แห่งสาขาหนึ่งของตระกูลโทกูงาวะ ผู้ซึ่งโยชิโนบุได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งให้เป็นประมุขของตระกูลโทกูงาวะ[27] ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1868 ปราสาทเอโดะได้ถูกส่งมอบแก่กองทัพในสมเด็จพระจักรพรรดิ[28][29] และเมืองเอโดะทั้งเมืองได้ถูกเว้นจากการทำลายด้วยสงคราม
พร้อมกันกับคะเมะโนะสุเกะ (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โทกูงาวะ อิเอซาโตะ") โยชิโนบุได้ย้ายไปอยู่ที่ชิซูโอกะ ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่โทกูงาวะ อิเอยาซุ ผู้สถาปนารัฐบาลเอโดะใช้ชีวิตหลังออกจากตำแหน่งโชกุนเมื่อหลายศตวรรษก่อน อิเอซาโตะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นชิซูโอกะ แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็สูญเสียฐานะดังกล่าวไป เนื่องจากระบบแว่นแคว้นและระบบศักดินาแบบดั้งเดิมทั้งหมดถูกรัฐบาลเมจิยกเลิก
ฮาตาโมโตะ (ซามูไรผู้ขึ้นตรงต่อโชกุน) จำนวนมาก ได้ย้ายติดตามโยชิโนบุมาตั้งถิ่นฐานที่ชิซูโอกะด้วย แต่ด้วยจำนวนฮาตาโมโตะที่มีมาก ทำให้โยชิโนบุไม่สามารถหารายได้มาดูแลคนเหล่านี้ได้เพียงพอ ผลก็คือมีฮาตาโมโตะจำนวนมากที่เกลียดชังโยชิโนบุ บางส่วนส่วนถึงขนาดต้องการจะเอาชีวิตเขาด้วยก็มี[30] โยชิโนบุระมัดระวังตัวเองในเรื่องนี้และหวาดกลัวต่อการลอบสังหาร จนต้องคอยสลับตารางเวลานอนของตนเอง เพื่อสร้างความสับสนแก่บรรดามือสังหารที่อาจเข้ามาฆ่าตนได้ทุกเมื่อ[31]
ภายหลังโยชิโนบุและครอบครัวทั้งหมด ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เอโดะ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียว) ในปีค.ศ. 1897 ตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ปัจฉิมวัย
แก้หลังการเกษียณตัวเองจากตำแหน่งทางการเมือง โยชิโนบุได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ โดยไม่เปิดเผยตัวแก่สาธารณะ และทุ่มเทกับการทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น การวาดภาพสีน้ำมัน ยิงธนู ล่าสัตว์ ถ่ายรูป หรือขี่จักรยาน[32] รูปถ่ายบางส่วนของเขาเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้จากโทกูงาวะ โยชิโตโมะ ผู้เป็นทายาทชั้นเหลนของโยชิโนบุ[33]
ในปีค.ศ. 1902 จักรพรรดิเมจิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โยชิโนบุตั้งตระกูลของตนขึ้นใหม่ในฐานะตระกูลสาขาของตระกูลโทกูงาวะ โดยได้รับพระราชทานยศเจ้าขุนนางชั้นสูงสุดคือ ชั้นโคชะคุ (เทียบเท่ากับคำว่า Prince หรือเจ้าชายในภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นบำเหน็จแก่การรับใช้ชาติญี่ปุ่นด้วยความภักดีของโยชิโนบุ[34]
โทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 เวลา 16:10 น. ในรัชสมัยของจักรพรรดิไทโช ร่างของเขาได้รับการฝังไว้ที่สุสานยะนะคะ กรุงโตเกียว
บุตรีคนที่ 9 ของโยชิโนบุ คือ "โทกูงาวะ สึเนโกะ" (ค.ศ. 1882 – 1939) ได้อภิเษกสมรสกับจอมพลเรือ เจ้าชายฮิโรยาซุ เจ้าฟูชิมิ (เป็นพระญาติชั้นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สองของจักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุง และเป็นพระนัดดาของเจ้าชายโคโตฮิโตะ เจ้าคังอิน) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1896
เกียรติยศ
แก้- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย (Order of the Rising Sun) ชั้นที่ 1 Grand Cordon, ค.ศ. 1908.[35]
ศักราชในยุครัฐบาลของโยชิโนบุ
แก้- ศักราชเคโอ รัชกาลจักรพรรดิโคเม (1865–1868)
- ศักราชเมจิ รัชกาลจักรพรรดิเมจิ (1868–1912)
ดูเพิ่ม
แก้เชิงอรรถ
แก้- ↑ Takano, Tokugawa Yoshinobu, p. 26. Sons of the lord of Mito did not bear the name Tokugawa unless they themselves became the next lord.
- ↑ Tokugawa, Tokugawa yonbyakunen no naishobanashi, pp. 138-140.
- ↑ Takano, p. 28.
- ↑ Takano, p. 38.
- ↑ Takano, p. 48.
- ↑ Borton, Japan's Modern Century, p. 40.
- ↑ Borton, pp. 39-40.
- ↑ Takano, pp. 12-13.
- ↑ Murray, Japan, p. 362; Kobiyama, Matsudaira Katamori no shōgai, p. 75; Bolitho, Collapse of the Tokugawa Bakufu, p. 9.
- ↑ Kobiyama, p. 75.
- ↑ Takano, pp. 132-133.
- ↑ Kobiyama, pp. 84-87; Totman, p. 45; Takano, p. 20.
- ↑ See Japan 1853-1864, Or, Genji Yume Monogatari, trans. by Ernest Mason Satow. (Tokyo: Naigai Shuppan Kyokai), for more.
- ↑ Borton, p. 63.
- ↑ Tokugawa, Tokugawa yonbyakunen no naishobanashi, vol. 2, p. 162.
- ↑ Sims, French Policy Towards the Bakufu and Meiji Japan, 1854-95, p. 236.
- ↑ Treat, Japan and the United States: 1853-1921, p. 89
- ↑ 18.0 18.1 18.2 Beasley, The History of Modern Japan, p. 96.
- ↑ Takano, p. 256.
- ↑ Yamakawa, Aizu Boshin Senshi, pp. 7-9.
- ↑ 21.0 21.1 Beasley, p. 97.
- ↑ Beasley, p. 97; Yamakawa, Aizu Boshin Senshi, p. 148-151.
- ↑ Totman, p. 416. For a copy of the original text of the message, see Yamakawa, pp. 89-90.
- ↑ Totman, p. 417.
- ↑ Sasaki, pp. 23-24; Bolitho, pp. 420-422.
- ↑ Kobiyama, p. 124.
- ↑ Griffis, The Mikado: Institution and Person, p. 141.
- ↑ Takano, p. 267.
- ↑ Tokyo, an administrative perspective. Tokyo Metropolitan Government. 1958. p. 21. สืบค้นเมื่อ 9 April 2011.
- ↑ Tokugawa Munefusa, Tokugawa yonbyakunen no naisho banashi, vol. 1, p. 131
- ↑ Tokugawa, pp. 131-133
- ↑ Tokugawa, p. 136-138.
- ↑ For an example of Yoshinobu's photography, see: Tokugawa Yoshitomo, Tokugawa Yoshinobu-ke e yōkoso, p. 73.
- ↑ Takano, p. 273.
- ↑ "Ibaraki Prefecture e-newsletter". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-02. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
อ้างอิง
แก้- Beasley, William G. (1963). The modern history of Japan. (New York: Praeger).
- Borton, Hugh (1955). Japan's Modern Century. (New York: The Ronald Press Company).
- Griffis, William Elliot. (1915). The Mikado: Institution and Person. (Princeton: Princeton University Press).
- Kobiyama Rokurō (2003). Matsudaira Katamori no shōgai. (Tokyo: Shin Jinbutsu Ōraisha).
- Murray, David (1905). Japan. (New York: G.P. Putnam's Sons).
- Sasaki Suguru (1977). Boshin sensō. (Tokyo: Chūōkōron-shinsha).
- Sims, Richard L. (1998). French Policy Towards the Bakufu and Meiji Japan, 1854-95. (London: Routledge).
- Takano Kiyoshi 高野澄 (1997). Tokugawa Yoshinobu: kindai Nihon no enshutsusha 德川慶喜 : 近代日本の演出者. (Tokyo: Nihon Hōsō Shuppan Kyōkai 日本放送出版協会).
- Tokugawa Munefusa 徳川宗英 (2004). Tokugawa Yonhyaku-nen no naisho-banashi 徳川四百年の内緒話 Vol. 1. (Tokyo: Bungei-shunju).
- Tokugawa Munefusa 徳川宗英 (2004). Tokugawa Yonhyaku-nen no naisho-banashi 徳川四百年の内緒話 Vol. 2: Raibaru tekishō hen. (Tokyo: Bungei-shunju).
- Tokugawa Yoshitomo 徳川慶朝 (2003). Tokugawa Yoshinobu-ke ni Yōkoso: Wagaya ni tsutawaru aisubeki "Saigo no Shogun" no Yokogao 徳川慶喜家にようこそ わが家に伝わる愛すべき「最後の将軍」の横顔. (Tokyo: Bungei-shunju). ISBN 4-16-765680-9
- Totman, Conrad (1980). The Collapse of the Tokugawa Bakufu, 1862-1868. (Honolulu: University of Hawai'i Press)
- Treat, Payson J. (1921). Japan and the United States: 1853-1921. (New York: Houghton Mifflin Company).
- Yamakawa Kenjirō (1933). Aizu Boshin Senshi. (Tokyo: Tokyo Daigaku Shuppankai).
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- Matsuura Rei 松浦玲 (1975). Tokugawa Yoshinobu: shōgun-ke no Meiji-ishin 德川慶喜 : 将軍家の明治維新. (Tokyo: Chūōkōronsha 中央公論社).
- Satow, Ernest Mason, trans. (1905). Japan 1853-1864, Or, Genji Yume Monogatari. (Tokyo: Naigai Shuppan Kyokai).
- Shibusawa Eiichi 渋沢栄一, ed. (1967–1968) Tokugawa Yoshinobu-kō den 德川慶喜公伝. (Tokyo: Heibonsha 平凡社).
นวนิยาย:
- Shiba, Ryōtarō (1998). The Last Shogun: The Life of Tokugawa Yoshinobu, trans. Juliet Winters Carpenter. (New York: Kodansha International). ISBN 1-56836-246-3
ก่อนหน้า | โทกูงาวะ โยชิโนบุ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โทกูงาวะ อิเอโมจิ | โชกุนแห่งเอโดะรัฐบาล (ค.ศ. 1866 – 1867) |
ยกเลิกตำแหน่งโชกุน | ||
โทกูงาวะ โชมะรุ | ประมุขแห่งตระกูลโทกูงาวะ สายฮิโตะสึบาชิ (ค.ศ. 1847 – 1866) |
โทกูงาวะ โมจิฮะรุ | ||
โทกูงาวะ อิเอโมจิ | ประมุขแห่งตระกูลโทกูงาวะ (ค.ศ. 1867 – 1868) |
โทกูงาวะ อิเอซาโตะ | ||
ไม่มี (ตั้งสกุลใหม่) | ประมุขแห่งโทกูงาวะ โยชิโนบุ-เคะ (ค.ศ. 1867 – 1868) |
โทกูงาวะ โยะชิฮิซะ |