ประเทศลีชเทินชไตน์
47°09′N 9°33′E / 47.15°N 9.55°E
ราชรัฐลีชเทินชไตน์ Fürstentum Liechtenstein (เยอรมัน) | |
---|---|
ที่ตั้งของ ประเทศลีชเทินชไตน์ (เขียว) ในยุโรป (เทาอาเกต) — [คำอธิบายสัญลักษณ์] | |
เมืองหลวง | วาดุซ |
เทศบาลใหญ่สุด | ชาน 47°10′00″N 9°30′35″E / 47.16667°N 9.50972°E |
ภาษาราชการ | เยอรมัน |
ศาสนา (2015[1]) | 83.2% คริสต์ —73.4% คาทอลิก (ทางการ) —9.8% คริสต์นิกายอื่น ๆ 7.0% ไม่มี 5.9% อิสลาม 3.9% อื่น ๆ |
การปกครอง | รัฐเดี่ยวในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบราชาธิปไตยกึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ |
• เจ้าผู้ครอง | เจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 |
เจ้าชายอาล็อยส์ | |
ดานีเอล ริช | |
สภานิติบัญญัติ | ลันท์ทาค |
เป็นเอกราชในฐานะราชรัฐ | |
• การรวมกันระหว่าง วาดุซกับ เช็ลเลินแบร์ค | 23 มกราคม ค.ศ. 1719 |
12 กรกฎาคม ค.ศ. 1806 | |
• แยกจาก สมาพันธรัฐเยอรมัน | 23 สิงหาคม ค.ศ. 1866 |
พื้นที่ | |
• รวม | 160 ตารางกิโลเมตร (62 ตารางไมล์) (อันดับที่ 189) |
2.7[2] | |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2020 ประมาณ | 38,896[3] (อันดับที่ 217) |
237 ต่อตารางกิโลเมตร (613.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 57) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2013 (ประมาณ) |
• รวม | 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] (อันดับที่ 149) |
• ต่อหัว | 98,432 ดอลลาร์สหรัฐ[5][6][7] (อันดับที่ 3) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2010 (ประมาณ) |
• รวม | 5.155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6][7] (อันดับที่ 147) |
• ต่อหัว | 143,151 ดอลลาร์สหรัฐ[5][6][7] (อันดับที่ 1) |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019) | 0.919[8] สูงมาก · อันดับที่ 19 |
สกุลเงิน | ฟรังก์สวิส (CHF) |
เขตเวลา | UTC+01:00 (เวลายุโรปกลาง) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+02:00 (เวลายุโรปกลาง) |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +423 |
โดเมนบนสุด | .li |
ลีชเทินชไตน์[9] หรือ ลิกเตนสไตน์[9] (เยอรมัน: Liechtenstein, ออกเสียง: [ˈlɪçtn̩ʃtaɪn]) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ราชรัฐลีชเทินชไตน์ หรือ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (เยอรมัน: Fürstentum Liechtenstein)[10] เป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศออสเตรีย และด้านตะวันตกติดกับสวิตเซอร์แลนด์[11] ลีชเทินชไตน์มีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีเจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 เป็นพระประมุขพระองค์ปัจจุบัน ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ
ลีชเทินชไตน์ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสี่ในทวีปยุโรป ด้วยพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร (62 ตารางไมล์) และมีประชากรเพียง 38,749 คน (ค.ศ. 2019) แบ่งการปกครองออกเป็น 11 เทศบาล มีเมืองหลวงคือ วาดุซ และเทศบาลที่มีขนาดใหญ่สุดคือ ชาน นอกจากนี้ยังถือเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่มีพรมแดนติดกับสองประเทศ[12] ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ลีชเทินชไตน์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในโลกเมื่อปรับตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ ถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วาดุซ ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มมหาเศรษฐี แต่ในปัจจุบันลีชเทินชไตน์ไม่ได้อยู่ในบัญชีดำอย่างเป็นทางการของประเทศที่เป็นจุดหมายในการเลี่ยงภาษีอีกต่อไป ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก และเต็มไปด้วยภูเขาสูง แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นอกจากนี้ลีชเทินชไตน์ยังเป็นที่นิยมของนักเล่นกีฬาฤดูหนาว และยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่เก็บภาษีต่ำมากประเทศหนึ่ง
ลีชเทินชไตน์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ สมาคมการค้าเสรียุโรป และ สภายุโรป แม้จะไม่ใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป ทว่าลีชเทินสไตน์ก็มีส่วนร่วมในพื้นที่เชงเกน และ เขตเศรษฐกิจยุโรป และมีสหภาพศุลกากรและสหภาพการเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์
ประวัติศาสตร์
แก้ในปี ค.ศ. 1719 โยฮันน์ที่ 1 โยเซฟ เจ้าชายแห่งลีชเทินชไตน์ ได้ซื้อแคว้นสองแคว้นที่มีชื่อว่า วาดุซ และ เชลเลนบูร์ก จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และตั้งชื่อใหม่ว่า ลีชเทินชไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 ดินแดนนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน และแยกตัวออกเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1866 ลีชเทินชไตน์เป็นประเทศเดียวในยุโรปในศตวรรษที่ 20 ที่ไม่เคยเกิดสงครามเลย[13]
ภูมิศาสตร์
แก้ประเทศลีชเทินชไตน์ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป อยู่ระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย พิกัด 47°16′ องศาเหนือ 9°32′ องศาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 160 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (มีขนาดเป็น 0.9 เท่า) โดยมีความยาวจากเหนือจรดใต้ 25 กิโลเมตร และกว้างสุดเพียง 6 กิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกับประเทศออสเตรียยาว 34.9 กิโลเมตร ติดกับสวิตเซอร์แลนด์ 41.1 กิโลเมตร รวมพรมแดนยาวทั้งหมด 76 กิโลเมตร แต่ในปี ค.ศ. 2006 มีการสำรวจและพบว่า อาณาเขตที่แท้จริงมากกว่าเดิม 1.9 กิโลเมตร เป็น 77.9 กิโลเมตร ลีชเทินชไตน์เป็นหนึ่งในสองประเทศของโลกที่ถูกประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลล้อมรอบ ซึ่งอีกประเทศหนึ่งคือ อุซเบกิสถาน
พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นภูเขา ภูเขาส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ มีแม่น้ำไรน์ไหลผ่านทางด้านตะวันตกของประเทศ จุดที่สูงที่สุดคือยอดเกราชปิทซ์ (Grauspitz) มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,599 เมตร ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ ส่วนจุดที่ต่ำที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเล 430 เมตร
ส่วนภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฤดูหนาวอากาศหนาว เมฆมาก มีหิมะและฝนบ่อยครั้ง ส่วนในฤดูร้อนจะชื้น อากาศเย็นถึงอุ่น มีเมฆมาก
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ลีชเทินชไตน์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เทศบาล (เยอรมัน: Gemeinden, รูปเอกพจน์ : Gemeinde) ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเมืองเพียงแห่งเดียว โดยเทศบาล 5 แห่งจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งตอนล่าง (Unterland) และอีก 6 แห่งอยู่ในเขตเลือกตั้งตอนบน (Oberland) เทศบาลทั้ง 11 แห่งมีดังนี้
ธง | เทศบาล | ประชากร[5] (31 มิถุนายน 2557) |
พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) |
---|---|---|---|
เขตเลือกตั้งอุนเทอร์ลันท์ (Unterland) | |||
รุกเก็ล (Ruggell) |
2,108 | 7.38 | |
เช็ลเลินแบร์ค (Schellenberg) |
1,050 | 3.59 | |
กัมพรีน (Gamprin) |
1,635 | 6.12 | |
เอ็ชเชิน (Eschen) |
4,341 | 10.38 | |
เมาเริน (Mauren) |
4,124 | 7.49 | |
เขตเลือกตั้งโอเบอร์ลันท์ (Oberland) | |||
ชาน (Schaan) |
5,964 | 26.92 | |
พลังเคิน (Planken) |
421 | 5.34 | |
วาดุซ (Vaduz) |
5,391 | 17.32 | |
ทรีเซินแบร์ค (Triesenberg) |
2,620 | 29.69 | |
ทรีเซิน (Triesen) |
4,966 | 26.48 | |
บัลท์เซิร์ส (Balzers) |
4,595 | 19.73 |
เศรษฐกิจ
แก้แต่ก่อนอาชีพหลักของชาวลีชเทินชไตน์คือเกษตรกรรม แต่เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ค.ศ. 1945 รายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยวและการจำหน่ายดวงตราไปรษณียากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของลีชเทินชไตน์มาจากภาคอุตสาหกรรม 40% ซึ่งประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตโลหะ สิ่งทอ เซรามิก เวชภัณฑ์ อาหาร และการท่องเที่ยว ภาคการเงินการธนาคาร 30% ภาคการบริการ การท่องเที่ยว 25% และภาคการเกษตร 5% ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการเกษตรได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด มันฝรั่ง ปศุสัตว์ นม เนย
แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการก่อสร้าง จำนวนแรงงานที่สำรวจในปี ค.ศ. 2014 มีทั้งสิ้น 18,614 คน ในจำนวนนี้ 6,877 คน (37%) อาศัยในประเทศออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี และเดินทางไป - กลับข้ามประเทศทุกวัน[5]
สินค้าส่งออกของลีชเทินชไตน์คือ เครื่องจักรขนาดเล็กและเครื่องจักรที่สั่งทำพิเศษ เครื่องมือด้านทันตกรรม แสตมป์ เครื่องใช้โลหะ เครื่องปั้นดินเผา ส่วนสินค้านำเข้าคือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ อาหาร และรถยนต์ กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักคือสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกเอฟตา และสวิตเซอร์แลนด์
ในประเทศลีชเทินชไตน์มีการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีช่วงปลอดภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เก็บในอัตรา 0.2 - 0.9% ภาษีเงินได้อัตรา 4 - 18% สำหรับบริษัทถือหุ้น (holding company) ที่มีถิ่นที่อยู่ในลีชเทินชไตน์ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษี ลีชเทินชไตน์จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนนอกประเทศที่สำคัญของยุโรป
การทำไวน์เป็นสิ่งที่ชาวลีชเทินชไตน์ภาคภูมิใจ แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย (เพียง 54 เอเคอร์) แต่พื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศที่มีแสงแดดปีละ 1,500 ชั่วโมง ประกอบกับมีโรงงานผลิตไวน์ที่ทันสมัย ทำให้ไวน์ของลีชเทินชไตน์มีคุณภาพใกล้เคียงกับไวน์สวิส ปัจจุบันไวน์ของลีชเทินชไตน์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยี่ห้อที่ขึ้นชื่อคือ ซุสส์ดรุก (Sussdruck) มีสีอิฐแดง และ เบียร์ลิ (Beerli) มีสีแดงเข้ม การโฆษณาเน้นให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก การเก็บ และการกลั่น โดยสามารถหาดื่มได้ตามร้านอาหารทั่วไป
ในนโยบายด้านเศรษฐกิจ ลีชเทินชไตน์มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกกลุ่มเอฟตา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีส่วนร่วมในความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับยุโรป และเป็นภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1995 หลังปี ค.ศ. 1945 ได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครี่องจักรกล สิ่งทอ เซรามิค ผลิตภัณฑ์ เคมีและยา อิเล็คโทรนิคส์ อาหารกระป๋อง
ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ลีชเทินชไตน์อ้างสิทธิในดินแดนของสาธารณรัฐเช็ก 620 ตารางไมล์ ซึ่งเช็กริบมาจากราชวงศ์ลีชเทินชไตน์ในปี ค.ศ. 1918 แต่ฝ่ายเช็กไม่ยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าว โดยถือว่าการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนใด ๆ จะต้องไม่ย้อนหลังเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจ[ต้องการอ้างอิง]
ประชากร
แก้จำนวนผู้นับถือศาสนาในลีชเทินชไตน์ | ||
---|---|---|
ศาสนา [14] | ค.ศ. 2000 | ค.ศ. 1990 |
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก | 78.4% | 84.9% |
คริสตจักรปฏิรูป | 7.9% | 9.4 % |
คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ | 1.1% | 0.7% |
คริสต์นิกายอื่น ๆ | 0.4% | 0.1% |
อิสลาม | 4.8% | 2.4% |
ยูดาห์ | 0.1% | 0.0% |
อื่น ๆ | 0.3% | 0.1% |
ไม่นับถือศาสนาใด ๆ | 7.0% | 2.4% |
จากการประมาณจำนวนประชากรเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 ลีชเทินชไตน์มีประชากร 37,215 คน และจากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ ค.ศ. 2000 มีประชากร 33,307 คน ในจำนวนนี้กว่า 68% อยู่ในวัย 15-64 ปี อัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอยู่ที่ 0.7% ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศมีจำนวน 12,522 คน คิดเป็น 33.6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ถึง 58% มาจากสามประเทศได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี[5]
ลีชเทินชไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่สุดอันดับที่ 4 ของทวีปยุโรป รองจากนครรัฐวาติกัน โมนาโก และซานมารีโน ภาษาราชการของประเทศคือภาษาเยอรมัน ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาตระกูลอัลเลแมนิกเยอรมัน ถึงแม้ว่าประชากรของประเทศกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศอื่น ได้แก่ ผู้พูดภาษาเยอรมันที่มาจากประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ผู้พูดภาษาอิตาลี รวมไปถึงตุรกี ซึ่งภาษาอัลเลแมนิกเป็นสำเนียงท้องถิ่นที่แตกต่างกับภาษาเยอรมันมาตรฐานค่อนข้างมาก หากแต่คล้ายคลึงกับสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในรัฐฟอร์อาร์ลแบร์ค ประเทศออสเตรีย
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2000 ประชากรกว่า 87.9% นับถือศาสนาคริสต์ ในจำนวนนี้ 78.4% นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และประมาณ 8% นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี ค.ศ. 1990 ปรากฏว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ลดลง ในส่วนของศาสนาอิสลามและไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว[15]
อายุขัยเฉลี่ยของชาวลีชเทินชไตน์อยู่ที่ 79.68 ปี โดยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 76.1 ปี และเพศหญิง 83.28 ปี อัตราการตายของทารกคือ 4.64 คนต่อการเกิด 1,000 คน และจากการประมาณเมื่อเร็ว ๆ นี้ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวลีชเทินชไตน์อยู่ที่ 100% (อ่านออกเขียนได้ทุกคน) ซึ่งโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (อังกฤษ: Programme for International Student Assessment) ที่ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดอันดับให้ระบบการศึกษาของลีชเทินชไตน์ดีเยื่ยมเป็นอันดับที่ 10 ของโลก[16]
การคมนาคม
แก้ถนนภายในลีชเทินชไตน์มีความยาวทั้งสิ้น 380 กิโลเมตร โดยความยาว 90 กิโลเมตรมีช่องทางสำหรับรถจักรยาน ส่วนทางรถไฟภายในประเทศมีความยาวเพียง 9.5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ การรถไฟได้รับการบริหารดูแลโดยการรถไฟสหพันธรัฐออสเตรีย (ÖBB)[17] มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีชาน-วาดุซ (Schaan-Vaduz) ฟอสท์ฮิลที (Forst Hilti) เนนเดลน์ (Nendeln) และชานวัลด์ (Schaanwald) รถไฟที่ให้บริการจะมาอย่างไม่มีเวลากำหนดแน่นอน เพราะเป็นเพียงทางผ่านระหว่างเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียกับเมืองบุคส์ของสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนรถไฟยูโรซิตี้และรถไฟที่เดินทางระยะไกลข้ามประเทศที่ผ่านเส้นทางสายนี้มักจะไม่จอดในสถานีในประเทศลีชเทินชไตน์
ระบบขนส่งมวลชนของลีชเทินชไตน์มีชื่อว่า ลีชเทินชไตน์บัส (อังกฤษ: Liechtenstein Bus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ระบบโพสท์บัสสวิส (อังกฤษ: Swiss Postbus system) ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเส้นทางเดินรถจะแยกกัน ลีชเทินชไตน์บัสจะวิ่งเฉพาะภายในประเทศ และจะไปเชื่อมกับระบบรถโดยสารสวิสที่เมืองบุคส์และซาร์กันส์ของสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ลีชเทินชไตน์บัสยังวิ่งไปถึงเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียอีกด้วย
ลีชเทินชไตน์ไม่มีสนามบินในประเทศ ซึ่งสนามบินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ ท่าอากาศยานซือริช ในเมืองซือริช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลีชเทินชไตน์มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพียงแห่งเดียวในเทศบาลบัลเซอร์ส ซึ่งสามารถใช้งานได้กับเฮลิคอปเตอร์เช่าเหมาลำ[18][19]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Central Intelligence Agency". The World Factbook. Central Intelligence Agency. 7 February 2020. สืบค้นเมื่อ 24 February 2020.
- ↑ Raum, Umwelt und Energie เก็บถาวร 12 ตุลาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Landesverwaltung Liechtenstein. Retrieved 2 October 2011.
- ↑ "Link Sharing".
- ↑ "Liechtenstein in Figures: 2016" (PDF). Llv.li. สืบค้นเมื่อ 3 August 2017.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "Amt für Statistik, Landesverwaltung Liechtenstein". Llv.li. สืบค้นเมื่อ 30 June 2020.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Key Figures for Liechtenstein เก็บถาวร 17 กันยายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Landesverwaltung Liechtenstein. Retrieved 1 July 2012.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 World Development Indicators, World Bank. Retrieved 1 July 2012. Note: "PPP conversion factor, GDP (LCU per international $)" and "Official exchange rate (LCU per US$, period average)" for Switzerland were used.
- ↑ Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
- ↑ 9.0 9.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
- ↑ Duden Aussprachewörterbuch, s.v. "Liechtenstein[er]".
- ↑ "IGU regional conference on environment and quality of life in central Europe". GeoJournal. 28 (4). 1992. doi:10.1007/BF00273120. ISSN 0343-2521. S2CID 189889904.
- ↑ "The smallest countries in the world by area". www.countries-ofthe-world.com.
- ↑ Go Genius ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนพฤษภาคม 2539, กรุงเทพมหานคร: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, 2539, ISSN 0858-5946
- ↑ "Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft – Landesverwaltung Liechtenstein". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-01.
- ↑ "Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft (AVW) – Landesverwaltung Liechtenstein<". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-01.
- ↑ Range of rank on the PISA 2006 science scale
- ↑ Verkehrsverbund Vorarlberg
- ↑ Heliport Balzers FL LSXB
- ↑ Heliports – Balzers LSXB – Heli-Website von Matthias Vogt[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการ (ในภาษาเยอรมันและอังกฤษ)
- Princely House of Liechtenstein
- รัฐสภาแห่งชาติ
- รัฐบาลลีชเทินชไตน์ เก็บถาวร 2020-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การท่องเที่ยวในลีชเทินชไตน์
- สำนักงานสถิติลีชเทินชไตน์ (ในภาษาเยอรมัน)
- Liechtenstein. The World Factbook. Central Intelligence Agency.
- Liechtenstein from UCB Libraries GovPubs
- ประเทศลีชเทินชไตน์ ที่เว็บไซต์ Curlie
- . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 16 (11 ed.). 1911.
- Liechtenstein profile from BBC News
- Wikimedia Atlas of Liechtenstein
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศลีชเทินชไตน์ ที่โอเพินสตรีตแมป