วัดอภัยทายาราม
วัดอภัยทายาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือติดกับคลองสามเสน ทิศตะวันออกติดกับชุมชนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
วัดอภัยทายาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดอภัยทายาราม, วัดมะกอก |
ที่ตั้ง | เลขที่ 15 ซอยราชวิถี 18 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดอภัยทายารามตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2344[1] ชาวบ้านเรียกว่า วัดมะกอก คาดว่าแต่เดิมคงเป็นดอนมะกอก เป็นวัดทรุดโทรมไม่ทราบประวัติการสร้าง น่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ประวัติการปฏิสังขรณ์วัดได้รับการจารึกเป็นเพลงยาวไว้บนแผ่นไม้สักลงรักเขียนทองซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดมิได้เคลื่อนย้ายไปไหน มีเนื้อหาระบุว่า เจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นว่าวัดนั้นเสื่อมโทรมไม่สมกับเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ จึงทรงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่มาเตรียมการปฏิสังขรณ์ใหญ่ ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปีจุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340) โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จพระดำเนินมาในการพระราชกุศลด้วยพระองค์เองเมื่อเดือนยี่ ปีจุลศักราช 1163 (พ.ศ. 2344) จึงไม่ได้เสด็จมาเพื่อเฉลิมฉลอง แต่มาทรงผูกพัทธสีมา ถึงกระนั้นก็เสด็จมาทางชลมารคด้วยกระบวนเรือมหึมา การปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่แล้วเสร็จในเดือน 3 ปีจุลศักราช 1168 (พ.ศ. 2349) ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี มีการเฉลิมฉลองขึ้น เป็นงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน
อนึ่งนามของวัดที่ปรากฏในเพลงยาวคือ อไภยทาราม ซึ่งก็น่าจะเป็นนามพระราชทานตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็นผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัด มีความหมายว่า "อภัยให้กับวงศ์อริราชศัตรู" ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "วัดอภัยทายาราม"[2] ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งหมายถึง อภัยให้กับวงศ์ญาติ
อุโบสถและจารึก
แก้อุโบสถของวัดประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เจ้าฟ้าเหม็นได้สร้างไว้พร้อมกับตอนที่บูรณะวัด นอกจากนี้ยังมีแผ่นไม้สักจารึก ขนาดกว้าง 64.7 เซนติเมตร และ ยาว 353 เซนติเมตร บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน 1 ด้าน มี 17 บรรทัด[3] เขียนประวัติของวัดเอาไว้อย่างละเอียด ติดอยู่ภายในผนังของอุโบสถ[4]
งานประเพณี
แก้งานสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ประกอบพิธีกรรม ในประเพณีวันวิสาขบูชา มีการตักบาตรในช่วงเช้า และฟังพระธรรมเทศนา ในช่วงค่ำ มีการเวียนเทียนรอบอุโบสถ 3 รอบ และประเพณีวันเข้าพรรษา มีกิจกรรมคือภาคเช้า เวลา 8 นาฬิกา ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และภาคบ่าย เวลา 15 นาฬิกา มีการแสดงธรรมของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อครบกำหนดจำพรรษา 3 เดือน จะมีกิจกรรมประเพณีวันออกพรรษาคือการทำบุญตักบาตรเทโวร่วมกัน[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-09-30.
- ↑ "วัดอภัยทายาราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-09-30.
- ↑ "การสำรวจเอกสารโบราณ ณ วัดอภัยทายาราม โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก". หอสมุดแห่งชาติ. 26 ธันวาคม 2562.
- ↑ "วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-09-30.
- ↑ "ประเพณีวันวิสาขบูชา-วันเข้าพรรษา วัดอภัยทายาราม".