คลองสามเสน
คลองสามเสน เป็นคลองในกรุงเทพมหานคร โดยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครบริเวณใกล้กับวังศุโขทัย เขตดุสิต ลำคลองไหลผ่านเข้าพื้นที่เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง และไปบรรจบคลองแสนแสบที่เขตห้วยขวาง ในอดีตคลองสามเสนสามารถใช้สัญจรทางน้ำได้ แต่ในปัจจุบันไม่มีการสัญจรทางน้ำแล้ว คลองกว้างราว 8 –15 เมตร มีความยาวประมาณ 12.95 กิโลเมตร
ประวัติ
แก้คลองสามเสนเป็นคลองเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทปฏิสังขรณ์วัดเก่าในสมัยเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คลองสามเสนคงเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญเส้นหนึ่ง เนื่องจากปรากฏอยู่ในแผนที่ของจอห์น โครว์ฟอร์ด (พ.ศ. 2367) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเชื่อมคลองสามเสนกับคลองเปรมประชากรและคลองรางเงินที่เข้ากับพระราชวังดุสิตด้วย คงเป็นเส้นทางขนส่งวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนสินค้าต่าง ๆ เข้าวัง รวมถึงเป็นเส้นทางจากวังไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมายังคลองนี้เมื่อ พ.ศ. 2442 รวมถึงมีการแห่อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองจากพิษณุโลกเข้ามาในคลองนี้เพื่อไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2444[1]
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนผ่านคลองสามเสนและสร้างสะพานข้าม สภาพคลองในสมัยนั้นเป็นสวนผลไม้อยู่มาก เป็นที่ดินของวัดและเจ้าจอมมารดาหลายพระองค์บริเวณริมคลองฝั่งใต้ ส่วนฝั่งเหนือเดิมเป็นสวนเช่นเดียวกัน โดยบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโรงงานต่าง ๆ เช่น โรงสีข้าว มีศาลเจ้าและบ้านเรือนของชาวจีนมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งกรมพระคลังข้างที่ได้เข้ามาซื้อที่ดินบางส่วน ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นที่พักอาศัยและอาคารพาณิชย์ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ รวมถึงตลาดศรีย่านและนครไชยศรี[2]
สถานที่ริมคลอง
แก้วัดที่ตั้งอยู่ริมคลองสามเสน ได้แก่ วัดประสาทบุญญาวาส (พ.ศ. 2476) วัดโบสถ์สามเสน (พ.ศ. 2251) วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม (พ.ศ. 2375) วัดอัมพวัน (พ.ศ. 2385) วัดสุคันธาราม (พ.ศ. 2450) วัดจอมสุดาราม (พ.ศ. 2390) วัดอภัยทายาราม (พ.ศ. 2340) และวัดทัศนารุณสุนทริการาม (พ.ศ. 2320) เป็นวัดที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมากที่สุด คือ 4 วัด ส่วนวัดที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดโบสถ์สามเสนซึ่งสร้างในสมัยอยุธยา[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ มานพ พงศทัต และกิ่งเพชร ลีฬะหาชีวะ (2527). รายงานการวิจัยเรื่องการขนส่งทางน้ำของกรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 17–18.