โอ่งมังกร มีลักษณะเป็นลวดลายมังกรจากตำรารอบโอ่งมีทั้งแบบที่วาดด้วยสีหรือปั้นขึ้นรูปนูนต่ำออกจากผิวโอ่ง ขนาดความสูงส่วนใหญ่ประมาณ 0.5 เมตรถึง 1.5 เมตร เดิมทีเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากทางประเทศจีนแต่ภายหลังได้มีการทดลองทำขึ้นภายในประเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้โอ่งมังกรภายในประเทศและแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เป็นไปด้วยความลำบากในช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โอ่งมังกรที่ผลิตในไทยช่วงเริ่มแรกนั้นดำเนินการผลิตโดยพ่อค้าชาวจีนคือนายฮง แซ่เตี่ยและนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง[1]ซึ่งรวมหุ้นกันเป็นเงินจำนวน 3,000 บาทตั้งโรงงานผลิตขนาดเล็กในปี พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดราชบุรีเนื่องจากพบว่าดินที่จังหวัดราชบุรีที่มีสีแดงสามารถใช้ปั้นโอ่งได้ โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าสนามบินตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรี เดิมทีนั้นผลิตอ่าง ไห และกระปุก แต่ต่อมาโอ่งมีความต้องการมากขึ้นจึงได้เพิ่มกำลังการผลิต[2][3]

รูปปั้นโอ่งมังกรในเทศบาลเมืองราชบุรี

โอ่งมังกรแต่เดิมไม่มีการสร้างลวดลายจึงเรียกว่าโอ่งเลี่ยนแต่มีการเพิ่มลายเข้ามาในภายหลังและลายที่มักจะได้รับความนิยมก็คือลายมังกรจึงเรียกว่าโอ่งมังกร และเนื่องจากถือว่ามังกรเป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของคนเชื้อสายจีน มังกรที่จะนำมาใช้เป็นลวดลายของโอ่งมังกรก็แบ่งออกเป็นหลายประเภทเช่นมังกรที่มี 3 เล็บหรือ 4 เล็บจะขายกับผู้ซื้อทั่วไปแต่มังกร 5 เล็บจะเป็นของชนชั้นสูง จากการที่จังหวัดราชบุรีเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตโอ่งมังกรในประเทศไทยทำให้มีชื่อเสียงในการผลิตโอ่งมังกร และมีการกล่าวถึงในคำขวัญของจังหวัด

"คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี"

ขั้นตอนการผลิต แก้

  • นำดินเหนียวที่มีคุณสมบัติที่สามารถปั้นเป็นโอ่งได้มาหมักในบ่อหมักแล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้น้ำซึมเข้าไปในเนื้อดินทำให้เนื้อดินอ่อนตัวและเป็นการล้างดินด้วย
  • ตักดินขึ้นมากองแล้วตัดให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดชิ้นงานปั้น
  • ขึ้นรูปส่วนฐานโอ่ง ท้องโอ่ง และปากโอ่งโดยเมื่อปั้นเสร็จแต่ละส่วนต้องรอให้ส่วนนั้นแห้งก่อนจึงจะปั้นส่วนอื่นต่อไป
  • เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำมาทุบให้ได้รูป
  • เมื่อได้รูปแล้วก็จะนำไปขึ้นลายแยกเป็นลายของส่วนต่างๆ
  • นำไปเคลือบยังช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำน้ำก็จะไม่ซึมออกมานอกโอ่ง  
  • เผาโอ่งทิ้งไว้ 2 วันโดยไม่ต้องเติมเชื้อไฟ จากนั้นนำออกมารอให้แห้ง 10 ถึง 15 ชั่วโมง[4]

อ้างอิง แก้

  1. โอ่งมังกร ราชบุรี,ประวัติความเป็นมา
  2. โอ่งมังกร"ราชบุรี"ยังคงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเหลือแค่ตำนาน
  3. "ประวัติและวิธีการทำโอ่งมังกร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-11-24.
  4. กรรมวิธีในการปั้นโอ่งมังกร