วัดเขาช่องพราน

วัดในจังหวัดราชบุรี

วัดเขาช่องพราน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วัดเขาช่องพราน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ตามตำนาน เรื่อง เขาช่องพราน ที่เล่าสืบต่อกันมาว่าพระรามัญญาธิบดีที่ 2 อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาราม เป็นผู้พบเขาช่องพรานและถ้ำในบริเวณนี้หลายแห่ง เห็นเป็นทำเลดีจึงได้ชักชวนชาวมอญมาตั้งรกรากทำมาหากินในท้องถิ่นนี้ และสร้างวัดขึ้นติดกับเขาทางด้านใต้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่า วัดเขาช่องพรานนั้น พระยาเทพอรชุน (ปั้น ปันยารชุน) ร่วมกับพระอาจารย์ศาลเจ้าอาวาส พร้อมกับครอบครัวชาวมอญร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 และใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำกองเสือป่าไปทำการซ้อมรบและเสด็จประทับแรมในบริเวณวัดเขาช่องพราน พระยาเทพอรชุน พระยาราชสงคราม และพระยาปรีชานุสาสน์ได้ตามเสด็จด้วยเมื่อเห็นสภาพของวัดและอุโบสถ ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2460

อีกเรื่องเล่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รับสั่งให้พระยาอินทรอภัยยกกำลังไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาช่องพรานเพื่อสกัดกั้นกองทัพพม่าที่มาใช้น้ำจากหนองน้ำแห่งนี้ เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าของตนและใช้ช่องเขานี้เป็นทางลำเลียงเสบียงอาหารด้วย พระยาเทพประชุน ได้นำคนไปสร้างวัดนี้ เมื่อแล้วเสร็จได้ให้คนเหล่านั้นอาศัยบริเวณวัดต่อไป เพื่อช่วยปลูกข้าวถวายให้แก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาที่วัด โดยมอบเนื้อที่ทำนาให้ประมาณ 80 ไร่และเล่ากันต่อมาว่ามีคนอาศัยทำนาประมาณ 10 ครอบครัว วัดเริ่มสร้างเพียงศาลาและกุฎิหลังเล็ก ๆ มีพระประจำวัดค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ โดยมีพระครูรามัญดี (พระอาจารย์ศาล) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถหลังใหม่ทรงจัตุรมุข ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้น ถ้ำพระนอนมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ซึ่งเป็นพระนอนองค์ใหญ่มีความยาว 8 เมตร สูง 1 เมตร พบพระพุทธรูปหินทรายแดงปางต่าง ๆ พระแผงไม้แกะเป็นพระพิมพ์องค์เล็ก ๆ จำนวน 2 แผง ถ้ำนี้มีฝูงค้างคาวจำนวนนับร้อยล้านตัวที่บินออกจากถ้ำเป็นสายสีดำเคลื่อนไหวไปมา ในช่วงเวลาประมาณ 17.30 น.[1] เจดีย์มอญเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนมีลวดลายปูนปั้นประดับ[2] และบนยอดเขามีพระบรมธาตุบวรวิสุทธิเจดีย์[3]

อ้างอิง แก้

  1. "ค้างคาวร้อยล้าน วัดเขาช่องพราน". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  2. "วัดเขาช่องพราน". ข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  3. "ถ้ำค้างคาวเขาช่องพราน". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).