กองเสือป่า (อังกฤษ: Wild Tiger Corps) เป็นกองกำลังกึ่งทหารที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]:4 โดยกษัตริย์ยังแต่งตั้งสมาชิกกองเสือป่าบางคนให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพและในราชสำนักอีกด้วย

กองเสือป่า
"ธงมหาศารทูลธวัช" ธงชัยเฉลิมพลใหญ่ประจำกองเสือป่า
ประจำการ1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 (112 ปี)
ปลดประจำการพ.ศ. 2468 (98 ปี)
ประเทศสยาม
ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์แห่งสยาม
รูปแบบกำลังกึ่งทหารอาสาสมัคร
ขึ้นกับกระทรวงวัง
กองบัญชาการสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ
คำขวัญเสียชีพอย่าเสียสัตย์
เพลงหน่วยสรรเสริญเสือป่า[1]
ผู้บังคับบัญชา
นายกเสือป่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อุปนายกเสือป่าเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)

การจัดตั้งกองเสือป่า แก้

 
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์เต็มยศนายพลเสือป่าแห่งกองเสือป่า

การจัดตั้งกองเสือป่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อมีพระราชอำนาจสมบูรณ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงริเริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที โดยปรากฏหลักฐานในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ความว่า

การตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วยความมุ่งหมายจะให้คนไทยทั่วกันรู้สึกว่าความจงรักภักดีต่อผู้ดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามมติธรรมประเพณีประการ 1 ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือศาสนาประการ 1 ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

— พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยก่อนที่จะทรงจัดตั้งกองเสือป่าอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองฝึกหัดทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างที่มีพระราชประสงค์ ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากลูกเสือ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยการรบแบบที่พระองค์สนพระทัยอย่างยิ่ง คือ สงครามกองโจรและการซ้อมรบในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการรบแบบใหม่ในสมัยนั้น

นอกจากชื่อกองเสือป่าแล้ว ยังมีการตั้งชื่ออื่นๆ ตามกิจกรรมและความเหมาะสมขึ้น เช่น "กองเสือป่ารักษาพระองค์" หรือ "กองเสือป่าหลวง", "กองเสือป่ารักษาแผ่นดิน" หรือ "กองเสือป่ารักษาดินแดน" ซึ่งอย่างหลังเป็นเสือป่าสำหรับข้าราชการ สามัญชน และพลเรือนทั่วพระนครและตามมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 ภาคดูแลตามกลุ่มจังหวัด ถือเป็นต้นแบบของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลาต่อมา

หลังจากทรงจัดตั้งกองเสือป่าแล้ว ยังมีพระราชดำริว่า ควรมีสถานที่ใช้รวมตัวเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีสโมสรเสือป่าในแต่ละกองสำหรับเป็นที่ชุมนุม ประชุม สังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาหลากหลายชนิด อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและปรึกษากิจการเสือป่าด้วย สโมสรเสือป่าจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 บริเวณสนามเสือป่า[3]

การจัดกำลัง แก้

กองพลหลวง (รักษาพระองค์) แก้

 
ธงศารทูลธวัชประจำกรมเสือป่าซึ่งอยู่ในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ลักษณะเป็นธงไตรรงค์อย่างธงชาติสยามในปี พ.ศ. 2460 ที่มุมธงบนด้านติดคันธงมีกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีแบ่งตามเหล่าต่างๆ ในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ภายในมีรูปหน้าเสือสวมเทริด ล้อมรอบด้วยชื่อหน่วยและคำขวัญ "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" (ในภาพ คือธงของกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ สีประจำเหล่าคือสีเขียว)
 
ธงศารทูลธวัชประจำกรมเสือป่าซึ่งอยู่ในกองเสนาหลวงรักษาดินแดนต่างๆ ลักษณะคล้ายกับธงศารทูลธวัชประจำกรมเสือป่าซึ่งอยู่ในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ แต่พื้นสีของกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสที่มุมธงบนด้านติดคันธงใช้สีประจำกองเสนารักษาดินแดนต่างๆ ภายในมีรูปหน้าเสือไม่สวมเทริด ล้อมรอบด้วยชื่อหน่วยและคำขวัญ "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" (ในภาพ คือธงของกรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนกรุงเทพ สีประจำกองคือสีเหลือง)

ภายหลังพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษเสือป่าเป็นครั้งที่ 2 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2454 แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ จัดแบ่งสมาชิกเสือป่าออกเป็น 3 กอง คือ กองร้อยที่ 1 และ กองร้อยที่ 2 กับมีกองฝึกหัดอีก 1 กอง โดยกองร้อยที่ 1 ซึ่งเป็นกองเริ่มแรกนั้น นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่เป็นกองรักษาพระองค์ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานขนนกขาวให้ปักที่ข้างขวาหมวกเป็นเกียรติยศพิเศษ โดยนายเสือป่าชั้นนายกองมีพู่ขนนกใหญ่ปักที่ขวาหมวกในเวลาแต่งเต็มยศหรือครึ่งยศ ส่วนเวลาแต่งเครื่องปกติคงปักขนนกขาวเล็กเช่นเดียวกับนายเสือป่าชั้นนายหมู่

ต่อจากนั้นได้มีการขยายการจัดตั้งกรมกองเสือป่าออกไปยังหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร "ชั้นต้นตามจังหวัดจัดเปนหมวดเสือป่าราบ มีข้าราชการสัญญาบัตร์เปนพื้น; ต่อมาไม่ช้าพวกเสมียนพนักงานทุกน่าที่ได้สมัคเปนสมาชิก, และขยายการปกครองขึ้นเปนกองร้อย;" แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างธงไชยเฉลิมพลประจำกองเสือป่า และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษและพระราชทานธงไชยเฉลิมพลแก่กองเสือป่ามณฑลนครไชยศรี (นครปฐม) มณฑลปราจิณบุรี มณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) ตามลำดับ

ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 มีหลักฐานปรากฏชัดว่าสมาชิกเสือป่าในกรุงเทพฯ ได้ทวีจำนวนมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งกำลังพลเสือป่าในกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ออกเป็น

  1. กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
  2. กรมที่ 2 รักษาพระองค์
  3. กองม้าหลวงรักษาพระองค์

กองพลเสือป่าที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 นั้น ในส่วนกลางประกอบด้วย กองพลหลวง (รักษาพระองค์) มีหน้าที่ "เป็นผู้รักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เกี่ยวแก่การรักษาดินแดนมณฑลหรือภาคใดๆ แห่งพระราชอาณาจักรโดยเฉพาะ" มีอัตรากำลังประกอบด้วย

กรมเสือป่าราบหลวง (รักษาพระองค์) มีกำลังพลในสังกัด 2 กองพัน คือ
  1. กองพันที่ 1 มี 2 กองร้อย คือ กองร้อยที่ 1 กองร้อยหลวง และ กองร้อยที่ 3 กองลูกเสือหลวง
  2. กองพันที่ 2 มี 2 กองร้อย คือ กองร้อยที่ 2 (รักษาพระองค์) และ กองร้อยที่ 4 กองทหารกระบี่หลวง
กองเสือป่าม้าหลวง (รักษาพระองค์)
กองพันพิเศษ (รักษาพระองค์) มีกำลังพลในสังกัด 2 กองร้อย ประกอบด้วย
  1. กองช่างหลวง (รักษาพระองค์), กองพาหนะหลวง (รักษาพระองค์) และ กองเดินข่าวหลวง (รักษาพระองค์)

อนึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2458 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขระเบียบการปกครองเสือป่าในกองเสนาหลวงแลกองเสนารักษาดินแดนอีกครั้ง โดยให้เริ่มถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 เป็นดังนี้

กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ให้แบ่งการปกครองออกเปน 2 กองเสนาน้อย และมีกองที่เปนกำลังของกองเสนาหลวงอีกกอง 1 รวมเปน 3 กองด้วยกันดังนี้

กองเสนาน้อยราบเบา ให้มีกรมเสือป่ารวมอยู่ในความปกครอง คือ
  1. กรมพรานหลวงรักษาพระองค์ (จัดเป็น 4 กองร้อย) แต่เวลานี้ให้มีเพียง 3 กองร้อยไปก่อน
  2. กรมนักเรียนเสือป่าหลวง (จัดเป็น 4 กองร้อย)
กองเสนาน้อยราบหนัก ให้มีกรมเสือป่าที่รวมอยู่ในความปกครอง คือ
  1. กรมราบหลวงรักษาพระองค์ (จัดเป็น 4 กองร้อย)
  2. (กรมนี้คงว่างไว้สำหรับกรมเสือป่ารักษาดินแดนกรมใดกรม 1 ตามที่จะได้สั่งเข้าสมทบเป็นครั้งคราว)
กองกำลังเสนาหลวง เปนกองที่ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ มีกรมเสือป่าที่รวมอยู่ คือ
  1. กรมม้าหลวงรักษาพระองค์ (จัดเปน 2 กองร้อย)
  2. กรมเหล่าพิเศษหลวงรักษาพระองค์ มีกองเสือป่าเหล่าต่างๆ รวมอยู่ในกรมนี้ คือ กองเดินข่าวหลวงรักษาพระองค์, กองช่างหลวงรักษาพระองค์, กองพาหนะหลวงรักษาพระองค์ อย่างละ 1 กองร้อย, กับต่อไปจะมีกองเหล่าพิเศษสมทบเพิ่มเติมอีก ซึ่งตามที่จะได้มีคำสั่งภายหลัง

กองพลหัวเมือง (มณฑล) แก้

กองพล (กองเสนารักษาดินแดน) จังหวัด (มณฑล) หน่วยในบังคับบัญชา
กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ - กองเสนาน้อยราบเบา, กองเสนาน้อยราบหนัก และ กองกำลังเสนาหลวง
กองเสนากลางรักษาดินแดนกรุงเทพฯ กรุงเทพมหานคร กรมเสือป่าราบที่ 1 กรมเสือป่าราบที่ 2 และ กรมเสือป่าราบที่ 3 รวม 3 กรม กรมละ 2 กองพัน กองพันละ 3 กองร้อย
กองเสนารักษาดินแดนกรุงเก่า (กองพลบน) พระนครศรีอยุธยา (มณฑลกรุงเก่า)
นครสวรรค์
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) และมณฑลนครสวรรค์
กองเสนารักษาดินแดนฝ่ายเหนือ พิษณุโลก
เพชรบูรณ์
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลพิษณุโลก และมณฑลเพชรบูรณ์
กองเสนารักษาดินแดนปักษ์ใต้ ชุมพร
นครศรีธรรมราช
ปัตตานี
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี
กองเสนาดินแดนตะวันออก นครราชสีมา
อุดรธานี
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครราชสีมา (โคราช) และ มณฑลอุดร
กองเสนารักษาดินแดนตะวันตก นครปฐม
ราชบุรี
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครไชยศรี และมณฑลราชบุรี
กองเสนารักษาดินแดนอีสาณ ร้อยเอ็ด
อุบลราชธานี
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล
กองเสนารักษาดินแดนพายัพ เชียงใหม่ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลพายัพ
กองเสนารักษาดินแดนอาคเนย์ ปราจีนบุรี
จันทบุรี
กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลปราจิณบุรี และมณฑลจันทบุรี
กองเสนารักษาดินแดนภูเก็ต (กองพลหรดี) ภูเก็ต กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลภูเก็ต

ราชนาวีเสือป่า แก้

 
ธงราชนาวีเสือป่า ใช้เป็นธงท้ายเรือและธงประจำอาคารสถานที่สังกัดกรมราชนาวีเสือป่า ในทำนองเดียวกับธงราชนาวีของกองทัพเรือสยาม

นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าฝ่ายเสนาเป็นกองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศในฝ่ายบกจนได้ตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นแล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองเสือน้ำ" ขึ้นอีกเหล่าหนึ่ง

กองเสือน้ำที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นในกองเสนาเฉพาะแต่มณฑลที่มีทางน้ำไปมาติดต่อถึงกันได้สะดวก และในแต่ละกองเสนาให้มีกองเสือน้ำเพียง 1 กองร้อย โดยจัดแบ่งเป็น 3 หมวด คือ

หมวดที่ 1 เรือเร็ว ชนิดเรือกลไฟหรือยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งสำหรับใช้ในการเดินข่าวติดต่อ
หมวดที่ 2 เรือบรรทุก ชนิดเรือกลไฟหรือเรือยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งสำหรับใช้บรรทุกนักรบเนื่องในการทางและเดินทัพ
หมวดที่ 3 เรือบรรทุก ชนิดเรือใบหรือเรือฉลอมหรือเรือแจว ซึ่งสำหรับใช้บรรทุกอาวุธ กระสุนดินดำเครื่องเสบียงและสรรพภาระใช้ในการรบ

อนึ่งถ้าแห่งใดมีเรือไม่ครบทั้ง 3 ประเภท ก็จัดให้มีแต่ 1 หรือ 2 ประเภทตามที่มีเรืออยู่ และถ้ามีเรือประเภท 1 ประเภทใดมากอยู่จะจัดขึ้นเปน 2 หมวดหรือ 3 หมวด เพื่อสะดวกแก่การปกครองก็ได้"

กองเสือน้ำซึ่งต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "เปลี่ยนขนานนามกรมเสือน้ำใหม่ว่า "กรมราชนาวีเสือป่า" ส่วนอักษรย่อที่จะใช้แทนคำว่าราชนาวีเสือป่านั้น ให้ใช้อักษรย่อว่า "ร.น.ส." โดยคล้ายกับราชนาวีที่ใช้อักษรย่อว่า "ร.น." และในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนขนานนามกรมกองเสือน้ำที่ได้ตั้งขึ้นแล้วเป็นดังนี้

  1. กองพันหลวงราชนาวีเสือป่า
  2. กองร้อยภูเก็ตราชนาวีเสือป่า
  3. กองร้อยราชบุรีราชนาวีเสือป่า
  4. กองร้อยชลบุรีราชนาวีเสือป่า

อนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2460 นั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองราชนาวีหลวงเสือป่าเดินทะเล" เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพันหลวงราชนาวีเสือป่าอีกกองหนึ่ง

กองเสนารักษาดินแดนตะวันตก (กองเสนาน้อยราชบุรี)
  1. กองพันที่ 1 และ กองพันที่ 2 ราชนาวีเสือป่าเพชรบุรี ตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี
  2. กองพันที่ 3 ราชนาวีเสือป่าประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  3. กองพันราชนาวีเสือป่าสมุทรสาคร ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร

สมาชิกเสือป่า แก้

การรับสมาชิก แก้

 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมาชิกกองเสือป่าระหว่างการซ้อมรบที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2457 (ตามปฏิทินในขณะนั้น)
 
สนามเสือป่า ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสโมสรเสือป่าแห่งแรกของประเทศสยาม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของส่วนราชการในสังกัดสำนักพระราชวัง

เนื่องจากกองเสือป่าดำเนินการในแบบกองอาสาสมัคร การรับสมาชิกของกองเสือป่าจึงถือเอาตามความสมัครใจของบุคคล โดยเปิดรับบุคคลพลเรือนที่ไม่ได้เป็นทหารในทุกระดับชั้น ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ผู้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่าต้องชำระเงินค่าสมาชิกและจัดหาเครื่องแต่งกายตามข้อบังคับของกองเสือป่าด้วยตนเอง เพราะกองเสือป่าไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากทางรัฐบาล

สมาชิกเสือป่ามีหน้าที่ต้องมารับการฝึกหัดตามกำหนดเวลา หากเกียจคร้านจะถูกปรับและยังอาจถูกประจานให้ได้รับความอับอายอีกด้วย[4]

อนึ่ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเสือป่าให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษประจำกรมกองเสือป่าต่างๆ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 และได้ทรงรับเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลกรุงเทพฯ กองมณฑลกรุงเก่า และกองมณฑลพายัพ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษกองเสือป่าต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

  1. นายกองเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลอุดร
  2. นายกองเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไป ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลราชบุรี
  3. นายกองเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลนครสวรรค์
  4. นายกองเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลพิษณุโลก
  5. นายกองตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลนครราชสีมา

ชั้นยศของสมาชิก แก้

 
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เแบบสนามสำหรับนายพลเสือป่า ในพระอิริยาบถทอดพระเนตรการซ้อมรบเสือป่า ประดิษฐาน ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

กองเสือป่ามีการจัดชั้นยศของสมาชิกคล้ายกับยศทหารเพื่อประโยชน์ในการจัดสายการบังคับบัญชา แบ่งเป็นชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน ดังนี้

ก่อนปี พ.ศ. 2458

ชั้นสัญญาบัตร
  1. นายกองใหญ่
  2. นายกองเอก
  3. นายกองโท
  4. นายกองตรี
  5. นายหมู่ใหญ่
ชั้นประทวน
  1. นายหมู่เอก
  2. นายหมู่โท
  3. นายหมู่ตรี
  4. พลเสือป่า

หลังปี พ.ศ. 2458

ชั้นสัญญาบัตร
  1. นายกองใหญ่
  2. นายพลเสือป่า
  3. นายกองเอก
  4. นายกองโท
  5. นายกองตรี
  6. นายหมวดเอก
  7. นายหมวดโท
  8. นายหมวดตรี
ชั้นประทวน
  1. นายหมู่ใหญ่
  2. นายหมู่เอก
  3. นายหมู่โท
  4. นายหมู่ตรี

ชั้นยศนายกองใหญ่เป็นยศเฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งยศนายพลเสือป่าขึ้นแทน และได้พระราชทานยศนายพลเสือป่าแก่นายเสือป่าชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น พลเอก พลเรือเอก นายพลเสือป่า เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ), นายพลเสือป่า เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)[5], นายพลเสือป่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช[6][7][8][9] ก่อนที่ในวันที่ 11 มีนาคม 2460 เหล่าเสือป่าจะได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคทาจอมพลเสือป่าที่ ทุ่งโพธาราม หลังการฝึกซ้อมรบ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เลื่อนพระยศเสือป่าเป็น จอมพลเสือป่า[10]

สัญลักษณ์ แก้

อุปสรรคในการดำเนินกิจการเสือป่า แก้

การสลายตัวและสิ่งสืบเนื่อง แก้

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบ ๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ส่งผลให้ทรัพย์สินของกองเสือป่าถูกโอนไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด[11] และคงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือเท่านั้นที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

แม้กิจการเสือป่าได้ล้มเลิกไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดการฝึกราษฏรให้เป็นกำลังสำรองเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้ ได้ปรากฏต่อมาในกิจการยุวชนทหาร นักศึกษาวิชาทหาร และกองอาสารักษาดินแดน กองเสือป่าจึงถือเป็นรากเหง้าของกิจการรักษาดินแดนในประเทศไทย

อ้างอิง แก้

  1. "สรรเสริญเสือป่า หรือ สรรเสริญบทพระสุบิน"
  2. Boontanondha, Thep. "King Vajiravudh and the Making his Military Image". Academia. Paper presented at the 8th Singapore Graduate Forum on SE Asian Studies. สืบค้นเมื่อ 7 July 2016.
  3. พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน (2 May 2016). "กองเสือป่าในรัชกาลที่ 6". journal.sirirajmuseum.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-09. สืบค้นเมื่อ 9 May 2019.
  4. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการป้องกันประเทศ. หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม.
  5. ชั้นยศนายกองใหญ่เป็นยศเฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  6. จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งยศนายพลเสือป่าขึ้นแทน
  7. พระราชทานพลเอก
  8. "พระราชทานพลเรือเอก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-10-07. สืบค้นเมื่อ 2018-10-22.
  9. พระราชทานนายพลเสือป่า
  10. คำกราบบังคมทูล
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482, เล่ม 50, ตอน 0 ง, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482, หน้า 1523

หนังสืออ่านเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้