ยุวชนทหาร

กองกําลังทหารของประเทศไทยในอดีต

ยุวชนทหาร (อักษรย่อ: ยวท.) คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน ดำเนินการโดยกรมยุวชนทหาร กระทรวงกลาโหม (ณ ปี พ.ศ. 2481 ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมเตรียมการทหารในปี พ.ศ. 2484)

ยุวชนทหาร
สัญลักษณ์ของยุวชนทหาร
สัญลักษณ์ของยุวชนทหาร
ประเทศ ไทย
คำขวัญรักชาติยิ่งชีพ
เพลงหน่วยมาร์ชยุวชนทหาร
เครื่องหมายสังกัด
ธงยุวชนนายทหารธงยุวชนนายทหาร
ธงยุวชนทหารจังหวัดธงยุวชนทหารจังหวัด

ประวัติ

แก้

เมื่อกิจการเสือป่าได้ทรุดโทรมลง แต่ไม่ได้หมายความว่าหลักการสำคัญได้สลายลงไปด้วย เหตุการณ์ในยุโรปประมาณปี พ.ศ. 2475 กำลังผันผวนอยู่นั้น รัฐได้คำนึงว่า ทหารกองหนุนมีจำนวนมาก แต่ขาดตัวผู้บัญชาการในตำแหน่งผบ.หมวด (กองหนุน) จึงได้คิดจัดตั้ง กรมยุวชนทหารขึ้น ซึ่งกรมนี้ปรารถนาจะให้กรมนี้เป็นเครื่องจักรผลิตนายทหารชั้น ผบ.หมวด ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มมีการฝึกวิชาทหารให้แก่นักเรียน โดยกำหนดความมุ่งหมายไว้ในระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ว่าด้วยนักเรียนที่จะเข้ารับการฝึกวิชาทหารดังนี้

"ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ขอองโลก ณ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆมาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆมาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง"

กระทรวงกลาโหมผู้ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเห็นว่าในชั้นนี้จะเริ่มฝึกอบรมวิชาการรบแก่กุลบุตรก่อน

หลักเกณฑ์เข้ารับการฝึกวิชาทหารเพื่อเป็นยุวชนทหาร มีดังนี้

  1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 17 ปี
  2. เป็นลูกเสือเอก
  3. เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

หน่วยฝึกยุวชนทหารครั้งแรกของประเทศไทย มี 315 นาย อยู่ในความอำนวยการของมณฑลทหารบกที่ 1 ต่อมาได้ขยายกว้างขวางออกไปจนถึงต่างจังหวัด

พ.ศ. 2479 ยกฐานะขึ้นเป็นแผนกฝึกที่ 6 กรมจเรทหารบก ขยายการฝึกออกไปจนถึงต่างจังหวัด

พ.ศ. 2480 ขยายชั้นเรียนถึงชั้น 1,2 และ 3 มีจำนวนประมาณ 3,000 นาย

พ.ศ. 2481 ยกฐานะแผนกฝึกที่ 6 กรมจเรทหารบก ขึ้นเป็น "กรมยุวชนทหารบก" มีจำนวนประมาณ 10,000 นาย (กรุงเทพฯและต่างจังหวัด) แบ่งเป็น 4 แผนก ดังนี้

  • แผนกที่ 1 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหาร ยุวชนนายสิบ ยุวนารี
  • แผนกที่ 2 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหาร เฉพาะกรุงเทพฯ และธนบุรี (สมัยนั้นมีฐานะเป็นจังหวัด)
  • แผนกที่ 3 มีหน้าที่ฝึกยุวชนทหารในต่างจังหวัด (จังหวัดที่ไม่มีหน่วยทหาร)
  • แผนกที่ 4 มีหน้าที่กำหนดแบบแผน หลักสูตร ประสานงานแผนกที่ 1,2,3 และฝึกอบรมครูฝึกยุวชนทหาร
 
อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 ได้เปิดขยายในต่างจังหวัดเพิ่มเติมขึ้นอีกและในเขตจังหวัดชายแดนในเขตปลอดทหารขึ้นด้วย เช่น

  • ภาคเหนือ ได้จัดตั้งหน่วยฝึกยุวชนทหารขึ้นที่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก และ นครสวรรค์
  • ภาคกลาง จัดตั้งที่ ลพบุรี อยุธยา สระบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ
  • ภาคอีสาน จัดตั้งที่ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร และนครพนม
  • ภาคตะวันออก จัดตั้งที่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา
  • ภาคใต้ จัดตั้งที่ ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร หลังสวน ระนอง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พัทลุง ตรัง ปัตตานี และสงขลา

และยังมียุวชนเหล่าพิเศษ เช่น เหล่าทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ฯลฯ อีกด้วย

พ.ศ. 2484 กรมยุวชนทหารบก เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "กรมเตรียมการทหาร" ด้วยความมุ่งหมายที่จะขยายการให้ความรู้ทางวิชาการทหารแก่ประชาชน ซึ่งตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กรมเตรียมการทหารได้รวบรวมกำลังยุวชนทหารทุกประเภททุกเหล่าบรรจุตามอัตราสงคราม 3 กองพล (27 กองพัน) พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชา เตรียมการที่จะปฏิบัติการรบร่วมกับกองพันได้

พ.ศ. 2485-2486 การฝึกยุวชนทหารได้เจริญก้าวหน้าไปมาก ได้มีการตราพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2486[1] เพื่อกำหนดโครงสร้างทางการปกครอง บทบาท หน้าที่และอำนวยการฝึกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พ.ศ. 2490 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 2 ปี การฝึก "ยุวชนทหาร" ได้ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2490 [2] อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในด้านการเตรียมกำลังสำรองสำหรับประเทศยังคงมีอยู่ จึงได้มีการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนในปี พ.ศ. 2491 ขึ้นเพื่อทำการฝึกนักศึกษาวิชาทหารเป็นกำลังสำรองทดแทนยุวชนทหารสืบต่อมา

เครื่องแบบ

แก้
 
ลักษณะการแต่งกายของยุวชนทหาร

การเเต่งกาย เเต่งกายด้วยชุดเเขนยาวสีกากีเข็มขัดหนังสีน้ำตาล บางหน่วยอาจจะใช้เป็นหัวเข็มขัดระบุหน่วยฝึกของที่นั้นๆ เช่น นฝ.ยุวชนทหาร นครศรีธรรมราช เป็นต้น คอเสื้อจะมีกนกคอ ของเหล่าทหารราบ เป็นสัญลักษณ์ปืนไขว้กับตับกระสุนปืน จะติดทั้งสองข้างของคอเสื้อ บนบ่าจะมีเข็มบั้งเดี่ยว พร้อมเลขของหน่วยฝึกนั้นๆ ตามด้วยสัญลักษณ์ดอกจันเหมือนของโรงเรียนนายสิบทหารบกในยุคปัจจุบัน หน้าอกซ้ายของเสื้อจะปักคำว่า ย.ว.ท(ยุวชนทหาร)เเละมีเลขประจำตัว อกข้างขวาจะมีตราสัญลักษณ์สามเหล่า เหมือนของกระทรวงกลาโหม ปักอยู่ ประกอบด้วย สมอเรือ,กงจักร,เเละปีก หมวกหม้อตาลมีเเถบผ้าไหมสีเเดงรอบหมวก เเละตราหน้าหมวกทำจากเหล็ก สลักคำว่ารักชาติยิ่งชีพ ถุงเท้ายาวถึงเข่าสีดำ รองเท้าหนังสีดำ เป็นต้น

สัญลักษณ์

แก้

เครื่องหมายประจำหน่วย

แก้

เพลงประจำเหล่า

แก้

ยุวชนทหารมีเพลงประจำเหล่าชื่อว่า "มาร์ชยุวชนทหาร" ประพันธ์คำร้องโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เมื่อราวพุทธทศวรรษที่ 2480

ธงประจำกอง

แก้

ยุวชนทหารมีธงประจำกองเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารต่างๆ ปรากฏความในพระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2481 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 ว่า ธงประจำกองยุวชนทหารมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. ธงยุวชนนายทหาร พื้นเป็นสีธงชาติ ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางธงมีรูปวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 เซนติเมตร มีขอบรอบวงกลมสีเหลืองกว้าง 6 มิลลิเมตร กลางวงกลมมีรูปอย่างตราหน้าหมวกยุวชนทหารสีเหลือง แต่ไม่มีรูปสมอ มีอักษรสีเหลืองขนาดพองามว่า "ยุวชนนายทหาร" เป็นแถวโค้งโอบใต้ขอบวงกลม ที่มุมบนทางคันธงมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า อยู่ใต้รูปพระมหามงกุฎสีเหลือง ที่ยอดธงมีแถบธงชาติห้อย 2 แถบ ยอดคันธงเป็นรูปปลายหอกสั้นทำด้วยโลหะสีเงิน มีรูปอุณาโลมทั้งสองข้าง ทั้งนี้ถ้าส่วนใดมิได้กำหนดขนาดไว้ให้มีขนาดพองาม
  2. ธงยุวชนทหาร มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงยุวชนนายทหาร แต่ใต้วงกลมให้ระบุนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน โดยมีข้อความหน้านามจังหวัดดั่งนี้ "ยุวชนทหารจังหวัด......."

วีรกรรม

แก้
 
ภาพจำลองเหตุการณ์การรบของยุวชนทหารที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงกลางปี พ.ศ. 2482 สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน) โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชียเพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาในตอนเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด

เวลา ประมาณ 23.00 น.บริเวณอ่าวชุมพร วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองเรือรบญี่ปุ่นเผชิญพายุฝนทำให้กำหนดการบุกขึ้นฝั่งคลาดเคลื่อน รุ่งเช้า วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร 2 จุด คือที่บ้านแหลมดิน และบ้านคอสน กองทหารญี่ปุ่นที่บ้านแหลมดินเป็นทัพหน้า จัดรูปขบวนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ถนนชุมพร ส่วนทหารญี่ปุ่นที่บ้านคอสนเคลื่อนทัพไปทางทิศใต้ ตามแนวชายฝั่ง และค่อยไปสมทบกับทัพหน้าที่สะพานท่านางสังข์ เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ)ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรทราบข่าวการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นราว 6 นาฬิกา 30 นาที จึงสั่งให้ พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร และร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังไปต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร เวลา ประมาณ 7 นาฬิกา 15 นาที ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้เคลื่อนย้ายกำลังออกปฏิบัติการ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ใช้กำลังยุวชนทหาร 5 นาย ตำรวจภูธร 5 นาย และราษฎรอาสาสมัคร 1 คน พร้อมด้วยปืนกลเบา 1 กระบอก ในความควบคุมของ จ.ส.อ.จง แจ้งชาติ เดินทางมุ่งไปรักษาเส้นทางอ่าวพนังตัก หน่วยนี้ไม่พบข้าศึกเลย
  • ส่วนที่ 2 ใช้กำลังยุวชนทหาร 30 นาย ในความควบคุมของ ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน และสิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ครูฝึก เคลื่อนย้ายโดยรถยนต์บรรทุกตามเส้นทางชุมพร-ปากน้ำไปสะพานท่านางสังข์ ยุวชนทหารทั้งหมดที่เข้าการรบเป็นยุวชนทหารชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีและกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของปีการศึกษานั้น

เมื่อไปถึงสะพานท่านางสังข์ก็ต้องหยุดเข้าสมทบกับกำลังตำรวจ ที่กำลังปะทะอยู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว ร้อยเอกถวิลฯได้ขึ้นไปตรวจการณ์บนสะพาน ถูกข้าศึกยิงแต่ไม่เห็นตัวข้าศึก เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าสลับสวนมะพร้าว และทุ่งนาป่าละเมาะ ข้าศึกก็พรางตัวอย่างดีด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ร้อยเอกถวิลฯ จึงรวมกำลังยุวชนทหารทั้งหมดข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม โดยให้ยุวชนทหาร 3 นาย ที่ไม่มีปืนวิ่งกลับไปรับกระสุนเพิ่มเติมจากในเมือง ในการเคลื่อนที่ข้ามสะพานไปยึดพื้นที่ฝั่งตรงข้ามนั้น ร้อยเอกถวิลฯไ ด้สั่งให้ยุวชนทหารทุกนายติดดาบปลายปืนพร้อมที่จะเข้าตะลุมบอนกับทหารญี่ปุ่นทันที แต่โชคไม่ดีขณะที่ร้อยเอกถวิลฯ วิ่งนำยุวชนทหารอยู่นั้น ร้อยเอกถวิลฯ ได้ถูกข้าศึกยิงเข้าที่ซอกคอ กระสุนทะลุหลอดลมเสียชีวิตทันที ยุวชนทหารวัฒนา นิตยนารถ ได้รีบรายงานให้สิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ทราบ สิบเอกสำราญฯ จึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมยุวชนทหารแทน และได้สั่งให้ยิงต่อสู้ข้าศึกต่อไปอย่างเหนียวแน่น ทหารญี่ปุ่นได้เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ โดยพรางตัวด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ดูไกลๆ เหมือนป่าเคลื่อนที่เข้ามา ฝนก็ตกหนักตลอดเวลา ยุวชนทหารได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีเมื่อเห็นกิ่งไม้ใบไม้ไหว ทำให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการบุกชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นร้องเมื่อถูกยิงอย่างชัดเจน สิบเอกสำราญฯ เองก็ถูกยิงที่แขนขวา เนื้อขาดไปทั้งก้อนจนปืนหลุดจากมือ ยุวชนทหารละออ เหมาะพิชัย ได้เข้ามาปฐมพยาบาล พอปฐมพยาบาลเสร็จ สิบเอกสำราญฯเกิดหมดสติเพราะเสียเลือดจึงไม่สามารถบัญชาการการรบต่อไปได้ ยุวชนทหารมารุต ไทยถาวรจึงบัญชาการรบแทน มารุตได้สั่งให้กำลังพลยุวชนทหารต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยลำพังด้วยความรักชาติ ความกล้าหาญ การเสียสละเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย การสู้รบได้ยื้อเยื้อจนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งให้มีการหยุดยิงผ่านทางรถวิทยุกระจายเสียง

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้