ธงไชยเฉลิมพล

(เปลี่ยนทางจาก ธงชัยเฉลิมพล)

ธงไชยเฉลิมพล หรือ ธงชัยเฉลิมพล (เขียนได้ทั้งสองอย่าง แต่ปัจจุบันประกาศต่าง ๆ ในราชกิจจานุเบกษานิยมสะกดอย่างหลัง) เป็นธงประจำหน่วยทหารทั้งสามเหล่าทัพ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้น ๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา

หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลของ กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ฯ เชิญธงชัยเฉลิมพลในริ้วกระบวนพระอิสริยยศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ธงชัยเฉลิมพลทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ของกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชื่อหน่วยในเวลานั้น) ขณะเชิญนำแถวทหารกองเกียรติยศเข้าสู่พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ด้วยความที่ธงชัยเฉลิมพลเป็นธงที่มีระเบียบปฏิบัติโดยเฉพาะ ทั้งการเก็บรักษา การเชิญธงในวาระต่าง ๆ ดังนั้น โอกาสในการเชิญธงชัยเฉลิมพลนั้นโดยมากจึงเป็นพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการสำคัญ ได้แก่ เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างถิ่น เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระประมุข ประมุขต่างประเทศ ที่เสด็จพระราชดำเนินและมาเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ เข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ หรือ พระอนุสาวรีย์ในพิธีเปิด เชิญไปในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร หรือ พิธีการสำคัญของทหารเช่น พิธีอำลาธงชัยเฉลิมพลของทหารที่ปลดประจำการ การเคลื่อนย้ายหน่วยที่ตั้ง เชิญไปในการปฏิบัติการรบ ปฏิบัติการอื่น ๆ ของกองทัพที่ยกกองทหารออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ

ธงชัยเฉลิมพลนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ที่เสมือนหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นหลักชัยอยู่ท่ามกลางเหล่าทหารทั้งปวง ทั้งยังเป็นเครื่องหมายของสามสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักใจอันสำคัญของบ้านเมือง ที่ทหารจักต้องรักษาไว้เพื่อประโยชน์สุขแห่งประเทศชาติและประชาชน สมดังคำประกาศของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ที่ว่า

“เป็นที่หมายความไว้พระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์ สุจริต และความกล้าหาญของนายทหารและพลทหารทั้งปวงที่ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในบัดนี้

และต่อไปภายหน้า ให้นายทหารและทหารทั้งปวง จงรู้จักเกียรติยศและอำนาจของธงชัยอันวิเศษสำคัญเป็นที่เฉลิมกองทัพนี้ ให้ถูกต้องตามพระบรมราชประสงค์”

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2434 ความว่า

“…ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันพระราชอาณาเขต และเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกัน ห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่า การที่มีทหารประจำรักษาพระราชอาณาเขต อันพรักพร้อมไปด้วยเครื่องศาสตราวุธ และมีความกล้าหาญนั้น เป็นเครื่องป้องกันการที่จะเกิดสงครามได้ เหตุฉะนี้กองทหารทั้งปวงจึงเป็นผู้มีความชอบอยู่เนืองนิตย์…”

ประเภท

แก้

ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ได้กำหนดประเภทของธงชัยเฉลิมพลไว้ 3 ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก

แก้

ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีอุณาโลมทหารบกและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลมทหารบก ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง 2 เซนติเมตร[1] คันธงตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง 15 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพบก หมุดที่ 1 อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

อนึ่ง สำหรับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารในกองบัญชาการกองทัพไทย ใช้ธงลักษณะอย่างเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารบก[2]

ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ

แก้

ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ขอบธงด้านที่ติดกับคันธง มีเกลียวเชือกสีแดง[3] ซึ่งก็คือเหมือนกับธงฉานนั่นเอง ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ นั้น ยอดคันธงเป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎ ทำด้วยโลหะสีทอง มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุยมีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง 15 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพเรือ หมุดที่ 1 อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ

แก้

ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2 ใน 3 ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีอุณาโลมทหารอากาศ และมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า ผืนธงมุมด้านบนที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้าขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร[4] ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนธงชัยเฉลิมพลของทหารบก แต่หมุดที่ห้าเป็นต้นไปเป็นเครื่องหมายกองทัพอากาศ

ลักษณะของธงชัยเฉลิมพลทั้งสามเหล่าทัพนี้ ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

แก้

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 2 ได้กำหนดให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ซึ่งมีธงชัยเฉลิมพลของทหารบกแล้ว จะมีธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธงก็ได้ ธงนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่กว้าง 70 เซนติเมตร ยาว 105 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 52.5 เซนติเมตร ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาคันธง ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหารสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้พระปรมาภิไธยย่อ ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร[5]

ธงนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เริ่มพระราชทานให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานคือ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และหน่วยขึ้นตรง[6]

พระราชพิธีตรึงหมุด และพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

แก้
 
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยประจำหน่วยตำรวจ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อจะพระราชทานธงชัยเฉลิมพลจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในโอกาสนั้น ภายหลังทรงศีลแล้ว จะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า ซึ่งบรรจุในพระกรัณฑ์ไว้ที่ยอดธง จากนั้นทรงไขปิดด้วยยอดซุ้มเรือนแก้วประดิษฐานพระพุทธรูป ทรงตรึงหมุด ได้แก่ หมุดรูปแผนที่ประเทศไทย หมุดรูปธรรมจักร หมุดอักษรพระบรมนามาภิไธย หมุดรูปรัฐธรรมนูญ เป็นอาทิ แล้วจึงทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิม ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นเชิญธงออกไปรอพระราชทานที่สนามหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ณ ที่นั้น เจ้าพนักงานทอดพระที่นั่งชุมสายเป็นที่ประทับ กองทหารที่จะเข้ารับพระราชทานธงเคลื่อนจากการที่รวมพลมาตั้งแถวรออยู่ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพ กราบบังคมทูลพระกรุณาเบิกหน่วยทหารเข้ารับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล เมื่อรับพระราชทานธงครบแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำทหารกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เป็นอันเสร็จการพระราชพิธีตรึงหมุดและพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

ความหมายของธง

แก้

ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ

  • ผืนธง หมายถึง ชาติ
  • บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา
  • เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้
 
ธงไชยเฉลิมพลของกองพันทหารม้าที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1

ไทย

แก้

ต่างประเทศ

แก้
 
ทหารบกสังกัดกองพลทหารอาสาสมัครลงจากเรือยูเอสเอส โอคานอแกน เพื่อเข้าสู่สงครามเวียดนาม
 
พล.อ. เดวิลเลียม บี. รอสสัน ประดับเมอริโทเรียส ยูนิท คอมมันเดเชิน (ทหารบก) บนธงไชยเฉลิมพลของกองพลทหารอาสาสมัคร และประดับแพรแถบเกียรติคุณให้แก่ทหารไทย ณ สาธารณรัฐเวียดนาม
  • กองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 (กองทหารบกรถยนต์) :
  • กองพันทหารราบที่ 1 (อิสระ) กรมผสมที่ 21 :
    •   สหรัฐ :
      • พ.ศ. 2495 –     เพรสซิเดนเชิล ยูนิท ไซเทเชิน (สหรัฐ) (ทหารบก)
    •   เกาหลีใต้ :
      • พ.ศ. 2497 –     เพรสซิเดนเชิล ยูนิท ไซเทเชิน (เกาหลีใต้)[18]
  • กรมทหารอาสาสมัคร :
    •   สหรัฐ :
      • พ.ศ. 2511 –     เมอริโทเรียส ยูนิท คอมมันเดเชิน (ทหารบก)[19]
  • กองพลทหารอาสาสมัคร  :
    •   สหรัฐ :
      • พ.ศ. 2512 –     เมอริโทเรียส ยูนิท คอมมันเดเชิน (ทหารบก)[20]
    •   เวียดนามใต้ :
      • พ.ศ. 2512 –     แกลแลนทรี่ครอส ยูนิท ไซเทเชิน ประดับใบปาล์ม[21]
      • พ.ศ. 2512 –     ซิฟเวิลแอคเชิน ยูนิท ไซเทเชิน ประดับใบปาล์ม[21]
  • กองพลทหารราบที่ 9 :
    •   สหรัฐ :
      • พ.ศ. 2559 –     เพรสซิเดนเชิล ยูนิท ไซเทเชิน (ทหารบก)[22]

อ้างอิง

แก้
  1. มาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 1
  2. มาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 3
  3. มาตรา 15 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522
  4. มาตรา 16 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522
  5. มาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 2
  6. พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ (เว็บไซต์กองพลที่ 1 รักษาพระองค์)
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงไชยของกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปราชการสงครามข้ามทะเล, เล่ม ๓๖, ตอน ๐, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๑๗๒๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักกดิ์รามาธิบดีประดับธงไชยเฉลิมพล, เล่ม 100 ตอนที่ 125 ฉบับพิเศษ หน้า 5, 27 กรกฏาคม 2526
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงไชยเฉลิมพล, เล่ม 93 ตอนที่ 80 หน้า 1360, 1 มิถุนายน 2519
  10. 10.0 10.1 10.2 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงไชยเฉลิมพล, เล่ม 48 หน้า 913, 29 เมษายน 2484
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงไชยเฉลิมพล, เล่ม 55 หน้า 3618, 23 มกราคม 2481
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงชัยเฉลิมพล, เล่ม 70 ตอนที่ 76 หน้า 5193, 8 ธันวาคม 2496
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ, เล่ม 127 ตอนที่ 11 ข หน้า 6, 1 ตุลาคม 2553
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 74 ตอนที่ 110 หน้า 3042, 24 ธันวาคม 2500
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 75 ตอนที่ 38 หน้า 1499, 13 พฤษภาคม 2501
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 75 ตอนที่ 109 หน้า 3378, 23 ธันวาคม 2501
  17. https://vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_144.htm
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับแพรแถบเกียรติคุณแก่ธงชัยเฉลิม, เล่ม 71 ตอนที่ 50 หน้า 1798, 10 สิงหาคม 2497
  19. AGO 1968-72 — HQDA GENERAL ORDER: MULTIPLE AWARDS BY PARAGRAPHS
  20. AGO 1969-59 — HQDA GENERAL ORDER: MULTIPLE TITLES BY PARAGRAPHS
  21. 21.0 21.1 http://www.thaiheritage.net/nation/military/vietnam/vietnam2.htm
  22. U.S. Embassy Bangkok, The Deputy Commander U.S. Army Pacific, Major General Flynn, visited the Royal Thai Army's 9th Infantry Division November 17 to pay respect to the unit's founder and to rededicate the U.S. Army Presidential Unit Citation awarded for the unit’s bravery serving side by side with U.S. forces during the Vietnam War., 18 พฤศจิกายน 2559

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้