พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (2 เมษายน พ.ศ. 2420 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496) อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำกบฏบวรเดชพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2476

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
1 เมษายน พ.ศ. 2471 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2474
กษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ถัดไป พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 2 เมษายน พ.ศ. 2420
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 (76 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
บิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
มารดา หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา
คู่สมรส ชายา
หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร
หม่อม
หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา
หม่อมศรีนวล กฤดากร ณ อยุธยา
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย สยาม
สังกัด กองทัพบก
กองเสือป่า
ยศ พลเอก[1]
นายพลเสือป่า[2]

พระประวัติแก้ไข

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ประสูติแต่หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา[3] เมื่อวันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2420

หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เข้าศึกษาวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นพระบิดาทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2441 สอบได้ชั้นที่ 4 อันดับที่ 22 จึงได้รับพระราชทานยศร้อยตรี (ร.ต.) ของกองทัพบกไทย แต่ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนนายทหารช่างอังกฤษเพิ่มอีก 1 ปี จึงเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2443[4] เข้าประจำการที่กรมเสนาธิการทหารบก จึงถือได้ว่าทรงเป็นนายทหารไทยรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ในขณะนั้น พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงเสมือนเป็นพระหัตถ์ขวาของพระองค์เจ้าจิรประวัติฯ ในการปรับปรุงจัดระเบียบกองทัพในแบบสมัยใหม่ ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2444 พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศ ร้อยโท[5] จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2445[6]ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกนครราชสีมา ซึ่งเป็นมณฑลแรกในประเทศไทยที่มีการเกณฑ์ทหาร จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานพระยศเป็น พันโท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2446[7]ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศ พันเอก เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2447[8]ต่อมาได้รับพระราชทานพระยศ พลตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2449[9] ขณะพระชันษาได้ 29 ปี และได้รับพระราชทานพลโท (พล.ท.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2456[10]หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นาน ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 3 นครราชสีมา และรั้งตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2468 ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม[11] ต่อมาปี พ.ศ. 2469 ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก[12]

ทรงเป็นหม่อมเจ้าพานทอง ทรงศักดินา 3000 เทียบเท่าขุนนางชั้นพระยาพานทอง[13](โดยปกติหม่อมเจ้าจะทรงศักดินา 1500)[14]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสกสมรสกับเจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่[15] ธิดาของเจ้าเทพดำรงรักษาเขตกับเจ้าแม่พิมพา กนิษฐาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2445 จากนั้นทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี[16] หม่อมเจ้าบวรเดชได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2458-2462 และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2471[17]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2472[18]

หลังจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชได้เสกสมรสกับเจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่ น้องสาวของเจ้าทิพวันเป็นหม่อมคนใหม่ หม่อมทิพวันจึงกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องอาญาในฐานความผิดกบฏ และหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษจึงกลับมาตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าที่อำเภอหัวหิน ซึ่งหม่อมทิพวันก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนด้วย

ต่อมาทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ขนิษฐาร่วมพระบิดา มีธิดา 3 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภาสิริ วุฒินันท์, หม่อมราชวงศ์อัจฉริยา คงสิริ และหม่อมราชวงศ์ภรณี รอสส์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในกลางปี พ.ศ. 2474 เนื่องจากทรงขัดแย้งกับจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก[19]

พระชนชีพในบั้นปลาย หลังจากที่เสด็จกลับสู่ประเทศไทยหลังจากที่ทรงลี้ภัยทางการเมืองนานถึง 16 ปี ทรงตั้งโรงงานทอผ้าขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทอผ้าโขมพัสตร์ขึ้นจำหน่ายได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ทรงมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่สุดก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ขณะมีพระชนมายุ 76 พรรษา และได้รับพระราชทานพระเพลิงพระศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497[20]

การเมืองแก้ไข

การเปลี่ยนแปลงการปกครองแก้ไข

ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติสยาม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง ตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่นาน เมื่อทรงได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเปิดเผย โดยยังทรงเป็นที่นับถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนายทหารชั้นอาวุโส และทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกับพระองค์

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน คณะราษฎรนำโดยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ลองทาบทามพระองค์ให้เข้าร่วมกับคณะราษฎร พระองค์เจ้าบวรเดชรับสั่งให้พระยาพหลฯ และพรรคพวกเขียนความเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองลงหนังสือพิมพ์ ทำนองขอประชามติเช่นเดียวกับอารยประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งพระยาพหลฯกราบทูลว่า ผู้ที่ทำเช่นนั้นติดคุกไปแล้วหลายคน วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้กำลังบุกจู่โจมจับคณะอภิรัฐมนตรีขังไว้ แล้วกราบขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็คงจะสำเร็จ แต่พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงตอบพระยาพหลฯ ไปว่า ตัวพระองค์เกิดในพระราชวงศ์จักรี หากทำเช่นนั้นจะได้ชื่อว่าอกตัญญู

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ถือเป็นเจ้านายระดับสูงเพียงไม่กี่พระองค์ที่ไม่ถูกควบคุมองค์ไว้ในฐานะองค์ประกัน แต่ในเวลาราว 23.00 น. ของคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ คณะราษฎรได้ยึดกุมเอาไว้เป็นสถานที่บัญชาการ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ยังได้ไปปรากฏพระองค์ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงแจ้งความประสงค์จะขอพบกับหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เมื่อได้พบแล้ว พระองค์ท่านได้สนทนาเพียงสั้น ๆ ว่า ทำอะไรกัน ทำไมไม่บอกให้รู้กันก่อน เมื่อหัวหน้าผู้ก่อการ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทูลตอบว่า จะให้ทรงทราบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงกล่าวว่า เมื่อทำแล้ว ก็ขอให้ทำให้ถึงที่สุด เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ[20]

กบฏบวรเดชแก้ไข

ดูบทความหลักที่: กบฏบวรเดช

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เกิดความแตกแยกในคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับผู้นำในคณะราษฎรหลายครั้งเกี่ยวกับแนวทางการเมืองของประเทศ สาเหตุสำคัญมีอาทิการกำหนดสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ จนถึงข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ที่เรียกว่า "เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475" ซึ่งนำเสนอรัฐสภาและทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งทรงวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยทรงเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรถือว่าปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและเป็นความต้องการรักษาอำนาจของ "ฝ่ายศักดินา" หรือ "ระบอบเก่า" ความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจนมีการอภิปรายในรัฐสภาคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว กดดันให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางไปพำนักในฝรั่งเศส ก่อนที่ผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎรคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ต้องก่อรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจของคณะราษฎรไว้ ทำให้ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายรุนแรงมากขึ้น[21]

ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงส่งกำลังทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี เคลื่อนกำลังทางรถไฟเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองได้เมื่อวันที่ 12 และเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ไปตามแนวคลองบางเขนจนถึงสถานีรถไฟบางเขน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กระทำตามเงื่อนไข 6 ข้อ ใจความโดยย่อคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อำนาจรัฐสภามากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้กลายเป็นคณะเผด็จการ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนั้นถูกมองจากฝ่ายนิยมคณะราษฎรว่าเป็นความพยายามในการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลได้มอบหมายให้พันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับกองผสมทำการรุกตอบโต้ จนทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถึงวันที่ 15 กำลังทหารหัวเมืองได้ถอนกำลังออกจากดอนเมือง เคลื่อนที่ไปยังปากช่องอันเป็นที่มั่นด่านสุดท้าย ขณะที่กองหน้าของกองบังคับการผสมได้ติดตามไปจนถึงสถานีปากช่อง และ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพซึ่งรับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง ถูกยิงเสียชีวิตบนทางรถไฟใกล้สถานีหินลับ อำเภอปากช่อง ในเวลาพลบค่ำ

เมื่อที่มั่นแห่งสุดท้ายคือสถานีปากช่องถูกยึด และแม่ทัพเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชและชายาจึงเสด็จหนีโดยทางเครื่องบินจากฐานบินโคราช มีหลวงเวหนเหิรเป็นนักบิน ไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงย้ายไปประทับที่ประเทศกัมพูชา และเสด็จกลับประเทศไทยโดยรถยนต์เข้าทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อม หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ชายา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2491[22]หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคดี โดยพระชนม์ชีพที่ไซง่อนและกัมพูชา ทรงเปิดโรงงานทอผ้าและค้าขายถ่าน รวมระยะเวลาที่ทรงลี้ภัยนานถึง 16 ปี [20]

พระโอรส-ธิดาแก้ไข

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีชายา 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร พระขนิษฐาร่วมพระบิดา และมีหม่อมอีก 2 ท่าน คือ หม่อมทิพวัน (สกุลเดิม: ณ เชียงใหม่) และหม่อมบัวนวล (สกุลเดิม: ณ เชียงใหม่) มีพระโอรสหนึ่งคนและพระธิดาสี่คน ได้แก่

  1. หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา (นามเดิม: เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่; 13 มิถุนายน พ.ศ. 2426 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497)
    1. พระธิดา 1 คน (อนิจกรรมตั้งแต่คลอด)[23]
  2. หม่อมศรีนวล กฤดากร ณ อยุธยา (นามเดิม: เจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่)
    1. หม่อมราชวงศ์จิรเดช กฤดากร
  3. หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร (พ.ศ. 2446-2524) พระขนิษฐาต่างมารดา[24][25]
    1. หม่อมราชวงศ์วิภาสิริ วุฒินันท์
    2. หม่อมราชวงศ์อัจฉริยา คงสิริ
    3. หม่อมราชวงศ์ภรณี รอสส์

พระยศแก้ไข

ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าบวรเดช
 
ตราประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระยศทหารแก้ไข

  • พลเอก[26]
  • นายพลโท[27]

พระยศเสือป่าแก้ไข

  • 10 กันยายน พ.ศ. 2459 - นายพลเสือป่า[28]
  • นายกองโท[29]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยแก้ไข

เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศแก้ไข

พงศาวลีแก้ไข

อ้างอิงแก้ไข

  1. พระราชทานยศทหาร
  2. พระราชทานยศเสือป่า (หน้า 1525)
  3. พระประวัติ บวรเดช
  4. หม่อมเจ้าบวรเดชเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
  5. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  6. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  7. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก (หน้า 119)
  8. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  9. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  10. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  11. ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
  12. ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก
  13. สุภาพตำรับพระบรมราชาภิเษก-เล่มต้น
  14. โดยปกติหม่อมเจ้าจะทรงศักดินา
  15. อภิเษกสมรส
  16. ทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส
  17. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพ
  18. ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
  19. เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก
  20. 20.0 20.1 20.2 หน้า 694-697, เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ โดย นายหนหวย. กรุงเทพ พ.ศ. 2530. พิมพ์และจำหน่ายโดยตนเอง
  21. ก่อการกบฏบวรเดช
  22. ลี้ภัยทางการเมือง
  23. "เจ้าทิพวัน กฤดากร เกษตรกรรายแรกที่ปลูกและบ่มใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในจังหวัดเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  24. "หม่อมเจ้าหญิง ผจงรจิตร์ กฤดากร". Kridakorn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "บังอบายเบิกฟ้า ทำไม "บวรเดช" ต้องกบฏ". ไทยโพสต์. 31 มกราคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  26. พระราชทานยศพลเอก
  27. พระราชทานยศพลโท
  28. พระราชทานยศนายพลเสือป่า
  29. พระราชทานยศกองโทเสือป่า
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๑๒, ๕ มกราคม ๒๔๖๑
  31. ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๒๙, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๖๓, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๖
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๘, ๙ เมษายน ๑๓๐
  34. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานถานันดร แห่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๘๙, ๒ ธันวาคม ๒๔๖๑
  35. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามแลนามผู้ได้รับพระราชทานตราวัลภาภรณ์ ในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๐๘, ๔ มกราคม ๒๔๖๒
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๓๘ หน้า ๗๔๖, ๒๒ ธันวาคม ๑๒๐
  37. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญจักรมาลา, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๐๓, ๒๘ มกราคม ๒๔๕๙
  38. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๐, ๙ เมษายน ๑๓๐
  39. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๑๔, ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕
  40. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๔, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
  41. 41.0 41.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๒๒, ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘
  42. 42.0 42.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๖, ๒๑ พฤษภาคม ๑๓๐