จังหวัดปราจีนบุรี
ปราจีนบุรี (เดิมสะกดว่า ปราจิณบุรี)[3] เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการพบซากโบราณสถานในหลายพื้นที่ของจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีอุทยานแห่งชาติอยู่ในเขตมรดกโลกถึง 3 แห่ง ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคตะวันออก
จังหวัดปราจีนบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Prachin Buri |
คำขวัญ: ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดปราจีนบุรีเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | วีระพันธ์ ดีอ่อน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 4,762.362 ตร.กม. (1,838.758 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 44 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 499,563 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 54 |
• ความหนาแน่น | 104.90 คน/ตร.กม. (271.7 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 48 |
รหัส ISO 3166 | TH-25 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ปราจีน |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | โพ |
• ดอกไม้ | ปีบ |
• สัตว์น้ำ | ปลาตะโกก |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี หมู่ที่ 1 ถนนสุวินทวงศ์ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25230 |
• โทรศัพท์ | 0 3745 4004 |
• โทรสาร | 0 3745 4004 |
เว็บไซต์ | http://www.prachinburi.go.th/ |
แต่เดิมจังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก เนื่องจากในอดีตเคยมีการยุบรวมจังหวัดนครนายกเข้ากับจังหวัดดังกล่าวในปี พ.ศ. 2485 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 [4] ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 จึงมีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นอีกครั้ง[5] อย่างไรก็ตามพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังคงมีความกว้างใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาในการปกครองและให้บริการประชาชนเนื่องจากบางอำเภออยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติฯ ให้แยกบางอำเภอทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดปราจีนบุรีแล้วรวมกันจัดตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว ในปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน จังหวัดปราจีนบุรีได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นหัวเมืองรองในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค มีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำให้ภาพรวมในจังหวัดดีขึ้น รายได้ต่อปีต่อหัวของประชากร เฉลี่ย 450,000 - 480,000 บาท อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย อ้างอิงจากรายชื่อจังหวัดในประเทศไทยเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว
ประวัติศาสตร์
แก้สมัยก่อนอยุธยา
แก้ปราจีนบุรีในสมัยก่อนอยุธยาเริ่มตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย แล้วพัฒนามาเป็นกลุ่มบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่สมัยสุโขทัย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสาร แต่ได้พบเครื่องถ้วยจีนที่มีอายุตรงกับสมัยราชวงศ์ซ้อง จึงเชื่อว่า ในสมัยสุโขทัย บริเวณพื้นที่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรียังคงมีผู้คนบางส่วนอาศัยอยู่สืบเนื่องกันมา
ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยโบราณเมื่อประมาณ 2,000-2,500 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Proto-history) ที่แหล่งโบราณคดีบ้านกระทุ่มแพ้ว ตำบลกระทุ่มแพ้ว อำเภอบ้านสร้าง บ้านหนองอ้อ ตำบลดงพระราม อำเภอเมืองปราจีนบุรี และบ้านดงชัยมัน ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม
โบราณคดีที่พบ ได้แก่ ลูกปัดแก้วแบบอินโด-แปซิฟิกสีต่าง ๆ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอะเกต หินควอตซ์ และเครื่องมือเหล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียงและอินเดีย โดยเฉพาะที่บ้านดงชัยมันได้พบชิ้นส่วนกลองมโหระทึกซึ่งเป็นโบราณวัตถุในวัฒนธรรมดองซอน เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมซึ่งพบทางตอนใต้ของจีนและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย
บริเวณที่ตั้งเมืองโบราณศรีมโหสถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 ในชุมชนบริเวณดังกล่าวรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มหมู่บ้านเกษตรกรรม มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมภายนอก แต่ยังไม่มีการสร้างเมืองที่มีคันดิน คูน้ำล้อมรอบชุมชน ในระยะนี้อาจมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรฟูนัน และมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกับนักเดินเรือจากต่างประเทศ หลักฐานที่พบแสดงอิทธิพลวัฒนธรรมฟูนันและอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแบบอมราวดี หลักฐานสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาพสลักนูนต่ำและประติมากรรมบางชิ้น ที่พบในบริเวณนี้คือภาพมกรหรือเหราบางตัวที่ขอบโบราณสถานสระแก้ว มีลักษณะคล้ายมกรในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ส่วนประติมากรรม ได้แก่ พระพุทธรูปที่พบในบ่อน้ำหน้าอาคารรอยพระบาทคู่ และจากการค้นพบเครื่องมือหินขัด ทำให้พออนุมานได้ว่าชุมชนดังกล่าวน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบตามแนวชายฝั่งทะเลเดิมบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงแถบจังหวัดชลบุรี ซึ่งเริ่มมีถิ่นฐานเมื่อประมาณ 5,000-1,400 ปี มาแล้ว
สรุปได้ว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เริ่มแรกในเขตจังหวัดปราจีนบุรีเป็นสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูงในการดำรงชีวิต คือ รู้จักใช้เครื่องมือเหล็กและรู้จักใช้วิธีกักเก็บน้ำ ต่อมาสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นจนเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 6-10 ได้รับวัฒนธรรมภายนอกและเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ พัฒนาเป็นชุมชนหรือเมืองที่รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-19
การเกิดบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-19 แบ่งจังหวัดปราจีนบุรีออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกมีความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาการเป็นบ้านเมืองร่วมสมัยกับกลุ่มบ้านเมืองทวารวดีในบริเวณภาคกลางของประเทศ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 และช่วงที่ 2 เป็นการอยู่สืบเนื่องต่อจากช่วงแรก แต่สภาพสังคม การเมือง การปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้รับวัฒนธรรมขอมโบราณเข้ามา มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทวารวดีที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน
สมัยอยุธยา
แก้ในสมัยอยุธยาปรากฏชื่อเมืองปราจีนบุรีเป็นครั้งแรก คำว่า "ปราจีนบุรี" เป็นคำสมาส เกิดจากคำว่า "ปราจีน" กับคำว่า "บุรี" คำว่า "ปราจีน" หรือ "ปราจิณ" หมายความว่า ทิศตะวันออก ส่วนคำว่า "บุรี" หมายความว่า "เมือง" รวมแล้วคำว่า "ปราจีนบุรี" หมายถึงเมืองตะวันออก การเขียนชื่อเมืองปราจีนบุรีแตกต่างกันไป เช่น ปราจินบุรี ปราจิณบุรี และปาจีนบุรี แต่ความหมายน่าจะหมายถึงเมืองทางตะวันออกของราชอาณาจักรไทย
ปราจีนบุรีในฐานะหัวเมืองชั้นในด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) เมืองปราจีนมีฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ราชธานีคือกรุงศรีอยุธยา โดยทางกรุงศรีอยุธยาจะส่งขุนนางมาปกครองโดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และหลังจากการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว การปกครองหัวเมืองก็เปลี่ยนไปจากเดิม คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช และแบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้น เอก โท ตรี และจัตวา ทรงลดฐานะหัวเมืองชั้นในคือเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวงลงมาเป็นเมืองจัตวาภายใต้การปกครองของราชธานี โดยทางราชธานีจะส่งขุนนางมาปกครองและขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และขุนนางที่ปกครองหัวเมืองชั้นในเรียกว่า "ผู้รั้ง" เขตที่จัดเป็นหัวเมืองชั้นในมีอาณาบริเวณดังนี้ ทิศเหนือจดเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกจดเมืองปราจีน ทิศตะวันตกจดสุพรรณบุรี ทิศใต้จดเมืองกุยบุรี เมืองปราจีนบุรีหลังการปฏิรูปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นกับราชธานี ตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้รั้งมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ออกพระอุไทยธานี
จากลักษณะทำเลที่ตั้งของเมืองปราจีน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชา เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดปราจีนบุรีในสมัยอยุธยาจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างสองราชอาณาจักร โดยฝ่ายกัมพูชามักจะเป็นต้นเหตุซึ่งอาจเนื่องมาจากกัมพูชาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรใหม่จึงไม่ยอมรับอำนาจมากนัก ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยามีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและขณะเดียวกันราชอาณาจักกัมพูชากลับเสื่อมโทรมภายในมากขึ้น กัมพูชาจึงยอมรับราชอาณาจักรอยุธยาในฐานเจ้าประเทศราช กษัตริย์ กัมพูชาต้องมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหลายครั้ง
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกติดพันกับพม่าหรือมีความอ่อนแอภายใน กัมพูชาก็ถือโอกาสมากวาดต้อนผู้คนตามแนวชายแดนของราชอาณาจักรอยุธยาอย่างเมืองปราจีน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงยกทัพไปตีกัมพูชาโดยใช้เส้นทางบก โดยยกทัพหลวงออกจากกรุงศรีอยุธยามาทางตะวันออก ผ่านพิหานแดง (วิหารแดง), บ้านนา, เมืองนครนายก, ด่านกบแจะ (ประจันตคาม), ด่านหนุมาน (กบินทร์บุรี), ด่านพระปรง (อำเภอแมืองสระแก้ว), ช่องตะโก ด่านพระจารึกหรือพระจฤต (อรัญประเทศ-ตาพระยา), ตำบลทำนบ อยู่ระหว่างเมืองอรัญประเทศกับเมืองพระตะบอง ตำบลเพนียด เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองละแวก
สมัยธนบุรี
แก้ในสมัยธนบุรีได้กล่าวถึงเมืองปราจีนเพียงว่าเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองจันทบุรี กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. 2309 ขณะที่กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งเป็นพระยากำแพงเพชรทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย จึงรวบรวมทหารไทย จีน ประมาณ 1,000 คนเศษ พร้อมด้วยอาวุธออกไปตั้ง ณ วัดพิชัย พอฝนตกพระยากำแพงเพชรจึงนำกองทัพฝ่ากองทัพพม่าออกมาจากวัดพิชัย เดินทัพต่อไป โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมืองจันทบุรี โดยเมืองปราจีนบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวไว้ว่า …เมื่อวันพุธขึ้นแปดค่ำ เดือนยี่ ยกกองทัพมาประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง ตามทางหลวงนครนายก ประทับรอนแรม 2 วันถึงบ้านนาเริ่ง ออกจากบ้านนาเริ่งวันหนึ่งถึงเมืองปราจีน ข้ามด่านกบและหยุดพักพลหุงอาหาร ณ ฟากตะวันออกแล้วยกข้ามไปจนถึงบ่าย 5 โมง…
สมัยรัตนโกสินทร์
แก้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองปราจีนยังคงเป็นเมืองผ่านของเส้นทางเดินทัพระหว่างไทยกับกัมพูชา มีผู้คนอยู่อาศัยมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองกบินทร์บุรี เมืองอรัญประเทศ เมืองวัฒนานคร เป็นต้น ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองบางขนากขึ้น ส่งผลให้การติดต่อระหว่างเมืองปราจีนบุรีกับพระนครสะดวกรวดเร็วขึ้น
ต่อมาในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างป้อมเมืองปราจีน แต่ได้ลงมือสร้างและแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองปราจีนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เพราะมีการค้นพบแหล่งทองคำที่เมืองกบินทร์บุรี มีการทำเหมืองทองคำ ต่อมาเมื่อปฏิรูปการปกครองจากระบบกินเมืองเป็นระบบเทศาภิบาล ได้ใช้เมืองปราจีนเป็นที่ว่าการมณฑลปราจีน ส่งผลให้เมืองปราจีนกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาคตะวันออก ครั้นเมื่อได้ย้ายที่ว่าการมณฑลปราจีนไปอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา ทำให้เมืองปราจีนลดความสำคัญลง ประกอบกับเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป คือมีการตัดเส้นทางรถไฟจากรุงเทพฯ ถึงเมืองฉะเชิงเทรา มีคนจีนไปสร้างหลักแหล่งในฉะเชิงเทรามากขึ้น มีโรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว อันส่งผลให้เมืองฉะเชิงเทรากลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแทนเมืองปราจีนบุรี
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ให้มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดแบบผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรมการจังหวัด และสภาจังหวัด ส่งผลให้มณฑลเทศาภิบาลปราจีนบุรีถูกยกเลิกไป เมืองปราจีนบุรีมีฐานะเป็นจังหวัดปราจีนบุรี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พ.ศ. 2485 ให้ยุบและรวมการปกครองจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครนายก จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนนทบุรี โดยในส่วนของจังหวัดนครนายกนั้นให้รวมท้องที่ของจังหวัดที่ยุบเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี (ยกเว้นอำเภอบ้านนา ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสระบุรี) จึงส่งผลให้จังหวัดปราจีนบุรีมีท้องที่กว้างขวางเพิ่มมากขึ้นเกินกำลังจังหวัดจะรับผิดชอบ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างหลักการพระราชบัญญัติสถาปนาจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489 โดยได้สอบถามหน่วยราชการประจำจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระบุรี และในที่สุดรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489
ต่อมา พ.ศ. 2536 ได้มีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองจังหวัดปราจีนบุรี โดยแยกพื้นที่อำเภอบางอำเภอทางด้านตะวันออกไปอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดสระแก้ว ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2536
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
แก้- คำขวัญประจำจังหวัด : ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี
- ตราประจำจังหวัด : ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุกว่า 2000 ปี
- ธงประจำจังหวัด : ตอนต้นมีพื้นสีแดง มีรูปต้นโพธิ์อยู่ในกรอบวงกลม และตอนปลายเป็นสีเหลือง
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : โพ (Ficus religiosa)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ปีบ (Millingtonia hortensis)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาตะโกก (Cyclocheilichthys enoplos)
-
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
-
ดอกปีบ
-
ปลาตะโกก
ภูมิศาสตร์
แก้อาณาเขต
แก้จังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครนายกและจังหวัดนครราชสีมา
- ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสระแก้ว
- ทิศใต้ ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดนครนายกและจังหวัดฉะเชิงเทรา
การเมืองการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 65 ตำบล 708 หมู่บ้าน
|
หมายเลขที่หายไปปัจจุบันคืออำเภอในจังหวัดสระแก้ว
รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
แก้
|
|
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้อำเภอเมือง
แก้- พระธาตุเจดีย์กลางน้ำ วัดแจ้ง
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- วัดแก้วพิจิตร
- ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
- ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
- วัดโบสถ์
- พิพิธภัณฑ์พระครูอุทัยธรรมธารี (เส็ง สุขิโต)
- พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
- พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5
- ศาลพระหลักเมือง
- หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติบ้านดงบัง
- พิพิธภัณฑ์ทหารค่ายจักรพงษ์
- ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ
- น้ำตกเขาอีโต้
อำเภอบ้านสร้าง
แก้- โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ บางแตน
- พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางแตน
อำเภอศรีมโหสถ
แก้- ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ
- กลุ่มโบราณสถานสระมรกต
- แหล่งโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ
อำเภอศรีมหาโพธิ
แก้- อนุสาวรีย์ลายพระหัตถ์รัชกาลที่ 5
- โบราณสถานหลุมเมือง
- โบราณสถานพานหิน
- พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านดงกระทงยาม
อำเภอประจันตคาม
แก้- แหล่งหัตถกรรมบ้านโง้ง - บ้านต้น
- น้ำตกธารทิพย์
- น้ำตกสาวน้อย
- น้ำตกส้มป่อย
- น้ำตกตะคร้อ
อำเภอกบินทร์บุรี
แก้- พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง
อำเภอนาดี
แก้- อุทยานแห่งชาติทับลาน
- สวนนงนุช ปราจีนบุรี
- แก่งหินเพลิง
- เวโรน่า ทับลาน
เศรษฐกิจ
แก้- ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน
จังหวัดปราจีนบุรีมีความเจริญและมีการลงทุนจากต่างประเทศปีละจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โดยมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวงและใกล้ท่าเรือที่ใช้ส่งออก และอยู่บนเส้นทางสำคัญสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมไปถึงภาคตะวันออก
ปัจจุบัน จังหวัดปราจีนบุรี มีแหล่งอุตสาหกรรมอยู่ จำนวน 6 แห่ง
- สวนอุตสาหกรรม 304 – อำเภอศรีมหาโพธิ
- นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี – อำเภอศรีมหาโพธิ
- นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี – อำเภอกบินทร์บุรี
- นิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ – อำเภอกบินทร์บุรี
- นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค – อำเภอกบินทร์บุรี
- นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 – อำเภอกบินทร์บุรี
- ด้านการเกษตร
จังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก ทั้งพื้นที่ปลูกข้าว ทำนา ทำสวนผลไม้ ทำให้ปราจีนบุรีมีผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพดี กับผลไม้ที่เป็นที่รู้จัก เช่น ทุเรียน กระท้อน มะปราง มะยงชิด โดยเฉพาะทุเรียน ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทุเรียนจีไอ ทำให้ทุเรียนจากปราจีนบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศทุกปี ทำรายได้สู่ประชากรในจังหวัดอย่างมาก
- ด้านการท่องเที่ยว
มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัยชื่อดังอย่างแก่งหินเพิง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อย่างเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีน้ำตกมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 อำเภอของจังหวัด นอกจากนั้นปัจจุบัน จังหวัดปราจีนบุรีได้มีแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่มากมาย อาทิ เวโรน่า ทับลาน (เมืองเวโรน่าจำลองในรูปแบบประเทศอิตาลี)
การขนส่ง
แก้ระยะทางจากตัวจังหวัดไปอำเภอต่าง ๆ
แก้- อำเภอประจันตคาม 20 กิโลเมตร
- อำเภอศรีมหาโพธิ 21 กิโลเมตร
- อำเภอศรีมโหสถ 24 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านสร้าง 26 กิโลเมตร
- อำเภอกบินทร์บุรี 48 กิโลเมตร
- อำเภอนาดี 55 กิโลเมตร
ประชากร
แก้การศึกษา
แก้- ระดับอุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาเขตปราจีนบุรี กำลังก่อสร้าง ในพื้นที่ อำเภอ กบินทร์บุรี
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปราจีนบุรี
- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาปราจีนบุรี
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาปราจีนบุรี
- มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ศูนย์การศึกษาปราจีนบุรี
- วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข
- ระดับอาชีวศึกษา
- วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคบูรพาปราจีน อำเภอศรีมหาโพธิ
- วิทยาลัยสารพัดช่างปราจีนบุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี
- วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี
- โรงเรียนเทคโนโลยีนครกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี
- โรงเรียนเทคนิคพณิชยการกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี
- วิทยาลัยเทคโนโลยีสายมิตรปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการปราจีนบุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี
สาธารณสุข
แก้ด้านการสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ประกอบไปด้วย* โรงพยาบาลรัฐบาล 7 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำอำเภออีก 6 แห่ ง
- โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ อำเภอศรีมหาโพธิ, โรงพยาบาลเมดิแคร์ 304 และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี 304
- โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลค่ายจักรพงษ์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี
วัฒนธรรม
แก้จังหวัดปราจีนบุรีมีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองสำคัญที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ
- งานเทศกาลมาฆปูรมีศรีปราจีน งานนี้จัดขึ้นที่วัดสระมรกต ในบริเวณโบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ เป็นระยะเวลา 3 วัน ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี ในงานกิจกรรมหลักคือ การแสดงแสงสีเสียง การแสดงโขน ตลาดย้อนยุค รวมถึง การเข้าค่ายพุทธศาสน์และปลูกจิต สำนึกทางศาสนาและวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป การประชุมพระภิกษุและพระสังฆาธิการ ในจังหวัด การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา กิจกรรมการเวียนเทียนรอบรอยพระพุทธบาทคู่
- งานประเพณีการแข่งเรือยาว จัดเป็นงานประจำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยจัดที่แม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณสะพานณรงค์ดำริถึงหน้าวัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมืองปราจีนบุรี แต่เดิมมีการแข่งขันเรือเพียง 2 ประเภท คือ ประเภทใบพาย 2 ด้าน ซึ่งมี 15-19 ฝีพาย และแบบ 35 ฝีพาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 มีการแข่งขัน 4 ประเภท คือ แบบ 15-19 ฝีพาย, แบบ 30 ฝีพาย, แบบ 40 ฝีพาย, และแบบ 55 ฝีพาย ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งการแข่งขันได้รับความสนใจจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้ส่งเรือมาร่วมแข่งขันกับทางจังหวัดปราจีนบุรี ปกติงานนี้จัดในช่วงเดือนกันยายน หรือเดือนตุลาคม ของทุกปี แล้วแต่ความสูงของระดับน้ำ
- งานวันเกษตรและของดีเมืองปราจีน จัดที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี นอกจากเกษตรกรจะนำผลผลิตมาจำหน่ายแล้ว ยังมีกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวดคุณภาพผลไม้ ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุด เช่น ขนุนผลใหญ่ที่สุด ทุเรียนผลใหญ่ที่สุด กระท้อนผลใหญ่ที่สุด ผักยาวที่สุด เช่น บวบ ถั่วฝักยาว ในงานนี้ยังมีขบวนแห่รถที่ประดับตกแต่งด้วยผลิตผลทางการเกษตร และในบางปียังมีการประกวดธิดาเกษตรด้วย ทำให้ประชาชนทั่วทิศต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก โดยผลไม้ขึ้นชื่อจะเป็นทุเรียน ที่มีรสชาติดีเป็นอันดับต้นๆของประเทศรองจากทุเรียนนนทบุรี
- งานประเพณีการทำบุญบั้งไฟ งานนี้จัดขึ้นที่วัดต้นโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งจัดมาได้ประมาณ 50 ปีมาแล้ว ผู้ที่ริเริ่มในการจัด คือ พระครูวิมลโพธิเขต (จำปา ธมฺมกาโม) เจ้าคณะตำบลโคกปีบ กิจกรรมของงาน ได้แก่ การประกวดจุดบั้งไฟที่ขึ้นนานที่สุด มีการรำเซิ้งบั้งไฟเพื่อขอฝน การประกวดขบวนรำเซิ้ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น สระแก้ว ยโสธร เป็นต้น
- งานประเพณีลอยกระทง จัดกิจกรรมการลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีมาตั้งแต่โบราณกาล จนถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดปราจีนบุรี จัดที่ท่าน้ำหน้าที่ว่า การอำเภอเมืองปราจีนบุรี กิจกรรมต่าง ๆ ในงาน ได้แก่ การประกวดกระทงประเภทสวยงามและประเภทความคิด และยังมีการแสดงบนเวทีของหน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้- ด้านศาสนา
- พระครูสิทธิสารคุณ (จาด คังคสโร) – พระเกจิชื่อดังของประเทศไทย วัดบางกระเบา
- สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) – สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
- ด้านสิ่งแวดล้อม
- สืบ นาคะเสถียร – นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ
- ด้านสื่อสารมวลชน
- แสงชัย สุนทรวัฒน์ – อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็น บมจ.อสมท
- จำนง รังสิกุล – นักสื่อสารมวลชน และผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี
- ด้านการเมือง-ภาครัฐ
- สุรยุทธ์ จุลานนท์ – ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย
- ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ – อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- วัฒนา เมืองสุข – อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- หลวงบุรกรรมโกวิท (ล้อม บุรกรรมโกวิท) – อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- สุนทร วิลาวัลย์ – นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- สมาน ภุมมะกาญจนะ – อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- บุญส่ง สมใจ – อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- สมชาย สุนทรวัฒน์ – อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- วิทวัส รชตะนันทน์ – ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม
- กนกวรรณ วิลาวัลย์ – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- เสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ด้านกีฬา
- โชติพัฒน์ วงษ์ประเทศ – อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย
- อาจหาญ ทรงงามทรัพย์ – หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา มาสด้า และอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย
- พิชิต ใจบุญ – อดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
- ธนะศักดิ์ ศรีใส – อดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
- วิทยา สำเร็จ – อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย
- วินิจ เจริญศิริ – อดีตนักกีฬาสนุกเกอร์ทีมชาติไทย
- เด่นชัยเล็ก กระทิงแดงยิม – อดีตนักกีฬามวยสากล
- อลงกรณ์ ประทุมวงศ์ – นักกีฬาฟุตบอล สังกัดทีมสโมสรฟุตบอลราชบุรี มิตรผล
- ด้านวงการบันเทิง
- น้อย โพธิ์งาม – นักแสดงตลก
- เทพ โพธิ์งาม – นักแสดงตลก
- มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
- เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา – ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
- อดุล จันทรศักดิ์ – ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
- ปองกูล สืบซึ้ง (ป็อบ ปองกูล) – ศิลปินนักร้อง
- สำลี สังวาลย์ – ดารานักแสดง , นักแสดงโชว์มายากล
- ปราจีน ทรงเผ่า – นักดนตรี นักแต่งเพลง อดีตหัวหน้าวงดนตรีดิ อิมพอสซิเบิล
- วัชระ ตังคะประเสริฐ – ดารานักแสดง
- ลักษณ์ ราชสีห์ – นักโหราศาสตร์ และพิธีกรรายการโทรทัศน์
- สุภาพร มะลิซ้อน – มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2016 และนักแสดงช่อง7
อ้างอิง
แก้- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2566. สืบค้น 27 มกราคม 2567.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
- ↑ พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๘๕ เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙ เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2006-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บหางาน จังหวัดปราจีนบุรี เก็บถาวร 2020-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
14°03′N 101°23′E / 14.05°N 101.38°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดปราจีนบุรี
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย