เสนาะ เทียนทอง
เสนาะ เทียนทอง (เกิด 1 เมษายน พ.ศ. 2477) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าพรรคประชาราช ผู้นำ สส.กลุ่มวังน้ำเย็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสนาะมีชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า "ป๋าเหนาะ"
เสนาะ เทียนทอง | |
---|---|
![]() เสนาะ ใน พ.ศ. 2561 | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวลิต ยงใจยุทธ |
ก่อนหน้า | บรรหาร ศิลปอาชา |
ถัดไป | สนั่น ขจรประศาสน์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข | |
ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | |
นายกรัฐมนตรี | บรรหาร ศิลปอาชา |
ก่อนหน้า | อาทิตย์ อุไรรัตน์ |
ถัดไป | มนตรี พงษ์พานิช |
ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 | |
นายกรัฐมนตรี | ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
เลขาธิการพรรคชาติไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | |
ผู้นำ | บรรหาร ศิลปอาชา |
ก่อนหน้า | บรรหาร ศิลปอาชา |
ถัดไป | ปองพล อดิเรกสาร |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 เมษายน พ.ศ. 2477 จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศสยาม |
พรรคการเมือง | ชาติไทย (2518–2539) ความหวังใหม่ (2539–2543) ไทยรักไทย (2543–2549) ประชาราช (2549–2554) เพื่อไทย (2554–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | อุไรวรรณ เทียนทอง |
บุตร | |
เสนาะ ได้รับฉายาหลายฉายา เช่น "เจ้าพ่อวังน้ำเย็น" และ "ผู้จัดการรัฐบาล" มีบทบาทสนับสนุน หัวหน้าพรรคการเมืองขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี ถึง 3 คน คือ บรรหาร ศิลปอาชา, ชวลิต ยงใจยุทธ และ ทักษิณ ชินวัตร
ในสมัยที่นายเสนาะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี นายเสนาะเป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ยาม้า" ยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย เป็น "ยาบ้า" และยังคงใช้เป็นชื่อเรียกยาเสพติด ชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
เสนาะ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดสระแก้ว (จังหวัดปราจีนบุรีในขณะนั้น) สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม สมรสครั้งแรกกับ จิตรา โตศักดิ์สิทธิ์ มีบุตร 3 คน ได้แก่
- พันตำรวจเอก สุรศักดิ์ เทียนทอง รับราชการตำรวจ
- สุรเกียรติ เทียนทอง ประธานบริษัท เคเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป
- สุรชาติ เทียนทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 11 อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง)
ต่อมา เสนาะสมรสครั้งที่สอง กับนางอุไรวรรณ เทียนทอง มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ
- สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- สิริวัลย์ เทียนทอง
นอกจากนี้นายเสนาะมีน้องชายคนสุดท้องคือพิเชษฐ์ เทียนทอง ที่มีบุตรคือฐานิสร์ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
บทบาททางการเมือง
นายเสนาะ เทียนทอง เริ่มงานการเมืองครั้งแรกกับพรรคชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. 2518 และลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี และสระแก้ว (เมื่อ สระแก้ว แยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2531[1] เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2535[2] ต่อมานายเสนาะเริ่มมีบทบาทในพรรคมากขึ้น ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทย ขณะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมานายบรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2538 และนายเสนาะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายเสนาะ ลาออกจากพรรคชาติไทย เมื่อ พ.ศ. 2539 หลังจากนายบรรหาร ศิลปอาชา ประกาศยุบสภา เข้าร่วมพรรคความหวังใหม่ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ส่งให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายเสนาะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[3]
ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา นายเสนาะ ได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และสนับสนุนให้ พตท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย และไม่รับตำแหน่งทางการเมือง โดยให้นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลในโควตากลุ่มวังน้ำเย็น ในระยะหลัง นายเสนาะถูกลดบทบาทความสำคัญในพรรค จนกระทั่งในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2548 นายเสนาะได้วิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อย่างรุนแรง[4][5]
นายเสนาะลาออกจากพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 หลังจากที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา และได้ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อปราศรัยหลายครั้ง จากนั้นนายเสนาะได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า พรรคประชาราช โดยในช่วงแรกของการตั้งพรรคนั้น นายเสนาะจะเป็นหัวหน้าพรรค โดยนโยบายหลักของพรรคที่ประกาศคือ เพื่อปฏิรูปการเมือง และล้มล้างระบอบทักษิณ พรรคประชาราช ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 แต่ได้ ส.ส.เพียง 5 คน อย่างไรก็ตามในการจัดตั้งรัฐบาล นายเสนาะได้นำพรรคประชาราชเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน และนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อมาภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค นายเสนาะและพรรคประชาราชไม่ได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงดำรงสถานะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทยจนกระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในปี พ.ศ. 2554
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาเชิญนายเสนาะเข้าร่วมพรรคเพื่อไทย โดยนายเสนาะได้ตอบรับ[6] และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 พรรคเพื่อไทย ภายหลังในการจัดตั้งรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายฐานิสร์ เทียนทอง หลานชาย ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 7[7]
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 5[8] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 ในวันเกิดครบรอบ 89 ปี เสนาะประกาศวางมือทางการเมือง [9]
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2526 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 จังหวัดปราจีนบุรี สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดสระแก้ว สังกัด พรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 จังหวัดสระแก้ว สังกัด พรรคความหวังใหม่
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัด พรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัด พรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 แบบสัดส่วน สังกัด พรรคประชาราช
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัด พรรคเพื่อไทย
การยึดทรัพย์
ในการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ปรากฏว่านายเสนาะ เป็น 1 ใน 10 นักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ในครั้งนี้จำนวนกว่า 62.68 ล้านบาท [10][11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2530 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[12]
- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[13]
- พ.ศ. 2533 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[14]
- พ.ศ. 2523 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[15]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญสนองเสรีชน (ส.ส.ช.)
อ้างอิง
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๕๐ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๙ ราย)
- ↑ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. รู้ทันทักษิณ 4 ฅนวงใน The Insiders. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน, 2549. 130 หน้า. ISBN 9789749416457 ฉบับออนไลน์
- ↑ ""รู้ทันทักษิณ" จับผิดเสนาะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2011-06-06.
- ↑ เสนาะสวมเสื้อเป็นสมาชิกเพื่อไทยแล้ว
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
- ↑ เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
- ↑ "เทียนทองเสี่ยง 'เสนาะ' ชนบิ๊กบราเธอร์ 'ขวัญเรือน' สู้สายบู๊". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-04-04.
- ↑ กองบรรณาธิการมติชน. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน พ.ศ. 2521-2549. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 424 หน้า. ISBN 974-323-889-1
- ↑ กองบรรณาธิการมติชน. รัฐประหาร 19 กันยา '49 เรียบแต่ลึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. ISBN 947-323-851-4
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๕ ง หน้า ๗๗๘, ๒๕ มกราคม ๒๕๓๓
- ↑ รายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๓ จากเว็บไชต์ thaiscouts
แหล่งข้อมูลอื่น
- 'พรรคประชาราช' ทางสายใหม่ของ 'ป๋าเหนาะ' เก็บถาวร 2007-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ThaisWatch.com
ก่อนหน้า | เสนาะ เทียนทอง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
อาทิตย์ อุไรรัตน์ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539) |
มนตรี พงษ์พานิช |