สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 มีนาคม พ.ศ. 2460 (92 ปี) |
มรณภาพ | 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 9 ประโยค นักธรรมชั้นเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 |
พรรษา | 72 |
ตำแหน่ง | อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย |
ประวัติ
แก้สมเด็จพระญาณวโรดม มีนามเดิมว่าประยูร นามสกุล พยุงธรรม (9 มีนาคม พ.ศ. 2460 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552) บิดาชื่อ ธูป มารดาชื่อ ทองหยิบ เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2460 (นับแบบใหม่) ที่บ้านท่าเรือ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรคนสุดท้อง มีพี่ 7 คน ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก 3 คน เหลือเพียง 4 คน
ได้มาพำนักที่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 และได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ (อินทร อคฺคิทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรเพ็ชร ปภงฺกโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ ทรงเป็นเจ้าภาพบวช ณ พัทธสีมา วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า "สนฺตงฺกุโร" ซึ่งแปลว่า หน่อหรือเชื้อสายหรือทายาทของผู้สงบ (ฉายานี้ได้มาตั้งแต่เป็นสามเณรพรรษาแรก) และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดมา มิได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย
สมเด็จพระญาณวโรดมได้เริ่มศึกษาเมื่ออายุราว 6 ขวบโดยมีบิดาเป็นผู้สอน ต่อมาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอประจันตคาม เมื่อ พ.ศ. 2468 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2472 ครั้งนั้นชั้น ป. 5 เป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาในอำเภอนั้น เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วได้ศึกษาด้านปริยัติศึกษาแผนกธรรม ได้นักธรรมชั้นเอก และแผนกบาลี ได้ ป.ธ. 9 สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยศึกษากับนาคะประทีบ ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นกันคืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และสมเด็จพระวันรัต (นิรันตร์ นิรนฺตโร) จนแตกฉานในวรรณคดีสันสกฤต
สมณศักดิ์
แก้- พ.ศ. 2495 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิญาณ[1]
- พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุมนต์มุนี ตรีปิฎกลังการ อุดมสิกขภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
- พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- พ.ศ. 2515 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธัชมุนี ปริยัติภาณีวราทร เตปิฎกาธิกรโกศล ปรหิตโสภณสังฆภูสิต ธรรมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2528 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระญาณวโรดม วราคมธรรมาภิรัต วัฒนศาสนกิจวิศาล คันถรจนาจารย์บัณฑิต วิเทศโกวิทสังฆเลขาธิกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2546 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณวโรดม สุตาคมวิสุต พุทธธรรมานุสิฐ นิวิฐศีลาจารปสาทกร สุนทรพิพิธธรรมจารี ตรีปิฏกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[6]
การปกครอง
แก้- เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
- เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม (มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย)
- เป็นประธานกรรมการวัดเทพศิรินทราวาส
- เป็นสมาชิกสังฆสภา
- เป็นพระอุปัชฌาย์
- เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
- เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
- เป็นกรรมการบริหารคณะธรรมยุต
- เป็นเลขาธิการคณะธรรมยุติ
- เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นกรรมการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
- เป็นกรรมการมูลนิธิสิรินธร ฯลฯ
ผลงานทางวิชาการ
แก้- ชุดแบบเรียนไวยากรณ์สันสกฤต 4 เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- หนังสือชื่อ ศาสนาต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อหาในแนวศาสนาเปรียบเทียบ ครอบคลุมทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า ศาสนาชินโต ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ฯลฯ
มรณภาพ
แก้ในช่วงเช้าวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระญาณวโรดม มีอาการไอและมีเสมหะ โดยไอเพียง 2 ครั้ง ก็หมดสติ หัวใจหยุดเต้น ศิษยานุศิษย์จึงรีบพาส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่แพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน เวลา 07.17 น. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์[7]
ศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลากวีนิรมิต (ศาลากลางน้ำ) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และเปิดให้ประชาชนถวายน้ำสรงศพเวลา 13.00 น. โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน และพระราชทานโกศไม้สิบสอง ซึ่งเป็นโกศตามยศสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ และในเวลา 17.43 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 69, ตอนที่ 72 ง, 9 ธันวาคม 2495, หน้า 4624
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 107 ง, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 2950
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอนที่ 3 ง ฉบับพิเศษ, 4 มกราคม 2506, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 89, ตอนที่ 202 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2515, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 103, ตอนที่ 165 ฉบับพิเศษ, 25 กันยายน 2529, หน้า 6-9
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 121, ตอนที่ 3 ข, 29 กุมภาพันธ์ 2547, หน้า 3-7
- ↑ "สมเด็จพระญาณวโรดม ถึงมรณภาพ" (PDF). มหาเถรสมาคม. 20 พฤศจิกายน 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ก่อนหน้า | สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระวันรัต (นิรันตร์ นิรนฺตโร) | ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร (พ.ศ. 2546–2552) |
สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) | ||
พระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีพ สุชีโว) | อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (ลำดับที่ 2) |
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) |