สุชีพ ปุญญานุภาพ

สุชีพ ปุญญานุภาพ (13 เมษายน พ.ศ. 2460 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543) เป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งจากพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ไทยอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเยี่ยมยอด หาใครเทียมได้ยาก ในเวลาเดียวกัน ก็มีความประพฤติที่ดีงาม สุภาพอ่อนโยน ระหว่างที่ท่านเคยบวชเป็นพระอยู่ในชื่อว่า สุชีโว ภิกขุ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด เพราะประการแรก ท่านเชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเป็นเลิศ ประการที่สอง ท่านรอบรู้วิชาการสมัยใหม่อย่างเยี่ยม ประการที่สาม ท่านเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างชาวพุทธในต่างประเทศกับประเทศไทย แม้ว่าท่านจะมีภาระงานมากมาย แต่ท่านก็เป็นนักเขียน ที่ผลิตงานเขียน ทั้งในรูปหนังสือและตำราเผยแพร่ความรู้ด้านพุทธศาสนา รวมทั้งนวนิยายอิงธรรมะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังเป็นผู้บุกเบิกทำพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาอีกด้วย

สุชีพ ปุญญานุภาพ

เกิดบุญรอด สงวนเชื้อ
13 เมษายน พ.ศ. 2460
อำเภอบางปลา จังหวัดนครปฐม
เสียชีวิต4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 (83 ปี)
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นสุชีโวภิกขุ
พลเมืองไทย
การศึกษาป.ธ.๙
ปร.ด กิตติมศักดิ์
ศน.ด กิตติมศักดิ์
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาชีพนักวิชาการ นักเขียน
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2543
องค์การองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
มีชื่อเสียงจากผู้มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนา
ผลงานเด่นพระไตรปิฏกฉบับประชาชน
ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
กองทัพธรรม
ลีลาชีวิต
นิราศบางไทรป่า
คู่สมรสเพ็ญสุข ศิวดิตถ์
บุตร4 คน
บุพการีอ่วม สงวนเชื้อ
ทองคำ สงวนเชื้อ
ครอบครัวสงวนเชื้อ (เกิด)
ปุญญานุภาพ (เมื่อลาสิกขา)
รางวัลคนไทยตัวอย่าง ประจำปี 2540
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพเรือไทย
ประจำการพ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2500
ชั้นยศ นาวาตรี

อาจารย์สุชีพได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เวลา 15.51 น. สิริอายุ 83 ปี 21 วัน [1]

ประวัติ แก้

สุชีพ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2460 ที่ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (อำเภอบางเลน ในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด 12 คนที่เกิดร่วมพ่อแม่เดียวกัน แต่ทั้งหมดเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ เหลือท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "บุญรอด" และมีนามสกุลในเวลานั้นว่า "สงวนเชื้อ" ภายหลัง ท่านได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น 'สุชีพ' ตามฉายาภาษาบาลีของท่านคือ "สุชีโว" (ผู้มีชีวิตที่ดี) ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) พระอุปัชฌาย์ของท่านได้ตั้งให้เพื่อเป็นสิริมงคล

อาจารย์สุชีพสร้างลูกศิษย์ผู้ชำนาญทางพระพุทธศาสนามากมายทั่วประเทศ ทั้งพระทั้งฆราวาส ศิษยานุศิษย์เหล่านี้ต่างมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับชั้นต่าง ๆ ของสังคม อาทิ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ), พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช), พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) อดีตอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย, พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย), รศ.ดร. สุภัทร ปัญญาทีป, รศ. สุวรรณ เพชรนิล, วศิน อินทสระ, ศ. แสง จันทร์งาม (หรือ ธรรมโฆษ), รศ.ดร. สุนทร ณ รังษี, เสถียร โพธินันทะ, สุเชาวน์ พลอยชุม ฯลฯ รวมทั้งเจ้าอาวาสวัดหลายแห่งทั่วประเทศไทย จากความพยายามในการพัฒนาการศึกษาสงฆ์จนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของท่าน

การศึกษา แก้

สุชีพสำเร็จการศึกษาเปรียญ 9 ประโยค วัดกันตมาตุยาราม ซึ่งขึ้นกับสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านจะจบเปรียญ 9 ประโยค แต่ท่านก็มีวิริยะอุตสาหะเรียนรู้วิชาสมัยใหม่อื่นๆ ด้วยตนเองเป็นหลัก จึงชำนาญหลายๆ วิชา อาทิ ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาสันสกฤต และ ภาษาปรากฤต ท่านสามารถค้นวรรณคดีและพจนานุกรมภาษาเหล่านี้ได้อย่างละเอียด สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น ท่านเป็นศิษย์ของ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ตอนหลัง ท่านได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหงและ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเคยให้สัมภาษณ์ว่าบุคคลในพระพุทธศาสนาในอุดมคติที่ท่านถือเป็นแบบในการพัฒนาตนเป็นนัก วิชาการทางพระพุทธศาสนาคือพระวชิรญาโณ ภิกฺขุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านเคยให้เหตุผลว่าสองท่านนี้เป็นคนไทยรุ่นบุกเบิกที่ประยุกต์พระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยโดยนำเอาวิชาการสมัยใหม่มาใช้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สุชีพอยู่ในเพศพระภิกษุจนได้ตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ ‘พระศรีวิสุทธิญาณ’ สมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุนั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่มีใครยุคนั้นเทียบได้ ต่อมาได้ลาสิกขาสู่เพศฆราวาส ระหว่างที่ท่านลาสิกขาเมื่ออายุ 35 ปี มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากร้องไห้เพราะความเสียดาย หลังจากสึกหาลาเพศแล้ว ท่านเช่าห้องพักที่ถนนข้าวสาร บางลำภู ก่อนจะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่บริเวณถนนสุขุมวิท

สุชีพ ปุญญานุภาพได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ที่สุภาพอ่อนโยน ในด้านความรู้ทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านได้รับการยกย่องจาก ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีและประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ว่าเป็น พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ หมายเลข 1 ของประเทศเพราะท่านสามารถอธิบายและตอบคำถามทาง พระพุทธศาสนา หรือหลัก พุทธธรรม ได้ทุกอย่างอย่างละเอียด พร้อมอ้างที่มาในพระไตรปิฎกให้เพื่อการค้นคว้าต่อไปอย่างแม่นยำอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองชาวพุทธจำนวนมากจึงได้กล่าวขานถึงท่านด้วยฉายา 'พระไตรปิฎกเคลื่อนที่' ตาม ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์[ต้องการอ้างอิง]

บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย แก้

สมัยเป็นพระภิกษุอยู่วัดกันตมาตุยาราม ท่านเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาควบคู่กับวิชาทางโลกสมัยใหม่ให้ศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต่อมา พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แนะนำให้ท่านรื้อฟื้นมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยุบกิจการไปนานแล้ว หลังจากประสบปัญหาต่างๆ และเสนอแนะให้ท่านมาใช้สถานที่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านจึงพาลูกศิษย์มาขอใช้สถานที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเริ่มเปิดเรียนเป็นกิจจะลักษณะ แม้จะมีการต่อต้านจากพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาก เพราะถือว่าวิชาความรู้สมัยใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นเดรัจฉานวิชา แต่ท่านก็สู้อดทน วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการสร้างบุคลากรที่สามารถประยุกต์ พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ จนกระทั่ง ได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสนับสนุนด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบัญชาให้ประกาศจัดตั้ง สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไทยในยุคใหม่

หลายสิบปีผ่านไป แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เถื่อนเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับรอง แต่พระสงฆ์ก็เรียกร้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนถึงที่สุดในพุทธศักราช 2527 รัฐบาลได้ตรากฎหมายรับรอง และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็ได้รับการรับรองให้เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่างสมบูรณ์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มักห้ามศิษยานุศิษย์มิให้กล่าวหรือเขียนยกย่องท่านในที่สาธารณะ ตามนิสัยถ่อมตัวและรักสันโดษของท่าน จึงไม่ค่อยมีคนทราบประวัติและความดีที่ท่านทำอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่าใดนัก เนื่องในงานประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งที่ 4 เก็บถาวร 2006-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ มหามกุฏราชวิทยาลัย และองค์กรพุทธชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2548 และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วทุกมุมโลก ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ได้นำเสนอบทความว่าด้วยประวัติและผลงานของท่านอาจารย์สุชีพ เป็นครั้งแรกที่มีเขียนประวัติท่านเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างละเอียด โดยได้เชิญชวนให้บรรดาผู้นำชาวพุทธทั่วโลกที่มาร่วมชุมนุมร่วมยกย่องท่านอาจารย์สุชีพเป็น "บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย"(The Father of Modern Buddhist University in Thailand) เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ

คำว่า บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เพื่อยกย่องอาจารย์สุชีพนี้ ดร.ปฐมพงษ์ริเริ่มนำมาใช้ในบทความชื่อ Sujib Punyanubhab: His Life and Work เป็นบทความขนาดยาว รวมอยู่ในหนังสือ Buddhist Unity in the Globalisation Age ซึ่ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้จัดพิมพ์เมื่อคราวจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกนั่นเอง บทความดังกล่าวเชิญชวนให้บรรดาชาวพุทธระดับผู้นำซึ่งมาประชุมพร้อมกันได้รับรู้ถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้กระทำต่อพระพุทธศาสนาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัตถุนิยมไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยมาก ประชาชนทั่วประเทศกำลังเบนเข็มไปพัฒนาประเทศในแนววัตถุนิยม หลงลืมพระพุทธศาสนา หลายคนพูดไทยปนฝรั่ง ในขณะที่พระสงฆ์ก็เทศน์คำไทยปนคำบาลีสันสกฤต ไม่มีความรู้ในวิชาการทางโลกพอจะเข้าใจชาวบ้าน พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ของประเทศ การศึกษาของสงฆ์ไม่สัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

เมื่อสังคมมีแนวโน้มที่จะเชื่ออย่างนี้ สุชีโว ภิกฺขุ (หรือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ) ได้พยายามรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถูกยุบไปใหม่ แรกเริ่มท่าน ได้เปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาแนวประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ที่วัดกันมาตุยาราม ซึ่งอยู่ในย่านเยาวราช ให้แก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา หลังจากนั้น พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารได้นิมนต์ท่านให้มาใช้สถานที่ของวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเปิดสอนให้เป็นกิจจะลักษณะในรูปวิทยาลัย พร้อมทั้งแนะให้รื้อฟื้น มหามกุฏราชวิทยาลัย ด้วย

ท่านสุชีโว ภิกขุจึงพาลูกศิษย์ที่สนใจเรียนด้วยมาเปิดเรียนที่ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยใช้อาคารตึก มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถานที่เรียน พระสงฆ์สามเณรที่สนใจประยุกต์หลัก พุทธธรรม ก็พากันมาเรียนกับท่านสุชีโว ภิกขุเป็นจำนวนมาก แต่พอมีข่าวว่าท่านสุชีโว ภิกขุจะรื้อฟื้นวิทยาลัยสงฆ์แล้วเปิดการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าบรรดาพระเถรานุเถระระดับเจ้าอาวาสวัดทั่วประเทศจำนวนมากต่อต้าน บอกว่าวิชาสมัยใหม่เป็นเดรัจฉานวิชา ขณะเดียวกัน ก็พากันห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดออกไปร่วมกิจกรรมกับสุชีโว ภิกขุ พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านอ้างว่าการไปเรียนวิชาสมัยใหม่จะทำให้พระสงฆ์สามเณรสึกหาลาเพศกันมากขึ้น ทำให้จำนวนพระภิกษุสามเณรลดลง ตัวท่านเองเป็นเป้าของการติฉินนินทานานัปการ ถูกมองว่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนาก็มี

สุชีโวภิกขุจึงพยายามอย่างหนักที่จะทำความเข้าใจ กับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็พยายามบรรยายและแสดงปาฐกถาให้บรรดาข้าราชการไทยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เห็นคุณค่า แต่กระแสสังคมในสมัยนั้น คล้อยตามพระเถรานุเถระผู้ใหญ่สูงมาก แนวคิดของท่านจึงถูกต่อต้านหลังจากพยายามอยู่หลายปี ในที่สุด ท่านสุชีโวภิกขุจึงเข้ากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นส่วนตัว โดยมี พระมหาเจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน ช่วยอธิบายให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฟังด้วย สุชีโวภิกขุได้อธิบายว่า

  1. พระสงฆ์ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ล้วนแต่หนักแน่นในพระพุทธศาสนาเพราะต่างได้เปรียญสูงๆ กันมาแล้ว การเปิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจะช่วยให้พระสงฆ์ได้มีความรู้ในการประยุกต์หลัก พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่
  2. ศาสตร์สมัยใหม่ทั้งหลายมีประโยชน์ในการเป็นบันไดหรือรางรถไฟให้พระพุทธศาสนา (ซึ่งท่านเปรียบเหมือนตัวรถไฟ) ได้วิ่งไปโดยสะดวก
  3. ถึงพระสงฆ์ที่บวชเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์จะสึกหาลาเพศไป ก็จะเป็นศาสนทายาท ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหน่วยงานของตนๆ ได้

หลังจากทรงทราบรายละเอียด อันรวมทั้งวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานพระอุปถัมภ์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเห็นชอบขึ้นมา คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารก็เห็นชอบด้วย, ให้ความอุปถัมภ์จนถึงช่วยชี้แจงให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจด้วย ในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2488 โดยมีสุชีโว ภิกขุ เป็นเลขาธิการท่านแรก เมื่อเห็นมหามกุฏราชวิทยาลัยสามารถเปิดสอนได้ ฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกายก็รื้อฟื้น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขึ้นตามมาในปี พ.ศ. 2490 ประเทศไทยเราจึงมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สร้างศาสนทายาทถึง 2 แห่งซึ่งขณะนี้ ได้ขยายวิทยาเขตไปทั่วประเทศเพราะความมานะบากบั่นริเริ่มของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยแท้ บทความได้สรุปว่าคุณูปการที่อ.สุชีพได้กระทำเหล่านี้ สมควรที่ชาวพุทธจะร่วมกันเชิดชูเกียรติท่านอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้ในฐานะ บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย ในบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป[2]

กิจกรรมเพื่อพระพุทธศาสนา แก้

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ หลายเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักอาทิ

  • เป็นผู้ริเริ่มหรือรื้อฟื้นให้มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น หลังจากที่เคยมีการศึกษาสงฆ์ระดับวิทยาลัยแต่ถูกยุบไปในสมัยรัชกาลที่ 5
  • หลังจากมหามกุฏราชวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาแล้ว พระสงฆ์สามเณรไม่มีทุนเพื่อศึกษาเล่าเรียนและทำวิจัยทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ดำริก่อตั้ง มูลนิธิปุญญานุภาพเพื่อหาทุนสนับสนุน โดยท่านบริจาคเงินค่าลิขสิทธิ์จากงานเขียนของท่านทั้งหมดเพื่อก่อตั้งทุนในช่วงเริ่มต้น
  • เป็นผู้เริ่มวางรากฐานให้มีการก่อตั้ง ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย โดยมีศิษย์ท่านดำเนินการออกหน้า กล่าวคือคุณบุญยง ว่องวานิชและอาจารย์ เสถียร โพธินันทะ
  • เป็นพระภิกษุไทยคนแรกที่ปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุมที่มีฝรั่งต่างชาติ จนกลายเป็นแบบให้พระภิกษุยุคใหม่ได้ปรับใช้
  • เป็นบิดาแห่งวิชาศาสนาเปรียบเทียบในประเทศไทย เพราะเป็นคนไทยคนแรกที่นำเอาวิชาศาสนาเปรียบเทียบมาใช้สอนในมหาวิทยาลัย กล่าวคือเริ่มที่มหามกุฏราชวิทยาลัย[3]
  • เป็นคนแรกที่บุกเบิกนำเอาวิชาพระพุทธศาสนาไปใช้สอนในลักษณะวิเคราะห์ระดับมหาวิทยาลัย
  • เป็นผู้แปลชื่อหน่วยงานพระพุทธศาสนา "World Fellowshipof Buddhists" เป็นภาษาไทยว่า ‘องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก’
  • เป็นคนบัญญัติศัพท์คำว่า สมาคมบาลีปกรณ์ จากคำภาษาอังกฤษว่า "Pali Text Society"

ผลงานการประพันธ์ แก้

สุชีพได้ผลิตงานวิชาการออกมามากมาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานที่ทำให้อาจารย์สุชีพ โด่งดังมากที่สุดได้แก่ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งริเริ่มเขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอายุ 18 ปี อีกเล่มหนึ่งที่กล่าวขวัญถึงมากได้แก่ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา

สุชีพนับเป็นนักวิชาการที่มีพรสวรรค์ในการประพันธ์นวนิยายอิงธรรมะมาก ท่านเขียนขึ้นมาหลายเล่ม แต่ละเล่มเป็นที่สนใจของบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนอ่านจำนวนมากไปขออ่านนวนิยายอิงธรรมะของท่านถึงแท่นพิมพ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยก็มี จนกระทั่งว่าศิษย์ของท่านต้องเดินรอยตาม ไม่ว่าจะเป็น วศิน อินทสระ หรือ แสง จันทร์งาม บทประพันธ์ที่ท่านแต่งและยังกินใจอยู่จนทุกวันนี้ ได้แก่ ใต้ร่มกาสาวพัสตร์, ลุ่มน้ำนัมมทา, อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก, กองทัพธรรม, เชิงผาหิมพานต์ ฯลฯ นวนิยายเหล่านี้ โดยเฉพาะเล่มหลัง มีอิทธิพลต่อพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) เป็นอย่างมาก

สมณศักดิ์ในอดีต แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
  2. แจงปม ย้ายรูปเหมือน “อาจารย์สุชีพ” บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เก็บไว้ที่เหมาะสมเพื่อถวายความปลอดภัยสมเด็จพระสังฆราช
  3. พระสังฆราชทรงเชิดชู อาจารย์สุชีพ ผู้ผลิต “พระไตรปิฏกฉบับประชาชน”
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๘, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙๒, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖