อุปัชฌาย์

(เปลี่ยนทางจาก พระอุปัชฌาย์)

อุปัชฌาย์ (/อุ-ปัด-ชา/) ความหมายโดยพยัญชนะว่าผู้เข้าไปเพ่ง กล่าวคือ ได้แก่ผู้คอยดูแลเอาใจใส่ คอยแนะนำพรำเตือนสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของตน ซึ่งก็คือพระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา เรียกทั่วไปว่า พระอุปัชฌาย์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Preceptor"

พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่หลัก 2 อย่างคือเป็นผู้รับผิดชอบและรับรองผู้บวชในพิธีบรรพชาอุปสมบทและเป็นผู้รับปกครองดูแล แนะนำ ตักเตือนและติดตามความเป็นอยู่ของผู้ที่ตนบวชให้ เหมือนบิดาปกครองดูแลบุตร ตามกฎมหาเถรสมาคมนั้นได้กำหนดให้เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลหนึ่ง ให้มีพระอุปัชฌาย์เพียงหนึ่งรูป เว้นแต่ มีกรณีพิเศษ

หลักฐานการใช้คำว่าอุปัชฌาย์ในอดีต

แก้

ปรากฏในช่วงเริ่มตติยสังคยานา หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 300 ปี[1] หลังจากที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกทำสงคราม ก็คิดจะหาความสงบพระทัย เดิมทีพระองค์ทรงนับถือลัทธินอกพุทธศาสนาอยู่ 3 ปี ได้ถวายภัตตาหารให้แก่นักบวชในลัทธิต่าง ๆ วันละหลายแสนคน พอเข้าปีที่ 4 ก็ได้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะอานุภาพของสามเณรนิโครธ

นิโครธสามเณรได้กล่าวหัวข้อธรรม เรื่องความไม่ประมาทให้พระราชาหรือพระเจ้าอโศกได้สดับว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย จากนั้นก็เทศน์ด้วยสำเนียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง นี่ขนาดถ่อมตนว่ารู้น้อยแล้ว แต่เทศน์ได้ยอดเยี่ยมมาก ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย พระราชาพอได้สดับแล้ว ก็ปลื้มปีติในธรรมที่สามเณรน้อยได้แสดง มีรับสั่งว่า พ่อเณร โยมจะขอบูชากัณฑ์เทศน์ด้วยการถวายภัตรประจำแก่พ่อเณรวันละ 8 สำรับ

สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพ จะถวายธุวภัตรเหล่านั้นแก่พระอุปัชฌาย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าอุปัชฌาย์ของท่านคือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่เห็นโทษน้อยใหญ่ แล้วคอยตักเตือน และให้ระลึกไม่ให้ทำบาปอกุศล ชื่อว่าพระอุปัชฌาย์”

พระราชามีรับสั่งว่า “พ่อเณร งั้นโยมจะถวายภัตรเพิ่มอีก 8 สำหรับ แก่พ่อเณร” สามเณรก็ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายภัตรเหล่านั้นแก่พระอาจารย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าพระอาจารย์นี้คือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่ให้อันเตวาสิก และสัทธิวิหาริก ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรศึกษาในพระศาสนานี้ ชื่อว่าพระอาจารย์”

การแต่งตั้ง

แก้

ปัจจุบันอุปัชฌาย์ในประเทศไทยจะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคณะสงฆ์ เป็นเองไม่ได้ กล่าวคือ ต้องเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ( พ.ศ. 2536 ) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์

ประเภท

แก้

ปัจจุบันพระอุปัชฌาย์มี 3 ประเภท อันได้แก่

  1. พระอุปัชฌาย์สามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่
  2. พระอุปัชฌาย์วิสามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช
  3. พระอุปัชฌาย์ผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาย์อยู่ก่อนใช้กฎมหาเถรสมาคม

คุณสมบัติ

แก้
  1. มีตำแหน่งในทางการปกครองชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป เว้นแต่พระอารามหลวง
  2. มีพรรษามากกว่า 10 ปี
  3. ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย
  4. มีประวัติความประพฤติดี
  5. เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
  6. เป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน
  7. มีความสามารถฝึกสอนผู้อยู่ในปกครองให้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ดี ตามพระธรรมวินัย และสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันอยู่ในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ได้
  8. มีความรู้ความสามารถ ทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์

เขตความรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท

แก้

พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้ภายในเขตที่ระบุไว้ในตราตั้ง หรือเขตอำนาจที่ตนปกครองอยู่ในปัจจุบัน คือ ถ้าเป็น

  1. เจ้าอาวาส ภายในวัดของตน
  2. เจ้าคณะตำบล ภายในเขตตำบลของตน
  3. เจ้าคณะอำเภอ ภายในเขตอำเภอของตน
  4. เจ้าคณะจังหวัด ภายในเขตจังหวัดของตน
  5. เจ้าคณะภาค ภาคในเขตภาคของตน
  6. เจ้าคณะใหญ่ ภายในเขตหนของตน
  7. พระอุปัชฌาย์ที่ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่จำกัดเขต

จริยาพระอุปัชฌาย์

แก้
  1. พระอุปัชฌาย์ ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติ ตามพระธรรมวินัย และกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก
  2. พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
  3. พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของพระสังฆาธิการ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมนี้
  4. พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้บรรพชาอุปสมบทกรรมวิบัติบกพร่องไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ

การระงับหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์

แก้

หน้าที่พระอุปัชฌาย์ต้องระงับในเมื่อ

  1. พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง และมิได้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งนั้น ๆ หรือถูกให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง
  2. ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ 8
  3. ถูกเป็นจำเลยในอธิกรณ์ที่มีโทษถึงให้สึก และอยู่ในระหว่างไต่สวนพิจารณาวินิจฉัย
  4. ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์

ปัญหาการบวชกับอุปัชฌาย์ที่ปาราชิก

แก้

ความเห็นที่หนึ่ง เห็นว่าการบวชนั้นสมบูรณ์เพราะการบวชมิได้เป็นไปแต่โดยลำพังของอุปัชฌาย์เท่านั้น หากพระคู่สวด พระอันดับมิได้อาบัติปาราชิกด้วย การบวชย่อมสมบูรณ์

ความเห็นที่สอง ในการทำสังฆกรรมนั้น แค่มีฆราวาสมาอยู่ใกล้หัตถบาสก์พระสงฆ์ ก็ถือว่าสังฆกรรมนั้นไม่บริสุทธิ์แล้ว ให้ขับออกห่างเกินหัตถบาสก์ก่อนแล้วเริ่มทำสังฆกรรมใหม่ หรือหากมีคนที่ขาดจากภิกษุภาวะที่มีบริสุทธิ์ สังฆกรรมนั้นก็โมฆะตั้งแต่ต้น จะนับเป็นพระได้ก็คือให้ชำระสงฆ์ก่อนแล้วเริ่มบวชใหม่เท่านั้น

อ้างอิง

แก้
  • พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535
  • กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ( พ.ศ. 2536 ) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์
  1. http://www.se-ed.net/tummachat/pataipidug/01/14.htm เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บางแห่งกล่าวว่า พ.ศ. 224 โปรดดู ประวัติพระเจ้าอโศกมหาราช https://web.archive.org/web/20050504102808/http://www.geocities.com/watdonta_y/asoka.doc