พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
พระพรหมมุนี นามฉายา สุวโจ (นามเดิม: ผิน ธรรมประทีป) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และอดีตสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 กันยายน พ.ศ. 2437 (66 ปี 123 วัน ปี) |
มรณภาพ | 22 มกราคม พ.ศ. 2504 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 6 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | พ.ศ. 2456 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร |
ประวัติ
แก้วัยเยาว์
แก้พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) มีนามเดิมว่า ผิน ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนบุตรธิดา 7 คน ของนายห้อยกับนางฮวด ธรรมประทีป เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2437 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเมีย เวลา 15.30 น. ณ ตำบลบ้านแหลมใหญ่ อำเภอบ้านปรก (ปัจจุบันเป็นตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม)
เมื่อโตขึ้นได้ศึกษาภาษาไทยในสำนักขุนวิทยานุกูลกวี (ทองดี เครือชะเอม ป.7 อดีตครูโรงเรียนราชกุมารราชกุมารี ในพระบรมมหาราชวัง) ณ วัดเกตุการาม จังหวัดสมุทรสงคราม ญาติของท่านฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา เป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและภคินีในศาสนาคริสต์ด้วย เมื่อยังเยาว์ ท่านเคยไปภาวนาในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้างกับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์ แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน เพราะได้เคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณร เช่น เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่าง ๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยทำตามเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นอุโบสถลอยมาในอากาศบ้าง ฝันเห็นอุบาสก อุบาสิกา นุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก เมื่อศาสนาคริสต์สอนว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป เพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์ ท่านเห็นว่าสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม[1]
อุปสมบท
แก้เมื่ออุปนิสัยน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ครั้นอายุได้ 16 ปี (พ.ศ. 2453) จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร กับพระครูธรรมธรแก้ว พฺรหฺมสาโร วัดพวงมาลัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการามต่ออีก ครั้นอายุได้ 19 ปี (พ.ศ. 2456) ก็ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่งกับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต) วัดเกตุการาม และอยู่มาจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมีพระพุทธวิริยากร (จิตต ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) และพระครูธรรมธรอินทร์ ภาสกโร วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์[1]
การศึกษา
แก้เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น 4 พรรษา ในพรรษาที่ 3 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
- พ.ศ. 2461 ได้ย้ายเข้าอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัดและอยู่ในความดูแลของพระมหานายก (มณี ลิมกุล สุดท้ายเป็นพระเทพกวี แล้วลาสึกขา) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดเดียวกัน การขบฉันในสมัยนั้นนับว่าอัตคัด สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงต้องทรงแบ่งเครื่องเสวยประทานเป็นครั้งคราวเสมอ การศึกษาเล่าเรียนของท่านก็เจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ สอบได้ชั้นและประโยคต่างๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2464 สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค (ได้รับพัดเปรียญในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2465)[2]
- พ.ศ. 2465 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2466 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
- พ.ศ. 2467 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค[3]
- พ.ศ. 2469 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์
แก้- พ.ศ. 2467 เป็นกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นกรรมการจัดการศึกษาของสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
- พ.ศ. 2476 เป็นกรรมการสนามหลวง ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี
- พ.ศ. 2477 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นประธานกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
- พ.ศ. 2478 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอกทางคันถธุระ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายปริยัติ (เทียบฝ่ายบริหารเท่ากับเจ้าคณะมณฑล)
- พ.ศ. 2481 เป็นหัวหน้ากองบัญชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก[4]
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[5]
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก[6]
- พ.ศ. 2501 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
สมณศักดิ์
แก้- พระผิน สุวโจ (พ.ศ. 2457 - 2464)
- พระครูสังฆบริบาล ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- พระครูวินัยธรรม ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- พระครูธรรมธร ฐานานุกรมในสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
- พระมหาผิน สุวโจ เปรียญธรรม 6 ประโยค
- พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุพจนมุนี (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2489)[7]
- พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี ศรีวิสุทธศีลาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี (พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2490)[8]
- พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี (พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2492)[9]
- รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2504)[10]
มรณภาพ
แก้พระพรหมมุนี มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2504 สิริอายุได้ 66 ปี 123 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)". วัดบวรนิเวศวิหาร. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์ที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ และได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญชั้นมีนิตยภัต, เล่ม ๔๐, ตอน ง, ๑ เมษายน ๒๔๖๖, หน้า ๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และ ๒๔๖๘, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๗๐, หน้า ๖๑๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม ๖๗, ตอน ๔๓, ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๓๓๗๔-๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม ๖๘, ตอนที่ ๓๘, ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔, หน้า ๒๕๙๓-๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม ๗๒, ตอนที่ ๖๑ ฉบับพิเศษ, ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๘-๒๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่ม ๕๑ ตอน ๐ ง ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ หน้า ๑๓๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม ๖๓ ตอน ๑๕ ง ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ หน้า ๓๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๖๔ ตอน ๒๗ ง ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หน้า ๑๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๖๖ ตอน ๖๖ ก ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ หน้า ๘๗๒