จำนง รังสิกุล
จำนง รังสิกุล ข้าราชการกรมโฆษณาการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์), นักสื่อสารมวลชนชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม อันเป็นแห่งแรกของประเทศไทย, กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด, ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท.และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมเป็นคนแรก
จำนง รังสิกุล | |
---|---|
เกิด | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 ศรีมหาโพธิ, ปราจีนบุรี |
เสียชีวิต | 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 (81 ปี) |
อนุสรณ์สถาน | พิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | หัวหน้าจำนง |
การศึกษา | ธรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนเซนต์หลุยส์, ฉะเชิงเทรา |
อาชีพ | ข้าราชการ |
ปีปฏิบัติงาน | 2479 - 2522 |
นายจ้าง | บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด |
องค์การ | กรมโฆษณาการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์) |
มีชื่อเสียงจาก | บิดาแห่งโทรทัศน์ไทย |
ผลงานเด่น | หัวหน้าฝ่ายรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม |
โทรทัศน์ | สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม |
กรรมการใน | บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด |
คู่สมรส | พิสมัย อมาตยกุล |
บุตร | พัชรี, นฤมล, ธีรชัย |
รางวัล | เมขลา โทรทัศน์ทองคำ |
ประวัติ
แก้จำนง รังสิกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรชายคนโต ในจำนวน 6 คนของหลวงบัญชาพิชิตราษฎร์ (บิดา) และนางจันทร์ รังสิกุล (มารดา) จบการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนในจังหวัดนครนายก, จบการศึกษาชั้นมัธยม ที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ จบการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยเมื่อแรกเข้าศึกษา เป็นแผนกวิชารัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทางรัฐบาลสั่งให้ย้ายโอน ขณะที่จำนงกำลังศึกษาชั้นปีที่ 2
เมื่อจบการศึกษา จำนงก็เข้ารับราชการ เริ่มจากสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จากนั้นโอนไปเป็นผู้ตรวจการ กรมการประมง กระทรวงเกษตราธิการ และกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจึงโอนกลับมาเป็น พนักงานแปลข่าวต่างประเทศ และนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ของกรมโฆษณาการ
ระหว่างนั้นกรมส่งจำนง ซึ่งมีความรู้ทางภาษาอังกฤษ ไปฝึกงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทย ของบรรษัทการแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (บีบีซี) ที่กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 3 ปี แล้วกลับมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองกระจายเสียงต่างประเทศ ของกรมโฆษณาการต่อไป จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้จำนงนำคณะข้าราชการกรมโฆษณาการ เดินทางไปศึกษาดูงานวิทยุโทรภาพที่สหรัฐอเมริกา สำหรับเตรียมการจัดตั้งในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
โดยตั้งแต่บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เริ่มดำเนินงาน สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เมื่อต้นปี พ.ศ. 2497 จำนงเป็นบุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท, ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ (ท.ท.ท.) และสถานีโทรทัศน์ (ช่อง 4 บางขุนพรหม), รวมถึงหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ทั้งส่วนวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งสำนักข่าวสารอเมริกัน และสถานทูตนานาชาติ ให้ความร่วมมือแก่จำนง ในกิจการงานต่างๆ ด้วยดี ทั้งนี้ระหว่างดำรงตำแหน่ง จำนงเป็นผู้ดำริทั้งคำว่า "พิธีกร" (จากภาษาอังกฤษว่า Master of Ceremony - MC), "เพลงลูกทุ่ง" (จากภาษาอังกฤษว่า country song) หรือ "หอเกียรติคุณ" (Hall of Fame) เป็นต้น[1] ตลอดจนชื่อและรูปแบบรายการโทรทัศน์ ประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รายการประเภทส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น ศิษย์นาฏศิลป์ไทยทีวีช่อง 4[2], การแสดงหุ่นกระบอกไทย, นายเทิ่งกับสัตว์เลี้ยง, ละครสั้นเบาสมองชุด "พ่อท้วมกับแม่อิ๊ด", ละครครอบครัวชวนหัวชุด "นุสรา" เป็นต้น
- รายการประเภทดนตรีไทยและสากล เช่น ลูกทุ่งกรุงไทย, เพลินเพลงกับนฤพนธ์, เพลงกล่อมจิตร, มิตรกล่อมใจ, เพลงแห่งความหลัง, เพลงสุนทราภรณ์, คันธรรพศาลา, สังคีตภิรมย์, เพลงนานาชาติ เป็นต้น
- รายการประเภทละครพันทาง/ละครวรรณกรรมไทยและสากล เช่น เจ้าหญิงแสนหวี, ศรอนงค์, นันทาเทวี, สี่แผ่นดิน, พันท้ายนรสิงห์, บ้านทรายทอง, นิจ, ขุนศึก, ขุนศึกมหาราช, สามก๊ก, ฮวนนั้ง, ซูสีไทเฮา, บูเช็กเทียน, ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน, ออกญายามาดา, โรมิโอ-จูเลียต, ไอดา/อาอีดา เป็นต้น
- รายการประเภทปกิณกะ/เกมโชว์ เช่น มาลัยลอยวน, ลับแลกลอนสด, ปัญหารอบโลก, ปัญหาผะหมี, ทายอาชีพ, ทายภาพปริศนา, ปัญหาเปิดหน้ากาก เป็นต้น
- รายการประเภทภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งจำนงเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกด้วยตนเอง เช่น คุณพ่อรู้ดี (Father knows best), แลซซี่ สุนัขแสนรู้ (Lassie), คาวบอยหน้ากากดำ โลนเรนเจอร์ส (Lone Ranger), ฉันรักลูซี่ (I love Lucy) เป็นต้น[3]
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งให้กลุ่มข้าราชการของกรม ซึ่งเข้าช่วยกิจการของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด กลับมาปฏิบัติราชการที่กรมตามเดิม จำนงจึงกลับมารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองข่าวในประเทศ และผู้อำนวยการกองข่าวต่างประเทศ ของกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนจะเกษียณอายุราชการ[4] หลังจากนั้น ธนาคารกรุงเทพเชิญให้เขาเป็นที่ปรึกษา ของรายการวิทยุและโทรทัศน์ "เพื่อนคู่คิด" ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดทำ
นอกจากนี้ จำนงยังเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังทำงานอยู่ โดยมีนามปากกาอยู่หลายชื่อ เช่น "จินตนา" ในคอลัมน์ตอบปัญหาชีวิต ของนิตยสาร "สตรีสาร" และเมื่อเขียนสารคดีจะใช้นามจริง รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง รางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ "เมขลา" ซึ่งจำนงร่วมงานอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2526 จากนั้นจำนงมาร่วมก่อตั้ง รางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ "โทรทัศน์ทองคำ" ซึ่งเขาร่วมงานอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2537 ก่อนจะยุติบทบาทในส่วนดังกล่าวลง
จำนงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 81 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2517 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[5]
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[6]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[7]
- พ.ศ. 2504 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[8]
- พ.ศ. 2506 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 4 (ภ.ป.ร.4)[9]
เกียรติคุณ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2528 จำนงเข้ารับพระราชทานปริญญา วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปี พ.ศ. 2530 สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย มอบรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" สาขานักประชาสัมพันธ์ดีเด่นทางวิทยุและโทรทัศน์ ให้แก่จำนงด้วย
นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล จำนง รังสิกุล อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การจัดสร้างรูปหล่อสำริดครึ่งตัวขนาด 2 ฟุตของจำนง ขณะมีอายุ 38 ปี ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำไปจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นการถาวร[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ จำนง รังสิกุล ru.ac.th
- ↑ หนังสือที่ระลึก 70 ปี กรมประชาสัมพันธ์, สำนักนายกรัฐมนตรี, 2546, หน้า 139.
- ↑ หนังสือ 70 ปี กปส. หน้า 142.
- ↑ หนังสือ 70 ปี กปส. หน้า 148-149.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๔๐, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๙๕๓, ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๑๑, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๒๓ ง หน้า ๒๘๒๑, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๖
- ↑ ครบรอบ 100 ปีชาตกาล 'อาจารย์ จำนง รังสิกุล' เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วอยซ์ทีวี, 28 พฤษภาคม 2556.