พันท้ายนรสิงห์

บุคคลในตำนานไทย

พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา โดยพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์[1]

รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ ที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์

ประวัติ

แก้

เรื่องของพันท้ายนรสิงห์ ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม โดยกล่าวว่า พ.ศ. 2247 พระเจ้าเสือเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขามซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ แล้วสร้างศาลเพียงตา นำศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกไชยขึ้นตั้งบนศาลไว้บูชาพร้อมกัน แล้วเสด็จออกไปทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อกลับกรุงศรีอยุธยา โปรดให้นำศพของพันท้ายนรสิงห์มาพระราชทานเพลิงศพ พระราชทานเงินทองสิ่งของจำนวนมากแก่ภรรยาลูกเมียพันท้ายนรสิงห์ ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้สมุหนายกเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 30,000 คน ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก ขุดเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2252 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า"คลองสนามไชย" ต่อมาเรียกเป็นคลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่า"คลองถ่าน" ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า "คลองด่าน"

ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ ปีวอก ฉ่อศก ขะณะนั้นสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดีน เสดจ์ด้วยเรือพระธินั่งเอกไชย จไปประภาษทรงเบจ์ณะปากน้ำเมืองษาครบูรี ครั้นเรือพระธินั่งไปถึ่งตำบลโขกฃาม แลคลองที่นั้นคตเคียวนัก แลพันท้ายนรสิงฆซึ่งถือท้ายเรือพระธินั่ง คัดแก้ไขมิทันที แลศิศะเรือพระธินั่งนั้นโดนกระทบกิ้งไม้อันใหญ่เข้าก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงฆ์เหนดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดษขึ้นเสียจากเรือพระธินั่ง แลขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรรุณาว่า ฃอเดชฝาลอองทุลีพระบาทปกเกล้าพระราชอาชญาเปนล้นเกล้า ฃองจงทรงพระกรรุณาโปรฎให้ทำสารขึ้นที่นี้สูงประมารเพียงตา แล้วจงตัษเอาศิศข้าพระพุทธเจ้ากับศิศเรือพระธินั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นบ่วงส่วงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนฎในบถพระไอยการเถีษ

จึ่งมีพระราชโองการตรัษว่า ไอ้พันท้ายซึ่งโทษเองนั้นถึ่งตายก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเองแล้ว เองจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถีด ซึ่งศิศเรือที่หักนั้นกูจทำต่อเอาใหม่แล้ว เองอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงฆจึ่งกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรรุณาโปรฎมิได้เอาโทษข้าพระพุทธิเจ้านั้นพระเดชะพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าจเสียทำนบทำเนียมในพระราชกำหนฎกฎหมายไป แลซึ่งสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัว จมาละพระราชกำหนฎสำหรับแผ่นดินเสิยดังนี้ดูมิควรยิงนัก นารไปภายหน้าเหนว่าคนทังปวง จล่วงคะระหาติเตียนดูหมินได้ แลพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาไลยแก่ข้าพระพุทธิเจ้า ผู้ถึ่งแก่มรณโทษนี้เลยจงทรงพระอาไลยถึงพระราชประเพณีย์ อย่าให้เสิยขนบทำเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนฎมีมาแต่บูรานนั้นว่า ถ้าแลพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระธินั่งให้ศิศเรือพระธินั่งนั้นหัก ท่านว่าพันท้ายผู้นั้น ถึ่งมรณโทษให้ตัดศิศเสีย แลพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรรุณาโปรฎให้ตัดศิศข้าพระพุทธิเจ้าเสีย ตามโปราณราชกำหนฎนั้นเถีด

จึ่งมีพระราชดำหรัสสั่งให้ฝีภายทังปวงปั้นมูลดินเปนรูบพันท้ายนรสิงฆ์ขึ้นแล้ว ก็ให้ตัดศิศรูบดินนั้นเสีย แล้วดำหรัสว่าไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเองถึ่งตายนั้น กูจประหารชีวิตร์เองเสีย ภ่อเปนเหตุแทนตัวแล้วเองอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกูเถีด พันท้ายนระสิงฆ์เหนดังนั้น ก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวว่าจเสียพระราชกำหนฎ โดยขนบทำเนียมโบราณไป เกรงคนทังปวงจะครหาติเตียนดูหมินในสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสะละชีวิตรของตัวมิได้อาไลย จึ่งกราบทูลไปว่าฃ่อพระราชทานซึ่งทรงพระกรรุณาโปรดฎข้าพระพุทธิเจ้าทังนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าซึ่งตัดศิศรูบดินแทนตัว ข้าพระพุทธิเจ้าดังนี้ดูเปนทำเล่นไป คนทังหลายจล่วงคระหาติเตียนได้ ฃ่อพระองค์จงทรงพระกรรุณาโปรฎตัดศิศข้าพระพุทธิเจ้าเสิยโดยฉันจริงเถีด อย่าให้เสิยขนบทำเนียมในพระราชกำหนฎไปเลย ข้าพระพุทธิเจ้าจฃอกราบทูลฝากบุตรภรรยา แล้วก็จกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณยะถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น

สมเดจ์พระเจ้าแผ่นดีนตรัษได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำหรัสวิงวรไปเปนหลายครั้ง พันท้ายนระสิงฆก็มิยอมอยู่ สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาการุญภาพแก่พันท้ายนรสิงฆ์เปนอันมาก จนกลั่นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้จำเปนจำทำตามพระราชกำหนฎ จึ่งดำหรัสสั่งนายเพชฆาฎ ให้ประหารชีวิตรพันท้ายนระสิงฆ์เสีย แล้วให้ทำสารขึ้นสูงเพียงตา แลให้เอาศิศพันท้ายนรสิงกับศิศเรือพระธินั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลิกรรมไว้ด้วยกันบนสานนั้น แล้วให้ออกเรือพระธินั่งไปประภาษทรงเบจ์ณปากน้ำเมืองษาครบูรีย แล้วเสดจ์กลับยังพระมหานคร และสารเทภารักษที่ตำบลโฃกฃามนั้น ก็มีปรากฏมาตราบท้าวทุกวันนี้

จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชตำหริว่า ณะคลองโฃกฃามนั้นคตเคียวนัก คนทังปวงจเดีรเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดานหนัก ควรเราจให้ฃุดลัดตัดเสียให้ตรงจึ่งจชอบ อหนึ่งพันท้ายนรสิงฆ์ซึ่งตายเสิยนั้น เปนคนสัจซือมั่นคงนัก สู้เสียสะละชีวิตรหมิได้อาไลยกลัวว่าเราจเสียพระราชประเพณียไป เรามีความเสิยดายนัก ด้วยเปนข้าหลวงเดีมมาแต่ก่อน อันจหาผู้ซึ่งรักใคร่ซื่อตรงต่อจ้าว เหมือนพันท้ายนระสิงฆ์นี้ยากนัก แล้วดำหรัสให้เอากะเฬวระพันท้ายนระสิงฆ์นั้น มาแต่งการถาปณะกิจพระราชทานเพลีง แลบุตรภรรยานั้นก็พระราชทานเงีนทองสิงฃองเปนอันมาก

แล้วมีพระราชโองการตรัษสั่งสมุหนายก ให้กะเกนเลกหัวเมืองให้ได้ ๓๐๐๐๐ ไปขุดคลองโขกฃาม แลให้ขุดลัดตัดให้ตรงตลอดไป โดยฦกหกศอกบ์ากคลองกว้างแปดวา พืนคลองกว้างห้าวาแลให้พระราชสงครามเปนแม่กอง คุมพลหัวเมืองทังปวงขุดคลองจงแล้วสำเรจ์ดุจพระราชกำหนฎ

— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม

[2]

 
จิตรกรรมเรื่องโคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ 56 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ "ภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต" ผลงานของพระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) โคลงประกอบภาพนี้เป็นบทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ขณะดำรงพระยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2430

พระราชพงศาวดารที่ชำระในรุ่นหลัง เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล ก็ยังคงยึดถือเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร กรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมเป็นต้นแบบ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่น ๆ แล้ว ไม่ปรากฏพบเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์แต่อย่างใด

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเก่ากว่าฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึงการขุดคลองโคกขามในสมัยพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. 2264 โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงการขุดคลองโคกขามในสมัยพระเจ้าเสือหรือเหตุการณ์พันท้ายนรสิงห์แต่อย่างใด[3] ในกฎมณเฑียรบาลก็ไม่มีการระบุโทษของพันท้ายเรือพระที่นั่งดังที่พงศาวดารบันทึกไว้ โทษส่วนใหญ่เป็นการรับผิดชอบของคนทั้งเรือพระที่นั่ง[4] และพันท้ายเรือพระที่นั่งมี 2 คน แต่พระราชพงศาวดารกลับระบุถึงการประหารพันท้ายนรสิงห์เพียงผู้เดียวจึงเชื่อได้ว่าแต่งขึ้นมาเพื่อเป็นเชิงการเมือง

สุเนตร ชุตินธรานนท์ วิเคราะห์ว่าพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องที่ถูกแต่งเสริมขึ้นมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพื่ออธิบายสาเหตุของการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาว่ามาจากผู้ปกครองไม่ดี โดยใช้พันท้ายนรสิงห์เป็นคนวิจารณ์พระเจ้าเสือว่าไม่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมกฎหมาย และเล่าที่มาของคลองมหาชัย[5][6]

ส่วนเรื่องที่ว่าพันท้ายนรสิงห์ มีชื่อเดิมว่า "สิน" เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อ "นวล" ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทยกัน เมื่อพระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอ ต่อมาได้กลายมาเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ ในบรรดาศักดิ์พันนั้น เป็นเรื่องราวจากบทละครเวทีที่ประพันธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล[7]เป็นเพียงนิทานการเมือง เพื่ออธิบายการล้มสลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง

มรดกสืบทอด

แก้

ปัจจุบันมีสถานที่รำลึกหรือเกี่ยวเนื่องกับพันท้ายนรสิงห์หลายแห่ง ได้แก่

ศาลพันท้ายนรสิงห์

แก้

ศาลพันท้ายนรสิงห์ แห่งแรกตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร (พิกัดภูมิศาสตร์13°34′24.6″N 100°20′44.8″E / 13.573500°N 100.345778°E / 13.573500; 100.345778) เชื่อว่าเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นจุดที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต ตัวศาลเดิมนั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาและถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง จึงได้มีการสร้างใหม่ และมีศาลในลักษณะศาลเพียงตาที่มีขา 6 ขา ที่ตั้งอยู่หน้าตัวศาลใหญ่ สร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อปี พ.ศ. 2493 จากการที่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ในปีเดียวกัน รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ในศาลแห่งนี้ สร้างขึ้นจากไม้จันทร์หอม[8]

วัดโคกขาม

แก้

วัดโคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร (พิกัดภูมิศาสตร์13°34′10.2″N 100°20′36.9″E / 13.569500°N 100.343583°E / 13.569500; 100.343583) ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นจุดที่พันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิตด้วยเช่นกัน[8]

อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์

แก้
 
ศาลพันท้ายนรสิงห์ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

เป็นอีกหนึ่งสถาณที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ที่บ้านพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร (พิกัดภูมิศาสตร์13°31′58.34″N 100°22′43.43″E / 13.5328722°N 100.3787306°E / 13.5328722; 100.3787306) เป็นอีกจุดหนึ่งที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต เนื่องจากกรมศิลปากรร่วมด้วยคณาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้พบท่อนไม้ท่อนหนึ่ง พร้อมกับไม้ที่ยาวราว 80 เซนติเมตร ที่เชื่อว่าเป็นโขนเรือเอกไชย ซึ่งมีร่องรอยความเสียหาย และเมื่อได้ผ่านการตรวจสอบความเก่าแก่แล้วพบว่า น่าจะตรงกับสมัยที่พันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต จึงเชื่อว่าท่อนไม้นั้นเป็นหลักประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ และยังมีศาลเจ้าแม่ศรีนวล ผู้ที่เชื่อว่าเป็นภรรยาของพันท้ายนรสิงห์ และมีรูปเหมือนของพระเจ้าเสือและพันท้ายนรสิงห์ที่ทูลขอพระราชทานอาญาโทษประหารชีวิต[8]

ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งนี้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2498 กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้นอยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงมาไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบ ๆ ศาลไว้ประมาณ 100 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็น "อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์" ภายในศาลมีรูปเคารพของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าของจริงในท่าถือท้ายคัดเรือ ที่สร้างขึ้นและนำมาประดิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519[8]

ผู้ที่ศรัทธากราบไหว้พันท้ายนรสิงห์จะเรียกพันท้ายนรสิงห์ด้วยความเคารพว่า "พ่อพันท้าย" และเชื่อว่าสามารถบนบานสักการะขอได้ในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่บนบานขอแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ[8]

อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์

แก้

จากบันทึกประวัติศาสตร์อ้างถึงถิ่นฐานเดิมว่าเป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของบรรพบุรุษชาวอ่างทอง จึงได้มีการร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์ ขึ้นที่วัดนรสิงห์ ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532[9]

การแข่งขันมวยไทย

แก้

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดการแข่งขันมวยไทยนานาชาติ ชิงแชมป์เข็มขัดพันท้ายนรสิงห์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดสมุทรสาคร[10][11]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ได้รับการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ละครเวที, ภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, หุ่นกระบอกไทย[12] และหนังสือการ์ตูน[13]

รูปแบบการนำเสนอ ปี สิน/พันท้ายนรสิงห์ นวล พระเจ้าเสือ
ละครเวที พ.ศ. 2488 สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ จอก ดอกจันทร์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493 ชูชัย พระขรรค์ชัย ถนอม อัครเศรณี
ละครเวที พ.ศ. 2508 กำธร สุวรรณปิยะศิริ นงลักษณ์ โรจนพรรณ ฉลอง สิมะเสถียร
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2515 ถนอม อัครเศรณี
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2521 นิรุตติ์ ศิริจรรยา ดวงใจ หทัยกาญจน์ ตรัยเทพ เทวะผลิน
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2525 สรพงศ์ ชาตรี อาภาพร กรทิพย์ สมบัติ เมทะนี
ละครเวที พ.ศ. 2532 ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นาถยา แดงบุหงา พิศาล อัครเศรณี
ละครเวที พ.ศ. 2536 สรพงศ์ ชาตรี ลีลาวดี วัชโรบล กรุง ศรีวิไล
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2543 ธีรภัทร์ สัจจกุล พิยดา อัครเศรณี พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2558 พงศกร เมตตาริกานนท์ พิมดาว พานิชสมัย วันชนะ สวัสดี

ละครเวที

แก้

ภาพยนตร์

แก้

ละครโทรทัศน์

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ความซื่อสัตย์นั้น สำคัญไฉน - Quality of Life - Manager Online". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-04-16.
  2. Royal chronicle of Ayutthaya พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม[ลิงก์เสีย]
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  4. กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548.
  5. พระเจ้าเสือ และ พันท้ายนรสิงห์ โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ (1/2)
  6. พระเจ้าเสือ และ พันท้ายนรสิงห์ โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ (2/2)
  7. ‘พันท้ายนรสิงห์’ที่เพิ่งสร้าง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องคลองโคกขาม เปิดพงศาวดาร เล่า ‘นิทานการเมือง’
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "Lineกนก วันที่ 7 พฤษภาคม 2017". เนชั่นทีวี. 2017-05-07. สืบค้นเมื่อ 2017-05-08.[ลิงก์เสีย]
  9. พิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์ - ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม[ลิงก์เสีย]
  10. "ตามรอยพันท้ายนรสิงห์ ในงาน สมุทรสาคร นคร แห่งความซื่อสัตย์". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-04. สืบค้นเมื่อ 2014-04-16.
  11. "'มหาชัย'จัดใหญ่ รำลึกความซื่อสัตย์ 'พันท้ายนรสิงห์'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  12. "MRT พาน้องชมหุ่นกระบอกไทย - iBiz - Manager Online". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  13. พันท้ายนรสิงห์ (ฉบับการ์ตูน) - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[ลิงก์เสีย]
  14. นักซ่อมพระกรุงเก่า สุดแน่ไม่แท้ไม่ซ่อม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-26.
  16. ALWAYS ON MY MIND: พันท้ายนรสิงห์ (2000)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • ธนพงศ์ จิตต์สง่า. (2556, ต.ค.–2557, มี.ค.). การมองพันท้ายนรสิงห์ในบริบททางประวัติศาสตร์ไทย. วารสารไทยคดีศึกษา. 11(1): 81–126.