คลองสนามชัย
คลองสนามชัย หรือ คลองมหาชัย เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยา แทนที่คลองโคกขามเดิม ซึ่งมีความคดเคี้ยวอย่างมาก เรียกคลองที่ขุดขึ้นใหม่นี้ว่า คลองพระพุทธเจ้าหลวง[1] แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคตไปก่อน ต่อมาสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้โปรดเกล้าให้พระราชสงครามเป็นนายกอง เกณฑ์คนจากหัวเมืองปักษ์ใต้มาขุดต่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยนั้น หมายถึงหัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา เช่น เมืองสาครบุรี สามโคก ราชบุรี ธนบุรี นนทบุรี เพชรบุรี[2] ใช้เวลาขุดสองเดือนจึงแล้วเสร็จ จุดเริ่มต้นของคลองอยู่ต่อจากคลองด่าน บริเวณแยกคลองบางขุนเทียน ในเขตจอมทอง แล้วไปออกแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตัวคลองลึก 6 ศอก และกว้าง 7 วา ใช้ในการคมนาคมขนส่ง และทำสงคราม และยังมีชาวต่างชาติใช้เส้นทางนี้ไปกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ต้องผ่านเข้าทางแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ผลสืบเนื่องที่สำคัญคือการบุกเบิกพื้นที่สองฝั่งคลองมาใช้ในการเกษตรอย่างกว้างขวาง นับเป็นผลงานสำคัญในรัชกาลนี้ นอกจากนั้นแล้ว ใน พ.ศ. 2352 คลองสายนี้เป็นเส้นทางที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงใช้ยกทัพไปปราบพม่าที่เมืองถลางและเมืองชุมพรอีกด้วย [3] ปัจจุบันคลองสนามชัยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรสาคร
คลองมหาชัยนี้ยังเป็นที่มาของชื่อเรียกที่นิยมของจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย เนื่องจากตัวเมืองตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองมหาชัยพอดี[4] ในปัจจุบันนิยมเรียกคลองนี้ว่าคลองมหาชัย ในจังหวัดสมุทรสาคร และเรียกคลองสนามชัย ในฝั่งธนบุรี โดยทั่วไปไม่ได้เจาะจงว่าบริเวณใดเป็นจุดเริ่มต้นคลองสนามชัย แต่จะถือกันว่าคลองสนามชัยและคลองด่านเป็นคลองเดียวกันในละแวกนั้น ในเขตจอมทองจึงเรียกคลองนี้ทั้งคลองสนามชัยและคลองด่าน
สถานที่สำคัญริมคลอง
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5" เก็บถาวร 2008-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนทรัพยากรน้ำ ในจังหวัดสมุทรสาคร
- ↑ "พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น" วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรสาคร โดยคณะกรรมการประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
- ↑ "สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดน้ำวัดไทร" เส้นทางสุขภาพ
- ↑ "ประวัติศาสตร์สมุทรสาคร" บ้านจอมยุทธ