จังหวัดอ่างทอง

จังหวัดในภาคกลางในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก เมืองวิเศษชัยชาญ)

อ่างทอง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ตุ๊กตาชาววัง กลอง และงานจักสาน เป็นต้น

จังหวัดอ่างทอง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันChangwat Ang Thong
(ตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายบน) ตุ๊กตาชาววัง, พระตำหนักคำหยาด, พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล, แม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอไชโย
คำขวัญ: 
พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่
วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน
ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดงประเทศมาเลเซียประเทศพม่าประเทศลาวประเทศเวียดนามประเทศกัมพูชาจังหวัดนราธิวาสจังหวัดยะลาจังหวัดปัตตานีจังหวัดสงขลาจังหวัดสตูลจังหวัดตรังจังหวัดพัทลุงจังหวัดกระบี่จังหวัดภูเก็ตจังหวัดพังงาจังหวัดนครศรีธรรมราชจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดระนองจังหวัดชุมพรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จังหวัดเพชรบุรีจังหวัดราชบุรีจังหวัดสมุทรสงครามจังหวัดสมุทรสาครกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการจังหวัดฉะเชิงเทราจังหวัดชลบุรีจังหวัดระยองจังหวัดจันทบุรีจังหวัดตราดจังหวัดสระแก้วจังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดนครนายกจังหวัดปทุมธานีจังหวัดนนทบุรีจังหวัดนครปฐมจังหวัดกาญจนบุรีจังหวัดสุพรรณบุรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจังหวัดอ่างทองจังหวัดสิงห์บุรีจังหวัดสระบุรีจังหวัดลพบุรีจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดสุรินทร์จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดอุบลราชธานีจังหวัดอุทัยธานีจังหวัดชัยนาทจังหวัดอำนาจเจริญจังหวัดยโสธรจังหวัดร้อยเอ็ดจังหวัดมหาสารคามจังหวัดขอนแก่นจังหวัดชัยภูมิจังหวัดเพชรบูรณ์จังหวัดนครสวรรค์จังหวัดพิจิตรจังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดตากจังหวัดมุกดาหารจังหวัดกาฬสินธุ์จังหวัดเลยจังหวัดหนองบัวลำภูจังหวัดหนองคายจังหวัดอุดรธานีจังหวัดบึงกาฬจังหวัดสกลนครจังหวัดนครพนมจังหวัดพิษณุโลกจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดสุโขทัยจังหวัดน่านจังหวัดพะเยาจังหวัดแพร่จังหวัดเชียงรายจังหวัดลำปางจังหวัดลำพูนจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดง
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดง
ประเทศ ไทย
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการ พิริยะ ฉันทดิลก[1]
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2566)
พื้นที่[2]
 • ทั้งหมด968.372 ตร.กม. (373.891 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 72
ประชากร
 (พ.ศ. 2566)[3]
 • ทั้งหมด270,726 คน
 • อันดับอันดับที่ 70
 • ความหนาแน่น279.57 คน/ตร.กม. (724.1 คน/ตร.ไมล์)
 • อันดับความหนาแน่นอันดับที่ 12
รหัส ISO 3166TH-15
ชื่อไทยอื่น ๆเมืองวิเศษไชยชาญ
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
 • ต้นไม้มะพลับ
 • ดอกไม้ไม่มี
 • สัตว์น้ำปลาตะเพียนทอง
ศาลากลางจังหวัด
 • ที่ตั้งถนนเทศบาล 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 14000
 • โทรศัพท์0 3561 1235
เว็บไซต์http://www.angthong.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ภูมิศาสตร์ แก้

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

จังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 พิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วนยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968.372 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 605,232.5 ไร่ และมีอาณาเขตดังนี้

ภูมิประเทศ แก้

จังหวัดอ่างทอง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองประมาณ 40 กิโลเมตร

ภูมิอากาศ แก้

ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็น และแห้งแล้งในช่วงนี้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกในช่วงนี้

ประวัติศาสตร์ แก้

อ่างทองในอดีตนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายพันปี พื้นที่ทางตอนบนของจังหวัดค่อนข้างเป็นที่ดอน และค่อย ๆ ลาดลงจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ไม่มีภูเขา ป่า หรือแร่ธาตุ จังหวัดอ่างทองได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมตลอดมา

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบทำให้ทราบว่าในเขตพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มีลำดับพัฒนาการจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ ดังนี้

1.ยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมยุคแรกเริ่ม พบ 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านสีบัวทอง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา อายุประมาณ 3,000 ปี และแหล่งโบราณคดีบ้านคลองสำโรง ต.หลักแก้ว อ.วิเศษชัยชาญ อายุประมาณ 4,000 ปี โดยมากพบเศษขวานหินขัด และกระดูกสัตว์

2.ยุคสำริด ได้ขุดพบเครื่องมือที่ทำจากสำริดในแหล่งโบราณคดีบ้านสีบัวทอง อ.แสวงหา

3.ยุคเหล็ก พบ 3 แห่ง คือ 1.แหล่งโบราณคดีบ้านยางช้าย อ.โพธิ์ทอง 2.แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาวง และ 3.แหล่งโบราณคดีบ้านหัวกระบัง อ.สามโก้ ซึ่งพบลูกปัดหินอาเกต และหินคาร์เนเลียน

4.ยุคทวารวดี สันนิษฐานว่ามีผู้คนอาศัยเป็นชุมชนขนาดกลางแล้ว เช่นที่บ้านคูเมือง อ.แสวงหา และบ้านทางพระ อ.โพธิ์ทอง

5.ยุคก่อนอยุธยา - อยุธยาตอนต้น ในพื้นที่วัดเขาแก้ว อ.โพธิ์ทอง ขุดพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวนจากเตาหลงฉวน และผู่เถียน เครื่องถ้วยเชลียง เครื่องถ้วยจากบ้านบางปูน(สุพรรณบุรี) และเครื่องถ้วยจากเตาเผาแม่น้ำน้อย(สิงห์บุรี)

6.สมัยอยุธยาตอนกลาง - ปลาย ขุดพบได้ทั่วไปในจังหวัดอ่างทอง

ที่มาของชื่อ แก้

เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย

นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพั้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว

นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษไชยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง”

ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษไชยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การเป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา

การก่อตั้งเมือง แก้

จังหวัดอ่างทองในสมัยทวารวดีได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมืองที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ซึ่งนายบาเซอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร ในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทองคงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษไชยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทรงเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้เสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญอันเป็นที่ชุมพล จึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษไชยชาญได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษไชยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเจ้าพระยา) เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษไชยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอวิเศษไชยชาญ[4][5] และราชการก็ใช้ชื่อ อำเภอวิเศษไชยชาญ มาจนถึงอย่างน้อยวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2509 [6] หลังจากนั้น ก็พบว่า เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2509 ราชการก็ใช้ชื่อเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ[7] (ไม่พบหลักฐานคำสั่งให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา)

กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยาจนถึงปัจจุบันนี้

สมัยอยุธยา แก้

เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวง จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฏนั้นมาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป

พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น

พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะ เสด็จเข้าพักพลที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพราหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรงชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่เสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนนหรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ

พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้ จึงมีรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือน

เนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ร่วมกับชาวบ้านของเมืองวิเศษไชยชาญสู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจัน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอ และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษไชยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี

อีกครั้งของวีรกรรมของนับรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ คือ ขุนรองปลัดชูกับกองอาทมาต คือเมื่อปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ขึ้นครองราชสมบัติกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญาครองราชสมบัติกรุงอังวะรัตนสิงห์ ปกครองพม่ารามัญทั้งปวง พระองค์ให้เกณฑ์ไพร่พล 8000 ให้มังฆ้องนรธาเป็นนายทัพยกมา ตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี พระเจ้าเอกทัศทรงเกณฑ์พล 5000 แบ่งเป็นสองทัพ โดยให้พระราชรองเมืองว่าที่ออกญายมราชคุมทัพใหญ่พล 3000 แลให้ออกญารัตนาธิเบศร์คุมทัพหนุนพล 2000 ในครั้งนั้นมีครูฝึกเพลงอาวุธอยู่ในเมืองวิเศษไชยชาญอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ครูดาบชู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้เป็นปลัดเมือง กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวบ้านจึงเรียนว่าขุนรองปลัดชู นำกองอาทมาต 400 มาอาสาศึก แลได้ติดตามไปกับกองทัพออกญารัตนาธิเบศร์ เมื่อเดินทางข้ามพ้นเขาบรรทัดก็ได้ทราบว่า เมืองมะริดและตะนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงตั้งทัพรออยู่เฉย ๆ โดยทัพพระราชรองเมืองตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มตอนปลายแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนออกญารัตนาธิเบศร์ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี แต่ให้กองอาทมาตมาขัดตาทัพรอที่อ่าวหว้าขาว

จากนั้นสามวันทัพพม่าเข้าตีทัพไทยที่แก่งตุ่มแตกพ่าย และยกมาเพื่อเข้าตีทัพหนุน กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ได้รับคำสั่งให้ตั้งรับพม่าที่ตำบลหว้าขาวริมทะเล ครั้นพอเพลาเช้า ทัพพม่า 8000 ก็ปะทะกับกองอาทมาต 400 นาย ทัพทั้งสองปะทะกันดุเดือดจนถึงเที่ยง มิแพ้ชนะ แต่ทัพไทยพลน้อยกว่าก็เริ่มอ่อนแรง ขุนรองปลัดชูรบจนสิ้นกำลังถูกทหารพม่ารุมจับตัวไป จากนั้นพม่าให้ช้างศึกเข้าเหยียบย่ำทัพไทยล้มตายเป็นอันมาก กองอาทมาต 400 คนตายแทบจะสิ้นทั้งทัพ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของกองอาสาวิเศษไชยชาญในครั้งนั้น จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นที่ระลึกแก่นักรบกล้าทั้ง 400 คนโดยเรียกกันว่า "วัดสี่ร้อย"

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด แก้

  • คำขวัญประจำจังหวัด คือ พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
  • ตราประจำจังหวัด คือ รูปอ่างทอง ในอ่างมีรวงข้าวและใบข้าว จังหวัดอ่างทองเป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำภูมิประเทศเหมาะแก่การเพาะปลูก ดวงตราของจังหวัดจึงเป็นรูปอ่างสีทองซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัด และในอ่างมีรวงข้าวและใบข้าวซึ่งหมายถึงการทำนา อาชีพหลักของคนในภูมิภาคนี้
  • ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ มะพลับ (Diospyros malabarica)
  • สัตว์น้ำประจำจังหวัด คือ ปลาตะเพียนทอง (Barbonymus altus)

การเมืองการปกครอง แก้

หน่วยการปกครอง แก้

 
แผนที่อำเภอในจังหวัดอ่างทอง

การปกครองส่วนภูมิภาคของจังหวัดอ่างทองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 73 ตำบล 513 หมู่บ้าน โดยอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่

  1. อำเภอเมืองอ่างทอง
  2. อำเภอไชโย
  3. อำเภอป่าโมก
  4. อำเภอโพธิ์ทอง
  5. อำเภอแสวงหา
  6. อำเภอวิเศษชัยชาญ
  7. อำเภอสามโก้

จังหวัดอ่างทองมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 65 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง, เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองอ่างทอง, เทศบาลตำบล 20 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 43 แห่ง[8] โดยรายชื่อเทศบาลทั้งหมดในจังหวัดอ่างทองแบ่งตามอำเภอมีดังนี้

เจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด แก้

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองโดยนำระบบเทศาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เมืองอ่างทองยังคงมีสภาพเป็นเมืองตามรูปการปกครองแบบเดิมก่อนการปฏิรูป ปรากฏพระนามและรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองดังนี้

ประชากร แก้

สถิติประชากรตามทะเบียนราษฎรจังหวัดอ่างทอง
ปีประชากร±%
2553 284,970—    
2554 284,061−0.3%
2555 283,882−0.1%
2556 283,732−0.1%
2557 283,568−0.1%
2558 283,173−0.1%
2559 282,404−0.3%
2560 281,187−0.4%
2561 280,840−0.1%
2562 279,654−0.4%
2563 276,584−1.1%
2564 274,763−0.7%
2565 272,587−0.8%
2566 270,726−0.7%
อ้างอิง:กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย[9]

เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2556 จังหวัดอ่างทองมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 283,732 คน จำแนกเป็นชาย 136,237 คน เป็นหญิง 147,495 คน (อันดับที่ 69 ของประเทศ) จำนวนบ้าน 92,520 หลัง ความหนาแน่นของประชากร 292.99 ตร.กม (อันดับที่ 11 ของประเทศ)

ศาลหลักเมือง แก้

หลักเมืองมีความหมายว่า เป็นประธานของเมือง เป็นศูนย์รวมความมั่นคงของเมือง เป็นนิมิตมงคลของเมือง เป็นหลักชัย หลักใจ และศูนย์รวมความสามัคคีของประชาชน หลักเมืองจะเป็นเสาหลักโดดเด่น ไม่มีภาพ รูป หรือพระพุทธรูป การสร้างหลักเมืองต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศก่อน เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองจึงจะดำเนินการสร้างต่อไปได้

เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเสาหลักเมืองและศาลหลักเมือง จังหวัดอ่างทอง ได้มีปรากฏอยู่ที่ใด คณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจังหวัดอ่างทองจึงได้ร่วมใจกันจัดหาทุนสร้างศาลหลักเมืองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของประชาชนในจังหวัด จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้า ฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุ แผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2534 เวลา 16.30 นาฬิกา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลัก เมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2534 เวลา 15.30 นาฬิกา

ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดงตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภา พุ่มข้าวบิณฑก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน

เสาหลักเมืองซึ่งประดิษฐ์อยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยมพื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่ง ถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้นได้ผ่านพิธีคัดเลือก ต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสาและฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็น ชาวอ่างทอง และมีความชำนาญในการสร้างเมืองมาหลายจังหวัดแล้ว

ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมืองมีศาลาตรีมุข ซึ่งใช้เป็นที่ประทับหรือที่นั่งขององค์ประธานหรือประธาน ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ด้านทิศใต้มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและการแสดงต่าง ๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม

ศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน ชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอ่างทองไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองและหาของดีเมืองอ่างทองบริเวณศาลนั้น เพื่อเป็นสมบัติประจำตนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

การขนส่ง แก้

  1. ใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพมหานคร แยกเข้าเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ผ่านอำเภอบางปะอิน-บางปะหัน-อยุธยา-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุด
  2. ใช้เส้นทางตัดใหม่ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-ตลิ่งชัน เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง-ชัยนาท) ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-อยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
  3. ใช้เส้นทางกรุงเทพมหานคร-ปทุมธานี ผ่านอำเภอปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-อยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 (วังน้อย-สิงห์บุรี) เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถปรับอากาศทุกวัน วันละหลายเที่ยว สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (จตุจักร)

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ แก้

บุคคลที่มีชื่อเสียง แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 245 ง หน้า 4 วันที่ 2 ตุลาคม 2566
  2. ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
  3. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_66.pdf 2566. สืบค้น 3 มีนาคม 2567.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/029/817_2.PDF
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2012-11-15.
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/019/1059.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/019/1089.PDF
  8. ข้อมูลจำนวน อปท. แยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ข้อมูลประชากร2560

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 14°35′N 100°29′E / 14.59°N 100.48°E / 14.59; 100.48