ขุนรองปลัดชู
ขุนรองปลัดชู เป็นผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันคืออำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา
ขุนรองปลัดชู | |
---|---|
อาชีพ | ผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้นำกองอาทมาตในสงครามพระเจ้าอลองพญา |
ประวัติ
แก้ข้อมูลในท้องถิ่นอำเภอวิเศษชัยชาญมีว่า นายชูเป็นครูดาบอาทมาตผู้มีฝีมือในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ มีลูกศิษย์จำนวนมากและเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปในแถบนั้น นายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง "ปลัดเมือง" ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อคนผู้นี้โดยทั่วไปว่า "ขุนรองปลัดชู"
เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คนแล้ว ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา[1][2]) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่านำโดยเจ้ามังระราชบุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยายมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เพื่อใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่งกองอาทมาตของขุนรองปลัดชูให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)[3]
กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก 500 คน[1][2]) กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น[3] ด้านทัพของพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย" ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดยสะดวก เนื่องจากแนวรับต่าง ๆ ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น
บันทึกในพงศาวดาร
แก้เรื่องราวของขุนรองปลัดชูมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเพียงสั้น ๆ ดังนี้ (ในที่นี้เน้นด้วยการขีดเส้นใต้)
...ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทราบนั้นแล้ว จึงดำรัสให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า พลทหาร ๓๐๐๐ ทัพหนึ่ง ให้พระยาธารมาถืออาญาเป็นแม่ทัพ พลทหาร ๒๐๐๐ ยกไปตั้งเมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราชณแกงตุมแตก พระยาธารมาจึงเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐ เข้าบรรจบกองปลัดชู แล้วให้ยกไปตั้งตำบลอ่าวขาวริมทะเล ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกขึ้นมาตี กองปลัดชูก็แตกพ่าย พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามาณเมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี...
...ม้าใช้รีบออกไปสืบราชการดู มากราบทูลว่า พม่ายกมาทางมะริด ๑ ทางท่ากระดาน ๑ ทางเชียงใหม่ ๑ ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้างมะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง จึ่ง ดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน แล้วเกณฑ์พระยาราชสงคราม พระยาไชยา พระยามหาเสนา พระยาเพชรพิชัย พระยาสมบัติธิบาล พระยาตะนาว พระยาพัทลุง หลวงกระ ๘ คนนี้คุมพล คนละ ๑,๐๐๐ แล้วให้พระยาอภัยราชาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ ยกไปรับทางเชียงใหม่ แล้วเกณฑ์ทิพเสนา ราชามาตย์ ทิพรักษา ราชาบาล วิสูตโยธามาตย์ ราชโยธาเทพ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ หลวงฤทธิ หลวงเดช ๑๐ คน คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปจุกไว้ทางท่ากระดาน ครั้นทรงทราบว่าทางมะริดพม่ายกมามาก ก็ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า คุมพล ๒๐๐๐๐ ให้พระยาธรมาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พลทหาร ๓๐๐๐ ยกเพิ่มเติมไปตั้ง ณ เมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราช ณ แก่งตุ่มแตก แล้วยกแยกไปตีกองปลัดชู ซึ่งตั้งอยู่ตำบลอ่าวขาวริมทะเล จึ่งแบ่งไพร่ ๕๐๐ ไปช่วยกองปลัดชู รบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน กองปลัดชูก็แตกพ่ายมา พระเจ้าอังวะก็ดำเนินทัพเข้ามา ณ แขวงเมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี...
อนุสรณ์สถาน
แก้หลังจากนั้น 11 ปี ชาวเมืองวิเศษไชยชาญได้สร้าง "วัดสี่ร้อย" ขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชูและผู้เสียชีวิตจากกองอาทมาตทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2313[4] (ปัจจุบันอยู่ในความปกครองของบ้านสี่ร้อย หมู่ 4 ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชูขึ้นภายในบริเวณวัดสี่ร้อย และได้มีการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้โดยเทศบาลตำบลบางจัก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[5][6]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
แก้คึกเดช กันตามระ ศิลปิน และนักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้นำชีวประวัติของขุนรองปลัดชูมาสร้างเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในชื่อ "ขุนดาบทนายเลือก"[7] โดยสร้างเหตุการณ์ชีวประวัติสมมติของขุนรองปลัดชูในฐานะวีระบุรุษผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวที่ตกเป็นเชลยแก่กองทัพพม่าในวีรกรรมที่อ่าวหว้าขาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเพิ่มเติมตามแบบฉบับบันเทิงคดีโดยสอดแทรกฉากการต่อสู้ด้วยศิลปะการต่อสู้ของไทยประเภทต่าง ๆ และวรรณกรรมร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการกล่าวถึงจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ว่ามีเนื้อหาที่มีการศึกษาค้นคว้าบริบทด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนามาเป็นอย่างดี[8] เผยแพร่ครั้งแรกในรูปแบบบทละครวิทยุ ความยาว 500 หน้า จำนวน 23 ตอน กระจายเสียงทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[8] พร้อมทั้งตีพิมพ์บทนวนิยายเป็นตอนลงในนิตยสารพราว และได้มีการรวบรวมต้นฉบับจัดพิมพ์เป็นเล่มกับสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2550 ต่อมาได้มีการแต่งบทละครวิทยุภาคต่อเพิ่มเติมในชื่อ "ชูสิทธินาปาติโจ ขุนดาบทนายเลือก 2"[9] ถ่ายทอดเสียงในรูปแบบบทละครวิทยุ ความยาว 500 หน้า จำนวน 15 ตอน พร้อมตีพิมพ์บทนวนิยายเป็นตอนลงในนิตยสารดิฉัน[8] และรวบรวมต้นฉบับตีพิมพ์เป็นเล่มกับสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2552[9]
พงษ์พัฒน์ เพชรรัตน์ นักเขียนการ์ตูนชาวไทย ได้นำชีวประวัติบางส่วนของขุนรองปลัดชูไปดัดแปลงเป็นตัวละครเอกในการ์ตูนเรื่อง กองอาทมาตประกาศศึก เมื่อ พ.ศ. 2550 การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชยในงานประกาศผลรางวัลมังงะนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2552[10]
ในปี พ.ศ. 2554 บริษัทบีบีพิคเจอร์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นจิตสำนึกคนไทยให้รู้สึกสำนึกรักในแผ่นดินเกิดให้มากขึ้น โดยมี สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ รับบทเป็นขุนรองปลัดชู กำกับภาพยนตร์โดย สุรัสวดี เชื้อชาติ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มีการฉายให้ชมฟรีที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ระหว่างวันที่ 7–11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และแพร่ภาพทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22.00 น. หลังจากนั้นจึงมีการออกอากาศซ้ำโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 ตอน ประกอบการอภิปรายเชิงวิชาการประวัติศาสตร์ ในรายการ ถกหนังเห็นคน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ เวลา 23.00–24.00 น. เริ่มในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554[4][11]
และภาพยนตร์เรื่อง ๔๐๐ นักรบ ขุนรองปลัดชู สร้างโดย พยัพ คำพันธุ์ นำแสดงโดย พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง, ขวัญจิรา บัวคง, พยัพ คำพันธุ์, ศุภกร กิจสุวรรณ ในปี พ.ศ. 2560
ปี 2553 ค่ายเกม gameindy ค่ายเกมคนไทยได้พัฒนาเกมโดยอ้างอิงเนื้อเรื่องตัวละครบ้างส่วนจากเนื่อเรื่องขุนรองปลัดชู โดยชื่อเกมว่า 400 online และยังคงให้บริการในปัจจุบัน ทาง fourhundred.gameindy.com
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภานพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2479. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาการ, 2479, หน้า 425.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. นายมนตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ตรวจสอบและทำเชิงอรรถ. พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507, หน้า 622.
- ↑ 3.0 3.1 ด่านสิงขรกับเรื่องราวของกองอาทมาต (ไทย)
- ↑ 4.0 4.1 ขุนรองปลัดชู วีรชนคนที่ถูกลืม[ลิงก์เสีย] (ไทย)
- ↑ ทต.บางจัก เชิญเที่ยวงานเปิดอนุสาวรีย์ “ขุนรองปลัดชู” วีรชนบ้านสี่ร้อย.[ลิงก์เสีย] สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง.
- ↑ รุกปชส.อนุสาวรีย์'ขุนรองปลัดชู'ดึงเยาวชนรักแผ่นดิน. บ้านเมือง, 14 กุมภาพันธ์ 2554
- ↑ คึกเดช กันตามระ. 2550. ขุนดาบทนายเลือก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 อธิพร ประเทืองเศรษฐ์. 2555. การวิเคราะห์ตัวละครเอกในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของคึกเดช กันตามระ. วิทยานิพนธ์ (อ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ 9.0 9.1 คึกเดช กันตามระ. 2552. ชูสิทธินาปาติโจ ขุนดาบทนายเลือก ๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ โครงเรื่องและตัวละคร เก็บถาวร 2009-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
- ↑ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ วีรชนคนถูกลืม เรื่องราวของขุนรองปลัดชู (ไทย)