พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] (พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495)[2] เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 54 ตามประวัติศาสตร์ไทย
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสยามมกุฎราชกุมารใน พ.ศ. 2515 เวลานั้นมีพระชนมายุ 20 พรรษา ครั้นรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีการคาดการณ์ว่า พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อทันที แต่ทรงผัดผ่อนไปก่อน เพื่อให้เวลาผู้คนไว้อาลัยพระราชบิดา[3] กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 จึงทรงรับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ แต่รัฐบาลไทยให้นับรัชสมัยของพระองค์ย้อนหลังไปถึงวันสวรรคตของพระราชบิดา[4] เนื่องด้วยพระชนมพรรษา 64 พรรษาในวันขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระชนมพรรษาสูงที่สุดในวันขึ้นครองราชย์[5] พระองค์ทรงจัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560[6][7][8] พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์จัดขึ้นในวันที่ 4–6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562[9]
ในช่วงต้นรัชกาล พระองค์ประทับที่พระตำหนักในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เป็นส่วนใหญ่[10] พระองค์อภิเษกสมรสและหย่าร้างหลายครั้ง[11] ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นพระอัครมเหสีพระองค์ปัจจุบันในคราวราชาภิเษก และยังทรงมีภริยาคนอื่นอีกในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 100 ปีที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีคู่ครองหลายคน[11] พระองค์ยังทรงมีบทบาททางการเมือง โดยทรงให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ในประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ถึงแม้ร่างนั้นจะผ่านประชามติแล้ว[12] และในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 พระองค์ทรงออกประกาศประณามการรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเชษฐภคินี[13] และทรงให้ออกอากาศพระราชดำรัสของพระราชบิดาว่าด้วยการเลือกคนดีในคืนก่อนวันเลือกตั้ง[14] นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีการโอนกองกำลังและงบประมาณสาธารณะบางส่วนไปขึ้นกับพระองค์โดยตรง[15][16] ทั้งมีการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสียใหม่ โดยให้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจที่จะจัดการตามพระราชอัธยาศัย และมีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองมาเป็นพระปรมาภิไธยโดยตรง[17][18] เว็บไซต์ บิสซิเนสอินไซเดอร์ ประเมินพระราชทรัพย์ของพระองค์ใน พ.ศ. 2563 ไว้ที่ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้พระองค์ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลก[19] พระองค์ทรงมีหุ้นสูงสุดในดอยคำ ปูนซิเมนต์ไทย[20] ธนาคารไทยพาณิชย์ และเทเวศประกันภัย[21] อนึ่ง ใน พ.ศ. 2564 มีการเปิดโปงเอกสารฝากตำแหน่งตำรวจ ที่เรียกว่า "ตั๋วช้าง"[22] ซึ่งเป็นเอกสารกราบบังคมทูลขอให้พระองค์ทรงสนับสนุนการแต่งตั้งหรือเลื่อนยศนายตำรวจ[23] ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565 ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของธนาคารไทยพาณิชย์ในอัตรา 23.58%[24]
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีการประท้วงในที่สาธารณะเพื่อให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และจำกัดพระราชอำนาจ[25][26] มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยมากขึ้น ทั้งมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ[27][28] ผู้มีส่วนร่วมในการดังกล่าวถูกจับกุม คุมขัง และดำเนินคดีอย่างกว้างขวางในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[29] มีสถิติว่าในระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึง 6 เมษายน พ.ศ. 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 239 ราย[30]
พระชนม์ชีพช่วงต้น
พระราชสมภพ
มีบันทึกว่า เมื่อรัชกาลที่ 9 กับพระบรมราชินี คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัติพระนครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 นั้น ทรงหวังว่า "คงจะมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ถัดไป" หลังจากที่มีพระราชธิดามาแล้ว[31] ครั้นวันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก จ.ศ. 1314 ตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.[32] สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงประสูติพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต[33] พระองค์มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และมีพระขนิษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี[34]
ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา รัชกาลที่ 9 โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งพระนามและถวายตามดวงพระชะตาว่า[35]
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ | เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ | |
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ | เทเวศรธำรงสุบริบาล |
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช | ภูมิพลนเรศวรางกูร | |
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ | บรมขัตติยราชกุมาร |
พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งจาก "วชิระ" อันเป็นพระนามฉายาในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[36][37] มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต"[38]
พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
รัชกาลที่ 9 ทรงให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ระหว่างวันที่ 14–15 กันยายน พ.ศ. 2495[39] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495[40] เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย และมีการถ่ายทอดเสียงพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ[39][41][42]
การศึกษา
เมื่อมีพระชนม์ 4 พรรษา รัชกาลที่ 9 โปรดให้เริ่มถวายพระอักษร ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่โรงเรียนจิตรลดาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ขณะนั้น โรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2509 จากนั้น ทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีต แคว้นซัมเมอร์เซต ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513 ระหว่างทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงให้สัมภาษณ์ว่า "ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซักฉลองพระองค์ หรือขัดรองพระบาท โดยไม่มีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นสามัญชนทั่วไป"[43] จากนั้น ทรงศึกษาวิชาทหารต่อในประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์สกูล นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 ครั้น พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา การศึกษาที่ดันทรูนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหารโดยกองทัพบกออสเตรเลีย และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรีโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519 ทรงได้รับถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์[44][45]
เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และใน พ.ศ. 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร[46]
สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 รัชกาลที่ 9 ทรงให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสยามมกุฏราชกุมาร มีพระราชพิธีสถาปนาในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต[47] มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช | เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ |
บดินทรเทพยวรางกูร | สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ |
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ | มหิตลพงศอดุลยเดช |
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ | สยามมกุฎราชกุมาร |
นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย[48][49]
ผนวช
พระองค์มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา[50] ทรงหาโอกาสในวันหยุดเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชและทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า[51] รัชกาลที่ 9 จึงโปรดให้พระองค์ผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15:37 นาฬิกา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[52] มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จไปทำทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เมื่อเวลา 16:59 นาฬิกาของวันนั้น โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[53] เสร็จแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[54] มีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล[55] ทรงได้รับพระนามฉายาว่า "วชิราลงกรโณภิกขุ"[56] ผนวชอยู่ 15 วัน จึงลาพระผนวช ณ พระตำหนักปั้นหย่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 10:15 นาฬิกา[57]
จดหมายเหตุเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของพระองค์ ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้ผลิตนั้น อ้างว่า "ตลอดระยะเวลาแห่งการผนวชนั้น ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการ เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้าเย็น ทำสังฆกรรม สดับพระธรรม เทศนา และทรงศึกษาพระธรรมวินัย ร่วมกับพระภิกษุอื่น ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ณ สถานที่ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะสมเด็จพระสังฆราชและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ณ พระอาราม ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรง สักการะพระพุทธรูปสำคัญ เจดียสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในส่วนภูมิภาค และเสด็จออกให้คณะสงฆ์และคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายสักการะ เป็นต้น"[58]
การทหาร
พระองค์สนพระราชหฤทัยในกิจการกองทัพมาแต่ทรงพระเยาว์ และขณะประทับอยู่ในประเทศไทย ได้ทรงเยี่ยมที่ตั้งทหารหลายแห่ง[59] เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียและทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรอื่น ๆ แล้ว ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทั้งยังทรงเยี่ยมให้กำลังใจตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในบริเวณพื้นที่อันตราย[60]
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 รัชกาลที่ 9 พระราชทานยศทหารให้แก่พระองค์ คือ ร้อยตรี เรือตรี พรรคนาวิน และเรืออากาศตรี แห่งกองทัพทั้งสาม[61] นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งทางทหารตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ คู่มือทหารที่หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ผลิตขึ้น อ้างว่า "ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่าง และพระราชทานคำสั่งสอนแก่ข้าราชบริพารทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง" และ"มีการเทิดทูนยกย่องพระองค์เป็น บรมครูทางการทหาร"[62]
พระจริยวัตร
พระชนมชีพส่วนพระองค์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง[63] บีบีซีไทยอ้างว่า พระองค์มักตกเป็นข่าว โดยเฉพาะในเรื่องสตรี การพนัน และเรื่องผิดกฎหมาย จนเป็นที่กังขาเกี่ยวกับความเหมาะสมของพระองค์[38] เดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 พระราชชนนีของพระองค์ทรงกล่าวเปรียบเปรยว่า พระองค์ทรงเหมือนดอน ฆวน ที่โปรดการใช้เวลาว่างสุดสัปดาห์ไปกับหญิงงามมากกว่าการประกอบพระราชกรณียกิจ[38][64]
ฉันขอพูดตามตรงจริง ๆ ว่า ลูกชายฉัน มกุฎราชกุมาร ออกจะเหมือนดอน ฆวน สักหน่อย เวลาให้สัมภาษณ์ฉันต้องพูดตามตรง เขาเรียนดี เป็นเด็กดี แต่สาว ๆ มองว่าเขาน่าสนใจ และเขาก็ยิ่งมองว่าสาว ๆ น่าสนใจกว่า ดังนั้น ครอบครัวเขาจึงไม่ราบรื่นนัก[64][65]
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2545 นิตยสาร ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว ลงบทความว่า พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย[66] อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2553 หลังจากที่ พันตำรวจโท ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งไปโดยการรัฐประหารแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี ยอมรับว่า "แน่นอนว่า เจ้าฟ้าชายยังทรงรักษาสัมพันธภาพบางอย่างกับอดีตนายกฯ ทักษิณเอาไว้ พระองค์ทรงพบกับทักษิณเป็นช่วง ๆ"[67] วันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน บิลาฮารี เคาสิกัน (Bilahari Kausikan) ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แถลงว่า พระองค์ทรงติดการพนัน และทรงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพันตำรวจโท ทักษิณ[68] โอกาสเดียวกัน พลเอก เปรม เสริมว่า "ทักษิณเสี่ยงทำลายตัวเอง เขาอาจคิดว่า เจ้าฟ้าชายจะทรงปฏิบัติกับเขาเหมือนดังเขาเป็นพระสหายหรือผู้สนับสนุนเพียงเพราะเขาส่งเสริมการเงินให้แก่พระองค์ แต่เจ้าฟ้าชายไม่ทรงชอบพระทัยความสัมพันธ์แบบนั้นสักเท่าไร"[69]
ใน พ.ศ. 2551 ราล์ฟ แอล.บอยซ์ (Ralph L. Boyce) นักการทูตชาวสหรัฐ รายงานต่อรัฐบาลสหรัฐว่า พระองค์เคยตรัสปฏิเสธกับเขาเรื่องข่าวที่ว่าทรงมีความสัมพันธ์กับพันตำรวจโท ทักษิณ บอยซ์กล่าวว่า[70]
"[มกุฏราชกุมาร] ทรงเห็นเป็นเรื่องตลกร้ายที่นายกฯ ทักษิณ สามารถทำตัวเป็นเผด็จการได้ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง...ในช่วงแรก ๆ ของรัฐบาลทักษิณ ดูเหมือนเขาจะลงทุนอย่างหนักเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับมกุฎราชกุมาร ทั้งสองมีเรื่องผิดใจกันอย่างเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้มกุฎราชกุมารละทิ้งพระตำหนักนนทบุรีที่ทักษิณซื้อและตกแต่งถวายให้ แล้วย้ายมาประทับ ณ วังศุโขทัยซึ่งตั้งอยู่ในย่านกลางเมือง
"มีเรื่องเล่ากันไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับการพบปะระหว่างทักษิณกับมกุฎราชกุมารที่ลอนดอนเมื่อช่วงต้นปีนี้ [พ.ศ. 2551] ซึ่งเรื่องที่เรามองว่า น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ ทักษิณขอเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร และเมื่อไม่ได้รับอนุญาต เขาจึงไปร่วมเข้าแถวรับเสด็จ ณ โรงแรมที่มกุฎราชกุมารประทับ และได้สนทนาอย่างไม่มีสาระสำคัญอะไรเพียง 45 วินาที"
อย่างไรก็ดี ผู้แปลโทรเลขดังกล่าวเป็นภาษาไทยในนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ระบุไว้ว่า "ความสำคัญของโทรเลขทูตที่เผยแพร่จากวิกิลีกส์ จึงอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ส่งไปยังสหรัฐ"[71]
ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์หลังจากรัชกาลที่ 9 ก็เป็นที่กล่าวถึงมากในสังคม นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้มีอยู่สามสิ่ง คือ องคมนตรี กองทัพ และความเหมาะสมของพระองค์[72] ใน พ.ศ. 2545 นิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ ลงข้อความว่า "ผู้คนเคารพเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์น้อยมาก (กว่ารัชกาลที่ 9) ชาวกรุงเทพมหานครพากันร่ำลือเรื่องชีวิตส่วนพระองค์อันมัวหมอง...ไม่มีผู้สืบราชบัลลังก์พระองค์ใดจะประสบความสำเร็จอย่างที่กษัตริย์ภูมิพลทรงได้รับมาในช่วงเวลาทรงราชย์ 64 ปี..." และรัฐบาลไทยได้สั่งห้ามจำหน่ายนิตยสารฉบับดังกล่าว ใน พ.ศ. 2553 ดิอีโคโนมิสต์ ลงบทความอีกว่า พระองค์ "ทรงเป็นที่รังเกียจและเกรงกลัวอย่างกว้างขวาง" และ"ทรงแปลกประหลาดอย่างคาดไม่ถึง" และฉบับนี้ก็มิได้จำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน[73] ครั้นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 นิตยสารออนไลน์ เอเชียเซนทิเนล ลงว่า พระองค์ "ถือว่าทรงเอาแน่นอนไม่ได้ และทรงไม่สามารถปกครองได้โดยแท้"[74] เว็บไซต์นี้ถูกสกัดกั้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว[75] อนึ่ง มีผู้คนเห็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้เป็นพระกนิษฐภคินี ชอบที่จะได้สืบราชสมบัติมากกว่า[76] พลเอก เปรม และองคมนตรีคนอื่น ๆ มีความเห็นค่อนข้างลบเกี่ยวกับพระองค์ ส่วนราล์ฟก็เคยรายงานต่อรัฐบาลสหรัฐว่า "[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ] ดูอึดอัดพระทัยอย่างเห็นได้ชัดต่อคำถามธรรมดา ๆ เกี่ยวกับเจ้าฟ้าสิรินธรซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของมกุฎราชกุมาร"[77]
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 แฮร์รี นิโคเลดส์ ชาวออสเตรเลีย ถูกศาลไทยจำคุก 3 ปี เพราะเผยแพร่หนังสือพาดพิงพระองค์ ความตอนหนึ่งว่า "ถ้าเจ้าฟ้าชายทรงรักใคร่ชอบพออนุภรรยานางใด และต่อมาเธอทรยศพระองค์ เมื่อนั้นเธอและครอบครัวก็จะหายไปจากโลกนี้ สาบสูญไปทั้งชื่อเสียงเรียงนาม เทือกเถาเหล่ากอ และบรรดาเงื่อนเค้าร่องรอยเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาตลอดกาล" ต่อมา รัชกาลที่ 9 พระราชทานอภัยโทษให้เขา และเขาให้สัมภาษณ์แก่ ฮัฟฟิงตันโพสต์ ว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องแต่งทั้งสิ้น[78][79][80][81]
พระองค์ทรงทราบปัญหาและข่าวที่กล่าวมาแล้วเป็นอย่างดี[82] และเคยพระราชทานสัมภาษณ์ในนิตยสาร ดิฉัน แก่ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ใกล้ชิดพระองค์ ว่า[83]
"บางทีในชาติปางก่อน เราอาจไม่ได้ทำบุญมากพอ หรือบางทีในบางครั้ง เราทำอะไรที่น่าตำหนิ เรายอมรับ...ถ้าหากสวรรค์คิดว่าเราไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในการทำหน้าที่ของเรา ก็หยุดและจบ ถ้าท่านคิดได้อย่างนี้ ท่านก็จะสบายใจ ท่านไม่ได้คิดเป็นอะไร หากสวรรค์ให้ท่านมีภารกิจต่อแผ่นดิน ก็ยอมรับ ถ้าเขาไม่ต้องการให้ทำงาน ก็โอเค"
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553 อีริก จี.จอห์น (Eric G. John) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย รายงานไปยังรัฐบาลสหรัฐว่า เขาได้เปรยกับพลเอก เปรม ว่า "เวลานี้ เจ้าฟ้าชายทรงอยู่ที่ใด" พลเอก เปรม ตอบว่า "คุณก็รู้ว่าทรงใช้ชีวิตส่วนพระองค์แบบไหน...เจ้าฟ้าชายพอพระทัยใช้เวลาลอบเสด็จไปยังมิวนิก เพื่อประทับอยู่กับเมียเก็บของพระองค์ มากกว่าจะประทับอยู่ในประเทศไทยกับพระวรชายาและพระโอรส"[84] พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรีที่ร่วมวงสนทนา กล่าวเสริมว่า "ข่าวเรื่องเมียน้อยของพระองค์ที่เป็นแอร์โฮสเตสมีอยู่เต็มเว็บไซต์ไปหมด...น่าเศร้าที่เดี๋ยวนี้ท่านทูตไทยที่เยอรมนีต้องออกจากเบอร์ลินไปมิวนิกเพื่อไปเข้าเฝ้าพระองค์เป็นประจำ"[85]
พระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | |
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
ทรงครองราชย์
เมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว พระองค์จะได้สืบราชสมบัติต่อ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า พระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[86] แต่ทรงขอผ่อนผัน เนื่องจากทรงต้องการร่วมไว้ทุกข์กับชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่ง[87] พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว[88]
วันที่ 29 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนั้น จัดประชุมวาระพิเศษเพื่อรับทราบการอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ[89] จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในขณะนั้น ได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการอัญเชิญอย่างเป็นทางการ[90] แต่ทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แล้ว[91] และพระองค์ทรงให้เฉลิมพระปรมาภิไธยชั่วคราวว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"[92]
บรมราชาภิเษก
พระองค์โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"[93]
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และโปรดให้สถาปนาพลเอกหญิงสุทิดาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี[94][95]
บทบาททางการเมือง
ใน พ.ศ. 2560 พระองค์ทรงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว[7] โดยแก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ[96] ในปีเดียวกัน ทรงตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจตั้งผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย[97] ต่อมาใน พ.ศ. 2561 มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยของพระองค์โดยตรง และสำนักงานฯ ชี้แจงว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย จึงต้องถวายทรัพย์สินในความดูแลคืนให้แก่พระมหากษัตริย์เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย และกล่าวว่า ทรัพย์สินที่พระองค์เป็นเจ้าของจะมีการเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป[98] นอกจากนี้ พระองค์ยังมีอำนาจควบคุมโดยตรงต่อสำนักพระราชวังและหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ด้วย[99]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเชษฐภคินี รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักษาชาติ พระองค์ก็ออกประกาศในวันเดียวกันว่า การดังกล่าวเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[13] นอกจากนี้ ในคืนก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ยังทรงให้เผยแพร่พระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ที่ให้เลือกคนดีปกครองบ้านเมือง[14] ทำให้เกิดแฮชแท็ก "#โตแล้วเลือกเองได้" ในทวิตเตอร์[100]
ในปีงบประมาณ 2564 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกตามการเสนอของพระองค์ แทนผู้ที่พลเอก ประยุทธ์ เสนอ[101]
ในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อลดพระราชอำนาจให้สอดคล้องกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[102][103][104] สื่อต่างประเทศรายงานปฏิกิริยาของพระองค์สองกระแส กระแสหนึ่งว่า พระองค์ไม่รู้สึกถูกรบกวนพระทัยกับข้อเรียกร้องนี้[105] แต่อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานว่า ทรงให้สื่อตรวจพิจารณา (เซ็นเซอร์) ข้อเรียกร้องดังกล่าว[106] สื่อขนามนามว่า การประท้วงในวันที่ 19–20 กันยายน เป็นการต่อต้านพระองค์อย่างเปิดเผย[107] และการที่รัฐสภาเลื่อนลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปลายเดือนกันยายน ทำให้เกิดความไม่พอใจ จนนำไปสู่กระแสนิยมสาธารณรัฐในโลกออนไลน์อย่างเปิดเผย[108][109]
โฆษกรัฐบาลเยอรมันแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทยหลายครั้งถึงความกังวลเกี่ยวกับการทรงงานในต่างแดนของพระองค์[110]
ใน พ.ศ. 2564 รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล เปิดโปงเอกสารฝากตำแหน่งตำรวจ ที่เรียกว่า "ตั๋วช้าง"[22] โดยเป็นเอกสารที่ขอให้ทรงสนับสนุนการแต่งตั้งหรือเลื่อนยศนายตำรวจ[23]
โควิด-19
ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย พระองค์ประทับอยู่นอกประเทศพร้อมด้วยข้าราชบริพารราว 100 คนที่โรงแรมบริเวณบาวาเรียนแอลป์ ประเทศเยอรมนี จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563[111] สื่อต่างประเทศรายงานว่า การประทับอยู่ที่โรงแรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความหรูหรา และมีพระสนมกำนัลอย่างน้อย 20 คน[112]
สถานการณ์เกี่ยวกับโรคยังทำให้พระองค์ต้องทรงงดพระราชพิธีฉัตรมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และวิสาขบูชา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564[113]
ในช่วงดังกล่าว มีกลุ่มผู้อ้างข่าวลือว่า พระองค์ประชวร[114] ต่อมา หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล อ้างว่า พระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร) วัดป่าธรรมคีรีวัน เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมแล้วออกมาเล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระองค์มีพระพลานามัยปรกติดี[115] และ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เพจบางเพจบนเฟซบุ๊กแชร์คำกล่าวของพระอธิการสุทัศน์ โกสโล วัดกระโจมทอง ว่า ได้สนทนาธรรมกับพระองค์ และพระองค์มีพระพลามัยแข็งแรง[116]
พระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งได้รับสิทธิให้จัดหาวัคซีนสำหรับโรคนี้เข้ามาในประเทศไทย ถึงแม้ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน และยังได้รับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาทจากรัฐบาลไทย[117][118] ผู้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[119][120] อย่างไรก็ตาม บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการเลือก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นคู่สัญญา คือ บริษัทได้มีการร่วมกับพันธมิตรในหลายประเทศเพื่อก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนกว่า 3 พันล้านโดส ให้ได้มีความปลอดภัยได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และสยามไบโอไซเอนซ์ บนหลักการของการต่อยอดการให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตระดับประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับโลก และพันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนทุกรายของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (CGMP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตและการควบคุมคุณภาพของยา รวมถึงการรับรองระบบคุณภาพและได้รับใบอนุญาตการผลิตในภูมิภาคที่ผู้ผลิตนั้นดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485
ในการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2.8 พันล้านบาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง กับกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง[121] ทั้งยังพระราชทาน "ถุงพระราชทานกำลังใจ" แก่ผู้แทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข[122] กว่า 188,266 ถุง[123] และพระราชทานเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย 36 คัน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ 5 คัน รถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล 2 คัน และรถต่อพ่วงชีวนิรภัย 6 คัน ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ปฏิบัติงานเชิงรุกภาคสนามในการตรวจหาเชื้อโควิดในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรค[124]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นาที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม จากจำนวน 61 ฟาร์มทั่วประเทศ ภายใน 17 จังหวัด เพื่อนำมาใช้ในการสนับสนุนการจ้างงานภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” โดยได้น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทำให้ฟาร์มตัวอย่างเป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย สร้างรายได้ สร้างเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืนโดยประชาชนไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเอง
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 สำนักพระราชวังได้ประกาศว่า พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินี ทรงติดเชื้อโควิด-19 โดยมีพระอาการไม่รุนแรง[125] และทั้งสองพระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรในอีกสิบวันต่อมา[126]
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
พระราชกรณียกิจ
บทความชีวประวัตินี้เขียนเหมือนประวัติสมัครงาน |
ทางราชการ
- ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ เมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย[ต้องการอ้างอิง]
- ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด[48]
- 9 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม ประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]
- 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
- 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
- 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
- 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
- 9 มกราคม พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด[127] ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นส่วนราชการในพระองค์[128]
ด้านการบิน
- 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระองค์ทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N และหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (gunship) ของกองทัพบก[129]
- 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ[48]
- พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ)[130]
ด้านการต่างประเทศ
เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้ตามเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศหลายครั้ง ในครั้งที่เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 หม่อมราชวงศ์ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท อ้างว่า มีผลให้ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้น[131] นอกจากนี้ ยังได้ทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525 ต่อมาในระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 ทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ทรงพบเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2530 ทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี[132]
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมสิ่งของและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชนแก่รัฐบาลประเทศเนปาล[133], ประเทศอินเดีย[134], และประเทศจีน[135]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสถาปนาสมเด็จพระราชินีคามิลลา นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์[136]
ด้านการศึกษา
พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ระยะแรกจัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ และโอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติเมี่อปี พ.ศ. 2534 ดำเนินการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย[137]
โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง โดยที่กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระนอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนม์มายุ 42 พรรษาทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามโรงเรียนว่าโรงเรียนมกุฏเมืองราชวิทยาลัย มีความหมายว่าราชวิทยาลัยสูงสุดแห่งเมือง และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนและทรงเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียน ณ สถานที่เรียนชั่วคราวโรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย[138]
นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ[139] และกระทรวงศึกษาธิการถวายโรงเรียนมัธยมศึกษา 15 แห่งเป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ คือ
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 จังหวัดนครพนม
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 จังหวัดกำแพงเพชร
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 จังหวัดสุราษฏร์ธานี
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 จังหวัดอุดรธานี
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 จังหวัดสงขลา
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร
- โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง
- โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จังหวัดนนทบุรี
- โรงเรียนราชปิโยรสายุพราชานุสรณ์ จังหวัดน่าน[140]
พระองค์ทรงอุปการะเด็กกำพร้า เช่น จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อ พ.ศ. 2554[141] รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[142][143] หรือพระองค์พระราชทานรับคนไข้นักเรียนเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ อย่างอีฟฟราน อ้นบุตร น้องชายของผู้ป่วยที่ได้เขียนจดหมายถวายฎีกาเพื่อช่วยเหลือพี่ชาย ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคปอดติดเชื้อ[144]
พระองค์มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 เป็นทุนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาตรี ต่อมาทรงให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553[145] โดยทรงให้นำโครงการทุนการศึกษามาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. เพื่อสนับสนุนผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเป็นทุนให้เปล่า และเมื่อจบการศึกษา จะได้รับโอกาสให้สมัครเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ[146][147][148][149]
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
พระองค์โดยเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทเสมอ[ต้องการอ้างอิง] จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลอันทั่วถึงและมีมาตรฐาน[ต้องการอ้างอิง] เป็นที่มาของการตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้นใน พ.ศ. 2520[ต้องการอ้างอิง] เงินในการจัดตั้งมาจากการบริจาคของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพระราชสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 21 แห่ง[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 พระองค์พระราชทานเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[150]
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์พระราชทานเงิน 2,407 ล้านบาทซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ เงินดังกล่าวมาจากการถวายของประชาชนเพื่อร่วมพระราชกุศลในพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 9 และมาจากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว "สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์"[151]
พระองค์ทรงตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนการให้จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือราชทัณฑ์ ทั้งทางด้าน การแพทย์ การพยาบาล และการอบรม[152]
ด้านการเกษตร
พระองค์พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ[ต้องการอ้างอิง] คลินิกดังกล่าวพระราชทานนามว่า "เกษตรวิชญา" แปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร[153]
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับการขนานนามว่า "อีสานภาคกลาง" เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีระบบชลประทาน ประชาชนในหนองฝ้ายต้องจ้างรถบรรทุกน้ำ สำหรับใช้อุปโภคบริโภค บางคนไม่มีน้ำใช้ในการเกษตรหรือปศุสัตว์ ต้องเสียเงินเพื่อใช้ในการสูบน้ำจากบ่อเพื่อมาทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้มีรายจ่ายมากกว่า
ด้านสังคม
วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 พระองค์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โปรดให้พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ[154] และเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 พระองค์พระราชทานของยังชีพไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากเหตุเขื่อนทรุดตัวที่ประเทศลาว[155]
ใน พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงเยี่ยมประชาชนที่ประสบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดนราธิวาส ณ ร้านข้าวต้มอั้งม้อของภักดี พรมเมน[156][157]
พระองค์ทรงรับโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์[158]
ใน พ.ศ. 2543 พระองค์ทรงตั้งโครงการกีฬาล้างอบายมุขด้วยลูกฟุตบอล เพื่อส่งเสริมการกีฬาแก่เยาวชนไทยโดยใช้กีฬาฟุตบอลเป็นหลัก[159]
นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น จัดกิจกรรมปั่นจักรยานทั่วประเทศ ในชื่อกิจกรรม "ปั่นเพื่อแม่" (Bike for Mom) เฉลิมพระเกียรติพระราชมารดาของพระองค์ในวันที่ 16 สิงหาคม[160] และกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" (Bike for Dad) เฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาของพระองค์ในวันที่ 11 ธันวาคม[161] โดยระบุว่า เป็นไปตามพระราชดำริของพระองค์ที่ต้องการส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งพระองค์ทรงร่วมปั่นจักรยานในกรุงเทพมหานคร ในทั้งสองกิจกรรม[162]
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานในกิจกรรมอบรมผู้นำเยาวชนจิตอาสา ที่ ทม.11 เขตบางเขน มีพระราชกระแสสอนเยาวชน และมีพระราชปฏิสันถารกับเยาวชนจิตอาสาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองด้วย ความเรียบง่าย โดยเยาวชนชาวม้ง ได้ทูลถามกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หนูได้ยินคนพูดว่าเมื่อ ร.9 สวรรคต ม้งจะไม่มีที่อยู่ ร.10 จะให้ม้งออกไปจากประเทศให้หมด หนูกลัวมาก กลัวว่าจะไม่มีแผ่นดินอยู่ กลัวว่าจะไม่มีที่ไป ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่หลายปีผ่านไป ร.10 ก็ไม่เคยไล่พวกเราทุกคนสบายดี แล้วในหลวงก็ยังให้หนูเรียนหนังสือด้วย” ซึ่งพระองค์ได้ตรัสตอบว่า ในแผ่นดินนี้ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด เราทุกคนคือคนไทย ประเทศเราไม่เหมือนชาติอื่นใดในโลก เรารักกัน เราช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน และในหลวงจะไม่มีวันทิ้งคนไทย พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ขออย่าได้กังวล[163]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด
การแอบอ้างพระนาม
ใน พ.ศ. 2557 มีการจับกุมและดำเนินคดีพลตำรวจโท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาในพระองค์ ฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์[164] รวมไปถึงกฎหมายฟอกเงิน
ประสบการณ์ทางทหาร
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
- เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และศึกษางานด้านการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย
- ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวน และต้นหนชั้นสูง รวมทั้งหลักสูตรส่งทางอากาศ
- พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอซ ของบริษัท เบลล์ รวมชั่วโมงบิน 54.36 ชั่วโมง
- เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร กองทัพบกสหรัฐ รวม 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอาวุธประจำกายและเครื่องยิงลูกระเบิด หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย หลักสูตรการสงครามแบบกองโจร หลักสูตรการฝึกการดำรงชีพ และหลักสูตรส่งทางอากาศ (ทางบกและทางทะเล)
- เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอซ กับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอ็น ของบริษัทเบลล์ รวมชั่วโมงบิน 259.560 ชั่วโมง
- เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี ติดอาวุธ แบบ ยู เอซ–1 เอซ ของบริษัทเบลล์ จากกองทัพไทย รวมชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง
- เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2524 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Sial–Marchetti SF 120 MT รวมชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง
- เดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2524 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Cessna T–37 รวมชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง
- เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจ ณ สหราชอาณาจักร ประเทศเบลเยียม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส และประเทศออสเตรเลีย
- เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2526 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ–5 (พิเศษ) รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ ที ดับเบิลยู และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ วี ดับเบิลยู ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐอริโซนา สหรัฐ รวนชั่วโมงบิน 2,000 ชั่วโมง
- พ.ศ. 2532 ทรงผ่านการฝึกบินด้วยเครื่องบินใบพัด แบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และการฝึกบิน ด้วยเครื่องบินไอพ่น แบบ ที 33 และหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบิน ขับไล่ แบบ เอฟ 5 อี/เอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 โดยทรงทำชั่วโมงบิน 200 ชั่วโมง ในเบื้องต้น และทรงทำชั่วโมงบินสูงสุด 1,000 ชั่วโมง และทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ซึ่งทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว ในศกเดียวกัน[165]
- เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการในฐานะนักบินโบอิ้ง 737–400 จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก
- เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตำแหน่งนักบินที่ 1 ใน พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบิน 3,000 ชั่วโมง
- เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 กรมการขนส่งทางอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบรับรองในตำแหน่งครูฝึกภาคอากาศกับตำแหน่งครูฝึกเครื่องช่วยฝึกบิน สำหรับเครื่องบินโบอิง 737–400
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
ธงประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ |
ลำดับโปเจียม | 1 |
พระบรมราชอิสริยยศ
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 — 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515)
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 — 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร[92] (1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 — 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 — ปัจจุบัน)
พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
พระราชลัญจกรเป็นรูปวชิราวุธ ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ใช้แบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมีจุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) อันเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ใช้แบบตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 5 แทนคำว่า "อลงกรณ์" ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย "มหาวชิราลงกรณ" เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวาร[ต้องการอ้างอิง]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ประกอบด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยและต่างประเทศ[166]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
พระองค์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัชกาลที่ 9 ดังนี้
- พ.ศ. 2508 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[167]
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)[168]
- พ.ศ. 2519 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)[169]
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[168]
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[168]
- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[170]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[171]
- พ.ศ. 2530 – เหรียญกล้าหาญ (ร.ก.)[172]
- พ.ศ. 2530 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)[173] (ประดับช่อชัยพฤกษ์ 2 ช่อ)
- พ.ศ. 2510 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[174]
- พ.ศ. 2531 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[175]
- พ.ศ. 2495 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[176]
- พ.ศ. 2495 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
เยอรมนี | พ.ศ. 2527 | เครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นตติยาภรณ์ | |
เนปาล | พ.ศ. 2529 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์โอชัสวี ราชันย์เนปาล ชั้นเบญจมาภรณ์ | |
ญี่ปุ่น | พ.ศ. 2530 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ | |
สเปน | พ.ศ. 2530 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระเจ้าการ์โลสที่ 3 ชั้นประถมาภรณ์ | |
บรูไน | พ.ศ. 2533 | เครื่องอิสริยาภรณ์ตระกูลเสรี อุตมะ ชั้นที่ 2 | |
เกาหลีเหนือ | พ.ศ. 2535 | เครื่องอิสริยาภรณ์กุกกี้ ฮุนจัง ชั้นที่ 1[177] | |
เปรู | พ.ศ. 2536 | เครื่องอิสริยาภรณ์พระอาทิตย์แห่งเปรู ชั้นที่ 1[178] | |
บริเตนใหญ่ | พ.ศ. 2539 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียน ชั้นอัศวินสูงสุด | |
มาเลเซีย | พ.ศ. 2543 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ผู้ป้องกันราชอาณาจักร ชั้นประถมาภรณ์ | |
เดนมาร์ก | พ.ศ. 2544 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้าง ชั้น อัศวิน | |
สวีเดน | พ.ศ. 2546 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซราฟีม | |
เนเธอร์แลนด์ | พ.ศ. 2547 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎ ชั้นประถมาภรณ์ | |
เนเธอร์แลนด์ | พ.ศ. 2556 | เหรียญสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ | |
โปรตุเกส | พ.ศ. ไม่ปรากฏ | เครื่องอิสริยาภรณ์อาวิซ ชั้นที่ 1 | |
เกาหลีใต้ | พ.ศ. ไม่ปรากฏ | เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งการทูต ชั้นสูงสุด | |
รัฐตรังกานู, มาเลเซีย | พ.ศ. ไม่ปรากฏ | เครื่องอิสริยาภรณ์ตระกูลตรังกานู ชั้นที่ 2 |
พระยศทหาร
พระยศทหาร ได้แก่[179]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
ประจำการ | พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน |
ชั้นยศ |
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508: ร้อยตรี เหล่าทหารราบ เรือตรี พรรคนาวิน เรืออากาศตรี เหล่าทหารนักบิน และนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ และนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ[181]
- 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2514: ร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท[182]
- 9 ธันวาคม พ.ศ. 2518: ร้อยเอก เรือเอก และเรืออากาศเอก และนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กองทัพบก กระทรวงกลาโหม[183]
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520: พันตรี นาวาตรี และนาวาอากาศตรี[184]
- พ.ศ. 2521: รองผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
- พ.ศ. 2523: พันโท นาวาโท และนาวาอากาศโท[185] และผู้บังคับกองพัน กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
- 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523: นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรือ รักษาพระองค์ กรมยุทธศึกษา โรงเรียนนายเรือ ประจำกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน ประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ กรมยุทธศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศ และประจำกองพันทหารอากาศโยธินที่ 1 รักษาพระองค์[186]
- 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2524: นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์[187]
- 25 ธันวาคม พ.ศ. 2524: นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[188] และนายกองเอก กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน[189]
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2526: พันเอก นาวาเอก และนาวาอากาศเอก[190]
- พ.ศ. 2527: ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
- 12 เมษายน พ.ศ. 2529: ผู้บังคับการพิเศษ ประจำกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ[191]
- 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2530: พลตรี พลเรือตรี และพลอากาศตรี[192] และผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์[193]
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531: พลโท พลเรือโท และพลอากาศโท[194] และผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์
- 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2534: นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ กรมทหาราบที่ 21 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์[195]
- 9 มกราคม พ.ศ. 2535: พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด[180]
- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2547: นายทหารพิเศษประจำกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[196]
- 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548: นายทหารพิเศษประจำกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์ และกองพันทหารสื่อสารที่ 1 รักษาพระองค์[197]
สิ่งอันเนื่องมาด้วยพระปรมาภิไธย
สถาบันการศึกษา
- โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา[198]
- โรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[ต้องการอ้างอิง]
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร[ต้องการอ้างอิง]
- อาคารวชิรารัศมิ์ทีปังกร โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์[ต้องการอ้างอิง]
การคมนาคม
- เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี[ต้องการอ้างอิง]
- ถนนเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[ต้องการอ้างอิง]
ศาสนสถาน
- วัดเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี[199]
- วัดมหาธาตุวชิรมงคล อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่[ต้องการอ้างอิง]
สถานที่ราชการ
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เดชอุดม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระนวน อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กุฉินารายณ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช บ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี[ต้องการอ้างอิง]
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา[ต้องการอ้างอิง]
- ค่ายวชิราลงกรณ์ ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี[ต้องการอ้างอิง]
สถานที่
- สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร[ต้องการอ้างอิง]
- สวนสาธารณะ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[ต้องการอ้างอิง]
พระราชสันตติวงศ์
พระบรมราชินี | ||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชบุตร | |
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี (สุทิดา ติดใจ) |
บุตรีของ คำ ติดใจ และคุณหญิงจั่งเฮียง ติดใจ | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา | ||
พระสนมเอก | ||||
รูป | ชื่อ | ชาติตระกูล | พระราชบุตร | |
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เดิม สินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ (นิรมล อุ่นพรม) |
บุตรีของ วิรัตน์ อุ่นพรม และปราณี อุ่นพรม | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา | ||
อดีตพระวรชายา | ||||
พระรูป | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชโอรส/พระราชธิดา | |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) |
พระธิดาใน หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (เดิม หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) |
| ||
ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี เดิม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร |
บุตรีของ อภิรุจ สุวะดี และวันทนีย์ สุวะดี | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร | ||
อดีตหม่อม | ||||
รูป | ชื่อ | ชาติตระกูล | พระราชโอรส/พระราชธิดา | |
สุจาริณี วิวัชรวงศ์ เดิม หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา (ยุวธิดา ผลประเสริฐ) |
บุตรีของ ธนิต ผลประเสริฐ และเยาวลักษณ์ โกมารกุล ณ นคร |
เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ
เหรียญที่เกี่ยวข้องกับพระองค์มีดังนี้
รถยนต์พระที่นั่ง
สังกัดกองพระราชพาหนะ พระราชวังดุสิต
- โรลส์-รอยซ์, แฟนทอม VI เลขทะเบียน ร.ย.ล.904
- โรลส์-รอยซ์, แฟนทอม VI เลขทะเบียน ร.ย.ล.2
- โรลส์-รอยซ์, ซิลเวอร์ สปอร์ ลิมูซีน เลขทะเบียน ร.ย.ล.4
- โรลส์-รอยซ์, ซิลเวอร์ สปอร์ ลิมูซีน เลขทะเบียน ร.ย.ล.5
- เมอร์ซิเดส-เบนซ์, เอส 600 LWB รหัสตัวถัง ดับเบิลยู 221 พร้อมชุดแต่ง เอเอ็มจี เลขทะเบียน ร.ย.ล.8
พงศาวลี
พงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (14 ข): 2. 4 พฤษภาคม 2562.
- ↑ "King Rama X Maha Vajiralongkorn". globalsecurity.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2013. สืบค้นเมื่อ 9 February 2013.
- ↑ "Thai Prime Minister Prayuth says Crown Prince seeks delay in proclaiming him King". Coconut.co. Bangkok: Coconuts BKK. AFP. 2016-10-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 October 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-10-14.
- ↑ Paddock, Richard C. (2016-12-01). "New King for Thailand as Crown Prince, Vajiralongkorn, Ascends to Throne". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-10-22.
- ↑ "Archived copy". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2016. สืบค้นเมื่อ 1 November 2016.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ Holmes, Oliver (26 October 2017). "Thailand grieves over former king at lavish cremation ceremony". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 December 2017. สืบค้นเมื่อ 21 December 2017.
- ↑ 7.0 7.1 "Thai king's coronation likely by the end of 2017: deputy PM". Reuters. 21 April 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2017. สืบค้นเมื่อ 13 June 2017.
- ↑ Shawn W. Crispin, How stable is post-cremation Thailand? เก็บถาวร 11 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Asia Times (December 6, 2017).
- ↑ "Coronation of HM King Maha Vajiralongkorn to be held May 4-6: palace". The Nation (ภาษาอังกฤษ). Agence France-Presse. 2019-01-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-01-01.
- ↑ "Thai activists protest in front of king's German villa". CNA (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 28 September 2020.
- ↑ 11.0 11.1 Yuko, Elizabeth (29 August 2019). "Pictures of the Thai King's Consort Broke the Internet — But What's a Consort?". Rolling Stone. สืบค้นเมื่อ 6 September 2019.
- ↑ Reuters Staff (2017-01-17). "Thailand to begin amending draft constitution on king's request". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ 13.0 13.1 "Thai king says sister's candidacy for prime minister is 'inappropriate', 'unconstitutional': Palace statement". Channel NewsAsia. 8 February 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-02-09.
- ↑ 14.0 14.1 "'ในหลวง' โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมราโชวาท ร.9". กรุงเทพธุรกิจ. 23 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-23.
- ↑ บีบีซี (2019-09-30). "โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. โอนกำลังพล-งบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์". บีบีซี. บีบีซี. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ "สภาผ่าน พ.ร.ก.โอน 2 กรมทหารไปอยู่ในส่วนราชการในพระองค์ ส.ส.อนาคตใหม่ 70 เสียงไม่เห็นด้วย". ประชาชาติธุรกิจ. มติชน. 2562-10-17. สืบค้นเมื่อ 2564-03-21.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ไทยพีบีเอส (2563-11-29). "เทียบ กม.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2491 และ 2561". ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 2564-03-21.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ iLaw (2561-11-06). "ความแตกต่าง ระหว่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561". iLaw. สืบค้นเมื่อ 2564-03-21.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Hoffower, Hillary (2019-07-17). "Meet the 10 richest billionaire royals in the world right now". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 September 2019. สืบค้นเมื่อ 2020-01-16.
- ↑ "ข้อมูลผู้ถือหุ้น SCC".
- ↑ ผู้ถือหุ้นบริษัทเทเวศประกันภัยจำกัด (มหาชน)
- ↑ 22.0 22.1 "โรม อารมณ์ค้าง เปิดเวทีอภิปรายนอกห้องประชุม เปิดปมตั๋วตำรวจ 'ตั๋วช้าง'". มติชนออนไลน์. 19 February 2021. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
- ↑ 23.0 23.1 สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 (2562-11-23). "บันทึกข้อความ ที่ พว 0005.1/"030" ลงวันที่ 23 มกราคม 2562".
{{cite web}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help);|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ข้อมูลผู้ถือหุ้น SCB".
- ↑ "Thai protesters confront royals in Bangkok visit". BBC. BBC. 2020-10-15. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ "Thai protesters scale monument, renew calls for royal reforms". Aljazeera. Aljazeera. 2021-02-13. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ Patpicha Tanakasempipat & Panarat Thepgumpanat (2020-09-25). "Thai republic hashtag trends as frustration surges among protesters". Reuters. Reuters. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ Sebastian Strangio (2020-09-29). "What Lies Behind Thailand's Hashtag Republicanism?". The Diplomat. Diplomat Media. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ Cogan, Mark S (2020-11-25). "The return of Article 112 means an increase in royalist witchhunts". Thai Enquiry. Thai News Corp. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ admin14 (2564-03-21). "สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ปี 2563-66". ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. สืบค้นเมื่อ 2566-04-06.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ลาวัณย์ โชตามระ,ประสุตา. สี่เจ้าฟ้า. กรุงเทพฯ : บริษัทกันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด, 2547. หน้า 54.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้หยุดราชการและชักธงชาติเนื่องในการที่พระราชกุมารประสูติ, เล่ม 69, ตอนที่ 49, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2495, หน้า 2434
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 234
- ↑ จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555, หน้า 10
- ↑ จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555, หน้า 21
- ↑ จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555, หน้า 20
- ↑ "'องค์รัชทายาท-เจ้าฟ้านักบิน' เผยพระราชกรณียกิจ ตามเบื้องพระยุคลบาท". มติชน. 14 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2559.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 38.0 38.1 38.2 บีบีซีไทย (2016-12-02). "ร.10 : พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|pulbisher=
ถูกละเว้น แนะนำ (|publisher=
) (help) - ↑ 39.0 39.1 ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ 15/2495 พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 2495, เล่ม 69, ตอน 54 ง, 9 กันยายน พ.ศ. 2495, หน้า 3031
- ↑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2016-05-22). "พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 2017-05-17.
- ↑ . ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชประวัติ.
- ↑ ลาวัณย์ โซตามระ. สี่เจ้าฟ้า. กรุงเทพมหานคร: บริษัท กัตนา ดิสทริบิวชั่น จำกัด
- ↑ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. สยามมกุฎราชกุมาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2517. หน้า 15.
- ↑ หมายเรื่องน่ารู้ “วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน” & “รัชกาลที่ 10” กษัตริย์จอมทัพไทย
- ↑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ทรงพระปรีชาการทหาร
- ↑ ด้านการศึกษา
- ↑ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง. นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2562.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 พระราชประวัติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ตอนว่าด้วยพระสูตร. กรุงเทพมหานคร: กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (ประเทศไทย)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2009-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 89, ตอน 200 ก ฉบับพิเศษ, 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515, หน้า 1
- ↑ กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, [ม.ป.ป.].
- ↑ กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, [ม.ป.ป.].
- ↑ หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521
- ↑ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. รวมบทความชุด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) และวัดประจำรัชกาลที่ 5 และ7 : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2560. 27 หน้า. หน้า 1.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร, เล่ม 95, ตอนที่ 122 ง, 1 พฤศจิกายน 2521, หน้า 37-42
- ↑ "พระเถระอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร: พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก ป.ธ.5)". วัดบวรนิเวศวิหาร. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” หน้า 28
- ↑ การพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พุทธศักราช 2521, หน้า 281
- ↑ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุเหตุเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลง กรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การ พิมพ์, 2558. หน้า 27.
- ↑ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “สยามมกุฎราชกุมาร”, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2517. หน้า 15
- ↑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กับพระปรีชาสามารถด้านการทหารและการบิน
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. "เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เจ้า ฟ้าวชิราลงกรณ สยาม มกุฎราชกุมาร. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2516. หน้า 161.
- ↑ "คู่มือการฝึกว่าด้วยแบบฝึกบุคคลท่ามือเปล่า โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-16. สืบค้นเมื่อ 2019-08-16.
- ↑ Mike Wooldridge (14 July 2011). "Wikileaks cable: 'Thai concerns about crown prince'" (ภาษาอังกฤษ). BBC.
- ↑ 64.0 64.1 Julia, Swenee (October 31th, 1981). "Sirikit of Thailand–a dedicated queen". Dallas Times Herald (ภาษาอังกฤษ). Neiman marcus orientations fortnight, USA.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) ผ่าน "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานสัมภาษณ์ ณ ประเทศสหรัฐ" (PDF). สยามนิกร. บริษัท สำนักพิมพ์อาทิตย์ จำกัด. 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2559.{{cite magazine}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) ผ่าน Jeamteerasakul, Somsak (3 ธันวาคม 2559). ""My son, the Crown Prince, is a bit of a Don Juan."". - ↑ แปลจากต้นฉบับ "I have to be very frank. My son, the Crown Prince, is a little bit of Don Juan. If I give an interview I have to be frank. He is a good student, a good boy, but women find him interesting, and he finds women even more interesting. So, his family is not so smooth."
- ↑ Duncan. McCargo, Media and Politics in Pacific Asia, page 146
- ↑ "US embassy cables: Thai officials express concerns over crown prince" (ภาษาอังกฤษ). The Guardian. 14 July 2011.
Prem acknowledged Crown Prince Vajiralongkorn probably maintained some sort of relationship with fugitive former PM Thaksin, "seeing him from time to time."
- ↑ Dorling, Philip; McKenzie, Nick (12 December 2010). "Top Singapore officials trash the neighbours". The Sydney Morning Herald.
- ↑ "US embassy cables: Thai officials express concerns over crown prince" (ภาษาอังกฤษ). The Guardian. 14 July 2011.
Thaksin ran the risk of self-delusion if he thought that the Crown Prince would act as his friend/supporter in the future merely because of Thaksin's monetary support; "he does not enjoy that sort of relationship."
- ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (มกราคม–มีนาคม 2554). "การ "เปลี่ยนผ่าน" รัชสมัยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย". ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 9, ฉบับที่ 1): 67.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (มกราคม–มีนาคม 2554). "การ "เปลี่ยนผ่าน" รัชสมัยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย". ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 9, ฉบับที่ 1): 57.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (มกราคม–มีนาคม 2554). "การ "เปลี่ยนผ่าน" รัชสมัยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย". ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 9, ฉบับที่ 1): 54.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "As father fades, his children fight". The Economist. 18 March 2010.
- ↑ More Lèse majesté Charges in Thailand เก็บถาวร 2013-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Asia Sentinel, April 1, 2010
- ↑ Fromtheold (2010-03-30). "Thailand - Grenade attacks and online censorship amid mounting political tension". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-22. สืบค้นเมื่อ 2017-05-17.
- ↑ Shawn W. Crispin (14 Mars 2008). "The politics of revenge in Thailand". Asian Times Online: 54.
{{cite journal}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (มกราคม–มีนาคม 2554). "การ "เปลี่ยนผ่าน" รัชสมัยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย". ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 9, ฉบับที่ 1): 56–57.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Paul Dailing (22 Feb 2009). "Australian Writer Who Insulted Thai Monarchy Shares Prison Cell With Child Molester, Weapons Dealer" (ภาษาอังกฤษ). huffpost.
- ↑ Thais detain Aussie writer, The Australian, September 05, 2008
- ↑ Thai court jails Australian novelist for three years over royal 'insult', The Scotsman, January 19, 2009
- ↑ Author jailed for insulting Thai king, CNN.com, January 19, 2009
- ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (มกราคม–มีนาคม 2554). "การ "เปลี่ยนผ่าน" รัชสมัยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย". ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 9, ฉบับที่ 1): 59–60.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ ธนาพล อิ่วสกุล; ชัยธวัช ตุลาฑล (15 สิงหาคม 2529). ดิฉัน: 227.
{{cite journal}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "US embassy cables: Thai officials express concerns over crown prince" (ภาษาอังกฤษ). The Guardian. 14 July 2011.
Vajiralongkorn's preference to spend time based out of Munich with his main mistress, rather than in Thailand with his wife and son
- ↑ "US embassy cables: Thai officials express concerns over crown prince" (ภาษาอังกฤษ). The Guardian. 14 July 2011.
Information about his air hostess mistresses was widely available on websites; he lamented how his former aide, now Thai Ambassador to Germany, was forced to leave Berlin for Munich often to receive Vajiralongkorn.
- ↑ "Thailand's King Bhumibol Adulyadej dead at 88". BBC News. 13 October 2016. สืบค้นเมื่อ 13 October 2016.
- ↑ กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี (2017-01-01). "เหตุการณ์แห่งปี ร.10 ขึ้นทรงราชย์ 1 ธ.ค. 59". สืบค้นเมื่อ 2018-08-07.
- ↑ "Thai king death: Thousands throng streets for procession". BBC. 2016-10-14. สืบค้นเมื่อ 2016-10-14.
- ↑ "ขอทรงพระเจริญ ก้องสภาฯ สนช.ถวายพระพร". ไทยรัฐ. 30 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่(สิบ) เสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว". โพสต์ทูเดย์. 1 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 133 (102 ก): 1. 1 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2559.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 92.0 92.1 "ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 133 (102 ก): 2. 1 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2559.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประกาศพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562, 4 พฤษภาคม 2562
- ↑ "พระราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระราชินี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (11 ข): 1. 1 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2563.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""ราชาภิเษกสมรส" ร. 10 และสมเด็จพระราชินีสุทิดา". ประชาชาติธุรกิจ. 1 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Thai parliament approves king's constitutional changes request, likely delaying elections". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 January 2017. สืบค้นเมื่อ 13 January 2017.
- ↑ "โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่". บีบีซีไทย. 17 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
- ↑ "สำนักงานทรัพย์สินฯ ชี้แจงการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเป็นพระปรมาภิไธย ร.10". บีบีซีไทย. 16 มิถุนายน 2018. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
- ↑ "Thai king takes control of five palace agencies". businesstimes.com.sg. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2017. สืบค้นเมื่อ 18 May 2017.
- ↑ "#โตแล้วเลือกเองได้ ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์คืนก่อนวันเลือกตั้ง". ประชาไท. 23 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-24.
- ↑ "Thai king's favorite to take over army, as PM's choice ignored". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 28 September 2020.
- ↑ "Harry Potter-themed protest openly criticises Thai monarchy". ABC. 4 August 2020. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ "ประมวลชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 'เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ'" [Summary of demonstration Thammasat will not tolerate 'We do not want reforms; we want revolution' }language=th]. prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
- ↑ "The ten demands that shook Thailand". New Mandala (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2 September 2020. สืบค้นเมื่อ 2 September 2020.
- ↑ Crispin, Shawn W. (18 August 2020). "New generation of daring resistance in Thailand". Asia Times. สืบค้นเมื่อ 20 August 2020.
- ↑ "Thai PM says protesters' call for monarchy reform 'went too far'". aljazeera.com. สืบค้นเมื่อ 20 August 2020.
- ↑ "Protests continue to target Thai monarchy". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 21 September 2020.
- ↑ Reed, John. "#RepublicofThailand trends as protesters maintain push on monarchy". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
- ↑ "Getting Radical? Thai netizens call for the "Republic of Thailand"". thisrupt.co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-06. สืบค้นเมื่อ 2020-09-27.
- ↑ "โฆษกรัฐบาลเยอรมนีระบุ แจ้งทูตไทยหลายครั้งเรื่องการทรงงานในต่างแดน". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 12 October 2020.
- ↑ "While Germany doesn't have a functioning monarchy, it's home to one of Asia's richest". www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2021-01-09.
- ↑ Welle (www.dw.com), Deutsche. "Thailand's king living in luxury quarantine while his country suffers | DW | 01.05.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Thailand king cancels ceremonies as COVID surges". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ ""ศักดิ์ เจียม" อีกแล้ว! ปั้น "เฟกนิวส์" ในหลวงป่วย "เจี๊ยบ คอนถม" แค่ลือก็ดีใจ "ยุกติ" ถ้าไม่จริง แปลงเป็นสาปแช่ง". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 10 March 2022. สืบค้นเมื่อ 13 May 2021.
- ↑ "ในหลวง พระพลานามัยแข็งแรง ทรงสวดมนต์ เจริญพระกัมมัฏฐานเป็นประจำ". ประชาชาติธุรกิจ (ภาษาอังกฤษ). 15 March 2022. สืบค้นเมื่อ 21 May 2021.
- ↑ ""หลวงพ่อสุทัศน์" ยุติข่าวลือในหลวง "เหน็บเจ็บ" รับ โบว์-พิมรี่พาย สู่ "สภาสลิ่ม" อย่าแตะ! องครักษ์แม้วดิ้นพล่าน". เฟซบุ๊ก (ภาษาอังกฤษ). 15 March 2022. สืบค้นเมื่อ 21 May 2021.
- ↑ Staff, Reuters (2021-03-30). "Thai police charge politician for insulting king over vaccine remarks". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ Staff, Reuters (2021-01-19). "Thailand defends royal company's role in vaccine strategy". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ "Thailand government files lese-majesty suit against banned opposition leader". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-01-21.
- ↑ "แจ้งจับ ฮาร์ท สุทธิพงศ์ โดนคดี ม.112 โพสต์พาดพิงสถาบัน ยาเจ้านายขายไม่ออก". www.thairath.co.th. 2021-05-13.
- ↑ "ร.10 พระราชทานทรัพย์กว่า 2,852,144,487.59 ล.สมทบทุน-จัดหาอุปกรณ์แพทย์รับมือโควิด-19". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-27.
- ↑ "วันเฉลิมพระชนมพรรษา : สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระราชทาน "ถุงพระราชทานกำลังใจ"". บีบีซี. 5 March 2022. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
- ↑ "ในหลวงจะไม่มีวันทิ้งคนไทย". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 15 March 2022. สืบค้นเมื่อ 28 Juy 2021.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "โควิด-19 : ในหลวงพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยอีก 16 คัน แก่กระทรวงสาธารณสุข". บีบีซี. 5 March 2022. สืบค้นเมื่อ 7 June 2021.
- ↑ "แถลงการณ์สำนักพระราชวัง 17 ธันวาคม 2565" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-03-31. สืบค้นเมื่อ 2023-05-02.
- ↑ "แถลงการณ์สำนักพระราชวัง 26 ธันวาคม 2565" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-06. สืบค้นเมื่อ 2023-05-02.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการและพระราชทานพระยศทหาร
- ↑ ราชอาณาจักรสยาม, พระราชภาระหน้าที่ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าชายมหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[ลิงก์เสีย], http://www.kingdom-siam.org เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ กษัตริย์นักบิน, [1] เก็บถาวร 2020-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สุดสัปดาห์ (2 เมษายน 2562). "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กับพระปรีชาสามารถด้านการทหารและการบิน". สุดสัปดาห์ออนไลน์.
- ↑ [ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท, “รัชกาลที่ 9 กับ สยามมกุฎราชกุมาร”, กรุงเทพฯ, หน้า 198.]
- ↑ [สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ. “50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ. พระนครศรีอยุธยา : สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2545. หน้า 10. ]
- ↑ ผู้จัดการ (29 พฤษภาคม 2564). "ในหลวง-พระราชินี พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือชาวเนปาล ในภาวะวิกฤตโควิด-19". ผู้จัดการ.
- ↑ ไทยโพสต์ (4 พฤษภาคม 2564). "ในหลวง-พระราชินี พระราชทานเครื่องผลิตออกซิเจนและถังบรรจุก๊าซช่วยเหลือชาวอินเดีย". ไทยโพสต์.
- ↑ มติชน (3 กุมภาพันธ์ 2563). "ในหลวงพระราชทานเวชภัณฑ์ให้จีน นำส่งพร้อมเครื่องบินรับ 149 คนไทยกลับบ้าน". มติชน.
- ↑ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา". หน่วยราชการในพระองค์. 2023-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-10. สืบค้นเมื่อ 2023-05-10.
- ↑ โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์. ประวัติโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์. 2562.
- ↑ [พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” หน้า 43]
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์. ในหลวง ร.๑๐ พระราชทานเงินช่วยเหลือโรงเรียนในสังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1-5. 2564.
- ↑ › stories › 120170702-The-Education-Act "พระบรมราโชบายด้านการศึกษา". สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงห่วง 2 หนูน้อยเหยื่อโคลนถล่มเขาเบญจา ทำกำพร้า ทรงรับพระอุปภัมภ์". TLC News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-10. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงรับบุตรอิหม่ามยะโก๊บไว้ในพระอุปถัมภ์". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 29 สิงหาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ครอบครัว "หร่ายมณี" ซาบซึ้งพระเมตตาอุปถัมภ์การศึกษาทายาท". สำนักข่าวไทย. 29 สิงหาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ เอ็มไทย. ร.10 ทรงรับเด็กชายป่วยมะเร็ง เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์[ลิงก์เสีย]. 2561.
- ↑ กศภ.7 เผยความคืบหน้าทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2562
- ↑ "โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน (พ.ศ. 2552)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2019-10-15.
- ↑ ทุนพระราชทาน ม.ท.ศ.
- ↑ ไฟเขียว 100 ทุนให้นร.ทุน ม.ท.ศ.เรียนต่อ ป.โท
- ↑ ข้อมูลทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
- ↑ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน100ล้านแก่โรงพยาบาลศิริราช". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน 2,400 ล้านบาท ช่วย 27 โรงพยาบาลทั่วไทย". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีด้วยหัวใจังหวัด (2562, 29 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่มที่ 136, ตอนพิเศษ 217ง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ha.soc.go.th/DATA/PD F/2562/E/217/T_0001. PDF[ลิงก์เสีย]. (18 ตุลาคม 2562).
- ↑ "เกษตรวิชญา...เชียงใหม่ ธนาคารอาหารชุมชนยั่งยืน". www.thairath.co.th. 2020-07-29.
- ↑ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ปีที่ 61 ฉบับที่ 21143 วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 1, 12[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- ↑ "พระราชทานของ 'ช่วยลาว' ขนขึ้นเครื่องบินซี-130 พบ 26 ศพหายอีก 131 คน". www.thairath.co.th. 2018-07-26.
- ↑ "พระเมตตา ร.10 พลิกชีวิตร้านข้าวต้มเมืองนราฯ ยืนหยัดสู้ต่อที่ชายแดนใต้". www.thairath.co.th. 2019-05-08.
- ↑ "พระองค์ทรงเยี่ยมประชาชนที่ประสบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดนราธิวาส". 9 May 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-11. สืบค้นเมื่อ 2019-11-11.
- ↑ ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี (28 August 2019). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่มที่ 136, ตอนพิเศษ 125 ง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/215/T_0004.PDF
- ↑ สำนักสภาสถาบันราชภัฏ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา, 2545. หน้า 54-54.
- ↑ "'ปั่นเพื่อแม่' ถวายแด่ราชินี". www.thairath.co.th. 2015-06-19.
- ↑ "วันแห่งประวัติศาสตร์ "ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD"". www.thairath.co.th. 2015-12-13.
- ↑ "กษัตริย์นักกีฬา รัชกาลที่ 10 Bike for Mom-Bike for Dad". www.thairath.co.th. 2016-12-03.
- ↑ "พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ คณะนักเรียนเยาวชนจิตอาสา Love Camp". ณ ลานรวมพลแปลงที่ 3 ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2563
- ↑ จากฟ้าสู่เหว ย้อนชีวิต “คนทำผิด” ใกล้ชิดเบื้องสูง บีบีซีไทย. 6 มีนาคม 2017
- ↑ สกุลไทย: 7 สิงหาคม 2533[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- ↑ ราชอาณาจักรสยาม, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าชายมหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[ลิงก์เสีย], http://www.kingdom-siam.org เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยากรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เก็บถาวร 2019-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 82, ตอน 111 ง ฉบับพิเศษ, 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508, หน้า 12
- ↑ 168.0 168.1 168.2 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 90, ตอน 10 ง ฉบับพิเศษ, 26 มกราคม พ.ศ. 2516, หน้า 18
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 93, ตอน 80 ง, 1 มิถุนายน พ.ศ. 2519, หน้า 1351
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ปฐมดิเรกคุณภรณ์ จำนวน 8 พระองค์) เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 112, ตอน 17 ข เล่มที่ 003, 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ), เล่ม 105, ตอน 95 ง ฉบับพิเศษ, 15 มิถุนายน พ.ศ. 2531, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ (พันเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร) , เล่ม 104, ตอน 6 ง ฉบับพิเศษ, 14 มกราคม พ.ศ. 2530, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน (ชั้นที่ 1 แด่ พันเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร), เล่ม 104, ตอน 52 ง ฉบับพิเศษ, 20 มีนาคม พ.ศ. 2530, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม 84, ตอน 87 ง ฉบับพิเศษ, 15 กันยายน พ.ศ. 2510, หน้า 22
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา แด่ พลโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามาหวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร , เล่ม 105, ตอน 210 ง ฉบับพิเศษ, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2531, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 69, ตอน 69 ง ฉบับพิเศษ, 18 พฤษศจิกายน พ.ศ. 2495, หน้า 1
- ↑ "Немеркнущие заслуги в развитии отношений между КНДР и Таиландом". Сайта МИД КНДР. 2022-03-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 2023-01-19.
- ↑ "ไทย - เปรู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadlink=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help) - ↑ ราชอาณาจักรสยาม, พระยศทหารของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าชายมหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[ลิงก์เสีย], http://www.kingdom-siam.org เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 180.0 180.1 180.2 180.3 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการและพระราชทานพระยศทหาร พลโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, เล่ม 109, ตอน 18 ง ฉบับพิเศษ, 31 มกราคม พ.ศ. 2535, หน้า 1
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (พันโท นาวาโท นาวาอากาศโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร), เล่ม 98, ตอน 127 ง ฉบับพิเศษ, 6 สิงหาคม พ.ศ. 2524, หน้า 2
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 99 (ตอน 4 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 14 มกราคม 2525. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-27. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งผู้บังคับการพิเศษ [พันเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร]
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็น พลโท พลเรือโท พลอากาศโท, เล่ม 105, ตอน 175 ง ฉบับพิเศษ, 27 ตุลาคม พ.ศ. 2531, หน้า 1
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (พลโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ [พลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (พลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน "โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม"
- ↑ ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง เปลี่ยนแปลงชื่อวัด (วัดเขื่อนเขาแหลม เป็น วัดเขื่อนวชิราลงกรณ)
- ↑ พระราชบัญญัติ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ. 2539[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 พ.ศ. 2555, เล่ม 129, ตอนที่ 66 ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา เรื่อง เหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 พ.ศ. 2562, เล่ม 136, ตอนที่ 54, 23 เมษายน พ.ศ. 2562, หน้า 1
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2558. 452 หน้า. ISBN 978-616-283-248-2
- สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. การพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พุทธศักราช 2521. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2546. 480 หน้า. ISBN 974-9545-42-7
แหล่งข้อมูลอื่น
- หน่วยราชการในพระองค์ เก็บถาวร 2019-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระราชประวัติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ เก็บถาวร 2016-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช | พระมหากษัตริย์ไทย (13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน) |
ยังอยู่ในราชสมบัติ | ||
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ | สยามมกุฎราชกุมาร (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) |
ว่าง |