อำเภอเวียงสระ
เวียงสระ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คนภาคใต้ส่วนใหญ่จะเรียกว่า บ้านส้อง โดยอำเภอเวียงสระเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา การสาธารณสุข การค้าและทางเศรษฐกิจของสุราษฎร์ธานีตอนใต้ และบางอำเภอในนครศรีธรรมราชทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เทศบาลตำบลบ้านส้อง(บ้านส้อง)
อำเภอเวียงสระ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Wiang Sa |
เรียงจากซ้ายไปขวา : วัดทุ่งหลวง, เทวสถานเมืองโบราณเวียงสระ วัดเวียงสระ, อ่างเก็บน้ำบางลาย | |
คำขวัญ: ชุมชนเมืองโบราณ สืบสานศรีวิชัย ตลาดใหญ่การค้า ยางพาราชั้นดี มากมีไม้ผล ผู้คนมีน้ำใจ | |
แผนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เน้นอำเภอเวียงสระ | |
พิกัด: 8°37′47″N 99°20′35″E / 8.62972°N 99.34306°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สุราษฎร์ธานี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 427.6 ตร.กม. (165.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2565) | |
• ทั้งหมด | 62,188 คน |
• ความหนาแน่น | 143.43 คน/ตร.กม. (371.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 84190 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 8415 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเวียงสระ หมู่ที่ 8 ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84190 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ภูมิศาสตร์
แก้อำเภอเวียงสระเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 69 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 693 กิโลเมตร มีพื้นที่ 427.6 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 3.30 ของพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปร่างคล้ายกับสี่เหลี่ยมคางหมู จัดได้ว่าเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดกลางของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลเวียงสระ[1]
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอเวียงสระตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านนาสาร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพิปูนและอำเภอฉวาง (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอถ้ำพรรณรา (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพระแสงและอำเภอเคียนซา
ภูมิประเทศ
แก้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเวียงสระเป็นที่ราบแนวยาวทางทิศตะวันออกและเป็นภูเขา ทิศใต้เป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม มีลำคลองเล็ก ๆ ไหลผ่านหลายสาย ส่วนทางทิศตะวันตกติดต่อกับแม่น้ำตาปี พื้นที่ประมาณร้อยละ 95.14 เหมาะแก่การทำการเกษตร อีกประมาณร้อยละ 4.96 เป็นภูเขาและป่าไม้เบญจพรรณ แต่ถึงแม้ว่าพื้นที่ของอำเภอเวียงสระจะเหมาะแก่การทำเกษตร แต่ระบบชลประทานยังไม่ดีพอสมควร ทำให้พืชผลทางการเกษตรยังไม่ได้ผลเต็มที่ เกษตรกรยังอาศัยน้ำฝนในการปลูกพืช นอกจากนั้นยังมีพื้นที่อีกจำนวนมาก ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำตาปี ยังไม่ได้ปรับปรุงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่[2]
ภูมิอากาศ
แก้ลักษณะภูมิอากาศชุ่มชื้น อบอุ่น แบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ตลอดปีจะแบ่งเป็นฤดูฝน 9 เดือน คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมกราคม และฤดูร้อน 3 เดือน แต่ฤดูร้อนจะมีฝนตกประปรายเสมอ[2]
ประวัติ
แก้ท้องที่อำเภอเวียงสระเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านนาสาร ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองอำเภอบ้านนาสาร ออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเวียงสระ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม ปีเดียวกัน[3]
และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร ขึ้นเป็น อำเภอเวียงสระ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[4]
- วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2511 แยกพื้นที่ตำบลเวียงสระ และตำบลทุ่งหลวง อำเภอบ้านนาสาร มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเวียงสระ ขึ้นการปกครองกับอำเภอบ้านนาสาร[3]
- วันที่ 25 มิถุนายน 2511 จัดตั้งสุขาภิบาลเวียงสระ ในท้องที่บางส่วนของตำบลเวียงสระ[5]
- วันที่ 2 กันยายน 2512 ตั้งตำบลบ้านส้อง แยกออกจากตำบลเวียงสระ และตั้งตำบลคลองฉนวน แยกออกจากตำบลทุ่งหลวง[6]
- วันที่ 16 พฤศจิกายน 2514 ยกฐานะกิ่งอำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร เป็น อำเภอเวียงสระ[4]
- วันที่ 1 สิงหาคม 2521 ตั้งตำบลเขานิพันธ์ แยกออกจากตำบลคลองฉนวน[7]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลเวียงสระ เป็นเทศบาลตำบลเวียงสระ[8] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 6 มิถุนายน 2550 จัดตั้งศาลจังหวัดเวียงสระ ในท้องที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเขตตลอดท้องที่อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอชัยบุรี อำเภอบ้านนาสาร และอำเภอพระแสง[9][10]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอเวียงสระแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 64 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | แผนที่ |
---|---|---|---|---|
1. | เวียงสระ | Wiang Sa | 10
|
|
2. | บ้านส้อง | Ban Song | 18
| |
3. | คลองฉนวน | Khlong Chanuan | 12
| |
4. | ทุ่งหลวง | Thung Luang | 16
| |
5. | เขานิพันธ์ | Khao Niphan | 8
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอเวียงสระประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเวียงสระ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเวียงสระและตำบลบ้านส้อง
- เทศบาลตำบลบ้านส้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านส้อง (นอกเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ)
- เทศบาลตำบลเขานิพันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขานิพันธ์ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลทุ่งหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลเมืองเวียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเวียงสระ (นอกเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ)
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองฉนวน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองฉนวนทั้งตำบล
เศรษฐกิจ
แก้ถึงแม้อำเภอเวียงสระจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลเวียงสระ แต่ตำบลบ้านส้องเป็นตำบลที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในอำเภอเวียงสระ[11]
ลักษณะเศรษฐกิจของตำบลบ้านส้อง
- เนื่องด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของตำบลบ้านส้อง ทำให้ศูนย์กลางของเศรษฐกิจอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบลเนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4009 ทำให้ร้านค้าห้างสรรพสินค้าต่างๆจึงกระจุกตัวอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของตำบลบ้านส้อง
- ทางทิศตะวันออกของตำบลบ้านส้องส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบสูงและภูเขาทำให้ทางฝั่งทิศตะวันออกจะเป็นเศรษฐกิจแบบการเกษตรมากกว่าโดยส่วนใหญ่จะปลูก ทุเรียน ยางพารา ปาลม์ ซึ่งตำบลบ้านส้องมีเศรษฐกิจโดยพึ่งการเกษตรเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาต่างๆที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของตำบลบ้านส้อง
- ภัยแล้ง ในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ตำบลบ้านส้องประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเนื่องจากฝนแล้ง ทำให้คลองและคูเขื่อนไม่มีน้ำเนื่องจากไม่มีน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ส่งผลให้เศรษฐกิจด้านการเกษตรได้รับผลกระทบเป็นอย่างหนักโดยเฉพาะ ยางพารา ทุกเรียน และปาลม์ ต้นไม้ด้านเกษตรของชาวสวนล้มตายตามๆกันไปเนื่องจากขาดน้ำ ทำให้เศรษฐกิจของตำบลบ้านส้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก
- สภาพภูมิศาสตร์ ตำบลบ้านส้องมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายสำหรับทางทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศเหนือเป็นที่ราบลุ่มอยู่ใกล้แม่น้ำตาปี มีแม่น้ำคลองตาลไหลผ่านจึงเหมาะแก่การพัฒนาเมืองและการเกษตร แต่พื้นที่ทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบสูงภูเขา มีหมู่บ้านหลายหมู่บ้านที่อยู่ในเขตนี้ทำให้โครงสร้างพื้นฐานบางส่วนอาจยังไม่พัฒนาได้ดีพอ แต่ในปัจจุบันปัญหาด้านนี้แทบจะไม่เหลือให้เห็นมากนักเนื่องจากบ้านน้องมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
การคมนาคม
แก้ทางถนน
แก้- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 สายสี่แยกปฐมพร–พัทลุง
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4009 สายบางใหญ่–อ่าวลึก
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4015 สายบ้านตาล–บ้านส้อง
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4035 สายนาชุมเห็ด–โคกมะพร้าว
ทางรถไฟ
แก้- สถานีรถไฟบ้านส้อง เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ของทางรถไฟสายใต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านส้อง
- สถานีรถไฟบ้านพรุกระแชง เป็นสถานีรถไฟชั้น 3 ของทางรถไฟสายใต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านส้อง
กีฬา
แก้อำเภอเวียงสระมีสโมสรฟุตบอลอาชีพ ได้แก่ เอ็มเอชคอน สุราษฎร์ฯ ซิตี้ ซึ่งปัจจุบันแข่งขันในไทยลีก 3 โซนภาคใต้
อ้างอิง
แก้- ↑ Moows. "เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเวียงสระ: ข้อมูลทั่วไป อ.เวียงสระ". เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเวียงสระ.
- ↑ 2.0 2.1 Moows. "เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเวียงสระ: ข้อมูลทั่วไป อ.เวียงสระ". เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเวียงสระ.
- ↑ 3.0 3.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (24 ง): 797. March 12, 1968. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
- ↑ 4.0 4.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอปลาปาก อำเภอเชียงกลาง อำเภอปากชม อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอดอนสัก อำเภอพนม อำเภอเวียงสระ อำเภอสังคม และอำเภอหัวตะพาน พ.ศ. ๒๕๑๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (123 ก): 745–748. November 16, 1971. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-24. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเวียงสระ กิ่งอำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (57 ง): 1843–1844. June 25, 1968.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 86 (78 ง): 2643–2648. September 2, 1969.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเวียงสระ และอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (76 ง): 2456–2460. August 1, 1978.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (26 ก): 14–16. June 6, 2007.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลจังหวัดเวียงสระ พ.ศ. ๒๕๕๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 130 (30 ก): 24–25. March 29, 2013.
- ↑ "เทศบาลตำบลบ้านส้อง", วิกิพีเดีย, 2024-06-30, สืบค้นเมื่อ 2024-06-30