พระที่นั่งอัมพรสถาน

พระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังดุสิต

พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระราชวังดุสิต ปัจจุบันเป็นพระที่นั่งที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พระที่นั่งอัมพรสถาน
Amphorn Sathan Throne Hall
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ก่อนการบูรณะในปี 2543
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่ง
สถาปัตยกรรมอาร์ต นูโว
แขกมัวร์
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2445
ปรับปรุงพ.ศ. 2543
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างอาคาร 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองงาช้าง หลังคามุงกระเบื้องสีเทา
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกคาร์ล ซันเดรสกี

ประวัติ

แก้

พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในปีเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นอีกองค์หนึ่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า สวนแง่เต๋ง (แปลว่า สีงา) และทรงตั้งนามให้พระที่นั่งองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน

พระสถิตย์นิมานการ (ม.ร.ว. ชิด อิศรศักดิ์) เจ้ากรมโยธาธิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างอยู่หลายปี ครั้นถึง ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ต่อมาคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)มารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างพระที่นั่งต่อมาจนเสด็จในปีนั้นและการเฉลิมพระที่นั่งนั้น เป็นงานใหญ่ตั้งแต่วันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) แต่ที่จริงโหรทำนายว่าควรจะเอาเป็นวันในปลายเดือนธันวาคม แต่มิโปรดเนื่องจากอากาศนั้นหนาวเย็น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)เสด็จสวรรคตที่ชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6)และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7)เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ ได้ประทับแค่เพียงชั้น 2 เท่านั้น เพราะชั้น 3 ถือว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9)ภายหลังเสด็จฯ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร ได้ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 10), สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนอกจากนี้ยังเป็นสถานที่พระประสูติกาลของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

และในปัจจุบันพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

สถาปัตยกรรม

แก้

พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น ผังอาคารเป็นรูปตัว H คือมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลังวางขนานกันในแนวทิศเหนือและทิศใต้เชื่อมต่อด้วยอาคารในแนวดิ่งสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) ผสมแขกมัวร์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือพระที่นั่งอัมพรสถาน และพระที่นั่งอุดรภาคเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทั้งชั้นบนและชั้นล่างลักษณะเด่นอยู่ตรงที่มุขด้านหน้า 2 ข้างซึ่งทำเป็นผนังโค้งเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นระเบียงหุ้มพื้นที่ภายในผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ ประยุกต์เข้ากับรูปทรงเลขาคณิต ขอบบนประตูหน้าต่างเป็นลวดลายแถบยาวรูปพรรณพฤกษาในแบบสีปูนเปียกคาดรอบตึก นอกจากนี้ยังมีราวระเบียงและลูกกรงที่ทำจากโลหะเป็นลายเรขาคณิตประกอบดอกไม้และโลหะ ผนังภายในอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและการเขียนสีปูนแห้งลายพรรณพฤกษาและปักษา ซึ่งวาดโดย ซีซาร์เร เฟร์โร ศิลปินชาวอิตาเลียน

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

แก้

ปัจจุบัน ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ เช่น

  1. พระชัยนวรัตน์
  2. พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร เดิมประดิษฐานอยู่ ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
  3. พระพุทธนรสีห์
  4. พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย เดิมประดิษฐานอยู่ที่ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง
  5. พระคันธารราษฎร์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่ หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ห้องพระป้าย

แก้

พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระป้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ซึ่งพระป้ายนั้นเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราชพระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระมีลักษณะคล้ายกับเทวรูปพระสยามเทวาธิราช

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°46′21″N 100°30′41″E / 13.772477°N 100.511422°E / 13.772477; 100.511422