กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์[4] (อักษรย่อ: ร.1 ทม.รอ.) มีชื่อเต็มว่า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมทหารรักษาพระองค์ สังกัดกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ แบ่งออกเป็น 3 กองพัน ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ กรมนี้เป็น 1 ใน 2 หน่วยของกองทัพไทย ที่มีชื่อต่อท้ายว่า มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (อีก 1 กรมคือกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) หน่วยนี้ก่อตั้งครั้งแรกโดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี 2402 ขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ บทบาทหลักประการหนึ่งของกรมทหารคือการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองสมาชิกราชวงศ์ไทยในพระราชพิธีและรักษาการณ์ในพระบรมมหาราชวังประเทศไทย กรมทหารกรมนี้นับเป็นกรมทหารที่เก่าแก่ที่สุดของกองทัพบกไทย

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
"ตราราชวัลลภ"
เครื่องหมายราชการแห่งกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
ประจำการพ.ศ. 2411
ประเทศ ไทย
เหล่า กองทัพบกไทย
รูปแบบราชองครักษ์
บทบาท​ทหารราบ
กำลังรบกรม
กองบัญชาการแขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร 10400
สีหน่วยแดง-ขาว
เพลงหน่วยมาร์ชราชวัลลภ
วันสถาปนา11 พฤศจิกายน
ปฏิบัติการสำคัญกรณีพิพาทอินโดจีน
สงครามมหาเอเชียบูรพา
สงครามเกาหลี
สงครามเวียดนาม
อิสริยาภรณ์ เหรียญกล้าหาญ (เฉพาะกองพันที่ 2)[1]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1[2]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1[3]

การจัดกำลังหน่วย แก้

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.1 ทม.รอ.) จัดแบ่งกำลังพลภายในหน่วยออกเป็น 3 กองพัน โดยชื่อกองพันเรียกนามหน่วยว่ากรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

ภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบ แก้

 
กองทหารมหาดเล็กกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่แซงเสด็จถวายการอารักขา ในระหว่างที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินตามพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภารกิจดังต่อไปนี้

  1. ทำลายกำลังรบของข้าศึก เข้ายึดและควบคุมพื้นที่ รวมทั้งประชาชน และ ทรัพยากรในพื้นที่
  2. การรักษาความสงบภายใน ป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ, ระวังป้องกันสถานที่ตั้ง และบุคคลสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ
  3. การป้องกันประเทศ จากการรุกรานภายนอก
  4. การปฏิบัติการจิตวิทยา และช่วยเหลือประชาชน เสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่าง ทหาร กับ ประชาชน

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 จึงมีภารกิจนอกเหนือไปจากหน่วยทหารราบอื่นด้วย กล่าวคือ การถวายความปลอดภัย และถวายพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พระรัชทายาท, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยใกล้ชิด โดยหน้าที่ของหน่วยทหารตามภารกิจดังกล่าวคือ การรับเสด็จ การแซงเสด็จ การนำเสด็จ การตามเสด็จ และการรักษาการณ์

ประวัติหน่วย แก้

 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้พระราชทานกำเนิดกิจการทหารรักษาพระองค์ของไทย ในฉลองพระองค์ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับกิจการทหารรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของไทย กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหาร ตามยุทธวิธีแบบใหม่เช่นเดียวกับกรมทหารหน้า ซึ่งในชั้นแรกนั้นมี 12 คน และให้ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จฯ ณ ที่นั้นทุกเวลาเช้า มหาดเล็กเหล่านี้เรียกกันทั่วไปว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา”

ปลายปี พ.ศ. 2411 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไปแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง เรียกว่า ทหารสองโหล มีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิมแต่ในตอนเช้าและตอนเย็นต้องมารับการฝึกทหาร

พ.ศ. 2413 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ทำการคัดเลือกบรรดาบุตรในราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด และตามเสด็จในเวลาเสด็จประพาสหัวเมือง ในชั้นนี้คัดเลือกไว้ 48 คน เมื่อรวมทหารมหาดเล็ก 2 โหลเดิมด้วยแล้ว จึงมีทหารมหาดเล็กทั้งหมด 72 คน

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางขึ้น จำนวนทหารที่มีอยู่เดิมจึงไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น ในการนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้นำบุตรชาย คือ นายเจิม ชูโต (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) เข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยสมัครเป็นตัวอย่างคนแรก (เนื่องจากสมัยนั้นคนไทยไม่นิยมเป็นทหาร) ทำให้มีจำนวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และที่เป็นเด็ก เพราะทุกคนต่างก็เห็นและรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลในการที่บุตรหลานของตนได้เข้ารับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยทหารมหาดเล็กออกเป็น 2 กองร้อย และขยายเป็น 6 กองร้อยในเวลาต่อมา พร้อมทั้งจัดระเบียบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนมั่นคงดีขึ้น และได้ทรงขนานนามหน่วยนี้เสียใหม่ว่า "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" (ราชวัลลภ หมายถึง ผู้เป็นที่รัก สนิท คุ้นเคยของพระราชา) ในปี พ.ศ. 2414

ปลาย พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งทหารในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์จากทุกกองร้อยทำการฝึกการใช้ปืนกล ซึ่งได้นำเข้ามาประจำการครั้งแรก 10 กระบอก และจัดตั้งเป็น “กองปืนกล” ในการบังคับบัญชาของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในการบังคับบัญชากับกรมแสง (กรมสรรพาวุธทหารบกในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารม้าขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นับเป็นการสถาปนากิจการทหารม้าในประเทศไทย

พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารช่างขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทั้งยังได้ดำเนินการ ฝึกหัดวิชาแผนที่ขึ้นในกองทหารช่างนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นกิจการทหารช่างและกิจการแผนที่ทหารในเมืองไทยด้วย

พ.ศ. 2420 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ลงวันศุกร์ เดือน 9 ขึ้นค่ำ 1 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1239 เพื่อให้การจัดหน่วยเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพเป็นแบบแผนเดียวกัน โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม และทรงตั้งผู้รับพระบรมราชโองการมาสั่งการแก่ทหาร และนำกิจการในโรงทหารขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา

พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหารขึ้น โดยรวมทหารบก ทหารเรือ ตั้งเป็นกรมหนึ่ง เรียกว่า “กรมยุทธนาธิการ” กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของกรมและวิธีการปกครองเป็นอย่างใหม่ให้เป็นเพียงกองพันทหารราบกองหนึ่ง เรียกว่า “กองทหารราบใน มหาดเล็กรักษาพระองค์” และให้ พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (แต่เมื่อครั้งยังเป็น กรมหมื่น และ พันตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้บังคับการกรมทหารล้อมวัง) ดำรงพระยศเป็น พันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมหาดเล็กที่จัดใหม่ เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บังคับการกรมคนใหม่แล้ว จึงเลิกตำแหน่งผู้รับพระบรมราชโองการในกรมนี้ตั้งแต่นั้นมา

ครั้นถึง พ.ศ. 2435 กรมยุทธนาธิการได้ดำเนินการจัดระเบียบหน่วยทหารใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดให้มี พระราชพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลใหญ่รูปตราแผ่นดินพื้นสีแดงแก่กองทหารให้เป็นแบบเดียวกันทุกหน่วย

พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประทับที่พระราชวังดุสิตเป็นการถาวร กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จึงจัดให้กองร้อยที่ 3 ไปประจำอยู่ ณ ที่นั้นทั้งกอง และได้พระราชทานนามหน่วยใหม่ว่า “กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์”

23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า “ควรจะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลป์ปาวศานต์" จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกรมทหารนี้ว่า “กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ ให้มีเครื่องหมายเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่อินธนูทหารในกรมนี้ทั่วไป

ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 7 กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการเปลี่ยนนามหน่วยโดยตัดคำว่า “บก” ออก เป็น “กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และปรับอัตรากำลังพลเป็น 1 กองพัน กองพันละ 1 กองร้อย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ ก็ได้ย้ายเข้าที่ตั้งแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ จังหวัดพระนคร

18 มกราคม พ.ศ. 2562 หน่วยได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

23 เมษายน พ.ศ. 2562 ประกาศราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งชื่อหน่วยเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (เฉพาะกองบังคับการ)[5]

4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหน่วยได้เปลี่ยนนามใหม่อีกครั้งเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

30 กันยายน พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนดที่กำหนดให้โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปเป็นของ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พร้อมกับ กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยให้มีผลบังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562[6]

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ประจำหน่วย แก้

สำหรับหน่วยขึ้นตรงทุกหน่วย (ยกเว้นกองพันที่ 3) แก้

 
การแต่งกายเต็มยศของทหารในสังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2555)

ในช่วงที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ยังใช้ชื่อว่ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้หน่วยขึ้นตรงทั้งหมด ยกเว้นกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เครื่องแบบเต็มยศดังนี้

  • หมวก หมวกยอดสีขาว มีพู่สีดำ หน้าหมวกมีตราราชวัลลภ ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
  • เสื้อ สักหลาดหรือเสิร์จสีแดง ปลอกคอโดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ ปลอกคอด้านบนมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 7 ดุม ที่ดุมมีอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ที่บ่ามีอินทรธนูอ่อน ขัดดุมสีทองขนาดเล็ก
  • คันชีพ สายสะพาย ทำด้วยหนังสีขาว
  • เข็มขัด ทำด้วยหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีตราเครื่องหมายกองทัพบกดุนนูน
  • กางเกง สักหลาดหรือเสิร์จสีดำ ที่แนวตะเข็บข้างมีแถบสักหลาดสีแดง 1 แถบ กว้าง 1 ซม.
  • รองเท้า หุ้มข้อหนังสีดำ
  • กระเป๋าคันชีพ ทำด้วยหนังสีขาว มีตราราชวัลลภทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ฝากระเป๋า
  • ชายเสื้อด้านหลัง มีดุมโลหะสีทองขนาดกลางข้างละ 1 ดุม
  • แขนเสื้อด้านข้าง ปลอกข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ มีแถบ 3 แถบ ทำด้วยไหมสีเหลือง 2 แถบ ไหมสีขาวอยู่กลาง 1 แถบ ด้านบนเป็นรูปสามเหลี่ยม ปักอักษรไขว้กันด้วยไหมสีเหลืองและสีขาวเป็นตัวอักษร สพปมจ.

ต่อมาเมื่อมีการแปรสภาพหน่วยเป็นกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการปรับปรุงเครื่องแบบเต็มยศของหน่วยขึ้นตรงของ ทม.รอ.1 ทั้งหมด ยกเว้นกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ดังนี้

  • หมวก หมวกยอดสีขาว มีพู่สีดำ หน้าหมวกมีตราพระราชลัญจกร ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
  • เสื้อ สักหลาดหรือเสิร์จสีแดง ปลอกคอโดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ ปลอกคอด้านบนมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 7 ดุม ที่ดุมมีอักษรพระปรมาภิไธยอ วปร. ที่บ่ามีอินทรธนูอ่อน ขัดดุมสีทองขนาดเล็ก
  • คันชีพ สายสะพาย ทำด้วยหนังสีขาว
  • เข็มขัด ทำด้วยหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีตราเครื่องหมายกองทัพบกดุนนูน
  • กางเกง สักหลาดหรือเสิร์จสีดำ ที่แนวตะเข็บข้างมีแถบสักหลาดสีแดง 1 แถบ กว้าง 1 ซม.
  • รองเท้า หุ้มข้อหนังสีดำ
  • กระเป๋าคันชีพ ทำด้วยหนังสีขาว มีตราพระราชลัญจกรทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ฝากระเป๋า
  • ชายเสื้อด้านหลัง มีดุมโลหะสีทองขนาดกลางข้างละ 1 ดุม
  • แขนเสื้อด้านข้าง ปลอกข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ มีแถบ 3 แถบ ทำด้วยไหมสีเหลือง 2 แถบ ไหมสีขาวอยู่กลาง 1 แถบ ด้านบนเป็นรูปสามเหลี่ยม ปักอักษรด้วยไหมสีเหลืองเป็นอักษรพระปรมาภิไธย วปร.

สำหรับกองพันที่ 3 แก้

 
การแต่งกายเต็มยศของทหารในสังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2555)

เนื่องจากกองพันที่ 3 เป็นหน่วยทหารที่แปรสภาพมาจากกรมทหารรักษาวังในรัชกาลที่ 6 จึงมีเครื่องแบบประจำกองพันของตนโดยเฉพาะ ซึ่งสืบทอดมาจากเครื่องแบบของกรมทหารรักษาวัง วปร. ดังนี้

  • หมวกยอดมีพู่สีบานเย็น ตราพระราชลัญจกร
  • เสื้อคอปิดสีขาว แผงคอและข้อมือสักหลาดสีบานเย็น
  • ปลอกข้อมือปักรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏเปล่งรัศมีสีทอง
  • กางเกงสักหลาดสีดำ แถบสีบานเย็นข้างละ 2 แถบ รองเท้าหนังหุ้มข้อสีดำ
  • เครื่องหมาย : อักษรพระปรมาภิไธยอ วปร. ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา

รายพระนาม/รายนามผู้บังคับการกรม แก้

ลำดับ รูป รายพระนาม/รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1   จอมพล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2411 พ.ศ. 2416 ทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอกผู้บังคับการพิเศษแห่งกองทหารราบมหาดเล็กรักษาพระองค์
2   นายพันโท เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) พ.ศ. 2416 พ.ศ. 2422 -
3   นายพันโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พ.ศ. 2422 พ.ศ. 2428 พระอิสริยยศสุดท้ายคือ จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
4   นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พ.ศ. 2428 พ.ศ. 2435 พระอิสริยยศสุดท้ายคือ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
5   นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พ.ศ. 2435 พ.ศ. 2435 พระอิสริยยศสุดท้ายคือ นายพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
6   นายพันโท จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ (อ๊อด ศุภมิตร) พ.ศ. 2435 พ.ศ. 2439 ยศและบรรดาศักดิ์สุดท้ายในการรับราชการ คือ พระตำรวจเอก นายพลตรี เจ้าพระยาราชศุภมิตร
7   นายพันโท พระราญรอนอริราช (เพิ่ม ภูมิประภาส) พ.ศ. 2439 พ.ศ. 2441 บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ พระนราธิราชภักดี
8   พันโท พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช พ.ศ. 2441 พ.ศ. 2444 พระอิสริยยศสุดท้ายคือ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
9   พลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2453 พระอิสริยยศเมื่อเสวยราชสมบัติคือ จอมพล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
10   จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ. 2453 พ.ศ. 2462 พระยศสุดท้ายคือ จอมพล
11   พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) พ.ศ. 2462 พ.ศ. 2469 -
12   จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2475 -
13   พันเอก หลวงไกรชิงฤทธิ (กร ไกรชิงฤทธิ) พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2486 -
14   พันเอก ชะลอ นันทเสนีย์ พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2488 -
15   พันเอก เชื้อ พลอยมีค่า พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2488 -
16   พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2491 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล
17   พันเอก บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2491 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท
18   พันเอก ประภาส จารุเสถียร พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2494 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล
19   พันเอก ขุนชิตผะดุงผล (พิชิต ชิตอรุณ) พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2496 -
20   พันเอก กฤษณ์ สีวะรา พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2500 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
21   พันเอก เกรียงไกร อัตตะนันทน์ พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2503 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล
22   พันเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ พ.ศ. 2503 พ.ศ. 2507 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก
23   พันเอก เอื้อม จิรพงศ์ พ.ศ. 2507 พ.ศ. 2512 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก
24   พันเอก จิตต์กวี เกษะโกมล พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2515 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก
25   พันเอก พัฒน์ อุไรเลิศ พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2516 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท
26   พันเอก อร่าม ศรีอักขรินทร์ พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2519 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลตรี
27   พันเอก สุธี บุญวัฒนะกุล พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2520 -
28   พันเอก จาป เอี่ยมศิริ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2521 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท
29   พันเอก สุเทพ สีวะรา พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2523 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก
30   พันเอก ปรีดี รามสูต พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2524 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พันเอก (พิเศษ) ถึงแก่กรรม
31   พันเอก ศัลย์ ศรีเพ็ญ พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2525 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก
32   พันเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2528 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
33   พันเอก สมภพ อัตตะนันทน์ พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2533 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
34   พันเอก ภิรมย์ ตังครัตน์ พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2536 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
35   พันเอก ฤทธิชัย เถาทอง พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2538 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลโท
36   พันเอก จิระเดช โมกขะสมิต พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2542 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
37   พันเอก รณยุทธ ฤทธิฦาชัย พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2543 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
38   พันเอก พฤณท์ สุวรรณทัต พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2544 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
39   พันเอก นพดล เจริญพร พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2545 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
40   พันเอก ชำนิ รักเรือง พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2546 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
41   พันเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2548 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
42   พันเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2549 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
43   พันเอก วราห์ บุญญะสิทธิ์ พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2551 ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก
44   พันเอก ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2553 ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลโท
45   พันเอก พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ พ.ศ. 2553 พ.ศ. 2555 ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลเอก
46   พันเอก เอกรัตน์ ช้างแก้ว พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2557 ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลตรี
47   พันเอก อาสาศึก ขันติรัตน์ พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2561 -
48   พันเอก พงศกร อาจสัญจร พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน -


อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงชัยเฉลิมพล. เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ง, ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔,หน้า ๙๑๓.
  2. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงไชยเฉลิมพล. เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ง, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๖๑๘.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงชัยเฉลิมพล. เล่ม ๗๐, ตอน ๗๖ ง, ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖, หน้า ๕๑๙๓.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
  6. พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๒
  • ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา) . หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ: กรีนแมคพาย, 2547.2537,2527,2517,2507,24972487,2477,2467,พระราชวังและพระบรมมหาพระราชวังและกรมทหารพระราชวังไทยโดยได้รับพระบรมราชานุญาตแห่งพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชยศหม่อมราชวงศ์พระเจ้าฟ้าชายสุริยะสุริยุปจักรวาลพระเจ้าจักรวาลพระราชวงศ์จักรีแห่งสยามราชและไทยหม่อมราชวงศ์พระเจ้าฟ้าชายพระกษัตริย์ตราอุดมสู้เหิมจักรวาลล้านล้านจักรวาลพระเจ้าจักรวาลล้านล้านจักรวาลทรงพระเจริญ
  • สมุดภาพเครื่องแบบทหารบก กรมกำลังพลทหารบก พ.ศ. 2541
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′32″N 100°33′11″E / 13.775665°N 100.553124°E / 13.775665; 100.553124