ส.พลายน้อย
ส.พลายน้อย หรือชื่อจริง สมบัติ พลายน้อย (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565) เป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประเพณี สังคมไทยด้านต่าง ๆ ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2553[4]
สมบัติ พลายน้อย | |
---|---|
เกิด | 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 (93 ปี) โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร[1] ประเทศไทย |
นามปากกา | ส. พลายน้อย, โสมทัต เทเวศร์[2] |
อาชีพ | นักเขียน, ข้าราชการพลเรือน |
สัญชาติ | ไทย |
แนว | สารคดี, นิทาน, ชีวประวัติ, สารานุกรม |
ผลงานที่สำคัญ | พฤกษนิยาย, ยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยายผู้ชนะสิบทิศ, สัตว์หิมพานต์, อัญมณีนิยาย, เกิดในเรือ[3] |
รางวัลสำคัญ | ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (พ.ศ. 2553)[4], นักเขียนอมตะ (พ.ศ. 2551)[5] |
คู่สมรส | จงกล พลายน้อย |
บุตร | 1 คน |
ประวัติ
แก้เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ที่ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดประดู่ทรงธรรม มัธยมศึกษาที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และประกาศนียบัตรวิชาครูพิเศษประถม (พ.ป.)
รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนสรรพากรและเปลี่ยนอาชีพไปรับราชการครูเป็นเวลา 5 ปี มีความสนใจในงานด้านการเขียนมาตั้งแต่ครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยได้สมัครเรียนวิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์ของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร จึงเริ่มงานเขียนอย่างจริงจังนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาได้รับการชวนจาก อ.เปลื้อง มาทำงานด้านวารสารของกระทรวงศึกษาธิการหลายฉบับ มีผลงานเขียนประเภท บทความ, บทละคร, สารคดี และเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ได้จัดรายการวิทยุศึกษาไปพร้อม ๆ กันด้วย
เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์ กองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย
พ.ศ. 2528 ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ 2 ปี ได้ลาออกจากราชการ เพื่อเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว[3]
ผลงาน
แก้ถือเป็นนักเขียนที่มีความสามารถเขียนหนังสือได้หลายประเภท ปัจจุบันมีงานเขียนรวมเล่มแล้ว ประมาณ 100 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนประเภทสารคดี, นิทาน, ชีวประวัติบุคคลสำคัญ สารานุกรม และปกิณกะอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์, พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งชาติไทย, สารคดีน่ารู้สารพัดนึก, เล่าเรื่องบางกอก, เล่าเรื่องพม่ารามัญ, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น[3]
ชีวิตส่วนตัว
แก้ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางจงกล พลายน้อย มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 1 คน[3]
การเสียชีวิต
แก้ส. พลายน้อย เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สิริอายุรวม 93 ปี[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ฌาปนกิจ 'ส.พลายน้อย' วงวรรณกรรมร่วมอาลัย". มติชนออนไลน์. 7 กรกฎาคม 2022.
- ↑ วิภา จิรภาไพศาล (พฤศจิกายน 2008). "คุยกับ อาจารย์ ส. พลายน้อย". ศิลปวัฒนธรรม. Vol. 30 no. 1 – โดยทาง silpa-mag.com.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "ประวัติ ส.พลายน้อย จากสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ธันวาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2011.
- ↑ 4.0 4.1 ผลการคัดเลือก ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2553. 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554. – โดยทาง kapook.com.
- ↑ "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 4 – "นักเขียนอมตะ" คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551". มูลนิธิอมตะ.
- ↑ "วงการนักเขียนเศร้า "ส.พลายน้อย" ศิลปินแห่งชาติ ติด โควิด-19 เสียชีวิต". คมชัดลึก. 6 กรกฎาคม 2022.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๑๗, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔