สารคดี (อังกฤษ: Non-fiction) เป็นงานเขียนหรือวรรณกรรมร้อยแก้วในลักษณะตรงข้ามกับบันเทิงคดี (Fiction) ที่มุ่งให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านเป็นเบื้องต้น มีความเพลิดเพลินเป็นเบื้องหลัง ที่มุ่งแสดงความรู้ ความคิด ความจริง ความกระจ่างแจ้ง และเหตุผลเป็นสำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบาย วิจารณ์เชิงแนะนำสั่งสอน เป็นต้น

ลักษณะ

แก้

ถึงแม้ว่างานเขียนสารคดีจะมุ่งให้ความรู้ ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แต่ก็ยากที่จะตัดสินว่างานเขียนชิ้นไหนไม่ใช่สารคดี

  • การเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาสาระเป็นข้อเท็จจริง โดยเน้นเนื้อหาสาระ เรื่องราว เหตุการณ์ ตัวบุคคล หรือสถานที่ต้องเป็นข้อเท็จจริง (fact) และยังเป็นการเสนอข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษา สังเกต สำรวจ หรือวิเคราะห์ตีความเป็นอย่างดีแล้ว
  • มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในการอ่าน เป็นสองส่วนที่แยกกันไม่ได้
  • การเขียนสารคดีอาจใช้จินตนาการประกอบได้ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) เป็นการสร้างภาพตามความนึกคิดที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เป็นการสร้างภาพที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ สังเกต พิจารณา จากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
  • สารคดีต้องเป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์ เป็นการนำเสนอความคิดเห็นและทัศนะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่ว ๆ ไป มิใช่สร้างสรรค์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะ

ประเภท

แก้
  • ความเรียง (Essay) เป็นการเขียนสารคดีที่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้จากประสบการณ์ การค้นคว้าหรือความคิดของผู้เขียน
    • ความเรียงแสดงข้อคิด (Opinion Oriented Essay) ความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งแสดงข้อคิดเป็นหลัก ข้อคิดอันเป็นปรัชญาของชีวิต เป็นแนวทางสร้างสรรค์หรือพัฒนาตนเองและสังคมให้ดีขึ้น ในรูปแบบการนำเสนอแบบ บอกเล่า แนะนำ สั่งสอน หรือใช้วิธีประมวลแนวคิดต่าง ๆ เสนอแก่ผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อน ของ พจนา จันทรสันติ โลกทั้งผองที่น้องกัน ของมหาตมะ คานธีแปลโดย กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย พ่อแม่สมบูรณ์แบบ ของ พุทธทาสภิกขุ มุมที่ไม่มีเหลี่ยมของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น
    • ความเรียงเบาสมอง (Light Essay) เป็นความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านได้รับสาระ และความสนุกสนานไปด้วยกัน คล้ายบันเทิงคดี เพียงแต่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องจริง เช่น ลูกเล่นลูกฮา ของ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ อารมณ์ขันของคึกฤทธิ์ ของ วิลาศ มณีวัต สาวเอยจะบอกให้ ของ นเรศ นโรปกรณ์ เป็นต้น
  • บทความ (Article) เน้นข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานอ้างอิงประกอบในลักษณะวิเคราะห์ปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ หรือในการเสนอความเห็นทัศนคติของผู้เขียนต่อเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นหรือต่อเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม นิยมใช้ภาษาที่กระชับ ทางการ สวยงาม เรียบง่าย ชัดเจน
    • บทความบรรยาย เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบมา ภาษาเรียบง่าย
    • บทความแสดงความคิดเห็น เสนอความคิดในเชิงโต้แย้งหรือสนับสนุน แต่ควรเป็นความคิดที่แปลกใหม่
    • บทความวิเคราะห์ เขียนเพื่อวิเคราะห์เรื่องราว หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาที่ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เน้นย้ำประเด็นสำคัญของเรื่อง
    • บทความวิจารณ์ เป็นบทความที่คล้ายคลึงกับบทความประเภทแสดงความคิดเห็น แต่จะเป็นเชิงวิจารณ์ ซึ่งผู้เขียนต้องมีความรู้ มีเหตุผลและมีหลักวิชา เพื่อสนับสนุนข้อวิจารณ์นั้น ๆ
    • บทความสารคดี สารคดีเป็นชื่อเรียกบทความที่มีเนื้อหาสาระน่าสนใจเป็นพิเศษ ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน โดยเน้นที่ความรู้เป็นสำคัญ ส่วนความเพลิดเพลินเป็นผลจากกลวิธีการเขียน ส่วนมากจึงกลายเป็นหนังสือสารคดี สารคดีมีหลายประเภท เช่น สารคดีชีวประวัติ สารคดีท่องเที่ยว สารคดีบันทึก (จดหมายเหตุ อนุทิน) เป็นต้น
    • บทความวิชาการ เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งแสดง หรือถ่ายทอดความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรงแก่ผู้อ่าน ในแขนงสาขาความรู้ต่างๆ และควรมีเชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือหนังสืออ้างอิงท้ายเรื่อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เป็นแบบแผน คือ ถูกต้อง กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย อาจมีรูปภาพ ตาราง กราฟ หรือแผนภูมิประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบ รายงานทางวิชาการ เป็นรายงานผลการวิจัย หรืออาจเป็นบทความที่พิมพ์ในวารสาร เป็นต้น
  • สารคดีท่องเที่ยว (Travelogue) คือ วรรณกรรมร้อยแก้วที่ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวที่ได้ประสบในการท่องเที่ยว โดยให้ความรู้ทางด้าน สภาพท้องถิ่น สภาพของคน ความเป็นอยู่ของคน ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประเพณี วัฒนธรรม การทำมาหากิน หรือที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
  • สารคดีชีวประวัติ (Biography) เป็นงานเขียนที่กล่าวถึงเรื่องราว และพฤติกรรมของบุคคลจริง จะเขียนเน้นด้านบุคลิกภาพ ความรู้ และความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ตลอดจนผลงานที่น่าสนใจเพื่อนำประวัติชีวิตนั้นมาศึกษาแง่มุมต่าง ๆ หาเป็นงานเขียนที่ผู้อื่นเขียนเรียกว่า ชีวประวัติ แต่หากผู้เขียนเขียนเรื่องราวชีวิตตอนเองเรียกว่าอัตชีวประวัติ
    • ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (Portrait) เป็นการเขียนแบบถ่ายภาพให้เหมือนตัวจริงของเจ้าของชีวประวัติ การเขียนจึงเน้นการอธิบายรูปร่าง ความคิด รสนิยม และอุปนิสัยอย่างตรงไป ตรงมา โดยการใช้ภาษาที่สละสลวยเป็นพิเศษ
    • ชีวประวัติแบบสดุดี หรือชื่นชม (Appreciation) มุ่งเน้นการเขียนชีวประวัติ บุคคลเพื่อสรรเสริญ จึงเน้นด้านความสำเร็จ
    • ชีวประวัติแบบรอบวง (Profile) เป็นการเขียนโดยมุ่งให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของชีวประวัติเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
    • ชีวประวัติแบบประเมินค่า (Appraisal) คือการเขียนถึงบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่โดยเน้นที่ผลงานของบุคคล ว่าเขาทำอะไรประสบความสำเร็จอย่างไรและมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต
    • อัตชีวประวัติ (Autobiography) เป็นการเขียนเล่าประวัติชีวิตของตนเอง อาจเล่าเรื่องชีวิตของตนโดยตรง หรือเล่าในเชิงบันทึกเหตุการณ์แล้วแทรกประวัติตนเองลงไปด้วย
  • อนุทิน (Diary) เป็นการบันทึกความจำ ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต เช่น บันทึกรายวัน ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และบันทึกลับของอันเนอ ฟรังค์ (The Diary of a Young Gril by Anne Frank) เป็นต้น
  • จดหมาย (Letter) เป็นจดหมายที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างคน 2 คน หรือฝ่ายใดเขียนขึ้นฝ่ายเดียวก็ได้ เช่น ไกลบ้าน ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงเจ้าฟ้าหญิงนิภานพดลฝ่ายเดียว พ่อสอนลูก ของนายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขียนถึงลูกในขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในปีนัง ส่วน สาส์นสมเด็จเป็นจดหมายโต้ตอบ ระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาริศรานุวัติวงศ์ และ บันทึกความรู้ เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับ พระยาอนุมานราชธน เป็นต้น
  • บันทึกและความทรงจำ (Memoire and Memory) บันทึก คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ ที่บุคคลบันทึกระหว่างปฏิบัติงานสำคัญเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เช่น บันทึกของทูตไทยของนายบุญชนะ อัตถากร บันทึกไว้ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (ชื่อกระทรางสมัยนั้น) และ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ ของ วสิษฐ เดชกุญชร เป็นต้น ส่วน ความทรงจำ คือเรื่องราวในอดีตที่ผู้แต่งพยายามเขียนเล่าด้วยการนึกทบทวนประสบการณ์ของตนเองเช่น ความทรงจำ ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ และ ฟื้นความหลัง ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) เป็นต้น
  • จดหมายเหตุ (Archives) เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนมากเป็นเรื่องราวของทางราชการ หรือกึ่งราชการ เช่นจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (เมื่อ พ.ศ. 2230) จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 ของ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง) และ จดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้น
  • คติธรรม (Moral Precept) เป็นงานเขียนที่มุ่งสอนจริยธรรม หรือศีลธรรม โดยเรียบเรียงเรื่องธรรมะให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สนิมในใจ ของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ธรรมกับไทย : ในสถานการณ์ปัจจุบัน ของ พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ตามรอบพระอรหันต์ ของ พุทธทาสภิกขุ และ เสียงศีลธรรม ของ แปลก สนธิรักษ์ เป็นต้น
  • บทสัมภาษณ์ (Interview) เป็นงานเขียนที่เกิดจากการสัมภาษณ์บุคคล และมีเนื้อเรื่องเป็นสาระประโยชน์

อ้างอิง

แก้