พระพุทธรัตนสถาน

พระพุทธรัตนสถาน เป็นหนึ่งในอาคารบริเวณสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง เดิมมีฐานะเป็น พระอุโบสถ สำหรับฝ่ายใน (โดยที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระอุโบสถสำหรับฝ่ายหน้า) มีพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็นพระประธาน ภายหลังยุบพัทธสีมาลง และได้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ฯ และพระพุทธรูปอื่นๆ ไปไว้ยังพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระพุทธรัตนสถาน
พระพุทธรัตนสถาน
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
ศาสนาศาสนาพุทธ
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
การสร้าง
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลจำเพาะ
ทิศทางด้านหน้าทิศตะวันออก
เป็นส่วนหนึ่งของสวนศิวาลัย
เลขอ้างอิง0005574

ประวัติ แก้

พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง มีอาคารประกอบ ได้แก่ ศาลาโถง ๒ หลัง เสาประทีป ๔ ต้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๗.๕ นิ้ว สูงเฉพาะองค์ ๑๒.๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๒๐.๔ นิ้ว ส่วนฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ ๓ ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกขาว ที่ช่างเรียกว่า เพชรน้ำค้างหรือบุษย์น้ำขาว น้ำใสบริสุทธิ์เอกอุ อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระพุทธรัตนสถานจึงเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายในตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แม้ในสมัยต่อมา พระมหากษัตริย์จะมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นแต่ก่อน เมื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญในรัชกาล นอกจากจะทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว มิได้เว้นที่จะมากระทำ ณ พระพุทธรัตนสถานตามธรรมเนียม ดังปรากฏพระราชกรณียกิจในหมายกำหนดการ

ภายในพระพุทธรัตนสถาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมด้านบน เมื่อ พ.ศ. 2542 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2547 ภาพจิตรกรรมดังกล่าว แสดงประวัติการก่อสร้างพระพุทธรัตนสถาน และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 9 อยู่บริเวณระหว่างพระบัญชร จำนวน 8 ช่อง ซึ่งทุกช่องยกเว้นช่องที่ 7 จะมีภาพพระพุทธรัตนสถานรวมอยู่ด้วย โดยช่องที่ 1 และ 2 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ช่องที่ 3 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่องที่ 4 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่องที่ 5 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ช่องที่ 6 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 8 ช่องที่ 7 และ 8 แสดงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 9

อ้างอิง แก้

  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5