พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย

พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็นพระพุทธรูปสำคัญของประเทศองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระพุทธบุษยรัตน์-
จักรพรรดิพิมลมณีมัย
ชื่อเต็มพระพุทธบุษยรัตน์-
จักรพรรดิพิมลมณีมัย
ชื่อสามัญพระพุทธบุษยรัตน์, พระแก้วขาว
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะล้านนา ปางสมาธิ
ความกว้าง7.5 นิ้ว
ความสูง12.5 นิ้ว (ไม่รวมฐาน)
วัสดุแก้วผลึกขาวใส
(แก้วบุษยา หรือ บุษยารัตน์)
สถานที่ประดิษฐานพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ความสำคัญเคยประดิษฐานเป็นองค์ประธาน ในพระพุทธรัตนสถาน
หมายเหตุประดับด้วยฉัตรทองคำ 9 ชั้น ลายฉลุดุนนูน ฝังเพชรพลอยนพเก้า จำนวน 3427 เม็ด
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย องค์นี้ เรียกกันหลายชื่อ เช่น พระแก้วขาว พระแก้วพระกรรณบิ่น พระแก้วหูบิ่น พระพุทธบุษยรัตน์ และพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็นต้น ชื่อแต่เดิมนั้น ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนามไว้ คือ "พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย"

สันนิษฐานว่า คือพระแก้วขาว ซึ่งปรากฏเรื่องราวในพงศาวดารโยนก ความว่า พระอรหันต์ได้แก้วขาวมาจากจันทรเทวบุตร จึงขอให้พระวิษณุกรรมแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แล้วบรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ และพระโอษฐ์ พระแก้วขาวนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้ จนกระทั่งพระนางจามเทวีอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญจากเมืองหริภุญไชยไปเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานคู่กับพระแก้วมรกตเป็นเวลา 84 ปี

จากนั้นในปี พ.ศ. 2093 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงอัญเชิญพระแก้วขาว และพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง และเมื่อย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปตั้งที่เวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2107 นั้น ไม่ปรากฏว่าได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปพร้อมกับพระแก้วมรกตด้วย สันนิษฐานว่าคงเคลื่อนย้ายไปซ่อนไว้ ณ ถ้ำเขาส้มป่อย ดังความในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานว่า

ลุจุลศักราช 1086[1] ปีมะโรง ฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึงพรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อย นายอน (คือที่เปนเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาเข้าใจว่าเปนรูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระสอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ ณ เมืองจำปาศักดิ์ มีการสมโภช 3 วัน แล้วให้พวกที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่า ข่าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ แลตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เปนนายบ้าน ควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อย นายอนให้เปนส่วยขี้ผึ้งผ้าขาว ถวายพระแก้วต่อมา จนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ[2]

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ข้าหลวงไปปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา (เจ้าหน้า - เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3) ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2354 ข้าหลวงได้เห็นพระแก้วผลึกสีขาว จึงมีใบบอกให้นำความกราบบังคมทูลถวายพระแก้วผลึก โดยตั้งขบวนแห่ตั้งแต่เมืองสระบุรี และมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ

เมื่อเสร็จงานสมโภชที่ กรุงเทพฯ แล้ว โปรดให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เพื่อเจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน กับพระราชทานพระราชดำริ ให้ช่างปั้นฐานต่อองค์พระตามที่พอพระราชหฤทัย แล้วหล่อด้วยทองสำริดแต่งให้เกลี้ยงหุ้มด้วยทองคำ ส่วนยอดพระรัศมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้มส่วนพระเศียร ดุนเป็นเม็ดพระศกต้องตามแบบแผนของพระพุทธรูป ต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดีประดับเพชร ใจกลางหน้าหลังและกลีบต้นพระรัศมี แต่เมื่อถวายสวมเครื่องทองส่วนยอดพระรัศมีแล้ว สีพระพักตร์ไม่ผ่องใสเหมือนสีองค์พระ จึงแก้ไขด้วยการเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิ์แผ่หุ้มก่อนชั้นหนึ่ง ขัดเงินให้เกลี้ยงเป็นเงางามแล้วจึงสวมพระศกทองคำบนแผ่นเงิน ทำให้พระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลเสมอกับพระองค์ แล้วรับสั่งให้ทำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อย สอดในช่องบนพระจุฬาธาตุเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ และนำทองคำลงราชาวดีขาวดำผังแนบพระเนตรให้งดงาม ทำฉัตรทองคำ 5 ชั้น ชั้นต้นเท่าส่วนพระอังสาลงยาราชาวดีประดับพลอย มีใบโพธิ์แก้วห้อยเป็นเครื่องประดับ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า (หอพระสุราลัยพิมาน) ด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระเบญจาตั้งบุษบกสูง เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ในการพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ โปรดให้อัญเชิญพระแก้วผลึกสีขาวตั้งเป็นประธานในพิธีแทนพระแก้วมรกต

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2404 โปรดให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” กับทั้งโปรดให้สร้างพระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน พระราชทานชื่อว่า พระพุทธรัตนสถาน

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชในปี พ.ศ. 2416 นั้น โปรดให้ผูกพัทธสีมาพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน เป็นพระอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรม หลังจากนั้นพระพุทธรัตนสถานก็เป็นสถานที่ทำพุทธบูชาของฝ่ายใน และเมื่อทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วจึงอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถานตามเดิม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ กลับไปประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระที่นั่งอัมพรสถานสืบมาจนทุกวันนี้

การขึ้นทะเบียน

แก้
  • กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตามบัญชีแนบท้ายในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Baird, Ian G. “Champassak Royal Sacred Buddha Images, Power and Political Geography.” South East Asia Research 25, 4 (2017): 359–378.

อ้างอิง

แก้