สวนศิวาลัย
สวนศิวาลัย หรือ สวนขวา เป็นสวนภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของพระอภิเนาว์นิเวศน์อันเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชมณเฑียรดังกล่าวได้ชำรุดทรุดโทรมจำต้องรื้อถอนไปเกือบหมดสิ้น คงแก่อาคารสำคัญ เช่น พระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งมหิศรปราสาท และได้สร้างพระที่นั่งเพิ่มอีก 2 องค์ คือ พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท และปรับเป็นสวน
สวนศิวาลัย | |
---|---|
สวนขวา | |
ประเภท | พระราชอุทยาน |
ที่ตั้ง | พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
เป็นส่วนหนึ่งของ | พระบรมมหาราชวัง |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
ปัจจุบัน เป็นเขตพระราชฐานส่วนพระองค์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยมีพระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่ประทับเป็นการถาวรหลังจากทรงนิวัติประเทศไทย และอาคารรับรองด้านหลัง A และ B ใช้เป็นที่ทรงงานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อเสด็จออกรับบุคคลที่ขอเข้าเฝ้า และใช้เป็นกองงานในพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี[ต้องการอ้างอิง]
ประวัติ
แก้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง ปราสาท และพระราชมณเฑียรแล้ว จึงทรงสร้างพระราชอุทยานสองข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เรียกว่า สวนซ้ายและสวนขวา โดยใช้เป็นที่ทรงพระสำราญพักผ่อนพระอิริยาบถหลังจากว่างพระราชภารกิจ[1] โดยโปรดให้ขุดสระและปลูกตำหนักทองที่ประทับกลางสระหนึ่งหลัง สร้างพลับพลาที่เสวยริมปากอ่างแก้วหน้าเขาฟองน้ำอีกแห่งหนึ่ง และโปรดฯ ให้กั้นกำแพงรอบบริเวณ[2]
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นระยะปลอดจากศึกสงคราม โปรดให้ขยายเขตพระราชอุทยานและเปลี่ยนแปลงแก้ไขมากมาย โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองจัดการสร้าง โปรดฯ ให้ขยายสระที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ออกไปมีความยาว 3 เส้น 4 วา กว้าง 2 เส้น 8 วา โดยมีหมายกำหนดยกเสาพระที่นั่งเมื่อวันศุกร์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ตรงกับวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2361 อันเป็นปีที่ 10 ในรัชกาลที่ 2[3] ข้างหน้าสระลงเขื่อนก่ออิฐ พื้นสระปูอิฐถือปูน และก่อภูเขาขึ้นที่ริมสระน้ำ ทั้งนี้ยังโปรดให้สร้างเก๋งจีน หอพระ พระที่นั่งอย่างฝรั่ง และกำแพงแก้วล้อมรอบพระราชอุทยาน
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างพระที่นั่งภานุมาศจำรูญขึ้นทางทิศเหนือของสวนศิวาลัย เพื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร จะได้เสด็จประทับ แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้เสด็จประทับ ด้วยพระองค์ทรงมีข้าราชบริพารเป็นชายจำนวนมากทรงเกรงว่าจะไม่เรียบร้อยควรแก่การเข้าอยู่ในพระราชฐาน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประทับอยู่ ณ พระราชวังสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ) ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามพระที่นั่งภานุมาศจำรูญเป็น "พระที่นั่งบรมพิมาน"
ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อจัดเป็นที่พักรับรองพระราชอาคันตุกะชั้นประมุขของประเทศ และที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงของนานาประเทศที่มีทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย
พระที่นั่งบริเวณสวนศิวาลัยและใกล้เคียง
แก้บริเวณสวนศิวาลัยมีพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ตั้งอยู่ ดังนี้
พระพุทธรัตนสถาน
แก้พระพุทธรัตนสถาน เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัยและประกอบพระราชกิจทางพระพุทธศาสนา สร้างด้วยศิลาสีเทา หลังคาลด 2 ชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย[4]
พระที่นั่งมหิศรปราสาท
แก้พระที่นั่งมหิศรปราสาท เป็นพระที่นั่งขนาดเล็กสร้างอยู่บนกำแพงสวนศิวาลัยด้านทิศตะวันตกตรงกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระที่นั่งองค์นี้มียอดเป็นยอดปราสาททรงมณฑปจอมแห มีครุฑรับชั้นไขรายอดปราสาททั้งสี่มุม ซุ้มพระทวารและซุ้มพระบัญชรเป็นแบบทรงมณฑป ปิดทอง ประดับกระจก
เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งองค์นี้ แต่ปัจจุบันได้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกลับไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ดังเดิม ส่วนพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท
แก้พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนทุกพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดมากลงเสีย แล้วสร้างพระที่นั่งยกยอดปราสาท 5 ยอด พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ย้ายไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ดังนั้น พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทจึงว่างลงตั้งแต่นั้นมา[5]
พระที่นั่งสีตลาภิรมย์
แก้พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระที่นั่งพลับพลาโถงหลังคามุงกระเบื้องเคลือบประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันจำหลักตราประจำพระองค์ใช้เป็นที่ประทับในสวนศิวาลัย
อาคารอเนกประสงค์ เอ และ บี
แก้อาคารอเนกประสงค์ เอ และ บี เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักสำหรับผู้ตามเสด็จของพระราชอาคันตุกะที่เข้าประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน โดยแบ่งเป็น 2 อาคาร คือ อาคารเอ สำหรับผู้ติดตามชั้นผู้ใหญ่ และอาคารบี สำหรับผู้ติดตามชั้นผู้น้อย[6]
อาคารดังกล่าวเคยใช้เป็นที่ประทับของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อเสด็จออกรับบุคคลที่ขอเข้าเฝ้าและใช้เป็นที่ตั้งของกองงานในพระองค์ด้วย ต่อมาได้ย้ายที่ประทับไปยังห้องรับรองของกรมสุขภาพจิต บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารดังกล่าวจึงได้ยุติการใช้งาน และอาจอยู่ในระหว่างการปรับปรุง
พระที่นั่งบรมพิมาน
แก้พระที่นั่งบรมพิมาน (เดิมชื่อ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ) เป็นพระที่นั่งที่อยู่ทางด้านใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดารามและอยู่ทางทิศเหนือของสวนศิวาลัยในบริเวณคลังสรรพาวุธเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
แก้พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เป็นพระที่นั่งบนกำแพงพระบรมมหาราชวังอยู่บริเวณทิศตะวันออกของสวนศิวาลัย เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2327 และมีการปรับปรุงอีกหลายครั้งโดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท" ซึ่งยังคงปรากฏพระที่นั่งองค์นี้อยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. มรว, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525, หน้า 112
- ↑ ประกาศเฉลิมพระอภิเนาว์นิเวศน์ ปีมะแม พ.ศ. 2402, ประชุมพงศาวดารเล่ม 14 ภาคที่ 22-25, คุรุสภา, 2507, หน้า 257
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. มรว, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525, หน้า 113
- ↑ กรมศิลปากร, หน้า 12
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. ม.ร.ว., พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 204-208
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. ม.ร.ว., พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 215
บรรณานุกรม
แก้- กรมศิลปากร. นำชมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์, พ.ศ. 2525. 332 หน้า. ISBN 974-7919-60-5
- หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2549. 223 หน้า. ISBN 974-323-641-4