หอพระธาตุมณเฑียร
หอพระธาตุมณเฑียร เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างภายในพระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นปฐม ภายหลังจึงเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3 และพระบรมวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์
ภายนอกหอพระธาตุมณเฑียร | |
รายละเอียด | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ชนิด | หอพระอัฐิ |
จำนวนร่างที่เผา | 10 พระองค์ |
เป็นส่วนหนึ่งของ | พระมหามณเฑียร |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
ประวัติ
แก้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และต่อมาได้ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า สมเด็จพระอัครมเหสี และพระอัฐิพระบรมวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจากหอพระธาตุมณเฑียรมาประดิษฐาน ณ พระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงเป็นธรรมเนียมอัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตราบจนปัจจุบัน ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิจากหอพระธาตุมณเฑียรและพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมาสรงน้ำในการพระราชพิธีสงกรานต์ทุกปี
หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็ก ชั้นเดียว ยกพื้นสูงสามเมตร ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวจากทิศเหนือไปใต้ เชื่อมต่อกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วยมุขกระสันซึ่งเป็นโถงหน้าหอพระธาตุมณเฑียร มีพระทวารทางเข้าแห่งเดียวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และที่มุขกระสันมีสีหบัญชรเป็นที่เสด็จฯ ออกให้เข้าเฝ้าฯ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ประดับกระจกสีทอง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายลงรักปิดทอง เป็นลายกระหนกเครือวัลย์ประกอบลายดอกพุดตาลใบเทศ ตรงกลางหน้าบันมีเรือนแก้ว พระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงอย่างเทศ ปั้นปูนเป็นลายพุดตาลปิดทอง ด้านในพระบัญชรและบานแผละเขียนลายทองเป็นภาพพระราชพิธี 12 เดือน พื้นปูด้วนเสื่อสานเนื้อละเอียดแบบจีน ตรงกลางปูทับด้วยพรมแดง
นอกจากนี้ยังมีหอขนาดเล็กอีก 2 หอ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหอพระสุราลัยพิมาน และหอพระธาตุมณเฑียรอย่างละ 1 หอ เรียกว่า หอพระน้อย เป็นอาคารก่ออิฐปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง รูปร่างและขนาดเท่ากัน รูปทรงผสมผสานไทย-จีน หลุงคมทรงจีน ปัจจุบันหอทั้ง 2 ไม่ได้ประดิษฐานสิ่งใด
พระบรมอัฐิในหอพระธาตุมณเฑียร
แก้ภายในหอพระธาตุมณเฑียรทางทิศเหนือเป็นบริเวณที่ตั้งพระแท่นไม้จำหลักลายปิดทองลดหลั่นกันหลายชั้น ชั้นบนสุดเป็นพระวิมาน ได้แก่
- สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระอัครชายา (หยก)
- สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
- สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี
- สมเด็จพระศรีสุลาลัย
พระบรมอัฐิในอดีต
แก้เดิมในหอพระธาตุมณเฑียร ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ แต่เมื่อมีการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทก็มีการเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิมานบนพระที่นั่ง มีรายพระนาม ดังนี้
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญไปประดิษฐานบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชกาลที่ 5
- สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เชิญไปประดิษฐานบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทใน รัชกาลที่ 5
- สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เชิญไปประดิษฐานบนหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชกาลที่ 5
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เชิญไปประดิษฐานบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชกาลที่ 9
- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เชิญไปประดิษฐานบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชกาลที่ 9
อ้างอิง
แก้- สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5
- ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย, หน้า 201-202
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ หอพระธาตุมณเฑียร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์