สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พระยศเดิม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด; 20 กันยายน พ.ศ. 2310 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2379) หรือประชาชนเรียกว่า สมเด็จพระพันวษา เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระชายา[1]ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สถาปนา10 มีนาคม พ.ศ. 2395
ก่อนหน้ากรมพระศรีสุลาลัย
ถัดไปกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์
พระราชสมภพ20 กันยายน พ.ศ. 2310
บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
สวรรคต18 ตุลาคม พ.ศ. 2379 (69 พรรษา)
พระราชวังเดิม เมืองธนบุรี อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ถวายพระเพลิง16 เมษายน พ.ศ. 2380
พระเมรุมาศ ทุ่งพระเมรุ
บรรจุพระอัฐิหอพระธาตุมณเฑียร
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระราชบุตร
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาเงิน แซ่ตัน
พระราชมารดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
ศาสนาเถรวาท

พระราชประวัติ

ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า "บุญรอด" เสด็จพระราชสมภพในเวลาเช้าของวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2310[2] ณ ตำบลอัมพวา เมืองราชบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) บิดาคือเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน เศรษฐีเชื้อสายจีนย่านถนนตาล ในอาณาจักรอยุธยา[3] เมื่อแรกเริ่มเจ้าคุณชีโพ (พระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ได้ให้การอุปถัมภ์บำรุง คุณบุญรอดจึงนับถือเจ้าคุณชีโพเป็นพระมารดาเลี้ยงเสมอมา[3]

พระองค์มีพระภราดาและพระภคินี รวม 6 พระองค์ ได้แก่

  1. สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ต้นราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา)
  2. สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี
  3. สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าขุนเณร (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 7 ปี)
  4. สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
  5. สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี (ต้นราชสกุลมนตรีกุล ณ อยุธยา)
  6. สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (ต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา)

เมื่อคุณทองด้วงได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามคำชักชวนของพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้เป็นน้องชาย โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระราชริน (พระราชวรินทร์) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2311 คุณสาพร้อมสามีและบุตรได้ตามเข้ามาตั้งนิวาสสถานและโรงแพที่ตำบลกุฎีจีน (ปัจจุบันคือพระวิหารและหอไตรวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร) ส่วนแพอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ตรงวัดโมฬีโลกข้างใต้[3]

รับราชการฝ่ายใน

เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินขึ้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ คุณบุญรอดก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ามีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด ประทับอยู่ ณ พระตำหนักแดงในพระบรมมหาราชวัง ทรงสนิทสนมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าประไพวดี พระโสทรขนิษฐาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร[4]

ครั้นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงพระประชวร เหล่าพระประยูรญาติทั้งหลายจึงได้เข้าเยี่ยมพระอาการ การนี้กรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) มีจิตปฏิพัทธ์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้เสด็จมาหาเจ้าฟ้าบุญรอดบ่อยครั้ง กระทั่งเจ้าฟ้าบุญรอดทรงพระครรภ์ได้ 4 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วนัก กรมหลวงอิศรสุนทรจึงทรงขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งใช้ความเป็นพระสนมเอกคลายพระกริ้วของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลง[5] แม้จะไม่ทรงลงพระอาญากระนั้นก็ทรงห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าและไม่ให้ค้าขายด้วยสำเภาเป็นการตัดรายได้กรมหลวงอิศรสุนทร เพราะขัดเคืองพระทัยและทรงห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโสทรเชษฐาของเจ้าฟ้าบุญรอด จะน้อยพระทัย อีกทั้งเกรงว่าจะทำให้วังหน้าและวังหลังจะดูถูกฝ่ายวังหลวงได้ จึงมีรับสั่งให้แยกจากกันโดยให้เจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จไปประทับที่วังของกรมหลวงเทพหริรักษ์[4]

เมื่อเวลาผ่านไปได้ 3 เดือน กรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ให้ทรงพาพระองค์เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอรับพระราชทานพระอภัยโทษ กระทั่งทรงให้เข้าเฝ้าและค้าขายสำเภาได้ตามเดิม จากนั้นจึงเสด็จเข้าเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เพื่อขอรับเจ้าฟ้าบุญรอดกลับ แต่กรมหลวงเทพหริรักษ์ไม่ไว้พระทัยที่กรมหลวงอิศรสุนทรมีเหล่าพระสนม นางใน และบาทบริจาริกามากมายอยู่แล้ว จึงทรงให้กรมหลวงอิศรสุนทรทรงปฏิญาณว่า "จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าฤๅเสมอเท่าเจ้าฟ้าบุญรอด" จึงทรงยอมมอบเจ้าฟ้าบุญรอดให้[4] ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เปนพระอรรคชายา"[6]

แต่กระนั้นเมื่อพระราชสวามีเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เจ้าฟ้าบุญรอดไม่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศให้สูงขึ้นแต่อย่างใดในรัชกาล แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าเป็นพระมเหสี ดังปรากฏความว่า "...[ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย] ท่านได้เจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเปนพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เปนพระชายา ...ครั้นเมื่อท่านเปนเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็มิได้แต่งตั้งยศศักดิ์อันใดอีก แต่คนทั้งปวงเข้าใจว่าท่านเป็นพระมเหสี เรียกว่า สมเด็จพระพันพรรษาฯ นี้คำเดียวกับพันปี เปนคำให้พร..."[1]

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระขนิษฐาต่างพระมารดา เป็นเหตุทำให้เจ้าฟ้าบุญรอดน้อยพระทัย ไม่เข้าเฝ้าและไม่ถวายเครื่องเสวยที่โปรดปรานแด่พระราชสวามีอีกเลย[7] แม้ว่าพระราชสวามีจะเสด็จไปหาที่พระตำหนักบ่อยครั้ง แต่ก็แข็งพระทัยไม่ยินยอมให้พบจนกระทั่งวันที่พระราชสวามีเสด็จสวรรคต[4]

ปลายพระชนม์ชีพ

พระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

หลังการเสด็จสวรรคตของพระราชสวามี พระองค์ทรงนำพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ไปมอบให้แด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พร้อมกับตรัสว่า "พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว น้องยังเล็กนัก ปกครองบ้านเมืองไม่ได้ เจ้าจงรับราชการปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้เป็นสุขเถิด"[4][8] เนื่องจากในขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ในรัชกาลก่อนยังทรงพระเยาว์นัก ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ ราชสมบัติจึงควรกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ด้วยวัยวุฒิ แล้วพระองค์จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จออกไปประทับกับเจ้าฟ้าน้อย พระราชโอรสพระองค์เล็กที่พระราชวังเดิม แต่ต่างตำหนักกัน[9] และดำรงพระองค์ในปลายพระชนม์ชีพอย่างสงบด้วยการเข้าหาพระพุทธศาสนา

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2379 ด้วยพระโรคชรา สิริพระชนมายุได้ 69 พรรษา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 ความว่า "วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ เวลาเช้า ๔ โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราสวรรคตในวันนั้น"[10] ส่วนในหนังสือ จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ บันทึกไว้ว่า "ปีวอก จ.ศ. ๑๑๙๘ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ พันวษานิพพาน เพลาเช้า ๒ โมงเศษ พระชนมายุได้ ๖๙ พรรษา"[11]

พระบรมศพประดิษฐานที่พระราชวังเดิม จนกระทั่งพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2380 จึงได้เชิญพระบรมศพข้ามฟากมาขึ้นที่ท่าวัดพระเชตุพนและเชิญพระบรมศพขึ้นพระยานุมาศเพื่อนำพระบรมศพไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ แห่ไปยังพระเมรุมาศแล้วเชิญขึ้นพระเบญจา ครั้นถึงวันที่ 16 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งใหญ่น้อย ถวายพระเพลิงในวันต่อมา ได้แจงพระรูปลอยพระอังคารเก็บพระบรมอัฐิไว้ในโกศทองคำ ทำการสมโภชอีกวันหนึ่งรวมเป็นสี่วันสี่คืน ครั้นรุ่งขึ้นจึงแห่พระบรมอัฐิลงเรือเอกชัยที่ท่าพระมาสู่พระราชวังเดิม[12]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ในวันพุธที่ 10 มีนาคม จ.ศ. 1213 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2395) จึงทรงตั้งพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์[13] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ตามที่เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชกรณียกิจ

ในปี พ.ศ. 2324 ขณะที่คุณบุญรอด มีอายุได้ 14 ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ส่งเธอไปเป็นราชทูตยังเมืองกวางตุ้ง พร้อมด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช และพระมหานุภาพ ทั้งนี้ได้สันนิษฐานว่าคุณบุญรอดคงสามารถเจรจาด้วยภาษาจีนได้ดี เนื่องด้วยเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ผู้บิดามีเชื้อสายจีน ในการทูตดังกล่าวนี้ได้รับการพระราชทานเลี้ยงอย่างดีจากจักรพรรดิเฉียนหลง ทั้งยังได้จัดซื้ออาวุธ และอุปกรณ์การก่อสร้างกลับมายังกรุงสยามในปี พ.ศ. 2325[8]

เจ้าฟ้าบุญรอดทรงรับหน้าที่กิจการด้านเครื่องต้นรับใช้พระราชสวามีสืบต่อจากพระมารดา[14] ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้กล่าวถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ความว่า "...พระองค์เป็นอัจฉริยะนารีรัตน์ พิเศษพระองค์หนึ่ง ทรงชำนิชำนาญในกิจการของสตรีที่อย่างดีมีปากศิลปวิธีการชั่งทำกับเข้าของกินเป็นเลิศอย่างเอก..."[15]

ชีวิตส่วนพระองค์

พระองค์มีเชื้อสายจีนจากบิดาคือเจ้าขรัวเงิน และมีการสันนิษฐานว่าพระองค์จึงน่าจะสามารถใช้ภาษาจีนได้เป็นอย่างดี[8] แม้จะมีเชื้อสายจีนแต่พระองค์มีฉวีค่อนข้างคล้ำ พระองค์มักถูกเปรียบเปรยว่าเป็น "จินตะหรา" จากวรรณคดีเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ของพระราชสวามี ด้วยนางจินตะหรามีพระฉวี "ดำแดงแน่งน้อยนวลระหง"[16]

ทั้งนี้พระองค์มีฝีมือในกิจการเครื่องต้น ทรงประกอบอาหารคาวหวานได้อย่างประณีตและมีรสโอชา ทรงใส่พระทัยในรายละเอียดของอาหารเป็นอย่างดี ดังปรากฏความว่า[15]

"...มีความเล่าสืบกันมาเปนต้นว่า เข้าเหนียวสีโสกนั้น ใช้เข้าที่กำลังเปนน้ำนมแก่อยู่ ทรงแจกให้พวกข้าหลวงคนละถ้วยนม ผ่าเปลือกออกจนกว่าจะพอตั้งเครื่องเพราะจะตำฤๅ แกะเมล็ด เข้าก็จะหัก แลก็เปนสีโสกอยู่ในตัวด้วย ขนมจีนนั้น พวกข้าหลวงหมอบตำเครื่องอยู่ พระองค์ท่านก็ทรงประทับอยู่บนพระแท่น นาน ๆ จึงทรงหยอดกะทิครั้งหนึ่ง แล้วก็ตำไปอีก จนกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยบรรทมตื่น จึงจะปรุงพริกที่จะตำน้ำพริกนั้น ใช้พริกสวนนอก ทรงหักดมดูทุกเมล็ด เมล็ดไหนต่อมกลิ่นหอม จึงจะทรงใช้ ฯลฯ"

พระองค์ทรงถือธรรมเนียมโบราณอยู่หลายประการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำไว้ และรวบรวมในหนังสือ ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย เช่น "...ต้นข้าวเหนียว ต้นข้าวเจ้า สารพัดต้นข้าว ไม่ให้ปลูกลงในดินหรือในท้องร่องหรือในสระแลในที่น้ำขังทั้งปวงที่อยู่ในกำแพงบ้าน จะปลูกได้แต่ในอ่างในถังที่เป็นของยกได้ไม่ห้าม" และ "ถ้ามีการมงคลสองอย่างคือ โกนจุก ๑ ลงท่า ๑ อย่าให้มีเทศนา ให้มีแต่สวดมนต์แลเลี้ยงพระสงฆ์ตามธรรมเนียมการโกนจุกลงท่า โดยมีศรัทธาจะทำการฉลองพระต่อไปจะใคร่มีเทศนาเป็นการบุญก็ได้ไม่ห้ามขาด แต่ขอให้ไว้ระยะเริ่มงานเป็นการบุญต่างหาก อย่าให้เอามาปะปนระคนกับการโกนจุกลงท่า" เป็นต้น[17]

พระราชบุตร

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระประสูติการพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 5 พระองค์ คือ[18]

ลำดับ พระนาม พระราชสมภพ สวรรคต พระชนมพรรษา พระราชบุตร
1 สมเด็จเจ้าฟ้าชาย พ.ศ. 2344 พ.ศ. 2344 สิ้นพระชนม์วันประสูติ -
2 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 65 พรรษา พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3 สมเด็จเจ้าฟ้า ไม่มีข้อมูล ตกพระโลหิต -
4 สมเด็จเจ้าฟ้า ไม่มีข้อมูล ตกพระโลหิต -
5 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 กันยายน พ.ศ. 2351 7 มกราคม พ.ศ. 2408 58 พรรษา พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระอิสริยยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
  • บุญรอด
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด (รัชกาลที่ 1 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2395)
  • กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (10 มีนาคม พ.ศ. 2395 - 27 กันยายน พ.ศ. 2453) [19]
  • สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามบรมราชินี (รัชกาลที่ 6 - ปัจจุบัน)

พระราชานุสรณ์

  • พลับพลาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ

พลับพลาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ปลูกอยู่ในสวนพระราชวังเดิม กล่าวกันว่า เป็นพลับพลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงพระผนวชอยู่) ประทับเฝ้าเยี่ยมพระราชมารดา หลังจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จสวรรคตแล้ว โปรดให้รื้อมาปลูกที่ริมคูด้านหน้าออกถนนพระสุเมรุ หน้าพระตำหนัก วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเป็นอาสนศาลา ต่อมาจึงย้ายมาปลูกใหม่ในบริเวณตำหนักจันทร์ [20]

  • สะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์

สะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ ตั้งอยู่ ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองเชื่อมระหว่าง หมู่ที่ 2 ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา กับเขตเทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กรมศิลปากรได้พิจารณาเสนอชื่อสะพานตามพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เนื่องจากพระองค์เสด็จพระราชสมภพ ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าและสะพานสมเด็จพระอมรินทร์ ซึ่งได้ตั้งชื่อเป็นพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยย่อเช่นเดียวกัน[21]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้แก่

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ดู พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม. พ.ศ. 2421 อ้างใน ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ:มติชน. 2554, หน้า 66
  2. ราชสกุลวงศ์, หน้า 6
  3. 3.0 3.1 3.2 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 56-57
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "ตอนที่ 27 รักที่ลับเร้นของกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์". เดลินิวส์. 7 ตุลาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2553, หน้า 6
  6. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 60
  7. ลาวัลย์ โชตามระ. พระมเหสีเทวี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2532, หน้า 40
  8. 8.0 8.1 8.2 "เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด". ไทยรัฐ. 11 ธันวาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ดี บี บรัดเล (เขียน) ป่วน อินทุวงศ (แปล) (2468). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม (PDF). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. p. 43.
  10. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓:๑๐๗-สมเด็จพระพันวัสสาสวรรคต
  11. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 63
  12. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓:๑๑๑-งานพระบรมศพสมเด็จพระพันวัสสา
  13. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๒๐. ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชชนนี และกรมพระราชวังบวรที่สวรรคตแล้ว
  14. สุนทรี อาสะไวย์. (7 พฤษภาคม 2554). "กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง ก่อน พ.ศ. 2475". ศิลปวัฒนธรรม. 32:7, หน้า 84
  15. 15.0 15.1 สุนทรี อาสะไวย์. (7 พฤษภาคม 2554). "กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง ก่อน พ.ศ. 2475". ศิลปวัฒนธรรม. 32:7, หน้า 91
  16. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "พระราชชายานารี ในรัชกาลที่ 2". เลาะวัง 4. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2536, หน้า 211-212
  17. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 62
  18. ราชสกุลวงศ์, หน้า 27
  19. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๒๐. ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชชนนี และกรมพระราชวังบวรที่สวรรคตแล้ว
  20. "พระตำหนักเพ็ชร". วัดบวรนิเวศวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-20. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "การขอพระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง". บิสนิวส์. 6 กันยายน 2538. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง. ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ มหาวรรณ). เวียงวัง เล่ม ๑. กรุงเทพ : เพื่อนดี, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551. 300 หน้า. หน้า 256. ISBN 978-974-253-061-7
  • เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) (2481). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help) [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา)]
  • ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (2477). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help) [ที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค)]
  • พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2544, ISBN 974-341-064-3
  • ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 68. ISBN 978-974-417-594-6
ก่อนหน้า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ถัดไป
พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(พ.ศ. 2370 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2379)
  สมเด็จพระศรีสุลาลัย