พระอัครชายา (หยก)

พระอัครชายาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

พระอัครชายา[1] มีพระนามว่า หยก หรือ ดาวเรือง[1] เป็นพระอัครชายาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระอัครชายา (หยก)
ประสูติกรุงศรีอยุธยา
สวรรคตราวปี พ.ศ. 2286-2288[ต้องการอ้างอิง]
พระราชสวามีสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
พระราชบุตร
ราชวงศ์จักรี

พระประวัติ

พื้นเพ

พระอัครชายา มีพระนามเดิมว่า ดาวเรือง[1][2] หรือ หยก[3] เป็นธิดาคนโตของคหบดีชาวจีนฮกเกี้ยน[4] ครอบครัวของพระองค์เป็นตระกูลสูงและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี[2] ซึ่งบ้านเดิมของพระองค์ตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง บริเวณป้อมเพชรก็เป็นย่านอาศัยของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีฐานะดี[5] พระองค์มีพระขนิษฐาคนหนึ่งเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกด้วย[6] นอกจากนี้บางแห่งก็ว่าพระองค์เป็นหลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชาสมุหนายก[7]

เสกสมรส

พระองค์เสกสมรสกับทองดี (ต่อมาคือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก) บุตรคนโตของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) และย้ายเข้าไปพำนักในเคหาสน์ของพระอัครชายา ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ให้ความเห็นว่าทั้งสองต้องมีฐานะที่ดีเสมอกัน[2] ดังปรากฏใน หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ความว่า[8]

"...สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ท่านได้ทำการวิวาหมงคล กับสมเด็จพระบรมมหาไปยิกาธิบดีซึ่งทรงพระนามว่าดาวเรือง เปนบุตรีท่านเสนาบดีในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีท่านได้เสด็จมาอยู่ที่นิวาศน์สฐานของสมเด็จพระบรมมหาไปยิกาธิบดี ณ ภายในกำแพงพระนครหลังป้อมเพ็ชร์..."

ตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุไว้เพียงว่าพื้นที่นิวาสถานเดิมของพระอัครชายาอยู่บริเวณวัดสุวรรณดารารามไปจนถึงป้อมเพชรและคลองในไก่[8][9][10] แต่ภายหลังสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระอัครชายาได้ร่วมกันสร้างวัดทอง ที่ต่อมาใช้ชื่อวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งนามของวัดสื่อถึงพระนามของทั้งสองพระองค์คือ "ทองดี+ดาวเรือง"[2]

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระอัครชายา มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 5 พระองค์ ได้แก่

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (2272–2342) เสกสมรสกับพระอินทรรักษา (เสม) มีพระโอรส-ธิดา 4 พระองค์
  2. สมเด็จพระเจ้าขุนรามณรงค์ มีพระธิดาเพียงพระองค์เดียว[11][12]
  3. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (2277–2342) เสกสมรสกับเงิน แซ่ตัน มีพระโอรส-ธิดา 6 พระองค์
  4. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (2280–2352) มีพระอัครมเหสีคือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระราชโอรส-ธิดา 42 พระองค์[13]
  5. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (2286–2346) มีพระอัครชายาคือเจ้าศรีอโนชา มีพระราชโอรส-ธิดา 43 พระองค์[14]

พระอัครชายาสิ้นพระชนม์เมื่อใด ไม่เป็นที่ปรากฏ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชชนนี ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2338 เนื่องในวโรกาสที่มีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ และมีเครื่องมหรสพสมโภช เหมือนอย่างงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระเมรุมาศก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2339 ได้มีพิธีแห่พระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุ มีมหรสพสมโภชเป็นเวลา 7 วัน เมื่อเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้วได้อัญเชิญพระบรมอัฐิ กลับมาประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง และในพระราชพิธีพระราชกุศลกาลานุกาลและพระราชพิธีสงกรานต์ พระสงฆ์จากวัดอัมพวันเจติยาราม จะรับหน้าที่สดับปกรณ์ผ้าคู่ประจำพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-31.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้าตาก. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 406
  3. ส. ศิวลักษณ์. รากงอกก่อนตาย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 196
  4. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
  5. กำพล จำปาพันธ์ (9 เมษายน 2557). "เคารพและเข้าใจประวัติศาสตร์อโยธยา-อยุธยา หยุดรื้อสุสานจีนที่วัดพนัญเชิง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-31.
  7. ศรีรัญจวน, พิศวาสราชสำนัก ตอนที่ 14 รักที่จงรักของสมเด็จพระเอกาทศรถ[ลิงก์เสีย] วันจันทร์ 5 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09:05 น.
  8. 8.0 8.1 "สำรวจ"อยุธยา" ป้อมเพชร-วัดสุวรรณฯ "บ้านเดิม"รัชกาลที่ 1". มติชนรายวัน. 6 เมษายน 2559. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. สุจิตต์ วงษ์เทศ (7 เมษายน 2559). "วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา ย่านเคหสถานเดิม ร.1". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. พรรณราย เรือนอินทร์ (7 เมษายน 2559). "จาก ป้อมเพชร ถึง วัดระฆังฯ "นิวาสสถานเดิม" รัชกาลที่ 1". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (13 มีนาคม 2544). "พระสัมพันธวงศ์เธอ". สกุลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-13. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 189-190
  13. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-31.
  14. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 115. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-31.

แหล่งข้อมูลอื่น