เจ้าศรีอโนชา
เจ้าศรีอโนชา[1] หรือ เจ้ารจจา[2] (บ้างออกนามว่า เจ้าศิริรดจา, เจ้าศิริรจนา หรือเจ้าสัจา)[3] พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทแห่งราชวงศ์จักรี และพระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ เจ้าศรีอโนชาทรงมีบทบาทในการปราบพระยาสรรค์ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี[2] ถือเป็นเจ้านายฝ่ายในจากเมืองเหนือที่มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์ทิพย์จักร[2]
เจ้าศรีอโนชา | |
---|---|
พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | |
ประสูติ | พ.ศ. 2293 |
สิ้นพระชนม์ | 5 มิถุนายน พ.ศ. 2364 |
พระสวามี | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (สมรส 2317; เสียชีวิต 2346) |
พระบุตร | สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร |
ราชวงศ์ | ทิพย์จักร (ประสูติ) จักรี (เสกสมรส) |
พระบิดา | เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว |
พระมารดา | แม่เจ้าจันทา |
พระประวัติ
แก้เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้ารจจา ประสูติเมื่อจุลศักราช 1112 ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. 2293) ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 4 ในเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ผู้ครองนครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดาในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร
มีพระภราดาพระภคินีรวม 10 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้ากาวิละ พระยาคำโสม พระยาธรรมลังกา พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าสรีวัณณา พระยาอุปราชหมูล่า พระยาคำฟั่น เจ้าสรีบุญทัน และพระเจ้าบุญมา
เจ้าศรีอโนชาสิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2364[4] แต่ปรากฏกู่ ซึ่งอ้างว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดกับกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง [5] แต่ยังไม่มีหลักฐานรองรับหรือระบุ และกู่ที่อ้างก็มีลักษณะเป็นแท่นบูชาดอกไม้พระธาตุมากกว่า จึงไม่น่าจะเป็นกู่
เสกสมรส
แก้พ.ศ. 2317 ภายหลังจากขับไล่พม่าออกจากล้านนา ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จฯ กลับกรุงธนบุรี เมื่อถึงเมืองลำปาง พระยากาวิละ เจ้านครลำปาง ได้ถวายพระนัดดานารี (หลานสาว) เป็นบาทบริจาผู้หนึ่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จด้วย เพื่อหวังให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนความชอบและอำนาจแก่ราชวงศ์ทิพย์จักรในภายหลัง แต่พระนัดดานารีพระองค์นั้นเองกลับไม่พบว่ามีบทบาทอะไร[2] ขณะเดียวกันนั้นเอง เจ้ารจจา เจ้าขนิษฐาในพระยากาวิละ ได้เป็นภริยาในเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในคราวเดียวกันนั้นเอง[2] มีธิดาเพียงคนเดียวชื่อ "พิกุลทอง"[3]
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้ภัสดา ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนาคุณพิกุลทอง ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร[3]
บทบาท
แก้เจ้าศรีอโนชาได้ช่วยพระยาสุริยอภัยปราบพระยาสรรค์ช่วงเกิดความไม่สงบในปลายสมัยกรุงธนบุรี ขณะที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปสู้รบกับเขมรปี พ.ศ. 2324 ในการปราบพระยาสรรค์ เจ้าศรีอโนชาได้เกณฑ์ชาวลาวที่ปากเพรียว สระบุรี[6] เข้าผสมกับกองกำลังของพระยาสุริยอภัยจากนครราชสีมา รวมประมาณ 1,000 คน[7] ยกเข้ามาต่อสู้กับฝ่ายพระยาสรรค์ที่ธนบุรี การปะทะกันครั้งแรกฝ่ายพระยาสุริยอภัยได้เพลี่ยงพล้ำ เจ้าศรีอโนชาจึงบัญชากองทัพเรือชาวมอญเข้าช่วยตีขนาบจนฝ่ายพระยาสรรค์พ่ายแพ้[8] และในตำนานเจ้าเจ็ดตนเองก็กล่าวถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาว่า "เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมืองได้ไว้แล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ 2 องค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์ เจ้าพระยาจักรีเป็นพี่กษัตริย์องค์หลวง... พระยาสุรสีห์ คนน้องปรากฏว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า"[6]
ในการนี้เจ้าศรีอโนชาเองก็ได้รับความชอบไม่น้อย ซึ่งเพิ่มพูนอำนาจและความไว้วางใจต่อราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน และหลังจากการทราบข่าวการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้ากาวิละได้นำเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช "ทรงพระกรุณาเป็นอันมาก" จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้านที่เสียชีวิตลงในปลายกรุงธนบุรี[2]
ฐานันดรศักดิ์
แก้- พ.ศ. 2293 - 2317: เจ้ารจจา หรือเจ้าศรีอโนชา
- พ.ศ. 2317 - 2325: ท่านผู้หญิงศรีอโนชา
- พ.ศ. 2325 - 2364: เจ้าครอกศรีอโนชา พระอัครชายาเธอในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้มีนักแสดงผู้รับบท เจ้าศรีอโนชา ได้แก่
- รัชนู บุญชูดวง จากละครเรื่อง สงครามเก้าทัพ (2531)
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของเจ้าศรีอโนชา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เจ้าศรีอโนชา : ผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์สองอาณาจักร เก็บถาวร 2011-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 316
- ↑ 3.0 3.1 3.2 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 110. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
- ↑ พับสาของพระยาเทพอุดร ขุนนางเมืองลำปาง ชาวเมืองพะเยา ระบุว่า "1183 ตัว ปีรวงไส้ เดือน 9 ออก 5 ค่ำ วัน 3 เจ้าครอกตาย มีสันนี้แล" จากการคำนวณของชัยวุฒิ ไชยชนะ ตรงกับวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2364
- ↑ "เจ้าศรีอโนชา ผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์สองอาณาจักร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-09. สืบค้นเมื่อ 2011-11-06.
- ↑ 6.0 6.1 สงวน โชติสุขรัตน์ (ปริวรรต). ตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสิงฆะ วรรณสัย. เชียงใหม่ : สงวนการพิมพ์, 2511, หน้า 35
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี และจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี. ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐. พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, หน้า 12
- ↑ นรินทรเทวี, กรมหลวง. จดหมายเหตุความทรงจำ, กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, หน้า 16