สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (9 มีนาคม พ.ศ. 2281 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369) พระนามเดิม นาค เป็นอรรคชายาเดิม[1]ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สถาปนา3 กันยายน พ.ศ. 2353
ก่อนหน้ากรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
ถัดไปกรมพระศรีสุลาลัย
คู่อภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระราชบุตร9 พระองค์
ราชวงศ์จักรี
พระชนกทอง ณ บางช้าง
พระชนนีสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี
พระราชสมภพ9 มีนาคม พ.ศ. 2281
อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
สวรรคต25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369 (88 พรรษา)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ

พระราชประวัติ

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า นาค เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง นพศก ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2280 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2281) ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระธิดาของพระชนกทอง ณ บางช้าง และสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (พระนามเดิม สั้น หรือมาก) เป็นคหบดีเชื้อสายมอญ[2]ทั้งสองเป็นญาติใกล้ชิดกัน

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระภราดาพระภคินีร่วมพระชนกพระชนนีทั้งสิ้น 10 คน โดยทุกคนล้วนได้รับพระราชทานยศเป็น "เจ้าคุณ"[3] ได้แก่

  1. เจ้าคุณหญิงแวน (บางแห่งว่าแว่น[4])
  2. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ (เรียกกันว่าเจ้าคุณผู้ใหญ่) สมรสกับขุนทอง ราชินิกุลบางช้าง มีบุตร 2 คน คือ
    1. เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (สังข์)
    2. เจ้าจอมหงส์ ในรัชกาลที่ 1
  3. เจ้าคุณชายชูโต เป็นต้นราชินิกุลชูโต สมรสกับคุณทองดี มีบุตร 1 คน คือ
    1. คุณหญิงม่วง สมรสกับพระยาสมบัติบาล (เสือ) มีบุตร 6 คน คือ
      1. ท่านผู้หญิงน้อย สมรสกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค)
      2. คุณหญิงเพ็ง ชูโต
      3. เจ้าพระยาพลเทพ (เอี่ยม ชูโต)
      4. คุณหญิงหว้า ชูโต
      5. เจ้าพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต)
      6. พระยาสมบัติยาธิบาล (นาค ชูโต)
  4. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
  5. เจ้าคุณชายแตง
  6. เจ้าคุณหญิงชีโพ มีบุตรคนเดียว คือ
    1. หงส์ (ถูกชาวพม่าจับไปเป็นเชลย)[4]
  7. เจ้าคุณชายพู
  8. เจ้าคุณหญิงเสม
  9. เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล (เรียกกันว่าเจ้าคุณโต) สมรสกับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เป็นต้นราชินิกุลบุนนาค
  10. เจ้าคุณหญิงแก้ว สมรสกับพระยาสมุทรสงคราม (ศร) เป็นต้นลราชินิกุล ณ บางช้าง

ร่วมพระชนกต่างพระชนนี คือ เจ้าจอมมารดามา สมรสกับสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

พระราชนิพนธ์ "ปฐมวงศ์" ระบุว่า คุณนาคมีสิริโฉมงดงามเป็นที่ร่ำลือ เมื่อข้าหลวงสอดแนมของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์กราบบังคมทูลทรงทราบ จึงรับสั่งให้กรมมหาดไทยออกท้องตราสู่ขอมาเป็นนางใน แต่พระชนกพระชนนีและพระประยูรญาติไม่สมัครใจ จึงขอให้สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกซึ่งขณะนั้นดูแลการออกท้องตราในกรมมหาดไทยช่วยป้องกันแก้ไข สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงขอให้ข้าหลวงช่วยกราบบังคมทูลว่าตนได้สู่ขอนาคให้บุตรชายที่สี่ซึ่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้นัดหมายวันวิวาห์แล้ว เมื่อทรงทราบก็พระราชทานพระอนุญาต หลวงยกกระบัตรจึงได้คุณนาคมาเป็นภริยาในครั้งนั้น[5]

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

เมื่อพ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้แก้ว (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตรได้ให้กำเนิดธิดานามว่าบุญรอด (ต่อมาคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ครั้นพระยาวชิรปราการ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม ในช่วงนี้เองนาคได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สี่ชื่อฉิม (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรกลับเข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ต่อมาจนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในเวลาต่อมา

ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับสตรีชาวเวียงจันทน์ชื่อแว่น (ต่อมาคือเจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1) มาเป็นอนุภรรยา ท่านผู้หญิงไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงใช้ดุ้นแสมตีศีรษะนางแว่น เจ้าพระยาทราบก็โกรธมาก ทั้งสองจึงได้แยกกันอยู่นับแต่นั้น[6]

ในรัชกาลที่ 1

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ท่านผู้หญิงนาคก็ไม่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวังเลย แต่อาศัยอยู่ที่พระราชวังเดิมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระโอรส และจะมาเยี่ยมพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวังแต่เพียงครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งจะออกจากวังก่อนประตูปิดทุกครั้งไป ทั้งนี้เธอไม่ยอมใช้ราชาศัพท์กับสามีหรือพระราชโอรสกับพระราชธิดาแต่อย่างใด แต่เรียกสามีว่าเจ้าคุณ เรียกพระราชโอรสว่า พ่อ และเรียกพระราชธิดาว่า แม่ โดยเธอยินดีที่จะใช้ภาษาสามัญ[7] ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มิได้สถาปนาท่านผู้หญิงนาคขึ้นเป็นเจ้าแต่อย่างใด ดังใน "ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า[8]

...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธ​ยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เป็นท่านผู้หญิงเดิม มีพระราชโอรส พระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมใหญ่ ถึง ๔ พระองค์ ก็ไม่เห็นท่านยกย่องตั้งแต่งอย่างไร แต่คนทั้งปวงเข้าใจว่า ท่านเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้า ก็นับถือว่าเป็นพระมเหสี...

สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 2

ถึงปีมะเมีย วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2353 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์[9] เทียบกับกรมพระเทพามาตย์ตามโบราณราชประเพณีเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[10]

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงย้ายจากพระนิวาสสถานเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

สวรรคต

สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชนมพรรษาได้ 89 พรรษา พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[11] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ และโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ขึ้น ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง แล้วนำพระบรมอัฐิไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง[12]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามาภิไธยว่ากรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่เป็น สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี [13]

พระราชกรณียกิจ

 
พระปรางค์ของวัดอัมพวันเจติยาราม นิวาสสถานเดิมของพระองค์

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสร้างวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ขึ้นในบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศถวายแด่พระชนนี (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี) ไว้ที่องค์พระปรางค์ด้วย

พระราชบุตร

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ประมาณ พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2304 มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 9 พระองค์[14] ได้แก่

ลำดับ พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ พระชันษา พระโอรส-ธิดา
1. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา -
2. เจ้าฟ้าชาย
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา -
3. เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่
(พระสนมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
ไม่มีข้อมูล 29 กันยายน พ.ศ. 2322 ไม่มีข้อมูล หม่อมเหม็น
(พระนามเดิม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต)
4. เจ้าฟ้าชายฉิม
(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 57 พรรษา 73 พระองค์
(พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
5. เจ้าฟ้าหญิงแจ่ม
(กรมหลวงศรีสุนทรเทพ)
พ.ศ. 2313 7 สิงหาคม พ.ศ. 2351 38 พรรษา -
6. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงธนบุรี -
7. เจ้าฟ้าชายจุ้ย
(สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
29 มีนาคม พ.ศ. 2315 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 45 พรรษา 40 พระองค์
(ราชสกุลวงศ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
8. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงธนบุรี -
9. เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี
(กรมหลวงเทพยวดี)
14 มกราคม พ.ศ. 2320 23 สิงหาคม พ.ศ. 2366 46 พรรษา -

พระอิสริยยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
  • นาค (9 มีนาคม พ.ศ. 2280 - 3 กันยายน พ.ศ. 2353)
  • กรมพระอมรินทรามาตย์ (3 กันยายน พ.ศ. 2353 - รัชกาลที่ 4)

หลังสวรรคต

  • กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5)
  • สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (รัชกาลที่ 6 - ปัจจุบัน)

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. ปฐมวงศ์, หน้า 8
  2. โครงกระดูกในตู้
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  4. 4.0 4.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ มหาวรรณ). เวียงวัง เล่ม ๑. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพื่อนดี บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551. 300 หน้า. หน้า หน้าที่ 60. ISBN 978-974-253-061-7
  5. ปฐมวงศ์, หน้า 7-8
  6. ลูกแก้วเมียขวัญ, หน้า 138
  7. ลูกแก้วเมียขวัญ, หน้า 138-139
  8. ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม
  9. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒:๑๙-เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
  10. ราชสกุลวงศ์, หน้า 209
  11. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓ : ๒๐. สมเด็จพระอมรินทรามาตย์สวรรคต
  12. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓ :๔๑. งานพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
  13. ราชสกุลวงศ์, หน้า 11 (เชิงอรรถ)
  14. ราชสกุลวงศ์, หน้า 9-11
บรรณานุกรม
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2547. 109 หน้า. ISBN 974-690-131-1
  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ มหาวรรณ). เวียงวัง เล่ม ๑. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพื่อนดี บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551. 300 หน้า. หน้า หน้าที่ 256. ISBN 978-974-253-061-7
  • พระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปฐมวงศ์. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2470. 57 หน้า.
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 68. ISBN 978-974-417-594-6

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ถัดไป
กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
(กรุงธนบุรี)
   
สมเด็จพระพันปีหลวง
(3 กันยายน พ.ศ. 2353 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
  สมเด็จพระศรีสุลาลัย
พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(3 กันยายน พ.ศ. 2353 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369)
  พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี