เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) (พ.ศ. 2281 - พ.ศ. 2348) ที่สมุหพระกลาโหมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นต้นสกุลบุนนาค และเป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทในสงครามตีเมืองทวาย
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) | |
---|---|
สมุหพระกลาโหม | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2336 - พ.ศ. 2348 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) |
ถัดไป | เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) |
เสนาบดีกรมพระนครบาล | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2329 – พ.ศ. 2336 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก |
ก่อนหน้า | พระยายมราช (อิน) |
ถัดไป | พระยายมราช (บุญมา) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | บุนนาค พ.ศ. 2281 กรุงศรีอยุธยา |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2348 (68 ปี) พระนคร ประเทศสยาม ไทย |
บุตร | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ 1 |
บุพการี |
|
ประวัติ
แก้เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มีนามเดิมว่า นายบุนนาค เกิดเมื่อ พ.ศ. 2281[1] เป็นบุตรของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) (บุตรชายของพระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) กับท่านแฉ่ง) ที่จักรีวังหน้าในกรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มารดาชื่อว่าบุญศรี เป็นภรรยาของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) ซึ่งได้ประทานมาจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์[2] เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มีพี่ชายต่างมารดาซึ่งเกิดกับภรรยาอีกคนหนึ่งของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) คือนายบุญมา (ต่อมาคือเจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา)) พระยาจ่าแสนยากร (เสน) นำบุตรชายทั้งสองคือนายบุญมาและนายบุนนาคเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต โดยนายบุญมาได้รับตำแหน่งเป็นหลวงมหาใจภักดิ์ และนายบุนนาคเป็นนายฉลองไนยนาถ[2] เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตในพ.ศ. 2301 กรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้าอุทุมพรจึงขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระยาจ่าแสนยากร (เสน) บิดาของนายบุนนาคได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาเสนาสมุหกลาโหม เป็นที่รู้จักในนามว่า”เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร” จากนิวาสสถานซึ่งอยู่บริเวณวัดสามวิหารในกรุงศรีอยุธยา นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) สมรสกับท่านผู้หญิงลิ้ม ซึ่งเป็นธิดาของพระยาธิเบศร์บดี มีบุตรด้วยกันชื่อว่าตานี (ต่อมาคือเจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ 1)
หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) ลี้ภัยไปยังเมืองเพชรบูรณ์ ในขณะที่นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) และท่านผู้หญิงลิ้มภรรยาเดินทางไปยังเมืองราชบุรีไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ต่อมานายบุนนาคและท่านลิ้มภรรยาเดินทางกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขุดค้นสมบัติของบิดาที่ได้ฝังไว้ ขนสมบัติล่องเรือลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงปากคลองบางใหญ่[2] (คลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน) ถูกโจรผู้ร้ายเข้าปล้นสะดม นายบุนนาคกระโดดลงน้ำเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ท่านลิ้มภรรยาเสียชีวิตและทรัพย์ที่ขุดมาได้ถูกโจรนำไปหมด
นายบุนนาคสูญเสียทั้งภรรยาและทรัพย์สิน ท่านผู้หญิงนาค (ต่อมาคือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ภรรยาของเจ้าพระยาจักรี จึงให้การอุปถัมภ์แก่นายบุนนาค[3] โดยท่านผู้หญิงนาคประกอบพิธีสมรสให้แก่นายบุนนาคกับท่านนวล (ต่อมาคือเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล) ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงนาค ในสมัยกรุงธนบุรี นายบุนนาคไม่ได้เข้ารับราชการ เป็นทนายหน้าหอของเจ้าพระยาจักรีเพียงเท่านั้น[1]
สงครามเก้าทัพ
แก้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งนายบุนนาคขึ้นเป็นพระยาอุไทยธรรม เจ้ากรมภูษามาลา ในคำปรึกษาตั้งข้าราชการระบุว่านายบุนนาคนั้น“ทำราชการมาช้านาน ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามไปปราบอริราชข้าศึกนานานุประเทศมีชัยชำนะหลายครั้ง มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้นายบุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม”[4] ส่วนนายบุญมาผู้เป็นพี่ชายต่างมารดานั้นได้เป็นที่พระยาตะเกิง ในพ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ร่วมกับพระยาพระคลัง (หน) ไปตั้งรับทัพพม่าซึ่งรุกรานมาจากทางทิศเหนือ อยู่ที่เมืองชัยนาท เพื่อคอยระวังทัพพม่าที่จะยกมาทางด่านระแหง (อำเภอเมืองตากในปัจจุบัน) และต่อมาในปีพ.ศ. 2329 จึงมีพระราชโองการให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) และพระยาพระคลัง (หน) ยกทัพติดตามเสด็จกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพไปตีทัพพม่าที่เมืองระแหง[5] เมื่อยกทัพไปถึงกำแพงเพชรกรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระบัญชาให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) และพระยาพระคลัง (หน) ยกทัพนำไปก่อน ปรากฏว่าเมื่อทัพหลักของพม่าที่ปากน้ำโพนครสวรรค์ถูกตีแตกไปแล้วนั้น ทัพพม่าที่ระแหงจึงถอยกลับไปก่อนโดยมิได้สู้รบ[5] หลังจากศึกสงครามเก้าทัพ พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช เสนาบดีกรมนครบาล
สงครามตีเมืองทวาย
แก้ในพ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงจัดทัพเข้าตีเมืองทวาย[5] โดยให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) สมุหนายก เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหกลาโหม และพระยายมราช (บุนนาค) เป็นทัพหน้า ยกทัพข้ามผ่านด่านวังปอ (ผ่านทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นภูเขาสูงหนทางยากลำบาก เมื่อทัพหน้าสามารถเข้ายึดเมืองกะเลอ่าวง์ (Kaleinaung) หรือเมืองกลิอ่องได้แล้ว ทัพหลวงจึงเสด็จเข้ามาล้อมเมืองทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงล้อมเมืองทวายอยู่เป็นเวลาครึ่งเดือนยังไม่ประสบชัยชนะทรงเลิกทัพจากเมืองทวาย[5]
ต่อมาในปีพ.ศ. 2334 แมงจันจาเจ้าเมืองทวายกบฏขึ้นต่อพระเจ้าปดุงแห่งพม่าและหันมาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพจำนวน 5000 คน[5] ไปตีเมืองทวาย เมื่อพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพถึงเมืองทวายแล้วแมงจันจาเจ้าเมืองทวายออกมาอ่อนน้อม พระยายมราช (บุนนาค) ส่งพระองค์เจ้าชีและแมงจันจาเจ้าเมืองทวายมายังกรุงเทพฯ และตั้งค่ายรักษาเมืองทวายอยู่นอกเมือง ฝ่ายสยามจึงเข้าครอบครองเมืองทวายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ในพ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริที่จะกรีฑาทัพไปตีพม่าต่อไปจากเมืองทวาย[5] จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพไปสมบทกับพระยายมราชที่ทวาย จากนั้นจึงทรงยกทัพหลวงเสด็จมายังเมืองทวาย
เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ตั้งค่ายรักษาเมืองทวายอยู่นอกเมือง ในเวลานั้นเองพระเจ้าปดุงส่งทัพพม่าเข้ารุกรานเมืองทวาย เมื่อทัพพม่าเข้าประชิดเมืองทวายชาวเมืองทวายก่อการกบฏขึ้นต่อสยามและหันกลับไปเข้ากับฝ่ายพม่า ทัพพม่า-ทวายยกทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยายมราช (บุนนาค) อย่างไม่ทันตั้งตัว เสนาบดีทั้งสามไม่อาจต้านทานทัพพม่าได้จึงถอยร่นไปทางทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามร้องขอเข้าไปตั้งหลักในค่ายทัพหน้าของทัพหลวง แต่พระอภัยรณฤทธิ์ผู้บัญชาการทัพหน้าของทัพหลวงปฏิเสธไม่ให้เสนาบดีทั้งสามและกองกำลังเข้ามาในค่าย เนื่องจากเกรงว่าหากทัพพม่ายกติดตามเสนาบดีทั้งสามเข้ามาในค่าย ทัพหน้าจะถูกตีแตกและทัพพม่าลงไปถึงทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามจึงต่อสู้กับทัพพม่าอยู่นอกค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และพระยายมราช (บุนนาค) สามารถรอดมาได้ แต่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ (พงศาวดารพม่าระบุว่าถูกสังหารในที่รบ)[6] จากนั้นทัพพม่าจึงเข้าตีค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไป เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเลิกทัพถอยไปอยู่ที่ไทรโยค[5]
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพิโรธพระอภัยรณฤทธิ์ว่าเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เสนาบดีคนสำคัญ จึงทรงลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตพระอภัยรณฤทธิ์เสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)[4] เจ้าเมืองถลางขึ้นเป็นสมุหกลาโหมคนใหม่ แต่เจ้าพระยาสุรินทรราชาไม่รับ จึงทรงแต่งตั้งให้พระยายมราช (บุนนาค) ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาสมุหกลาโหมแทนที่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) แล้วเลื่อนพระยาตะเกิง (บุญมา) พี่ชายต่างมารดาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ขึ้นเป็นที่พระยายมราชแทน
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีพ.ศ. 2348 ในรัชกาลที่ 1 อายุ 68 ปี ซึ่งในปีพ.ศ. 2348 นั้น มีเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ถึงแก่อสัญกรรมถึงสามคน[4]ได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)
บุตรธิดา
แก้เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 34 คน เกิดจากภรรยา 9 คน ดังนี้
1. ท่านลิ้ม มีธิดา 2 คน ได้แก่
- คุณ (ญ.) เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
- คุณตานี (เจ้าคุณวัง) เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาได้ถวายตัวคุณตานีเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายหลังได้ให้ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกลนี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ และได้เลื่อนเป็น "เจ้าจอมมารดาตานี"
2. เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล พระน้องนางของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีบุตร 10 คน เป็นชาย 6 คน และหญิง 4 คน ซึ่งทั้งสิบคนนับว่าเป็นราชินิกุล[7] ได้แก่
- เจ้าคุณชาย ถึงอสัญกรรมแต่ยังเยาว์
- เจ้าคุณหญิงนุ่น เกิดสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการในพระบรมมหาราชวัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรียกกันว่า "เจ้าคุณวังหลวง"
- เจ้าคุณชายก้อน ถึงอสัญกรรมแต่ยังเยาว์
- เจ้าคุณชายทิน ถึงอสัญกรรมแต่ยังเยาว์
- เจ้าคุณหญิงคุ้ม เกิดในพ.ศ. 2325 เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรียกกันว่า "เจ้าคุณวังหน้า"
- เจ้าคุณหญิงต่าย เกิดในพ.ศ. 2326 รับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี (ทูลกระหม่อมปราสาท) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คนทั้งหลายเรียกว่า "เจ้าคุณปราสาท"
- เจ้าคุณหญิงพั้ง ถึงอสัญกรรมแต่ยังเยาว์
- เจ้าคุณชายดิศ ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั้งหลายเรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่"
- เจ้าคุณชายแขก ถึงอสัญกรรมแต่ยังเยาว์
- เจ้าคุณชายทัต ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ คนทั้งหลายเรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"
3. ท่านกอง มีบุตร 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ได้แก่
- คุณบู่ สมรสกับหลวงสรวิชิต (ช้าง) มีบุตรชื่อหลวงสุนทรโกษา (ขาว) ต้นสกุล "เศวตเศรณี"
- คุณจิตร ต่อมาเป็นเจ้าจอมจิตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- คุณเพื่อน ต่อมาเป็นพระยาอภัยพิพิธ
- คุณจาด ต่อมาเป็นหลวงแก้วอายัติ (จาด) ต้นสกุล "จาติกรัตน์" และ "ศุภมิตร"
- คุณฉลอง ต่อมานายฉลองไนยนาถมหาดเล็กหุ้มแพร ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
4. ท่านมิ่ง มีธิดา 4 คน ได้แก่
- คุณใหญ่ หรือ คุณใหม่
- คุณกลัด
- คุณนก ต่อมาเป็นเจ้าจอมนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- คุณเงียบ
5. ท่านฉิม มีบุตร 5 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 3 คน ได้แก่
- คุณแพ
- เสงี่ยม
- คุณส้ม ต่อมาเป็นเจ้าจอมส้มในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- คุณ (ญ.) ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
- คุณ (ญ.) ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
6. ท่านตุ๊ มีบุตร 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ได้แก่
- คุณชู ต่อมาเป็นเจ้าจอมชูในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- คุณแสงจันทร์ ต่อมาเป็นมหาดเล็กแสงจันทร์ ทำหน้าที่ถวายรายงานวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
7. ท่านอ่วม มีบุตร 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ได้แก่
- คุณจันทร์
- คุณน้อย ต่อมาเป็นทหารมหาดเล็ก
- คุณพร้อม ต่อมาเป็นพระยาสาครสงคราม พระยาจางวางเมืองบางละมุง
8. ท่านจันทร์ มีบุตร 1 คน ได้แก่
- คุณเมือง ต่อมาเป็นพระยาศรีอรรคราช ต้นสกุล "บุรานนท์"
9. ท่านทิม หรือ ท่านพิม มีบุตร 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ได้แก่
- คุณแสง
- คุณสุก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "เสนาบดีสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-25. สืบค้นเมื่อ 2008-11-08.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "วงศ์เฉกอะหมัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2020-08-09.
- ↑ "วงศ์เฉกอะหมัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-21. สืบค้นเมื่อ 2020-08-09.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สมมตอมรพันธุ์, กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
- ↑ สกุลบุนนาค
- เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เก็บถาวร 2008-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ชมรมสายสกุลบุนนาค
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สายสกุลเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เก็บถาวร 2012-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน