เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์)

นามเดิม สน เป็นสมุหนายกคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโล

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (พ.ศ. 2278 – 2348) นามเดิม สน เป็นสมุหนายกคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทในสงครามเก้าทัพและสงครามตีเมืองทวาย เป็นต้นสกุล"สนธิรัตน์"

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ
(สน สนธิรัตน์)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2348
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ก่อนหน้าเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
ถัดไปเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สน

ปีเถาะ พ.ศ. 2278
เสียชีวิตพ.ศ. 2348 (70 ปี)
คู่สมรสเจ้าสุมณฑา
บุตรเจ้าจอมอำพัน ในรัชกาลที่ 2
เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์)
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ละมั่ง สนธิรัตน์)
เจ้าจอมมารดาปุก ในรัชกาลที่ 3
บุพการี
  • ขุนกำแหง (สุ่น) (บิดา)

เจ้าพระยารัตนาพิพิธเกิดเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2278[1] ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เดิมชื่อว่า สน หนังสือของก.ศ.ร. กุหลาบ ระบุว่าเจ้าพระยารัตนาพิพิธเป็นบุตรชายของขุนกำแหง (สุ่น)[2] กรมการด่านเมืองสวรรคโลกเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยารัตนาพิพิธมีน้องชายซึ่งต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงธรเณนทร์[3] เจ้าพระยารัตนาพิพิธปรากฏครั้งแรกรับราชการเป็นพระอักษรสุนทร[1] เสมียนตรากรมมหาดไทยในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้การบัญชาของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จยกทัพไปตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระอักษรสุนทร (สน) ได้ติดตามเสด็จไปด้วยและได้รับเจ้าเชื้อพระวงศ์ลาวชื่อว่าเจ้าสุมณฑา[3]มาเป็นภรรยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งพระอักษรสุนทร (สน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก เป็นสมุหนายกคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังในคำปรึกษาตั้งข้าราชการว่า

นายสนเป็นข้าใต้ละอองธุลีพระบาท มีความอุตสาหะจงรักภักดี ทำราชการช้านานมา จนเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามแห่งใด ก็ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณทุกครั้งมิได้เว้นว่าง...มีความชอบมาก จะให้ไปพานเมืองครองเมืองอันใหญ่ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะไกลใต้ละอองธุลีพระบาทนัก ข้าพเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้เป็น เจ้าพระยารัตนาพิพิธว่าที่สมุหนายก...

[1]

ใน พ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ยกทัพฝ่ายพระราชวังหลวง[4]ไปกับทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในการเสด็จไปรบกับทัพพม่าในการรบที่ลาดหญ้า และยกทัพตามเสด็จกรมพระราชวังบวรฯอีกครั้งในสงครามท่าดินแดงใน พ.ศ. 2329 ร่วมกับพระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากร เป็นทัพหน้าตั้งค่ายที่สามสบและสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปได้

ต่อมาในสงครามตีเมืองทวายใน พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้ายกไปโจมตีเมืองทวาย[4]ผ่านทางด่านวังปอ (ทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหกลาโหมเป็นทัพหน้า เจ้าพระยาทั้งสองยกทัพเข้าโจมตีทัพพม่าที่ด่านวังปอ โดยเจ้าพระยารัตนาพิพิธส่งพระยามหาอำมาตย์นำทัพไปก่อน เมื่อพระยามหาอำมาตย์ไม่สามารถยึดด่านวังปอได้ เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพเข้าตีด่านวังปอได้สำเร็จ จากนั้นยึดเมืองกลิอ่องต่อและยกทัพเข้าประชิดเมืองทวาย ฝ่ายไทยไม่สามารถเข้ายึดเมืองทวายได้หลังจากประชิดเมืองอยู่ครึ่งเดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯมีพระราชโองการให้เลิกทัพถอยกลับ

หลังจากได้เมืองทวายแล้ว ใน พ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริ[4]ที่จะยกทัพล่วงต่อจากเมืองทวายไปยังเขตแดนเมืองพม่าตอนล่าง จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพหน้าไปสมทบกับทัพของพระยายมราช (บุนนาค) ที่ทวาย ในขณะนั้นเองพระเจ้าปดุงได้ส่งทัพมายึดเมืองทวายคืน เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา และพระยายมราช ตั้งค่ายอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองทวาย ฝ่ายพม่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ชาวเมืองทวายเป็นกบฏลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของไทยและร่วมกับทัพพม่าเข้าโจมตีทัพของไทยทางตะวันออก เสนาบดีทั้งสามไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ ถอยทัพไปยังค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นทัพหน้าของทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามขอเข้าไปในค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ แต่พระอภัยรณฤทธิ์ปฏิเสธไม่ให้เข้าเกรงว่าหากทัพพม่ายกติดตามเสนาบดีทั้งสามเข้ามาในค่ายและทัพหน้าของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไป ทัพหลวงจะได้รับอันตราย[4] เสนาบดีทั้งสามจึงสู้กับพม่าอยู่หน้าค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธและพระยายมราชสามารถรอดมาได้ แต่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ถึงแก่อสัญกรรมในที่รบ[5]

เจ้าพระยารัตนาพิพิธถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2348 อายุ 70 ปี ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งใน พ.ศ. 2348 นั้น มีเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ถึงแก่อสัญกรรมถึงสามคน[1] ได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ มีบุตรธิดาดังต่อไปนี้;[6]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุล "สนธิรัตน์" ให้แก่พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม สนธิรัตน์)[7] มาจากคำว่า "สน" ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และคำว่า "รัตน์" มาจากราชทินนาม "รัตนาพิพิธ" พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม) เป็นบุตรของพระยาบุริมทิศพิไชย (สุด สนธิรัตน์)[6] ซึ่งพระยาบุริมทิศพิไชย (สุด) นั้น เป็นบุตรของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ละมั่ง) และเป็นหลานของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
  2. เอียวศรีวงศ์, นิธิ. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
  3. 3.0 3.1 พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ศกุนตลา บทลครร้องสำหรับเล่นบทเวที: ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร, กรกฎาคม พ.ศ. 2504.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  6. 6.0 6.1 รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
  7. พระราชทานนามสกุล "สนธิรัตน์" ให้แก่พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม สนธิรัตน์)