สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย นามเดิม ทัต เป็นขุนนางสยามจากตระกูลบุนนาค ดำรงตำแหน่งเป็นจางวางพระคลังสินค้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้สำเร็จราชการในพระนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ
(ทัต บุนนาค)
ผู้สำเร็จราชการในพระนคร
ดำรงตำแหน่ง
2398 - 2400
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ทัต

พ.ศ. 2334
พระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิตพ.ศ. 2400 (66 ปี)
พระนคร ประเทศสยาม
คู่สมรส4 คน
บุตร27 คน
บุพการี
ครอบครัวตระกูลบุนนาค

ประวัติ แก้

 
พระรูปที่วัดพิชยญาติการาม
 
เตียงบรรทมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2334 เดิมชื่อ ทัต เป็นบุตรคนที่สิบของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มารดาคือเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเกิดในสายสกุลบุนนาคซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกชาวเปอร์เซียในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติคือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหกลาโหมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาอยู่ที่บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวังทางทิศใต้ บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติมีพี่สาวร่วมมารดาได้แก่เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) เจ้าคุณวังหน้า (คุ้ม) และเจ้าคุณปราสาท (ต่าย) และมีพี่ชายร่วมมารดาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เริ่มรับราชการในรัชกาลที่ 1 ในตำแหน่งนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดำรงตำแหน่งเป็นจมื่นเด็กชา หัวหมื่นมหาดเล็กในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2360 จึงย้ายกลับมารับราชการในวังหลวงตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ ในเวลาต่อมา ในพ.ศ. 2361 มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางทิศใต้ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) และพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายจึงย้ายที่อยู่ไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้บ้านกุฎีจีน[1] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) ขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาจางวางพระคลังสินค้า (เล่ากันว่าเมื่อในรัชกาลที่3 จะโปรดให้ฯเป็นเจ้าพระยายมราช ท่านไม่รับ จึงได้เป็น พระยาโกษาพิพัฒน์ว่าที่พระคลังสินค้า)

ในพ.ศ. 2372 พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ปฏิสังขรณ์วัดร้างเดิมในเขตคลองสาน[2]ใกล้กับนิวาสสถานและถวายขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชทานนามว่า "วัดพระยาญาติการาม" (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพิชยญาติการามวรวิหาร")

ในปี พ.ศ. 2381 ทาสในเรือน[3]ของพระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตของพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ฟ้องร้องว่าพระสุริยอภัยลักลอบติดต่อสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเจ้าจอมอิ่ม จึงโปรดให้กรมหลวงรักษ์รณเรศสืบสวนพบมีมูลความจริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระเมตตาโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา แต่พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ทูลว่าคนผิดต้องได้รับโทษขอให้ลงพระอาญาไปตามพระอัยการจึงจะสมควร[4] พระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตของพระยาศรีพิพัฒน์ฯ จึงถูกประหารชีวิต

ในปลายรัชกาลที่ 3 พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ได้จัดหาที่ดินและก่อสร้างวัด ซึ่งได้ที่บริเวณดงต้นงิ้ว วัดจึงได้ชื่อว่า วัดฉิมพลี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประดู่ฉิมพลี) โดยใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในเวลานั้นถือเป็นวัดราษฎร์ที่ใหญ่และงดงามกว่าวัดราษฎร์โดยทั่วไป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไปเลือกสรรและอัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี มาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัด

ปราบกบฏหวันหมาดหลี แก้

ในพ.ศ. 2382 กบฏหวันหมาดหลี หลานสองคน[5] ของสุลต่านตวนกูปะแงหรันแห่งไทรบุรีได้แก่ ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) และตนกูมูฮาหมัดทาอิบ (Tunku Muhammad Taib) ร่วมมือกับหวันหมาดหลีซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามัน นำทัพเรือเข้าบุกยึดเมืองไทรบุรีในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) และเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพเรือลงไปช่วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ในการปราบกบฏไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์ฯและเจ้าพระยายมราชยกทัพถึงเมืองสงขลาในเดือนเมษายน พบว่าพระภักดีบริรักษ์ (แสง) ได้ยึดเมืองไทรบุรีไว้ได้แล้ว

ขณะนั้นเกิดการวิวาท[3]ระหว่างสุลต่านมูฮัมหมัดที่ 2 (Muhammad II) แห่งกลันตัน หรือ"ตนกูสนิปากแดง"[6] และตนกูบือซาร์ (Tunku Besar) หรือ"ตนกูปะสา" ตนกูปะสาให้เจ้าเมืองบังโกล (Banggol) หรือ "พระยาบาโงย" ยกทัพเข้าโจมตีเมืองกลันตัน สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกลันตันสู้ไม่ได้จึงมีหนังสือถึงพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ขอความช่วยเหลือจากสยามเข้าช่วยปราบตนกูปะสาและพระยาบาโงย พระยาศรีพิพัฒน์ฯมีตราเรียกให้ทั้งสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสามาเจรจาสงบศึกกันที่เมืองสงขลา สุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสาไม่ยอมมาและพระยาบาโงยหลบหนีไปตรังกานู พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงส่งพระยาไชยานอกราชการนำกำลังไปจับตัวสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสามาพบพระยาศรีพิพัฒน์ฯที่เมืองสงขลา เมื่อทั้งสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสายินยอมสงบศึกซึ่งกันและกันแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงปล่อยตัวสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสากลับไปยังกลันตันตามเดิม

เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2382 พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงจัดระเบียบการปกครองของไทรบุรีใหม่ โดยให้ตนกูอาหนุ่มขึ้นเป็นสุลต่านแห่งไทรบุรี และแบ่งรัฐไทรบุรีออกเป็นสามหน่วยการปกครองได้แก่สตูล ปะลิส และไทรบุรีเดิม ให้ตนกูมูฮัมหมัดอากิบเป็นเจ้าเมืองสตูล[7] ให้ตวนไซยิดฮุสเซน (Tuan Syed Hussein) เป็นเจ้าเมืองปะลิส หลังจากเสร็จสิ้นงานราชการที่หัวเมืองมลายูแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงสร้างเจดีย์บนเขาเมืองสงขลาเรียกว่า "เจดีย์ขาว" เคียงคู่กับ "เจดีย์ดำ" ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายได้สร้างขึ้นเมื่อยกทัพปราบหัวเมืองมลายูในพ.ศ. 2375

รับทูตบาเลสเตียร์ แก้

ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2393 นายโยเซฟ บาสเลสเตียร์ (Joseph Balestier) ทูตของสหรัฐอเมริกาเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อเจรจาขอแก้หนังสือสัญญา เนื่องจากในขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กำลังเดินทางไปสักเลกยังหัวเมืองฝ่ายตะวันตก พระยาศรีพิพัฒน์ฯและจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) จึงเป็นผู้ต้อนรับทูตแทน นายบาเลสเตียร์เข้าพบพระยาศรีพิพัฒน์ฯที่บ้านและพระยาศรีพิพัฒน์ฯกล่าวทักทายปราศรัยนายบาเลสเตียร์ แต่นายบาเลสเตียร์โกรธว่าฝ่ายสยามมัวแต่พูดจาทำให้เสียเวลา และหยิบจดหมายของประธานาธิบดีจากในกระเป๋าเสื้อยื่นให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯแล้วขอเข้าเฝ้าฯ พระยาศรีพิพัฒน์ฯตอบว่าจะต้องให้ขุนนางสยามถวายหนังสือก่อนแล้วค่อยเข้าเฝ้าฯ นำไปสู่การทุ่มเถียง[3]ระหว่างพระยาศรีพิพัฒน์ฯและนายบาเลสเตียร์จนสุดท้ายนายบาเลสเตียร์เดินออกจากบ้านพระยาศรีพิพัฒน์ฯไป เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กลับมาถึงกรุงเทพฯ นายบาเลสเตียร์จึงฟ้องเจ้าพระยาพระคลังฯว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯดูถูกทูตอเมริกาและประเทศอเมริกา[3] สุดท้ายนายบาเลสเตียร์จึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปโดยการเจรจาแก้สัญญาไม่ประสบผล

เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ แก้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อเดือนเมษายนพ.ศ. 2394 โปรดฯให้เรียกพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ว่าเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติไปก่อน ต่อมาจึงมีพระราชโองการจารึกสุพรรณบัฏเนื้อแปด แต่งตั้งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนารถราชสุริยวงศ สกลพงศประดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโรประการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา 30,000 พระราชทานกลดเสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม เป็นผู้สำเร็จราชการภายในพระนครและว่าที่พระคลังสินค้าเช่นเดิม ถือตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ในขณะที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั่วไปกล่าวขานนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" ในขณะที่กล่าวนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยามในการเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2398 สนธิสัญญาของสยามกับสหรัฐอเมริกาโดยมีนายทาวน์เซนด์ แฮร์ริส เป็นผู้แทนในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2399 เรียกว่า สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) และสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2399 โดยมีนายชาลส์ เดอ มงตีญี (Charles de Montigny) เป็นผู้แทนของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เป็นแม่กองสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างพระปรางค์ภูเขาทอง วัดสระเกศ สร้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร สร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์และพระที่นั่งไชยชุมพล ซ่อมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ท่านยังมีความสามารถในการเดินเรือ เป็นผู้ต่อเรือบาร์จ (เรือท้องแบน) ขนาด 300 ตัน และเรือสกูนเนอร์ ขนาด 200 ตัน ใช้เดินทางติดต่อค้าขายถึงศรีลังกา

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติถึงแก่พิราลัยเมื่อปีพ.ศ. 2400 อายุ 66 ปี ขณะเป็นแม่กองสร้างสวนนันทอุทยาน ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติที่วัดพิชัยญาติการาม[3]

เกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมยศของ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ
 
ตราประจำตัว
การเรียนใต้เท้ากรุณาเจ้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ

บุตรธิดา แก้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติมีบุตรธิดา ดังนี้

ท่านผู้หญิงน้อย

ท่านผู้หญิงน้อยเป็นธิดาพระยาสมบัติบาล (เสือ) กับคุณหญิงม่วง ธิดาเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (ชูโต) พระเชษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1

  • พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค); พ.ศ. 2355-2381 สมรสกับคุณศรี ธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) กับคุณหญิงน่วม พระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) เป็นบุตรที่ 2 ในพระยาสมุทรสงคราม (ศร ณ บางช้าง) และเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (แก้ว) พระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1[8]
  • คุณชายกลาง บุนนาค
  • คุณชายแดง บุนนาค
  • เจ้าคุณตำหนักเดิม (นุ่ม บุนนาค; พ.ศ. ?-2419)
  • คุณชายผูก บุนนาค
  • คุณหญิงแห บุนนาค
  • คุณชายชิด มหาดเล็กวิเศษ (พ.ศ. ?-2381)
  • เจ้าคุณหญิงเป้า (พ.ศ. ?-2435) ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)
  • คุณชายนพ บุนนาค
  • คุณชายกระจ่าง บุนนาค
  • เจ้าคุณคลี่ บุนนาค (พ.ศ. 2375-2448)
  • คุณชายโต บุนนาค
หม่อมหงิม

หม่อมหงิมเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

  • เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค); พ.ศ. 2362-2431) สมรสกับท่านผู้หญิงอ่วม
  • พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค; พ.ศ. 2366-2445) สมรสกับคุณหญิงนิ่ม ธิดาพระศรีทรงยศ (เจ้าสัวเนียม)
  • คุณหญิงลิ้นจี่ บุนนาค
  • พระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค; พ.ศ. 2377-2430) สมรสกับคุณหญิงจันทร์
หม่อมมิ่ง

หม่อมมิ่งเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

  • คุณหญิงสวน บุนนาค รับราชการฝ่ายในเป็นพนักงานผ้าเหลือง
  • คุณหญิงนิ่ม บุนนาค
  • คุณหญิงลำเภา บุนนาค
  • พระยากลาโหมราชเสนา (ฉ่ำ บุนนาค; พ.ศ. 2369-2441) สมรสกับคุณหญิงอาบ (ชูโต)
หม่อมคล้าย
หม่อมทรัพย์
  • คุณหญิงหุ่น ภรรยาพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (เมฆ บุนนาค)
หม่อมมี
  • พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (แย้ม; พ.ศ. 2366-2404) สมรสกับคุณหญิงทองคำ
หม่อมงิ้ว
  • คุณหญิงเทพ บุนนาค
หม่อมเอม
  • คุณชายเชย บุนนาค
  • คุณหญิงตุ๊กตา บุนนาค
หม่อมนิ่ม
  • ท้าวศรีสัจจา (เลื่อน บุนนาค; พ.ศ. ?-2443)
หม่อมปิ่น
  • เด็กหญิง (ไม่มีนาม)
หม่อมสินลา
  • เด็กชาย (ไม่มีนาม)
หม่อมแย้ม
  • เด็กหญิง (ไม่มีนาม)
หม่อมเนย
  • คุณชายเริก บุนนาค
หม่อมแสง
  • คุณหญิงลำใย ภรรยาพระยาราชานุวงศ์ราชินิกุล (โต บุนนาค)
  • คุณหญิงเล็ก บุนนาค
หม่อมน้อย (ขรัวยายคล้าย)
หม่อมทิม
  • คุณหญิงจาด บุนนาค
หม่อมกลีบ
  • หม่อมมณฑา ในหม่อมเจ้าประทุมเสพ ฉัตรกุล

อ้างอิง แก้

  1. ถิ่นฐานและบ้านเรือนของสกุลบุนนาค[ลิงก์เสีย]
  2. "การสร้างวัดในสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  4. "(1) ๓:ท พระสุริยภักดี มีนามว่า สนิท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
  5. KEDAH GENEALOGY continued from the previous page.
  6. "ประวัติความเป็นมา จังหวัดปัตตานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-09. สืบค้นเมื่อ 2020-07-09.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-08.
  8. ลำดับราชินิกุลบางช้าง พิมพ์ในงานศพพระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) ปีมะแม พ.ศ. 2462