สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[3][note 1] หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 2223 – 26 เมษายน พ.ศ. 2301) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2275 – พ.ศ. 2301 เรียกกันอย่างสามัญชนว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ[5]: 54 รัชสมัยของพระองค์เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต 9 ปี[6]: 68–69
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | |
---|---|
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่วัดหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | 13 มกราคม พ.ศ. 2275 – 26 เมษายน 2301 (26 ปี 103 วัน)[1] |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ |
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร |
พระมหาอุปราช | ดูรายพระนาม |
สมุหนายก | |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2223 |
สวรรคต | 26 เมษายน พ.ศ. 2301 (78 พรรษา) |
ถวายพระเพลิง | 7 เมษายน พ.ศ. 2302 |
มเหสี | กรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี[2] เจ้าฟ้าสังวาลย์ |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี |
พระราชมารดา | สมเด็จพระพันวษา |
“25 ปีในรัชสมัยของพระองค์มีความสำคัญคือ เป็นยุคสงบสุขยุคสุดท้ายของอยุธยา เป็นยุคที่งานวรรณกรรม ศิลปกรรม เฟื่องฟู”[6]: 67–68
สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในอยุธยาในปัจจุบันส่วนใหญ่มีอายุย้อนไปถึงสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบูรณะปฏิสังขรณ์วัดในอยุธยาครั้งใหญ่
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้ใช้แบบอย่างจารีตประเพณีทางศาสนาของอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเลื่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกไปจนกว่าจะแน่พระทัยว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ถูกตรงตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอย่างแน่นอน[7]
พระราชประวัติ
แก้ก่อนครองราชย์
แก้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าพร คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุพระนามว่า เจ้าฟ้าอาภร[8] เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[9]: 218 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) มีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเพชร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ)
ปราบดาภิเษก
แก้ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ อันเนื่องมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งสมควรได้สืบราชสมบัติมากกว่า พระเจ้าท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี
คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่าพระมหาธรรมราชา[10] (แต่ในบัญชีพระนามเจ้านายว่าพระเจ้าบรมราชา[11]) และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์
พระราชพิธีปราบดาภิเษก
แก้เมื่อ พ.ศ. 2275 เป็นฤกษ์มหามงคล พระสังฆราชราชาคณะ ข้าราชการทั้งปวงมีเสนาบดีเป็นประธานประชุมพร้อมกัน ณ วิมานรัตนมหาปราสาท พระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร) จึงกระทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นผ่านพิภพถวัลยราชสมบัติ บรรดาข้าราชการทั้งปวงร่วมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากระทำสัตย์สาบานตามโบราณราชประเพณี
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
ลุศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลู เบญจศก เดือน ๕ ข้าราชการทั้งปวง มีเสนาบดีเป็นประธานและพระสังฆราชราชาคณะพร้อมกัน ณ วันศุภวารดิถีพิชัยมงคลฤกษ์ จึ่งกระทำพิธีปราบดาภิเษก สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขึ้นผ่านพิภพถวัลยราชสมบัติในวิมานรัตนมหาปราสาทพระราชวังหน้านั้นข้าราชการทั้งปวงก็ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานกายแล้วถวายบังคมลา ตามบรมบุราณราชเพณี[12]: 318
ใน สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2481[13]ได้มีกล่าวถึงการออกพระนาม 2 แบบ นั้นคือ
สมเด็จพระตรีภพโลกมกุฎอุดมบรมมหิศรวรวงศ์สุริเยนทร์ นเรนทราธิบดินทราโรดม (บรม) ขัติยชาติราชวราดุล พิบุลคุณคัมภีร์วีรอนันต์ มหันตมหาจักรพรรดิศร บวรราชาธิราช นารถนายกดิลกโลกจุธานรามร นิกรอภิวันท์ อนันตบูชิตมหิทธิ นารายอนุปัติ ส (หัศ) ทิสาเรกอเนกจตุรงคพล พหลอจลสุริโยทิต อมิตเดชา เอกาทศรุทธ์อิศวร บรมนารถบรมบพิตร
และ
สมเด็จพระบรมธาชาธิราชรามาธิบดี ศรีสรรเพชญ บรมมหาจักรพรรดิศวร ราชาธิบดี ศรีสุจริต ทศพิธธรรม์ มหันตจักร วาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร หิริหรินทรธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิฐ เมตจิตต์ รุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทวาดิเทพ (นฤบดินทร) ภูมินทราธิราชรัตนากาศ สมมุติวงศ์ องค์เอกาทศรุทธ์ วิสุทธิสามารถ บรมไตรโลกนาถ อาชชยาวไสย สมุทไทยดโรมันต์ อนันตคุณ วิบูลย์สุนทร ธรรมมิกราชโลก ราชาธิราช ขัติยวงศ์ องค์รามาธิบดี ตรีภูวนาพิเศษ โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตน โลกยโมฬี ศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูร (บรมบพิตร)
แล้วทรงตั้งพระพันวัสสาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต ตั้งพระพันวัสสาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี พระพันวัสสาสองพระองค์นี้เป็นบุตรีของหลวงทรงบาศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนพระมารดาของพระพันวัสสาสองพระองค์เป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี โปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชบุตรองค์ใหญ่เป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์ ให้เจ้าฟ้าเอกทัศ พระราชบุตรของพระพันวัสสาน้อยเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ให้พระองค์เจ้าแขกเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ ให้พระองค์เจ้ามังคุดเป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร ให้พระองค์เจ้ารถเป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ ให้พระองค์เจ้าปานเป็นกรมหมื่นเสพภักดี ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้านเรนทร์ เป็นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ และให้พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เป็นกรมขุนพรพินิต และทรงพระกรุณาโปรดตั้งขุนนางต่างๆ เช่น ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ซึ่งเคยอาสาออกไปรบเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จนมีชัยให้เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ว่าที่โกษาธิบดีเสนาบดีกรมพระคลัง ให้หลวงจ่าแสนยากร (ว่าที่เจ้าพระยาสุรสีห์) เป็นเจ้าพระยาจักรีว่าที่สมุหนายก ให้พระยาราชสงคราม (เดิมเป็นพระยาจักรีว่าที่สมุหนายกคนเก่า) ให้เป็นพระยาราชนายก ว่าที่กลาโหม ข้าหลวงผู้อื่นที่มีความชอบก็โปรดให้เป็นขุนนางตั้งแต่ชั้นเจ้าพระยา พระยา ลงมาตามฐานานุศักดิ์พร้อมพระราชทานบำเหน็จรางวัล เงินตรา และเสื้อผ้าต่างๆ นานาประการ[12]: 318–319
พระนาม
แก้- สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ
- พระมหาบรมราชา หรือ พระมหาบรมราชาธิราช[14]
- ขุนหลวงบรมโกษฐ
- เจ้าฟ้าพร หรือ เจ้าฟ้าอาภร
พระอุปนิสัย
แก้พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
อันสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] แผ่นดินนี้ มีพระกมลสันดานต่างกันกับพระบรมพระบิดา [สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี] และพระเชษฐาธิราช [สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ] ปาณาติบาตพระองค์ทรงเว้นเป็นนิจ ทรงประพฤติกุศลสุจริตธรรม สมณพราหมณาประชาราษฎร มีแต่สโมสรเป็นสุขสนุกทั่วหน้า พระองค์ทรงพระราชศรัทธากระทำทานแก่สมณพราหมณา กระยาจกวณิพก เดียรฉานต่าง ๆ ทุกอย่างสิ้น บางทีเสด็จไปชมพระตำหนักบางอออิน [บางปะอิน] และพระนครหลวง บางทีลงที่นั่งใหญ่ ใช้ใบล่องออกปากน้ำพระประแตง ชมชเลและมัจฉา ถึงหน้านวดข้าว ก็เสด็จไปนวดที่ทุ่งหันตรานาหลวง แล้วเอาข้าวใส่ระแทะ [รันแทะ][15]: 34–35 และให้พระราชบุตร พระราชธิดา กำนัลนางทั้งปวงลากไปวังใน แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่และยาคู [ข้าวยาคู] ไปถวายราชาคณะที่อยู่อารามหลวงทุก ๆ ปี มิได้เว้น พระองค์ทรงสรรพจะเล่นมิได้เบื่อ ทั้งวิ่งวัว ควาย และพายเรือ เสือกับช้างให้สู้กัน มีแต่สนุกทั่วกันทุกฤดู[12]: 319
— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม
คณะราชทูตลังกาที่เคยเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อคราวเชิญพระราชสาส์นพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะขออาราธนาคณะสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยาเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่กรุงลังกา กล่าวว่า :-
ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชธานีศรีวรฺธนะ [ศรีวรรธนะ] ทรงยืนยงด้วยพระจริยาวัตรอันดีงาม ทรงกอปร์ด้วยความเอมอิ่มแห่งคุณธรรมนานาประการ พระองค์ทรงปลุกจิตใจของสัปบุรุษ ประดุจดังรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ฉายลงต้องดอกบัวฉะนั้น พระสุรเสียงทุ้ม พระดำรัสของพระองค์หวานเหมือนน้ำผึ้ง และทำให้เบิกบานเหมือนดั่งเพลงของนกกรวิก [กุรวีกะ] พระองค์ทรงเป็นเอกในบรรดาผู้ที่ผูกพันอยู่ในการสนับสนุนความผาสุขของทั่วโลก ทรงเป็นผู้จรรโลงนครศรี–กานตะ และพระองค์ทรงเยี่ยมยอดในการทั้งปวง[16]: 69
— คณะราชทูตลังกา, จดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม. แปลโดย นันทา สุตกุล ศ.บ., (2508).
เหตุการณ์ในรัชสมัย
แก้การสู้รบกับเจ้าฟ้าอภัยก่อนขึ้นครองราชย์
แก้หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ พระเชษฐาธิราชเจ้า เสด็จสวรรคตแล้ว[12]: 315 ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย วังหลวง กับฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) วังหน้า ได้ให้ทหารสู้รบกันอยู่หลายวัน เจ้าฟ้าอภัยให้หลวงไชยบูรณ์ ปลัดเมืองพระพิษณุโลกยกพลทหาร 100 คนพร้อมสรรพาวุธไปทางชีกุนเพื่ออ้อมไปตีวังหน้า ฝ่ายทหารวังหน้ารู้เหตุจึงยกพลทหาร 200 คน พลทหารทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันเป็นสามารถ ฝ่ายทหารวังหน้าได้โอกาสเหมาะจึงเข้าโจมตีเป็นเหตุให้ทหารฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยล้มตายเป็นจำนวนมาก หลวงไชยบูรณ์ถูกจับส่งไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) และทรงให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 50 ทีแล้วให้จำไว้[12]: 315 ต่อมา พระธนบุรีขออาสาเจ้าฟ้าอภัยเพื่อรบกับฝ่ายวังหน้า จึงได้จัดทัพทหาร 500 คนแล้วเคลื่อนพลข้ามคลองตะพานช้างเข้าโจมตีวังหน้าจนค่ายทหารวังหน้าแตกทั้ง 3 ค่าย[12]: 315 ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) อาสาถวายบังคมลากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ออกไปรบพร้อมพลทหาร 300 คน ครั้นทัพของขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ไปถึงทัพพระธนบุรีได้เข้าโจมตีต่อเป็นสามารถ กระทั่งทหารฝ่ายพระธนบุรีหนีแตกพ่ายไปเหลือแต่พระธนบุรีอยู่สู้รบต่อ ฝ่ายขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ถือดาบเข้าโจมตีฟันถูกคอพระธนบุรีขาดบนหลังม้า จึงได้ตัดศรีษะของพระธนบุรีนำไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงมีพระทัยยินดีนักจึงมีรับสั่งให้จัดพลทหารขึ้นอีกจำนวนมากเพื่อเตรียมเข้าโจมตีพระราชวังหลวง[12]: 316
ครั้นทหารฝ่ายวังหลวงพ่ายให้กับฝ่ายวังหน้าอยู่หลายครั้ง เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงตกพระทัยกลัว จึงเก็บพระราชทรัพย์ลงเรือพระที่นั่งเดียวกันแล้วเสด็จหนีไปทางป่าโมกในเวลากลางคืน เมื่อเรือแล่นมาถึงบ้านเลน เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จึงเสด็จหนีไปทางบกหนีไปถึงป่าอ้อป่าพงแขมใกล้บ้านเอกราช นายด้วงมหาดเล็กเสด็จตามทั้งสองพระองค์ได้เที่ยวขอข้าวจากชาวบ้านมาให้ทั้งสองพระองค์เสวยอยู่ 7 วัน[12]: 316 วันหนึ่งนายด้วงมหาดเล็กได้รับพระราชทานพระธำมรงค์ [แหวน] ให้ไปซื้อข้าว ชาวบ้านเห็นพระธำมรงค์วงนั้นเข้ารู้ว่าเป็นแหวนของเจ้านายจึงไปบอกมูลเหตุแก่ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) จึงได้ยกพลทหารไปจับนายด้วงมหาดเล็ก และเข้าล้อมป่าพงแขม เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ตกพระทัยกลัวขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ทรงถวายพระแสงดาบ 2 เล่มของพระองค์ ขุนชำนาญ (อู่) เกลี้ยกล่อมและจับทั้งสองพระองค์นำไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จึงถูกประหารชีวิตให้สิ้นพระชนม์ด้วยท่อนจันทร์ตามราชประเพณี[12]: 317
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2275 ปีชวด ทรงราชาภิเษกและเสด็จประทับอยู่แต่ในพระราชวังหน้าเพราะทรงไม่ไว้ใจพวกในวังหลวง แต่ทรงเสด็จประทับพระราชวังหลวงภายหลังมีเหตุซ่อมแซมปราสาทเมื่อคราวเกิดกบฏจีนนายก่าย พ.ศ. 2277[17]: 2
แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดลงเป็นพระยาราชนายก ซึ่งนับว่าเป็นคนออกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤาตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น[17]: 3
— พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพกับพระราชพงษาวดาร., ร.ศ. ๑๒๑ (2446).
สำเร็จโทษพระองค์เจ้าแก้วด้วยอุบาย
แก้หลังจากเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์สิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าแก้ว ซึ่งเสด็จหนีตามเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปด้วยนั้นทรงเป็นฝ่ายเดียวกับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์[18]: 27 หลังจากพระองค์ถูกจับได้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) มีรับสั่งให้จำไว้ แล้วทรงคิดกลอุบายลับกับขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่)[12]: 317 หมายจะใช้เป็นมูลเหตุแห่งการตัดสินลงพระอาญาพระองค์เจ้าแก้ว โดยให้นำพระธำมรงค์ที่นายด้วงเอาไว้ซื้อข้าวไปฝังไว้ริมต้นยาง ริมบ้านเรือนของพระองค์เจ้าแก้วในเวลากลางคืน และตรัสให้หาออท้าวให้ทรงผีเพื่อค้นหาพระธำมรงค์วงที่ถูกฝังนั้นว่าอยู่ที่ใด (แต่ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) บอกความลับแก่ออท้าวก่อนแล้วว่าพระธำมรงค์ถูกฝังที่ใด)[12]: 317 ออท้าวก็ทรงผีจึงได้รู้เหตุแต่แกล้งทำอุบายแสดงมารยากริยาต่างๆ แล้วทายว่าพระธำมรงค์ที่หายไปนั้นจะได้คืนแต่ว่ามีคนเอาไปซ่อนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) มีรับสั่งให้ข้าหลวงขุดหาเอาพระธำมรงค์ที่ริมต้นยางมาถวาย และโปรดให้ลูกขุนพิจารณาโทษพระองค์เจ้าแก้วโดยกล่าวว่าเป็นกบฏ จึงมีรับสั่งให้สำเร็จโทษพระองค์เจ้าแก้วให้สิ้นพระชนม์[12]: 317
ส่วนนายด้วงมหาดเล็ก ทรงพระกรุณาให้เว้นโทษ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงตรัสความว่า :-
ไอ้ด้วงนั้นมันกตัญญูจงรักภักดีในเจ้าอย่าฆ่ามันเสียเลย เลี้ยงไว้ให้เป็นข้าราชการสืบไปเถิด[12]: 317–318
นอกจากพระองค์เจ้าแก้วถูกประหารแล้ว ยังมีเชื้อพระวงศ์อื่นๆ ถูกประหารอีกหลายพระองค์ รวมทั้งขุนนางขุนนางฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย เช่น พระยาพิชัยราชา (เสน) กับพระยายมราช (พูน)[19]: 183 ซึ่งหนีไปบวชอยู่แขวงเมืองสุพรรณบุรีนั้น ข้าหลวงได้ติดตามไปจับตัวขณะบวชเป็นภิกษุและให้คุมตัวไว้ที่วัดฝาง นายสังราชาบริบาลซึ่งหนีไปบวชอยู่แขวงเมืองบัวชุม ข้าหลวงตามจับได้ให้สึกแล้วประหารชีวิตที่ตะแลงแกง ส่วนภิกษุเสนกับภิกษุพูนที่วัดฝางนั้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) โปรดให้แขกจามมาแทงให้ตายในเวลากลางคืน[12]: 318
วังหน้าถูกปืนใหญ่ยิง
แก้หลังจากพระองค์เจ้าแก้วถูกสำเร็จโทษ มีขุนนางจากกรมพระคชบาล คือ หมื่นราชสิทธิการ[12]: 318 ได้เอาปืนใหญ่ขึ้นบนโรงช้างยิงเข้าไปในพระราชวังหน้า ระหว่างที่รบกันอยู่นั้น ลูกปืนไปถูกกิ่งสนหักลงเป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทราบมูลเหตุจึงทรงพระพิโรธ มึรับสั่งให้จับตัวหมื่นราชสิทธิการลงพระอาญาเฆี่ยน 50 ที ถามไถ่ได้ความว่าหมื่นราชสิทธิการคนนี้เป็นบุตรของปะขาวจันเพชรซึ่งพระองค์ทรงรู้จักกันอยู่มาแต่ก่อนจึงมีรับสั่งโปรดให้ไปตามตัวปะขาวจันเพชรมาสอบความ
ปะขาวจันเพชรจึงกราบทูลว่า :-
บุตรข้าพระพุทธเจ้ากระทำการเป็นขบถดังนี้ โทษถึงตาย ๗ ชั่วโคตรตามบทพระอัยการ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา... ...ข้าพระพุทธเจ้าไม่รับพระราชทานขอโทษเลย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา[12]: 318
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ได้ทรงฟังก็ตรัสชมว่าปะขาวจันเพชรผู้นี้เป็นผู้ใหญ่สัตย์ซื่อตรง ว่ากล่าวคำนั้นตามความจริง[12]: 318 จึงตัดสินพระทัยไม่ลงพระอาญาแก่หมื่นราชสิทธิการแต่ให้ไปทำงานต่อสำเภาจนกว่าจะสิ้นโทษ ปะขาวจันเพชรได้ฟังก็ยินดียิ่งนักแล้วจึงถวายบังคมลา
การพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
แก้ภายหลังจากขึ้นครองราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระโทมนัสแค้นพระทัยสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า ตรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระแต่จะให้ทิ้งน้ำเสีย พระยาราชนายก ว่าที่กลาโหม จึงกราบทูลเล้าโลมอ้อนวอนพระองค์อยู่หลายครั้ง จนพระองค์ทรงยอมพระทัยและทรงมีพระกรุณาดำรัสสั่งให้ตั้งพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก ให้ชักพระบรมศพออกถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระตามโบราณราชประเพณี[12]: 319
เสด็จประพาสล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรี
แก้พ.ศ. 2277 ปีขาล[12]: 320 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชประสงค์ให้พระราชบุตรธิดาทอดพระเนตรล้อมช้าง จึงมีพระราชโองการโปรด ฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นอินทรภักดี เจ้ากรมพระคชบาล[20] พระราชนัดดาในสมเด็จพระเพทราชา กับเจ้าพระยากลาโหม (ปาน) เสนาบดีสมุหพระกลาโหม (เดิมคือ พระยาราชสงคราม (ปาน) สมุหนายกรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[21]: 207 ) เป็นนายกองแล้วโปรดให้เกณฑ์คนจำนวน 30,000 คนให้ไปล้อมช้างเถื่อนที่ป่าแขวงเมืองลพบุรี[22] เมื่อถึงเดือนสิบ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินตามไปเร่งนายกองให้ต้อนสัตว์ทั้งมวลมายังค่ายพระตำหนักทะเลชุบศรทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยเสด็จมาล้อมช้าง แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้นพระตำหนักห้างคนยิงปืนตีม้าฬ่อฆ้องกลองจนฝูงสัตว์แตกตื่นวิ่งกระเจิงหนีออกมาจำนวนมาก จับฝูงช้างได้ราว 180 เชือก ส่วนอีก 300 เชือก โปรดให้ปล่อยกลับเข้าสู่ป่าไป ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประพาสล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรีอยู่นั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดกบฏชาวจีนสมคบคิดปล้นพระราชวัง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเร่งเสด็จกลับไปยังพระนคร[12]: 320
กบฏจีนนายก่าย (พ.ศ. 2277)
แก้กบฏจีนนายก่าย หรือ จีนนายไก้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2277[23]: 19 [24]: 123 รัชกาลพระองค์ สืบเนื่องจากก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้มีการประหารชีวิตขุนนางและเจ้านายที่เข้ากับฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย คลองนายก่ายกลุ่มหนึ่งได้รวมพรรคพวกกันรวม 300 คนเศษ สมคบคิดบุกเข้าปล้นพระราชวังหลวงในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประพาสคล้องช้าง ณ เมืองลพบุรี แต่ปล้นไม่สำเร็จจึงหนีไป ข่าวกบฏรั่วไหลไปยังพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวังหลวงเป็นผู้รักษากรุง กับขุนนางจำนวนหนึ่ง พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จึงได้นำกำลังเข้าปราบพวกกบฏ บ้างถูกฆ่า บ้างแตกพ่ายหนีไปได้
พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ส่งเรือเร็วไปยังเมืองลพบุรี กราบบังคมทูลรายงานข่าวกบฏให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบ ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว โปรดฯ ให้ติดตามจับตัวกบฏได้จำนวน 281 คน ไต่สวนมูลคดีแล้วจึงประหารชีวิตพวกหัวหน้ากบฏ 40 คน[25]: 36 ที่เหลือโปรดฯ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบยตามโทษานุโทษแล้วปล่อยตัว
เหตุกบฏในครั้งนี้ทำให้ชาวจีนในกรุงศรีอยุธยาถูกจับตามองและเป็นที่รังเกียจของชาวกรุงศรีอยุธยาไปนานพอสมควร[26]: 120
พระราชโอรสแย่งชิงราชสมบัติ
แก้เมื่อ พ.ศ. 2277 ปีเถาะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรได้ไม่นาน เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างกรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กับกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) พระราชโอรส[12]: 320
กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทรงคิดการร้ายเห็นว่ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุเสด็จมาเยี่ยมพระราชบิดาบ่อยครั้งตามพระราชโองการเชิญให้เสด็จไป ครั้นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จขึ้นมาหน้าพระชัยเข้าไปถึงประตู กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทรงแอบอยู่ก็ฟันพระแสงดาบไปถูกจีวรของกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ขาดแล้ววิ่งเข้าไปข้างใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรอยู่ได้ทอดพระเนตรเห็นมูลเหตุจีวรขาดจึงตรัสถามกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) ก็ทรงถวายพระพรว่า กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หยอก[12]: 320 กรมหลวงอภัยนุชิต พระชนนีของกรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทราบเหตุจึงตกพระทัยเกรงพระราชอาญาว่าด้วยกบฏ จึงเสด็จไปอ้อนวอนกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) อย่าได้เอาความผิดแก่กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) ทรงพิเคราะห์ตามภิกษุภาวะแล้วตรัสว่า :-
จะช่วยได้ก็แต่กาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยพระอรหัต [พระอรหันต์][12]: 320–321
กรมหลวงอภัยนุชิต พระชนนีฯ ได้สติจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หนีไปทางประตูฉนวน ให้ทรงออกผนวชอยู่วัดโคกแสงเพื่อหลบซ่อนตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรับสั่งให้ตามหาแต่ไม่พบกรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ได้แต่ตัวพระองค์เจ้าเทศ และพระองค์เจ้าชื่นเท่านั้น แล้วโปรดให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์เสีย
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2279 กรมหลวงอภัยนุชิต พระชนนีฯ ทรงพระประชวรหนักจวนจะสิ้นพระชนม์ ทรงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงดำรัสว่า :-
ถ้าไม่กบฏแล้วก็ไม่ฆ่า[12]: 321
กรมหลวงอภัยนุชิตได้ฟังพระดำรัสก็วางพระทัยไม่ปลงตกพระราชอาญา แล้วจึงสิ้นพระชนม์ไปในคราวนั้น[12]: 321
กรุงกัมพูชานำช้างเผือกมาถวาย
แก้นับตั้งแต่คราวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประพาสล้อมช้างที่เมืองลพบุรีมาก่อนนั้นก็ยังไม่พบช้างเผือกเป็นที่พอพระทัย ว่าด้วยช้างเผือกเป็นสิ่งที่หายากต้องมากด้วยพระบารมีเท่านั้นจึงจะพบ แต่ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2277 ช้างเผือกปรากฏขึ้นที่กรุงกัมพูชา พระแก้วฟ้า (นักแก้วฟ้า) ผู้ครองกรุงกัมพูชาในขณะนั้น โปรดให้ข้าหลวงนำช้างเผือกตัวเมีย สูง 3 ศอก 7 นิ้วจากกรุงกัมพูชามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อช้างมาถึง โปรดให้ข้าหลวงกรมพระคชบาลออกไปรับ พระราชทานนามช้างเผือกว่า พระวิเชียรหัสดินทร์อรินทรเลิศฟ้า แล้วนำมาไว้ที่โรงช้างพระที่นั่งวิหารสมเด็จ[12]: 321
ถึง พ.ศ. 2284 ด้านเมืองนครศรีธรรมราช บ่าวพระปลัดไปโพน คล้องช้างพลายงามสูง 5 ศอก งายาว 5 นิ้วได้ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ว่าที่โกษาธิบดีกรมพระคลังกราบทูลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงมีรับสั่งให้กรมพระคชบาลออกไปรับแล้วพระราชทานนามว่า พระบรมนาเคนทร ปรากฏช้างเนียมอีกเชือกหนึ่งได้จากเมืองไชยา พระราชทานนามว่า พระบรมวิไชย ได้ช้างจากเมืองนครศรีธรรมราชเพิ่มอีกเชือก พระราชทานนามว่า บรมจักรพาฬ และจากเมืองเพชรบุรีอีกเชือกจึงพระราชทานนามว่า บรมกุญชร รวมทั้งสิ้น 4 เชือก[12]: 322
เสด็จสมโภชพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก
แก้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2280 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างต่อเนื่องโดยเสด็จประพาสโดยกระบวนนาวาพยุหะฉลองวัดหันตราและสมโภชพระอาราม 3 วัน ในปีต่อมาก็เสด็จสมโภชพระพุทธบาท[12]: 321
กระทั่งปี พ.ศ. 2283 ปีวอก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปไกลถึงเมืองพระพิษณุโลกโดยกระบวนนาวาพยุหะ เมืองพระพิษณุโลกขณะนั้นมีเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือในรัชกาลพระองค์[27]: 343 ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จถึง โปรดให้สมโภชพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพระพิษณุโลก แล้วเสด็จขึ้นไปที่เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) ต่ออีก 3 วัน โปรดให้สมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ แล้วจึงเสด็จกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา
พม่าหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาและการเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงอังวะ
แก้เมื่อ พ.ศ. 2287 ปีชวด เมืองเมาะตะมะกับเมืองทวายเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น มังนราจังซู เจ้าเมืองเมาะตะมะ และ แนงแลกแวซอยดอง เจ้าเมืองทวายอพยพครอบครัวและชาวเมืองรวม 300 คน เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ขุนละคร กับ ขุนนรา นายด่านในขณะนั้นจึงพาไปให้แก่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) แล้วพาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระมหากรุณาธิคุณรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคกับตราภูมิห้าม แล้วให้ปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแก่เจ้าเมืองทั้งสองรวมชาวเมืองให้อยู่ข้างวัดมณเฑียรในกรุงศรีอยุธยา ทรงตรัสถามมูลเหตุกับเจ้าเมืองทั้งสองนั้น[12]: 322
มังนราจังซูและแนงแลกแวซอยดองกราบทูลว่าหัวหน้ามอญชื่อ สมิงถ่อ (พงศาวดารฝั่งพม่าเรียกว่า สมิงทอพุทธกิตติ) กับ พระยาทะละ คิดกบฏต่อพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี กรุงอังวะ ได้เข้าปล้นยึดกรุงหงสาวดีแล้วสมิงถ่อจึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ พระยาทะละจึงยกบุตรีของตนให้เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) มังนราจังซูและแนงแลกแวซอยดองจึงเกณฑ์ไพร่พลเมืองจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และเมืองกะลิออง เข้าตีเมืองหงสาวดีช่วยเหลือพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดีแต่ไม่สำเร็จจึงถูกฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) ตามสกัดจึงหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
เดิมเมื่อศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะ สัปตศก สมิงถ่อคนหนึ่งเป็นชาติถ่อย คบคิดกันกับพระยาทะละ กรมช้าง กบฏต่อพระเจ้าอังวะ เข้าปล้นเอาเมืองหงสาได้ มาอาสาอองเสีย [ละอองเสีย] พระยาทะละกรมข้างเห็นบุญสมิงถ่อมาก ก็ยกนางภังภูบุตร [นางพังผู้บุตรี] ขึ้นเสกกับสมิงถ่อ ให้นั่งเมืองหงสาวดี ข้าพเจ้าทั้งสองจึ่งเกณฑ์มอญเมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย เมืองกะลิออง จะยกไปช่วยหงสาวดีตีถวายพระเจ้าอังวะ คนทั้ง ๓ เมืองกลัวบุญสมิงถ่อ ก็กลับสู้รบข้าพเจ้าทั้ง ๒ เหลือกำลังที่จะปราบปรามได้ ครั้นจะหนีขึ้นไปอังวะก็ขัดสนด้วยทาง พวกกบฏออกขวางสกัดหน้า จึ่งชวนกันพาบุตรภรรยาเข้ามา เอาฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่พึ่งไปกว่าสิ้นชีวิต[12]: 322
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงฟังแล้วก็ดำรัสตอบว่า :-
อ้ายสมิงถ่อนี้เป็นชาติถ่อย ตระกูลต่ำ กำเริบใจ ได้เมืองหงสา มิหนำซ้ำจองหอง มีราชสาส์นเข้ามาเป็นทองแผ่นเดียวขอลูกสาวกู มันจะอยู่ได้สักกี่วัน[12]: 322
ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี แห่งกรุงอังวะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้นทรงเป็นที่พึ่งแก่ชาวเมาะตะมะและทวาย ก็ทรงพระโสมนัสจึงทรงแต่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ ประกอบด้วย พานทองประดับ ๑ คนโทน้ำครอบทอง ๑ ผอบเมียงทอง ๑ ขันทอง ๑ พระภูษาทรงลายกงจักรริมแดง ๑ ผ้าทรงพระมเหสีสำรับ ๑ ผ้าลายมีลายโต ๆต่าง ๆ กัน เรือสารพิมานสำทรงลำ ๑ กับน้ำมันดินและดินสอแก้ว ดินสอศิลา และสิ่งของอื่นๆ อีกจำนวนมาก[12]: 323 โปรดให้ มังนันทจอสู และ มังนันทจอถาง เป็นราชทูตและอุปทูตแห่งกรุงอังวะนำความพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เมื่อราชทูตกรุงอังวะได้เข้าเฝ้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งพระราชสาส์นใส่สุพรรณบัตรแผ่นทองตราประทับนารายณ์ขี่ครุฑกับเครื่องราชบรรณาการ ประกอบด้วย พานแว่นฟ้าทอง ๒ ชั้น กลีบวิ่นเครื่องในพร้อม ๑ พระเต้าน้ำครอบทอง ๑ พระสุพรรณศรีทอง ๑ และเครื่องทองทั้งปวงหลายอย่าง และกำมะหยี่ แพรม้วนลายมังกรจำนวนมาก กับเรือที่นั่งกิ่งทรงลำ ๑ โปรดให้ พระยายมราชเป็นราชทูต พระธนบุรีเป็นอุปทูต พระสุธรรมไมตรี เป็นตรีทูต (นายเวร) นำไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะโดยเดินทางไปพร้อมกับคณะราชทูตกรุงอังวะชุดนี้[12]: 323
ในเวลานั้น พระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) ฝ่ายกบฏกำลังยกทัพจะไปตีกรุงอังวะ ราชทูตกรุงอังวะจึงพาราชทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางอ้อมไปทางป่าสักป่าโลงแล้วคณะราชทูตทั้งสองฝ่ายจึงคิดอุบายว่ากรุงศรีอยุธยายกทัพมาช่วยกรุงอังวะหมายจะตีทัพมอญ ทัพของพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) รู้ข่าวแต่หารู้ไม่ว่าเป็นอุบาย พอเสบียงหมดก็พากันเลิกทัพกลับไม่ยกทัพไปตีกรุงอังวะ คณะราชทูตทั้งสองฝ่ายจึงสามารถเดินทางไปถึงกรุงอังวะแล้วได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี ฝ่ายพระเจ้ากรุงอังวะทรงมีพระทัยปิติอย่างมาก พระราชทานรางวัลแก่ราชทูตกรุงศรีอยุธยามากมายแล้วราชทูตกรุงศรีฯ จึงกราบทูลถวายบังคมลากลับ ระหว่างเดินทางกลับ พระยายมราชกับพระธนบุรีป่วยถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเหลือพระสุธรรมไมตรี ตรีทูต (นายเวร) กับฟ้าไล่ 2 คนเท่านั้น[12]: 324
ต่อมาปี พ.ศ. 2292 ปีมะเมีย กรุงหงสาวดีเกิดกบฏ[12]: 325 พระยาทะละคิดกบฏต่อพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) จัดทัพรบแต่พ่ายแพ้เหลือกำลังจะตีฝ่ายพระยาทะละได้ไพร่พลก็ไม่นับถือเหมือนแต่ก่อน พระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) จึงหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดินทางมาถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชดำรัสให้จับพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) ไปจำคุกไว้ด้วยเหตุทรงกริ้วเมื่อคราวกรุงหงสาวดีส่งพระราชสาส์นมาว่าจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน[12]: 325
ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดี (พระยาทะละ) ทราบข่าวว่าสมิงถ่อหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา ก็ทรงแต่งพระราชสาส์นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่าสมิงถ่อเป็นคนอกตัญญูไม่ซื่อตรงจะขอเอาตัวสมิงถ่อไปลงพระอาญาเสียให้สิ้น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงให้ตามที่ขอ กลับทรงเมตตาเลี้ยงดูสมิงถ่อให้อยู่สุขสบาย ด้วยสมิงถ่อเป็นคนดีมีความรู้จนกรมหมื่นจิตรสุนทร (พระองค์เจ้ามังคุด) ทราบความก็ทรงมาศึกษาความรู้จนกลายเป็นลูกศิษย์ของสมิงถ่อแล้วยังทรงอุปถัมภ์ให้อยู่เป็นสุขยิ่งเข้าไปอีก เมื่อได้โอกาสอันเหมาะ กรมหมื่นจิตรสุนทร (พระองค์เจ้ามังคุด) ทรงทูลขอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้พระราชทานอภัยโทษไม่จำคุกสมิงถ่อก็ทรงโปรดให้ตามที่ขอ แล้วทรงดำริว่า :-
สมิงถ่อเป็นคนดีมีวิชา ลูกเราก็ได้ศึกษาเป็นศิษย์มัน ครั้นจะส่งไปเขาก็จะฆ่ามันเสียเปล่า ครั้นจะเอาไว้ในกรุงเล่า เขาก็จะนินทาว่าคบหาคนชั่วไว้[12]: 326
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีรับสั่งให้เอาสมิงถ่อฝากนายสำเภาหูทรง [หัวทรง] ส่งไปยังเมืองจีน แต่นายสำเภาหูทรงปล่อยสมิงถ่อไว้กลางทางข้างฝั่งตะวันตก สมิงถ่อจึงเดินทางถ่อไปหา นางเทพวิลา ภรรยาซึ่งเป็นบุตรีพระเจ้าเชียงใหม่แล้วเล่าความทุกข์สุข นางเทพวิลานำความกราบทูลพระเจ้าเชียงใหม่จะขอกองทัพให้แก่สมิงถ่อยกไปตีกรุงหงสาวดีแต่ทรงไม่โปรดพระราชทานให้ตามที่ขอ สมิงถ่อจึงไม่พอใจได้ลักพาตัวนางเทพวิลาพร้อมลักลอบสุมกำลังผู้คนไปอีกจำนวนมาก เมื่อสมิงถ่อเดินถึงกลางทางได้พบกับทัพของมังลอกของกรุงอังวะที่มีรี้พลจะไปตีกรุงหงสาวดี สมิงถ่อจึงถูกมังลอกจับตัวแล้วจำคุกไว้ที่กรุงอังวะ[12]: 327
วังหน้าเกิดเพลิงไหม้
แก้เมื่อ พ.ศ. 2287 ปีชวด ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังจันทรเกษมนั้น ได้เกิดเพลิงไหม้[28]: 15 ทำให้พระราชมณเฑียรซึ่งเป็นของเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[28]: 20 เสียหายเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังหลวง ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ แล้วเสด็จออกว่าราชการ ณ พระที่นั่งทรงปืนซึ่งตั้งอยู่ข้างท้ายวังแทน แล้วโปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นมาใหม่แต่การสร้างครั้งนั้นสร้างเป็นสถานประมาณพอเสด็จประทับได้[29]
เมื่อสร้างแล้วเสร็จแล้วจึงโปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปประทับ ทรงประทับอยู่ได้ 14 พรรษาแล้วจึงเสด็จทิวงคตเนื่องจากทรงต้องโทษพระราชอาญา
ไข้ทรพิษระบาด
แก้เมื่อ พ.ศ. 2292 ปีมะเส็งในรัชกาลพระองค์ (ตรงกับปีที่ชาวมอญหนีอพยพมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาจากการเกิดกบฏพระยาทะละ) ได้เกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาด เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก[30]
ปรากฏใน จดหมายเหตุโหร ว่า:-
ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๑๑ ออกหัดทรพิษคนตายชุม มอญบ้านโพธิ์สามต้นหนี[31]: 91
ส่งสมณทูตฟื้นฟูศาสนาพุทธ ณ กรุงลังกา
แก้สืบเนื่องจากพระพุทธศาสนาในศรีลังกาเสื่อมลงจากการล่าอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. 2048 แม้ชาวดัทซ์กับชาวลังกาได้ช่วยขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไปจนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2201 แต่ชาวดัทซ์ได้เข้ามาครอบครองและเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปเสตแตนต์ในศรีลังกา เมื่อพระเจ้าราชสิงห์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2124 แต่พระองค์ทรงหันไปนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะและทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการเผาคัมภีร์และปราบพระสงฆ์จนหมดสิ้น[32]: 155
ถึงรัชสมัยพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะทรงจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงทราบจากพ่อค้าชาววิลันดาว่าพระพุทธศาสนาของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเจริญรุ่งเรืองมากจึงแต่งคณะราชทูตลังกาเชิญพระราชสาส์นมาขออาราธนาพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยา แต่คณะราชทูตลังกาไปติดค้างอยู่ที่เมืองปัตตาเวียจึงไม่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[33]: 17
เมื่อ พ.ศ. 2293 รัชกาลพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ กรุงลังกา ทรงเลื่อมในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ จึงมีพระราชสาส์นเขียนเป็นภาษาบาลี[16]: 61 และเครื่องราชบรรณาการพร้อมส่งคณะราชทูต 5 คน ชื่อ อตปัตตุเว โมโหฏฏาละ ๑ เวฑิกการะ โมโหฏฏาละ ๑ อิริยคมะ ราละ ๑ อยิตตาลิยัทเท ราละ ๑ วิละภาเคทะระ ราละ ๑ พร้อมผู้ติดตาม[16]: 59–60 มายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขออาราธนาพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยาไปอุปสมบทชาวลังกา เมื่อคณะราชทูตลังกาเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรี
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเหล่าเสนาบดีกล่าวแก่คณะราชทูตว่า :-
เมื่อได้ศุภวารมงคล พระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการและบรรดาท่านทั้งหลายก็จะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวต่อไป ขณะนี้ขอให้ท่านกลับไปยังที่พักก่อนเถิด[16]: 66
เมื่อคณะทูตลังกาได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชดำริจะส่งสมณทูตไปศรีลังกา
จดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม กล่าวว่า :-
พระเจ้าแผ่นดิน [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] ทรงมีปฏิสันถาน ๓ นัด ถามราชทูตว่าสุขสำราญไร้ทุกข์โศกทั้งใจและกายหรืออย่างไร แล้วพระองค์ตรัสอย่างทรงพระเมตตาว่า พระองค์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เจ้าแห่งราชธานีศรีอยุธยาจะทรงส่งผู้แทนคณะสงฆ์อันยิ่งใหญ่ไปประเทศลังกา เพื่อสนองพระราชประสงค์ ในอันที่จะส่งเสริมสืบต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองมิ่งในโลก ผู้ทรงเจริญด้วยพระบาทบงกชอันประเสริฐ[16]: 68–69
แล้วยังทรงพาคณะราชทูตลังกาไปนมัสการรอยพระพุทธบาท[16]: 71 พระพุทธไสยาศน์ วัดคังคาราม[16]: 75 วิหารพระมงคลบพิตร[16]: 76 และพระราชทานของบำเหน็จ หีบเงิน หีบทอง ของมีค่าต่างๆ อีกมาก[16]: 77
เมื่อ พ.ศ. 2294 วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ส่งคณะสมณทูตไปลังกา ทรงตั้งพระอุบาลีเถระเป็นหัวหน้าพร้อมคณะพระสงฆ์ 24 รูปจากวัดมงคลบพิตร[16]: 76–77 ครั้นเรือสำเภาแล่นมาถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมก็ถูกคลื่นใหญ่ซัดจนน้ำซึมเข้าจนเรือจมลงโคลนดิน แม้คณะทูตไม่ได้รับอันตรายแต่การส่งคณะสมณทูตไปลังกาครั้งแรกก็ไม่สำเร็จ[33]: 17 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบมูลเหตุก็มีพระราชโองการถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้ดูแลคณะราชทูตอย่างดี
เมื่อ พ.ศ. 2295 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้คณะสมณทูตไปลังกาเป็นครั้งที่ 2 โปรดให้พระอุบาลีเถระเป็นหัวหน้า มีพระอริยมุนีกับคณะพระสงฆ์ 12 รูป[34]: 326 เดินทางโดยเรือเดินสมุทรของชาวดัทซ์ไปศรีลังกาพร้อมด้วย พระมณฑป พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระพุทธบาท หีบพระธรรม เครื่องราชบรรณาการ และพระราชสาส์น[33]: 17 คณะสมณทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปถึงลังกาสำเร็จได้พำนักที่วัดบุพพาราม กรุงแกนดี[32]: 155 ได้ประกอบพิธีผูกสีมาแล้วอุปสมบทกุลบุตรชาวลังกา สามเณรสรณังกร ที่อุปสมบทเมื่อคราวนั้นก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งลังกาทวีป จึงเกิดคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์ (สยามวงศ์ หรือสยามนิกาย) ใช้เวลา 7 ปีเศษ[35]: 223 ในการฟื้นฟูกระทั่งคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์กลายเป็นพุทธศาสนนิกายที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกาอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน[32]: 155
การสวรรคต
แก้เมื่อ พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระชนมายุ 71 พรรษา (บ้างว่า 70 พรรษา) ก่อนถึงพระวาระสุดท้ายนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์หลายอย่างเป็นลางบอกเหตุ[35]: 231
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
อันสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าพระองค์นึ้ พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม มีพระชนม์ยืนนาน ได้เสวยราชย์มา ๒๐ ปี จนพระชนม์ได้ ๗๐ พรรษา เมื่อกาลมาถึงพระองค์ ด้วยพระองค์เป็นธิบดีใหญ่ในสยามประเทศ จึ่งวิปริตนิมิตเหตุต่างๆ ณ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลูนพศก กลางคืนลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุซึ่งเป็นหลักอัครโพธิ [หลักวัดโพธิ์] โทรมลงทลาย ทั้งอากาศสำแดงร้ายอาเพศ ประทุมเกศตกต้องมหาธนูลำพู่กัน หนึ่งดวงดาวก็เข้าในดวงจันทร์ ทั้งดาวหาง คลองช้างเผือก ประชาชนก็เย็นยะเยือกทั้งพระนคร ด้วยเทพยเจ้าสังหรณ์หากให้เห็น ด้วยพระองค์เป็นหลักชัยในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา[12]: 329–330
เมื่อถึง พ.ศ. 2301 เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำปีขาลสัมฤทธิศก ตรงกับวันศุกร์ที่ 14 เมษายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวร สองสัปดาห์ต่อมาจึงเสด็จออกพระที่นั่งทรงปืนในเวลาเช้า แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เวลา 5 โมงเช้าเศษ แล้วเสด็จมาบรรทมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงปืนกระทั่งบรรทมตื่นเวลาเที่ยงครึ่ง แล้วเสด็จไปลงพระบังคน [ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ] โดยมีหลวงราชรักษาและหลวงราโชคอยช่วยพยุงพระองค์ให้เสด็จยืน พระองค์ทรงมีอาการพระวาตะ [ลม] ปะทะพระเนตรช้อนกลับขึ้น พระหัตถ์คว้าจับหลักชัยไม่ถนัด ทรงหายพระทัยดังและมีเสียงกรน[12]: 330
เวลานั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ กรมขุนพรพินิต) ให้ไปเชิญเสด็จกรมหลวงพิพิธมนตรี (พระอัครมเหสีน้อย) เจ้าฟ้าจันทวดี (พระราชธิดา) และกรมขุนพิศาลเสนี (เจ้าฟ้านุ่ม) พระราชธิดา[12]: 330 ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย แล้วกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ (เจ้าฟ้าอาทิตยวงศ์) ให้เชิญเสด็จกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศ) เข้ามายังพระที่นั่งทรงปืนเพื่อทอดพระเนตรอาการสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศ) แย้มฉากทอดพระเนตรเพียงประเดี๋ยวหนึ่งแล้วเสด็จไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย
เมื่อถึงเวลาค่ำปฐมยามเศษ (ราว 18.00 น.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2301 สิริพระชนมายุ 78 พรรษา พระองค์อยู่ในราชสมบัติรวม 26 พรรษาถ้วน
ครั้นเพลายามเศษ พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคด เมื่อศักราช ๑๑๒๐ ปีขาล สัมฤทธิศก เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ วันพุธ เพลายามเศษ เสวยราชย์มาแต่พระชนม์ ๕๐ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒๑ ปี[note 2] เป็นพระชนม์ ๗๘ ปี สวรรคต[12]: 330
เมื่อเดือนห้าขึ้น 11 ค่ำศักราช 1121 ปีเถาะเอกศกตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2302 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ทั้งสองพระองค์ทรงทำฉลองพระเดชพระคุณถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง ตามราชประเพณีอย่างยิ่งใหญ่กว่าแต่ก่อนมาก โปรดให้สร้างวัดอุทุมพร และปฏิสังขรณ์หลังคาพระมณฑปพระพุทธบาท หุ้มทอง 2 ชั้นโดยใช้ทองทั้งสิ้น 144 ชั่ง ทรงฉลองถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ และราษฎรผู้ยากไร้เป็นจำนวนมาก[12]: 332
การพระบรมศพ
แก้พระราชพิธีปลงพระบรมศพ
แก้ภายหลังจากเจ้าสามกรมถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ด้วยเหตุคิดแย่งชิงราชสมบัติแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าอุทุมพร) จึงทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่อบ้านเมืองสงบ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปทุกหัวเมืองและเมืองประเทศราชให้มาปลงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงนำน้ำหอม น้ำดอกไม้เทศ และน้ำกุหลาบหอมมาสรงพระบรมศพ พระองค์กับสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ก็ทรงพระกรรแสง บรรดาพระญาติพระวงศ์ข้าหลวงทั้งปวงต่างพากันร้องไห้ด้วยอาลัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
คำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า :-
ครั้นทรงน้ำหอมแล้ว จึ่งทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวงแล้ว ทรงสนับเพลาเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก แล้วจึ่งทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง แล้วจึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่กรองทอง สังเวียนหยักและชายไหวชายแครง ดาบทิศและดาบหน้าและสังวาลประดับเพชร จึ่งทรงทองต้นพระกรและปลายพระประประดับเพชร แล้วจึ่งทรงพระมหาชฎาเดินหน มียอดห้ายอด แล้วจึ่งประดับเพชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์และสิบนิ้วพระบาท แล้วเอาพระภูษาเนื้ออ่อนเข้าพันเป็นอันมาก ครั้นได้ที่แล้วจึ่งเอาผ้าขาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อ เรียกว่าผ้าห่อเมี่ยงตามอย่างธรรมเนียมมา แล้วจึ่งเชิญเข้าพระโกศลองในทองหนักสิบสองชั่ง แล้วจึ่งใส่ในพระโกศทองใหญ่เป็นเฟื่องกลับจงกลประดับพลอย มียอดเก้ายอด เชิงนั้นมีครุฑและสิงห์อัดทองหนักยี่สิบห้าชั่ง แล้วเชิญพระโกศนั้นขึ้นเตียงหุ้มทอง แล้วจึ่งเอาเตียงที่รองพระโกศนั้นขึ้นบนพระแท่นแว่นฟ้า แล้วจึ่งกั้นราชวัติตาข่ายปะวะหล่ำแดง อันทำด้วยแก้ว มีเครื่องสูงต่าง ๆ แล้วจึ่งเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่สูง จึ่งตั้งเครื่องราชบริโภคนานา ตั้งพานพระสุพรรณบัฏ ถมยาใส่บนพานทองประดับสองชั้น แล้วจึ่งตั้งพานพระสำอาง พระสุพรรณศรี และพระสุพรรณราช และพระเจ้าครอบทองและพระคนทีทอง และพานทองประดับ และเครื่องอุปโภคบริโภคนานา ตั้งเป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ซ้ายขวา เป็นอันดับกันมาเป็นอันแรก แล้วจึ่งตั้งมยุรฉัตรซ้ายขวา มียอดหุ้มทองและระบายทอง และคันหุ้มทองประดับตั้งแปดคันทั้งแปดทิศ และมีบังพระสูรย์และอภิรุม และบังแทรกจามรทานตะวันและพัดโบก สารพัดเครื่องสูงนานาตั้งซ้ายขวา เป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ตามทาง แล้วจึ่งปูลาดพระสุจหนี่ยี่ภู่ จึ่งตั้งพระแท่นแว่นฟ้าในพระยี่ภู่เข้ามา แล้วจึ่งปูลาดที่บรรทม แล้วตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทองอันงาม แล้วจึ่งตั้งฝ่ายซ้ายขวาสำหรับสองพระองค์จะนั่งอยู่ตามที่กษัตราธิบดี[36]: 401–403
แล้วเกณฑ์พระนามนางกำนัลมานั่งล้อมพระบรมศพแล้วก็ให้ร้องไห้ มีนางขับมานั่งล้อมขับรำทำเพลงแล้วให้ประโคมเครื่องดุริยางค์ดนตรีตลอดเวลา เวลาค่ำโปรดให้ตั้งอาสนะพระสงฆ์แล้วให้พนังานสังฆการีนิมนต์พระสังฆราชเป็นประธานแล้วทำพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมมาติกาบังสุกุล เช้าวันรุ่งขึ้นโปรดถวายพระฉันเพล เวลากลางวันโปรดให้มีเทศนาแล้วทรงถวายไทยทานไตรจีวร เครื่องเตียบ และทานวัตถุ แล้วโปรดให้มีการเล่นมหรสพ ทั้งโขน หนัง ละคร หุ่น และมอญรำระบำทำนอง แล้วสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จึงพระราชทานเสื้อผ้าเงินทองสิ่งของต่างๆ แก่ราษฎรทั้งปวง
การเตรียมพระเมรุ
แก้คำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า :-
ทั้งสองพระองค์จึ่งมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง แล้วตั้งพระเมรุใหญ่สูง แล้วปิดทองประดับกระจกยกเป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วมีเพดานรองสามชั้นเป็นหลั่น ๆ ลงมาตามที่ จึ่งมีพระเมรุใหญ่ สูงสุดยอดพระสะเดานั้น ๔๕ วา [90 เมตร][37]: 13 ฝานั้นแผนหุ้มผ้าปิดกระดาษปุพื้นแดง เขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร และชั้นเทวดา และชั้นอินทร์ชั้นพรหมตามอย่างเขาพระสุเมรุ ฝาข้างในเขียนเป็นดอกสุมณฑาทองและมณฑาเงินแกมกัน และเครื่องพระเมรุนั้นมีบันและมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก ขุนสุเมรุทิพราช เป็นนายช่างอำนวยกร พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ ตั้งรูปกินนรรูปอสูรทั้ง ๔ ประตู พระเมรุใหญ่นั้นปิดทองทึบจนเชิงเสา กลางพระเมรุทองก่อเป็นแท่นรับเชิงตะกอน อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งพระบรมศพ แล้วจึ่งมีเมรุทิศ ๔ เมรุแทรก ๔ เป็น ๘ ทิศ ปิดทองกระจกเป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วจึ่งมีรูปเทวดาและรูปวิทยาธรรูปคนธรรมพ์ และครุฑกินนร ทั้งรูปคชสีห์ ราชสีห์และเหมหงส์ และรูปนรสิงห์และสิงโต ทั้งรูปมั้งกรเหรานาคาและรูปทักกะทอ รูปช้างม้าและเลียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่าง ๆ นานาครบครันตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกันตามที่ แล้วจึ่งกั้นราชวัติสามชั้น ราชวัตินั้นก็ปิดทองปิดนากปิดเงิน แล้วตีเรือกเป็นทางเดิน ที่สำหรับจะเชิญพระบรมศพมา ริมทางนั้นจึ่งตั้งต้นไม้กระถางอันมีดอกต่าง ๆ แล้วประดับประดาด้วยฉัตรและธงงามไสว[36]: 404–405
แล้วจัดริ้วขบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพร้อมกับพระบรมศพสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงจนมาถึงพระเมรุท้องสนามหลวงแล้วโปรดถวายพระเพลิงตามราชประเพณี
พระราชกรณียกิจ
แก้ด้านการเมืองการปกครอง
แก้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสนาจนกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระองค์นั้น สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่าเป็นยุค บ้านเมืองดี[38]: 77 [21]: 207 มีขุนนางคนสำคัญที่เติบโตในเวลาต่อมา ในรัชกาลของพระองค์หลายคน เช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(สิน), พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ทองด้วง) และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท(บุญมา) เป็นต้น ในทางด้านวรรณคดี ก็มีกวีคนสำคัญ เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดา เป็นต้น ทว่าการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยารัชสมัยพระองค์ก็ยังมีความขัดแย้งสูงมาก[39]: 242 ไม่สามารถควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์ของขุนนางได้มากนักด้วยสาเหตุการขยายตัวด้านการค้าและเงินตราที่มุ่งแต่ "...จเอาแต่เงินเป็นอนาประโยชน์เอง"[40]: 299 นอกจากนี้การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็ล้วนมีขุนนางให้ความช่วยเหลือ พระองค์จึงทรงประนีประนอมผลประโยชน์ และอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับขุนนางให้เกิดความสงบสุข[21]: 207
เหล่าขุนนางมีการขยายบทบาทผ่านทางการค้าจนกระทบโครงสร้างชนชั้นมูลนาย ส่งผลให้ชนชั้นมูลนายเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นไปเป็นชนชั้นไพร่ที่มีความมั่งคั่งแล้วส่งส่วยแทนการเข้าเวรกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เงินตราเป็นตัวกำหนดสถานะสังคมแต่ยังถือว่าเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย ขณะที่ไพร่ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพลำบาก และประสบปัญหาในการทำมาหากินจนเกิดปัญหาการปฏิเสธการเข้าสู่ระบบของไพร่จนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีรับสั่งให้ขุนนางออกไปเกลี้ยกล่อมเลกวัดกับไพร่หัวเมืองให้กลับมาเข้าสู่ระบบไพร่ และทรงยอมลดระยะเวลาเกณฑ์ไพร่จาก 6 เดือนต่อปีเหลือ 4 เดือนต่อปีแทนเพื่อลดความกดดันของผลกระทบ[41]: 38
เหล่าพ่อค้าคหบดีเจ้าสัวต่างๆ ได้เข้ามาเกี่ยวพันในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยามากขึ้น มีการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างตระกูลคหบดีกับตระกูลขุนนางดั้งเดิมทั้งการแต่งงาน การเข้ารับราชการในสังกัดขุนนาง ฯลฯ เพื่อให้ได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ จนเกิดการติดสินบนอย่างกว้างขวาง[41]: 23 แม้กระทั่งขณะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จออกว่าราชการก็โปรดให้คหบดีเข้าเฝ้าร่วมกับเจ้านายอย่างมีลำดับเข้าเฝ้าตามธรรมเนียม แสดงให้เห็นถึงการได้รับเกียรติ และการยกย่องในสังคมจนเกิดความขัดแย้งในด้านการไม่ยอมรับความสัมพันธ์ตามระบบศักดินาแบบเดิม
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง กล่าวว่า :-
...ทั้งขุนนางพราหมณ์ ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง ขุนนางเจ๊ก ขุนนางมอญ ขุนนางลาว และทั้งเศรษฐีคหบดีทั้งปวง นั่งเฝ้าตามที่ตามตําแหน่งซ้าย ๘ แถว ขวา ๘ แถว เบ็ดเสร็จเป็นมุขอํามาตย ๔๐๐[42]: 77
ความขัดแย้งในชนชั้นมูลนายเริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้นจนเกินขอบเขตที่จะรับได้ เกิดเหตุการณ์แย่งชิงไพร่ มีการนำไพร่หลวงมาเป็นไพร่สม หรือใช้งานเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มีการลักลอบนำนักโทษมาใช้งานทำไร่ไถนา และเลี้ยงสัตว์ ขุนนางก็มีการเล่นเบี้ยบ่อนติดสินบนมากขึ้น[41]: 31 มีการกินสินบนในหมู่ข้าราชการทุกระดับ ทั้งเสนาบดีจตุสดมภ์ สมหนายก สมุหพระกลาโหม และเจ้านายในราชวงศ์บางพระองค์[41]: 32 ซึ่งมีอยู่มากมายมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ อีกทั้งยังมีการซื้อขายตำแหน่งราชการอย่างกว้างขวางทั้งในราชธานีและหัวเมือง[41]: 40 ทั้งมวลอันเกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ นอกจากปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์แล้วยังมีโจรผู้ร้ายเข้าปล้นสดมภ์มากขึ้น ด้วยเหตุมูลนายเข้ากับพวกโจรถึงขั้นเลี้ยงโจร[41]: 39
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงใช้มาตรการที่รุนแรงในกรณีที่ขุนนางแสวงหาผลประโยชน์จนเกินขอบเขต ทรงลงพระราชอาญาเฆี่ยน และริบราชบาทเอาบุตรภรรยาเป็นโทษ ทรงตรา และปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น ห้ามเจ้านายยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความและพิจารณาส่วยอาการในหัวเมือง ห้ามมีหมายรับสั่งขัดขวางเหนือพระราชโองการ ห้ามข้าหลวงของเจ่าต่างกรมถือหนังสือปิดตราในกรมไปกรรโชกทรัพย์เงินทองตามหัวเมือง ห้ามเจ้ากรมปลัดกรม นายเวรปลัดเวรเข้าเฝ้าเจ้านาย ห้ามข้าหลวงของเจ้านายต่างกรมรับฟ้องราษฎรที่ไม่ได้ขึ้นต่อกรมของเจ้านายพระองค์นั้น[41]: 32 และกฎหมายอื่นๆ เช่น[43]: 12
- เพิ่มเติม มูลคดีวิวาทว่าด้วยจําหน่ายเลข ปีฉลู จ.ศ. ๑๐๙๕ (พ.ศ. 2276)
- พระราชกำหนดเรื่องวิธีพิจารณาความรับฟ้อง ถามคู่ความและพยาน ยอมความ การกำกับผู้พิจารณาความอุทธรณ์ ตราขึ้นเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ ทุติยาสารท จุลศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. 2276)[44]: 226
- ลักษณะวิวาท ตราขึ้นเมื่อปีมะเส็งเอกศก ศักราชกฎหมาย ๑๓๖๙ (ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๑) (พ.ศ. 2292)
- เพิ่มเติม ลักษณะทาส เมื่อปีกุนสัปตศก ศักราชกฎหมาย ๑๓๗๕ (ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๗) (พ.ศ. 2298)
- กฎ ๓๖ ข้อ ๕ บท ระหว่างปีฉลู จ.ศ. ๑๐๙๕ จนปีจอ จ.ศ. ๑๑๑๖ (ชำระกฎหมายระหว่าง พ.ศ. 2276–2297)[4]: 57
- พระราชกําหนดเก่า ๒๖ บท ระหว่างปีฉลู จ.ศ. ๑๑๑๙ จนปีขาล จ.ศ. ๑๑๒๐ (พ.ศ. 2300–2301)
- พระราชกำหนดพิกัดอัตราการทดรองทุนให้นักเลงเล่นเบี้ยบ่อน[45]: 171
- พระราชกำหนดห้ามมิให้ข้าราชการเล่นเบี้ยบ่อน[45]: 168
- พระราชกำหนดการพิศูจน์เล็บในสำนวนความ จุลศักราช ๑๑๐๑ ปีมะแมเอกศก (พ.ศ. 2282)[46]: 41–43
- พระราชกำหนดเจ้าหมู่มูลนายเบิกคู่ความไปใช้ราชการ จุลศักราช ๑๑๐๖ ปีชวดฉศก (พ.ศ. 2287)[46]: 44–51
- พระราชกำหนดให้จับกุมคนวิวาททำร้ายกันในที่ต่างๆ จุลศักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2291)[46]: 52–53
- พระราชกำหนดเรื่องเปรียบฐานะไพร่หมู่กับเปรียบฐานะไพร่หมู่กับไพร่ส่วย วิธีบวกลูกหมู่ และใช้ไพร่ในราชการ ไพร่ หลีกหนี ราชการ ไพร่มีทุกข์กู้เงินแล้วใช้หนี้ไม่ได้สืบสาวได้ ไพร่บวกขึ้น ตราขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น 9 ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2291)[44]: 226
- พระราชกำหนดการรับฟ้องตามพระธรรมนูญ จุลศักราช ๑๑๑๖ ปีจอฉศก (พ.ศ. 2297)[46]: 54–61
แม้พระองค์ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมการขยายอิทธิพล และการแสวงหาผลประโยชน์ของขุนนางและเจ้านาย แต่บรรยากาศของความขัดแย้งในราชสำนักกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จนกระทั่งเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ได้บรรยายสภาพทางการเมืองปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศชี้ให้เห็นสัญญาณเตือนอันตรายว่าบ้านเมืองใกล้ถึงคราวพินาศ[47]: 80
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ภาษามคธ แลคำแปล กล่าวว่า :-
ในครั้งนั้น ชาวเมืองและชาวชนบทชาวคามนิคมทั้งหลายมีเสนาบดีและอำมาตย์เปนต้นก็ตั้งอยู่ในอสัจจะธรรม มีสันดานเต็มไปด้วยการทุจจริต ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และย่ำยีชาวชนบทและคามนิคมให้ได้ความเดือดร้อน ชนชาวพระนครทั้งปวงเหล่านั้นมีความทุกข์มาก มีโรคอุปัททวันตรายมาก และมากไปด้วยความโทมนัสคับแค้นใจ...
ในกาลคราวนั้น นิมิตรร้ายและอุบาทว์อันพิลึกก็เกิดปรากฏในนานาราชธานีชนบททั้งหลาย พระมหาเจดีย์ก็หักพังทำลายลง มหาบรรพตก็วิปริต ประหนึ่งว่าเสียงอุโฆษร่ำไรร้องไห้ เหล่าอมนุษย์ปิศาจเปล่งเสียงหัวเราะดัง เปนมหาภัยอันน่าจะพึงกลัว เบียดเบียนเหล่ามนุษย์ทั้งหลายให้ไข้เจ็บต่าง ๆ ก็แหละ มหาภูตรูปทั้ง ๔ และนิมิตรร้ายแปรปรวนต่าง ๆ เปนบุพพะนิมิตเกิดก่อนดังนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า มหานครจะพินาศ[48]: 65
ด้านศิลปวัฒนธรรม
แก้ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระจริยวัตรโอบอ้อมอารี[36]: 370 ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส และถือวัตรปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ตลอดรัชกาลพระองค์ทรงใส่พระทัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ยอมรับของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธด้วยกัน[49]: 80 พระองค์ทรงได้รับสมัญญาว่าเป็น พระธรรมราชา[50]: 44 [51]: 29
พระองค์ทรงสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ อย่างประณีต[52]: 100 เช่น วัดกุฎีดาว ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทรงอุปถัมภ์การอุปสมบทพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร ทรงกำหนดว่าถ้าผู้ใดไม่ได้บวชเรียนมาก่อนก็ไม่มีโอกาสเข้ารับราชการ[49]: 78 กล่าวได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็น องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ปรากฏใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เกี่ยวกับพระราชสาส์นของพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะกรุงลังกา แต่งเป็นภาษามคธโดยสามเณรสรณังกร เมื่อจุลศักราช ๑๑๑๒ (พ.ศ. 2293) ว่า :-
...ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราช [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] ว่าทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณะพราหมณ์จารย์ถ้วนหน้า บำรุงพระพุทธศาสนาเปนสาสนูปถัมภก โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฏกเปนนิตยกาลแลคัดลอกจดจารแบบแผนพระไตรปิฎกไว้ พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างจากต่างประเทศ ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี...[53]: 79
นับตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักชีปะขาว คลองวัดป่าโมกวรวิหารโดยกระบวนนาวาพยุหยาตรา ทรงถวายทักษิณาทานแก่พระสงฆ์ 300 รูปแล้วจัดให้มีงานมหรสพ 3 วัน ณ ทุ่งนางลา เมื่อ พ.ศ. 2281 เดือนหกปีมะเมียได้เสด็จไปฉลองวัดหันตรา และเสด็จสมโภชพระพุทธบาทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2283 เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพระพิษณุโลก และพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระฝางสวางคบุรี ถึง พ.ศ. 2293 เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาทเป็นเวลา 7 วัน[12]: 320–325
ในปี พ.ศ. 2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูปคือพระอุบาฬีและพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก 12 รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้งสยามนิกายขึ้นในลังกา
เมื่อ พ.ศ. 2297 เสด็จไปมนัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดพระนอนจักรศรีและวัดขุนอินท์ประมูล และปีต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปฉลองวัดพระยาคำ ถึง พ.ศ. 2299 ปีชวดได้เสด็จพระราชดำเนินไปฉลองพระนอนจักรศรีเป็นเวลา 3 วันแล้วเสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2300 เดือนเก้าปีฉลู เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท แล้วทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักท่าเจ้าสนุกพอถึงรุ่งเช้าก็โปรดทำให้เครื่องสดผูกช้างต้นบรมจักรฬารถวายพระพุทธบาทปล่อยไปทางธารเกษม[12]: 328–329
วัดที่สร้างปฏิสังขรณ์ในรัชกาล
แก้- วัดพระศรีสรรเพชญ์ โปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2284[12]: 321
- วัดพระราม ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2284-85[12]: 321
- พระเจดีย์ภูเขาทองและพระอารามวัดภูเขาทอง (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2288 เป็นเวลา 6 เดือน[12]: 324 [54]: 140
- วัดกุฎีดาว ปฏิสังขรณ์เมื่อปีเถาะตรีศก พ.ศ. 2254 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จ[55]: 39
- วัดจันทร์สุวรรณโพธิธาราม (วัดแลง) จังหวัดระยอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2285[56]
- วัดศรีโพธิ์ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2292 ชาวบ้านขอพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพื่อสร้างวัด ได้เชิญกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และพระมงคลเทพมาเป็นประธาน ปรากฏในศิลาจารึกแผ่นหินชนวนดำติดผนังด้ายซ้ายภายในพระอุโบสถ[54]: 125
- วัดพรหมกัลยาราม (วัดใหม่) เมื่อ พ.ศ. 2292 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระอาจารย์องหนึ่งธุดงค์มาบำเพ็ญเพียร ท้าวพรหมกันดาลจึงเลื่อมใสจึงสร้างพระอารามขึ้นบริเวณที่พระอาจารย์บำเพ็ญเพียรแล้วเชิญเสด็จกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์กับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเป็นประธานงานผูกพัทธสีมา อุปสมบถพระสงฆ์และถวายข้าพระสงฆ์ 13 คนแก่วัด ปรากฏในแผ่นหินจารึกบริเวณโคนต้นยางใหญ่อายุร่วม 100 ปี[57]: 52
- วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (จังหวัดลพบุรี) ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[58]: 76
- วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)[59]: 257
- วัดโกษาวาส (ต่อมาคือ วัดเชิงท่า (อำเภอพระนครศรีอยุธยา)) เดิมเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาสมเด็จพระอยู่หัวบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดเชิงท่า[60]: 25
- วัดหน้าพระเมรุ ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2278[61]: 178
- พระเจดีย์แบบลังกาวัดพลับพลาไชย (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) สันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[62]: 53
จิตรกรรมในรัชกาล
แก้จิตรกรรมในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนับว่าเป็นศิลปกรรมยุคที่ 4 ที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยอยุธยาตอนปลาย[63]: 69 งานจิตรกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยมากมีความแตกต่างจากจิตรกรรมอยุธยายุคก่อนโดยภาพเขียนเปลี่ยนเป็นภาพเล่าเรื่อง เพิ่มสีมากขึ้นแต่ยังไม่คำนึงถึงหลักสถาปัตยกรรมตามสัดส่วนที่เป็นจริงนัก แม้จะมีลักษณะอิทธิพลจีนปรากฏอยู่บ้างแต่ถือเป็นจิตรกรรมอยุธยาโดยแท้ที่ช่างจีนยากจะลอกเลียนแบบให้เหมือนได้ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า :-
จิตรกรรมของศิลปะอยุธยาตอนปลายแสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตรกรรมไทยบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ สีที่วาดนิยมใช้สีหลายสี นิยมปิดทองลงบนรูปและลวดลาย แต่การเขียนภาพต้นไม้ ภูเขา และน้ำนั้นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะจีนอยู่บ้าง[64]: 79
จิตรกรรมที่ถูกค้นพบว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เช่น
- จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม เป็นศิลปะฝีมือช่างพื้นบ้านสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เขียนขึ้นเมื่อจุลศักราช 1096 (พ.ศ. 2277) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ลักษณะจิตรกรรมเป็นสีฝุ่นเขียนสีบางเบามีเรื่องพระพุทธประวัติ สัตตมหาสถาน ภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน การมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุ[65]
- ปูนปั้น เรื่องปฐมสมโพธิ์ และเรื่องทศชาติ สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พบที่วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี[66]: 182
- บานประตูมุกพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2295[41]: 28 ลักษณะลาดลายเป็นรูปอีแปะ มีภาพหัวสัตว์หิมพานต์อยู่ในวง[67]: 14 [68]: 13
- บานประตูมุกพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2299[41]: 28 ภายหลังจากเสด็จสมโภช ลักษณะประดับลายกนกหางกินนร มีภาพสัตว์หิมพานต์ คือ ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช รูปครุฑ และกินนรรำออกจากช่องกนกบรรจุอยู่ในวงกลาม มีกนกหูช้างประกอบช่องไฟ ขอบรอบบานประตูประดับเป็นลายประจำยามก้ามปู บานประตูตอนบนประดับลายกรุยเชิง อกเลาประดับลายพุ่มข้ามบิณฑ์ 2 ข้างมีกนกก้านแย่งประกอบช่องไฟ นมอกเลากลางประดับภาพหนุมานแบกบุษบก นมอกเลาเชิงล่างประดับภาพกุมภกรรณถือตะบองท่าสำแดงฤทธิ์[67]: 14
- คัมภีร์สมุดภาพวัดหัวกระบือ (สมัยพระเจ้าบรมโกศ) เป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาประกอบด้วยพระพุทธคุณคัมภีร์ พระวินัยคัมภีร์ และพระสูตรคัมภีร์ สร้างโดย นายบุญคง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พุทธศักราช ๒๒๘๖ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[69]: 40
- รอยพระพุทธบาทจำลองของพระเจ้าบรมโกศ ค้นพบโดย ดร.วอร์เดมาร์ ซี. ไซเลอร์ เมื่อ พ.ศ. 2533 ที่พิพิธภัณฑ์ของวิหารวัดพระเขี้ยวแก้ว กรุงลังกา[33]: 18
วรรณกรรมในรัชกาล
แก้ในรัชกาลพระองค์ทรงทำนุบำรุงบทกวีและวรรณคดีให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วรรณคดีตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ มีงานนิพนธ์ทุกชนิดโดยเฉพาะกลอน ทั้งกลอนกลบทและกลอนบทละคร เชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[70]: 237 นอกจากนี้วรรณกรรมสมัยอยุธยาในรัชกาลพระองค์ยังได้ชื่อว่าเป็นยุคสมัยที่เจริญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา[70]: 168 [71]: 63
วรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักในรัชกาลพระองค์ มีดังนี้
- โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2270[72]: 410 ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โคลงนี้กล่าวถึงพระพุทธปฏิมาปางต่างๆ ไว้ ได้แก่ พระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย ปางห้ามสมุทร ปางลีลา ปางโปรดพญาชมภูบดี ปางสมาธิ ปางรำพึง ปางห้ามพระแก่นจันทน์ ปางถวายเนตร ปางไสยาสน์ เป็นต้น
- โคลงประดิษฐ์พระร่วง (ปรดิดพระร่วง) ฉบับพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศ[73]: 29
- โคลงพาลีสอนน้อง[9]: 221
- โคลงราชสวัสดิ์[9]: 221
- โคลงทศรถสอนพระราม[9]: 221
- โคลงราชานุวัตร[9]: 221
- จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ[74]: 113
- อิเหนา พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงนิพนธ์เมื่องครั้งทรงได้ฟังนิทานปันหยี (อิเหนาปันหยี กรัตปาตี) จากพี่เลี้ยงชาวแขกมลายู ทั้งสองพระองค์จึงทรงนิพนธ์ตามคำบอกเล่าข้าหลวงเรื่องต่างกันโดยเจ้าฟ้ากุณฑลทรงนิพนธ์เรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก)[75]: 238
- กาพย์ห่อโคลงนิราศประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
- กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
- นันโทปนันทสูตรคำหลวง สูตรคัมภีร์ทีฆนิกายภาษาบาลี
- พระมาลัยคำหลวง
- บทเห่เรื่องกากี 3 ตอน
- บุณโณวาทคำฉันท์ แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยพระมหานาค วัดท่าทราย (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) กล่าวถึงการสมโภชพระพุทธบาทตามราชประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา[76]
- กฤษณาสอนน้องคําฉันท์ ฉบับอยุธยา (ฉบับเลขที่ ๗๙ จ.ศ. ๑๑๑๕ ฉบับสำนวนเก่าที่สุด) ฉบับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นหนังสือสมุดไทยดำจำนวน 55 หน้า ตัวอักษรเขียนด้วยเส้นหรดาลหน้าละ 5 บรรทัด มีเนื้อหาแตกต่างจากกฤษณาสอนน้องคําฉันท์ฉบับอื่น[77]: 110 แต่การศึกษาเชิงประวัติและวิจารณทัศน์พบว่ากฤษณาสอนน้องคําฉันท์ฉบับสำนวนเก่าเป็นผลงานของภิกษุอินท์สมัยธนบุรี[78]: 12
- ศิริวิบุลกิติ แต่งโดยหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) กวีราชสำนักในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[79]: 177
- อุณรุท สำนวนกวีสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[80]
- นิราศเมืองเพชรบุรีสำนวนของหม่อมภิมเสน สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลายช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[81]: 58
- เพลงยาวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (กุ้ง)
- กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
- นิทานอิหร่านราชธรรม สมัยอยุธยาตอนปลาย ขุนกัลยาบดีเป็นผู้แปลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[82]: 144 [83]: 19
- บทละครนอก จำนวน 14 เรื่อง เช่น การเกษ คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ มโนหรา โมงป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ไชย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงษ์ และโสวัต
- บทละครใน
- พระวิทูรบัณฑิตกลอนสวด แต่งเมื่อ พ.ศ. 2300 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏในสมุดไทยขาวเล่มที่ ๗๓[84]: 294
พระอัครมเหสีและพระราชโอรสธิดา
แก้คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระอัครมเหสี 3 พระองค์ พระนามพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระอัครมเหสีทั้งสามดังนี้[85]
|
นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังมีพระราชโอรสธิดาที่ประสูติแต่พระสนมอีกรวมทั้งสิ้น 108 พระองค์ เช่น[87]
|
ส่วน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายว่ามีพระราชโอรส-ธิดา 24 พระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถูกจับไปยังพม่า ได้แก่[90]
|
|
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
แก้พระบรมราชอิสริยยศ
แก้- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร[91]: 50
- สมเด็จพระบัณฑูรน้อย กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข[92]: 14 [93]: 199 [94]: 66 (แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าไม่ปรากฏนามกรม)[note 3]
- สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[97]: 21
- สมเด็จพระตรีภพโลกมกุฎอุดมบรมมหิศรวรวงศ์สุริเยนทร์ นเรนทราธิบดินทราโรดม (บรม) ขัติยชาติราชวราดุล พิบุลคุณคัมภีร์วีรอนันต์ มหันตมหาจักรพรรดิศร บวรราชาธิราช นารถนายกดิลกโลกจุธานรามร นิกรอภิวันท์ อนันตบูชิตมหิทธิ นารายอนุปัติ ส (หัศ) ทิสาเรกอเนกจตุรงคพล พหลอจลสุริโยทิต อมิตเดชา เอกาทศรุทธ์อิศวร บรมนารถบรมบพิตร[98]: 318
พระพุทธรูปประจำพระองค์
แก้- พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ความสูงองค์พระ 21 ซม. ความสูงจากฐานถึงพระรัศมี 26 ซม. กะไหล่ด้วยทองแดง มีความจารึก เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)[99]: 63
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้แก่
- สาหัส บุญ-หลง จากภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าธรรมาธิเบศร์ (2499)
- สมบัติ เมทะนี จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- ศรัณยู วงษ์กระจ่าง จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- เด่นคุณ งามเนตร จากละครเรื่อง พรหมลิขิต (2566)
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
หมายเหตุ
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ พระนามตามพระราชกำหนดในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกฏ[4]: 57
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าอยู่ในราชสมบัติ 26 พรรษา จะถูกต้องกว่า[12]: 330:หมายเหตุในเชิงอรรถ
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า "เจ้าฟ้าพรราชโอรส เป็นพระบัณฑูรน้อย แต่ไม่ปรากฏนามกรม"[95]: 396 [96]: 8 เหตุสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจะทรงรังเกียจตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง หรือจะยกย่องพระยศให้สูงขึ้นเสมอกับพระมหาอุปราชอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าเสด็จประทับวังไหน และไม่ปรากฏทำเนียบและนามข้าราชการในสังกัดกรมพระบัณฑูรน้อย[28]: 12–13
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ "History of Ayutthaya - Historical Events - Timeline 1700-1799". www.ayutthaya-history.com.
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย. เฉลิมพระยศ เจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ ๑-๙. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2552. หน้า 16
- ↑ พระนามพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา [Names of Ayutthayan Kings]. Royal Institute of Thailand. 2002-06-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-03. สืบค้นเมื่อ 2014-09-20.
- ↑ 4.0 4.1 ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖ พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา ๓ ดวง เล่ม ๓. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2482. 467 หน้า.
- ↑ "ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยมูลเหตุที่จะเกิดรบกับพม่า", ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. 337 หน้า.
- ↑ 6.0 6.1 Chakrabongse, C., 1960, Lords of Life, London: Alvin Redman Limited
- ↑ Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2017). A History of Ayutthaya: Siam in the Early Modern World. Cambridge University Press. ISBN 978-1-316-64113-2.
- ↑ "ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย", คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 พินิจ จันทร และคณะ. (2565). ย้อนประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี อยุธยา ๓๓ ราชัน ผู้ครองนคร. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ. 288 หน้า. ISBN 978-616-5784-79-5
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 550
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 623
- ↑ 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 12.15 12.16 12.17 12.18 12.19 12.20 12.21 12.22 12.23 12.24 12.25 12.26 12.27 12.28 12.29 12.30 12.31 12.32 12.33 12.34 12.35 12.36 12.37 12.38 12.39 12.40 12.41 12.42 12.43 12.44 12.45 12.46 12.47 12.48 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 978-974-4-19025-3
- ↑ laika (2019-10-22). "เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน". vajirayana.org.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ (บก.). (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 510. ISBN 978-616-92351-0-1
- ↑ ยุพิน ธชาศรี. (2547). ประวัติวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประดิพัทธ์. 53 หน้า. ISBN 978-974-9-19527-7 อ้างใน ประเสริฐอักษรนิติ์, หลวง. คำให้การของชาวกรุงเก่า. หน้า 389.
- ↑ 16.00 16.01 16.02 16.03 16.04 16.05 16.06 16.07 16.08 16.09 จดหมายเหตุการเดินทางของราล์ฟ ฟิตช และจดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม. แปลโดย นันทา สุตกุล. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางทองอยู่ วีระเวศน์เลขา (สามสูตร) ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาศ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๘. พระนคร: อักษรสัมพันธ์, 2508. 121 หน้า.
- ↑ 17.0 17.1 หอพระสมุวชิรญาณ. (2459). เรื่องสมเด็จพระบรมศพ คือ จดหมายเหตุงานพระเมรุครั้งกรุงเก่ากับพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์แจกในงานศพ อำมาตย์เอก พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต) จางวางกรุงเก่า ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 58 หน้า.
- ↑ เทพมนตรี ลิมปพยอม และสุจิตต์ วงษ์เทศ. (2541). การบ้านการเมืองเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง. กรุงเทพฯ: มติชน. 140 หน้า. ISBN 978-974-3-21290-1
- ↑ วารุณี โอสถารมย์. (2547). เมืองสุพรรณ: บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 8–ต้นพุทธศตวรรษที่ 25. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 324 หน้า. ISBN 978-974-5-71883-8
- ↑ ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 544 หน้า. หน้า 205.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2547). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: มติชน. 615 หน้า. ISBN 978-974-3-23056-1
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2511). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 554.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2549). "กบฏจีนนายก่าย" ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 428 หน้า. ISBN 974-958-863-0
- ↑ กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงทพฯ: มติชน. 328 หน้า. ISBN 978-974-0-21818-0
- ↑ ธีระวุฒิ ปัญญา. (2557). ตำนานนอกพงศาวดารและปาฏิหาริย์แห่งพระเจ้าตาก. กรุงเทพฯ: กู๊ดไลฟ์. 137 หน้า. ISBN 978-616-2923-14-2
- ↑ แสงเทียน ศรัทธาไทย. (2548). มหาอุทรโอบอุ้มมหาราช. กรุงเทพฯ: ร่มฟ้าสยาม. 192 หน้า. ISBN 978-974-1-69015-2
- ↑ เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด. 672 หน้า.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 "ตำนานวังหน้าครั้งกรุงเก่า", ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๑ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓-๑๔). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 331 หน้า
- ↑ กรมศิลปากร. (2511). พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง. พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. 148 หน้า.
- ↑ กำพล จำปาพันธ์. (2563). "มิชชันนารีอเมริกันกับการจัดการโรคระบาด", ศิลปวัฒนธรรม, 41(11): 136. (กันยายน 2563).
- ↑ กรมศิลปากร. (2507). "จดหมายเหตุโหร", ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๔ (ภาคที่ ๗-๑๑). พระนคร: ก้าวหน้า. 608 หน้า.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยฺตฺโต). (2565). กาลานุกรมพระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก: Chronology of Buddhism in World Civilization. (พิมพ์ครั้งที่ 28). นครปฐม: วัดญาณเวศกวัน. 288 หน้า. ISBN 978-974-93332-5-9
- ↑ 33.0 33.1 33.2 33.3 นิยะดา เหล่าสุนทร. (2565) ."เครื่องราชบรรณาการล้ำค่าจากกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงลังกา", ใน ศิลปวัฒนธรรม, 43(10). (สิงหาคม 2565).
- ↑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2541). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา. 373 หน้า.
- ↑ 35.0 35.1 เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2562). ก่อนแผ่นดินเปลี่ยนราชบัลลังก์. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. 240 หน้า. ISBN 978-616-4-41519-5
- ↑ 36.0 36.1 36.2 คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: คลังวิทยา, 2510. 472 หน้า.
- ↑ กำธรเทพ กระต่ายทอง และคณะ. (2539). ศิลปสถาปัตยกรรมไทยในพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ: ศิลปากร, สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 135 หน้า. ISBN 978-974-4-25020-9
- ↑ นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2499). สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาค ๓๓). พระนคร: บำรุงนุกูลกิจ. 234 หน้า.
- ↑ เอกสารการสอนชุดวิชา 80101 ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2531. ISBN 978-974-6-10883-6
- ↑ กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2505.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 41.5 41.6 41.7 41.8 สายชล สัตยานุรักษ์ และนิธิ เอียวศรีวงศ์. (2546). พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒). กรุงเทพฯ: มติชน. 295 หน้า. ISBN 974-322-884-5
- ↑ หอพระสมุดวชิรญาณ. (2459). คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. นายเล็ก มหาดเล็ก พิมพ์ครั้งที่ ๒ แจกในงานปลงศพ เหยี่ยน พุกกณานนท์ ภรรยาพระยาสุรินทร์ภักดี ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 135 หน้า.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2493). ตำนานกฎหมายเมืองไทย และประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม.
- ↑ 44.0 44.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร และวีรวัลย์ งามสันติกุล. (2549). พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์กับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). 348 หน้า. ISBN 978-974-9-63338-0
- ↑ 45.0 45.1 "ตำนานอากรบ่อนเบี้ย", ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕-๑๘). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 350 หน้า.
- ↑ 46.0 46.1 46.2 46.3 ราชบัณฑิตยสภา. (2476). พระราชกำหนดเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระศิลปานุจิตรการ (ฉัตร อินทรเสน) ณ วัดมกุฎกษัตริย์ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๗๖. พระนคร: บำรุงนุกูลกิจ. 100 หน้า.
- ↑ วีระ ธีรภัทร. (2542). เรื่องเก่าเล่าใหม่ : รวมข้อคิดจากพงศาวดารและตํานานเก่า. [ม.ป.ท.: ม.ป.พ.]. 153 หน้า.
- ↑ พนรัตน์ วัดพระเชตุพน, สมเด็จพระ. (2459). พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธ แลคำแปล. แปลโดย พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์). นายเชียร บุนนาค ผู้บุตร พิมพ์แจกในงานปลงศพท่านเลื่อม ต,จ. ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) ม.ส.ม, ท.จ.ว. ฯลฯ ปีมโรง อัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย.
- ↑ 49.0 49.1 เอนก มากอนันต์. (2562). จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย. กรุงเทพ: มติชน. 320 หน้า. ISBN 978-974-0-21655-1
- ↑ การสัมมนาเรื่อง เจ้าพระยาบวรราชนายก (เชค อหมัด คูมี) กับประวัติศาสตร์สยาม: รวมคำบรรยายและบทความทางวิชาการ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (Sheikh Ahmad Qomi and the history of Siam). แปลโดย กิติมา อมรทัต. กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กรุงเทพฯ, 2538. 288 หน้า. ISBN 978-974-8-92697-1
- ↑ คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย: ฉบับปรับปรุงเป็นภาษาไทยจาก A history of Thailand. กรุงเทพฯ: มติชน. 432 หน้า. ISBN 978-974-0-21265-2
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2514). "สมัยอยุธญา แต่ราว พ.ศ. ๑๙๐๐", ใน ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ณ ฌาปนสถานวัดพระพิเรนทร์ วันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔. พระนคร: รุ่งเรืองธรรม. 270 หน้า.
- ↑ คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2459. 135 หน้า.
- ↑ 54.0 54.1 ปวัตร์ นวะมะรัตน. (2547). อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย. กรุงเทพฯ: มติชน. 261 หน้า. ISBN 978-974-0-21225-6
- ↑ ยุพิน ธชาศรี. (2533). "ความสัมพันธ์ระหว่างวัดมเหยงคณ์กับวัดกุฎีดาวในอดีต", ใน ประวัติวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน. 53 หน้า. ISBN 978-974-9-19527-7 อ้างใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา หน้า 215.
- ↑ ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน. "วัดบ้านแลง มรดกจากปลายอยุธยา", นิตยสารอนุรักษ์, 56. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2566.
- ↑ อชิรวิญ์ อันธพันธ์. (2566). "วัดศรีโพธิ์ (สีโพ) ค่ายพม่าที่กระสุนปืนใหญ่โด่งข้ามไป", ศิลปวัฒนธรรม, 44(6). (เมษายา 2566).
- ↑ สันติ เล็กสุขุม. (2529). รายงานการวิจัย เรื่อง เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุม สมัยอยุธยา, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 182 หน้า. ISBN 978-974-7-95526-2
- ↑ พิทยา บุนนาค. (2543). เสมา สีมา: หลักสีมาในศิลปะไทย สมัยอยุธยาช่วงหลังเสียกรุงครั้งแรก ถึงครั้งหลังและกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. 416 หน้า. ISBN 978-974-3-10212-7
- ↑ คณะบรรณาธิการนิตยสารปาฏิหาริย์คูณลาภ. (2564). "อุโมงค์ในพระปรางค์วัดเชิงท่า", ปาฏิหาริย์คูณลาภ, 24(557). (1 กุมภาพันธ์ 2564)
- ↑ กรมศิลปากร, ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี. (2538). จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว. 180 หน้า. ISBN 978-974-4-18031-5
- ↑ สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะ. (2552). สร้างสันติภาพ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กองทุนหนังสือประเทืองปัญญา. 135 หน้า. ISBN 978-974-8-18279-7
- ↑ เบญจมาศ พลอินทร์ และเศรษฐ พลอินทร์. (2524). วรรณคดีการละคร. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 206 หน้า.
- ↑ สมภพ จันทรประภา. (2526). อยุธยาอาภรณ์. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. 90 หน้า. ISBN 978-974-7-92259-2
- ↑ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดเกาะแก้วสุทธาราม[ลิงก์เสีย]. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2566.
- ↑ ชิน อยู่ดี. (2500). "จังหวัดลพบุรี", ใน โบราณวัตถุสถานทั่วพระราชอาณาจักร. พณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โปรดให้พิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ. พระนคร: ศิวพร. 393 หน้า.
- ↑ 67.0 67.1 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2524). เครื่องมุก: THE ART OF MOTHER OF PEARL INLAY. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการพิเศษ เนื่องในงานเฉลิมพระเกียรติครบรอบวันประสูติ 100 ปี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต 29 มิถุนายน 2524. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ. 136 หน้า.
- ↑ ตรี อมาตยกุล. (2493). ประวัติศิลปกรรมไทย. พระนคร: สมผล. 22 หน้า.
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). สมุดไทย: บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 252 หน้า.ISBN 978-616-543-642-7
- ↑ 70.0 70.1 วันเนาว์ ยูเด็น. (2527). ประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัยและอยุธยา. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 347 หน้า. ISBN 978-974-0-75333-9
- ↑ นิตยา กาญจนะวรรณ. (2534). วรรณกรรมอยุธยา: Literary Works of The Ayuddhaya Period. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 297 หน้า. ISBN 978-974-5-98371-7
- ↑ พิริยะ ไกรฤกษ์. (2551). ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมาอัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 602 หน้า. ISBN 978-974-8106-35-9 อ้างใน Griswold and Nฺa Nagara 1970, 195.
- ↑ กรมวิชาการ. (2542). "โคลงประดิษฐ์พระร่วง", ใน ประชุมสุภาษิตพระร่วง. กรุงเทพฯ: สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ.
- ↑ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลอง ๒๐๐ ปี. (2551). "จินดามณี แต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ", ใน จินดามณี. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือและของที่ระลึก คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลอง ๒๐๐ ปี วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงฅ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท.
- ↑ ชลลดา ชะบางบอน. (2548). "เกร็ดความรู้เรื่องอิเหนา", ใน อิเหนา (ฉบับการ์ตูน). พิมพ์ครั้งที่ 2. ปทุมธานี: สกายบุ๊กส์. 246 หน้า. ISBN 974-389-594-9
- ↑ บุณโณวาทคำฉันท์และสุภาษิตอิศรญาณ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายด้วง กรีมสกูล เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม ๖ เมษายน ๒๕๐๒. พระนคร: รุ่งเรืองธรรม, 2502. 92 หน้า.
- ↑ กรมศิลปากร. (2542). วารสารศิลปากร, 42(1-3).
- ↑ โชษิตา มณีใส. (2552). "การศึกษากฤษณาสอนน้องคำฉันท์เชิงประวัติและวิจารณทัศน์เรื่องการอ้างอิง", วรรณวิทัศน์, 9. (พฤศจิกายน 2552). ISSN 1513-9956
- ↑ ฟื้น ดอกบัว. (2542). พระพุทธศาสนากับคนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 320 หน้า. ISBN 978-974-2-55433-0
- ↑ บทละครเรื่องละครเรื่อง อุณรุท. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545. 440 หน้า. ISBN 974-9527-20-8
- ↑ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. (2549). วารสารเมืองโบราณ, 32(1-4). (มกราคม - ธันวาคม, 2549).
- ↑ ประเสริฐ ณ นคร. (2549). อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม: รวมบทนิพนธ์เสาหลักวิชาการ. กรุงเทพฯ: มติชน. 324 หน้า. ISBN 974-323-588-4
- ↑ พลับพลึง คงชนะ และคณะ. (2544). อิหร่าน : ภูมิลักษณ์, ประชาชน และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 144 หน้า. ISBN 978-974-5-97170-7
- ↑ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2539). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ฉบับต้นแบบ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. 334 หน้า. ISBN 978-974-8-36394-3
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 551
- ↑ "กวีเอกสมัยอยุธยา: เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร" (PDF). วารสารราชบัณฑิตยสถาน. ปีที่ 32 เล่ม 2 เม.ย.-มิ.ย. พ.ศ. 2550: 414. สืบค้นเมื่อ 3 Jun 2018.
- ↑ ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 174-176
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 366
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2553, หน้า 95
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1135
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2564). สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ: บันทึกสยาม. 360 หน้า. ISBN 978-616-4-41816-5
- ↑ เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2556). พระราชประวัติและเหตุการณ์สำคัญ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ. กรุงเทพฯ: บางกอกบุ๊ค. 144 หน้า. ISBN 978-616-1-51720-5
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 432 หน้า. ISBN 974-277-780-2
- ↑ สนั่น เมืองวงษ์. (2524). ประวัติศาสตร์ไทย: ตอนที่ 1. สงขลา: โครงการบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา. 264 หน้า.
- ↑ ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2534). ชุมนุมพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: บรรณากิจ เทรดดิ้ง. 425 หน้า.
- ↑ สมมตอมรพันธ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2545). จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ISBN 978-974-4-17527-4
- ↑ กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2545). คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คําฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า เเละ คําฉันท์คชกรรมประยูร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 244 หน้า. ISBN 978-974-4-19455-8
- ↑ นริศรานุวัตติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2505). "เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน", ใน สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๒. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.
- ↑ พิริยะ ไกรฤกษ์. (2551). ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมาอัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 602 หน้า. ISBN 978-974-8106-35-9
- บรรณานุกรม
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
ดูเพิ่ม
แก้ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2251-2275) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2275-2301) |
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2301) | ||
เจ้าฟ้าเพชร | กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแห่งอาณาจักรอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) |
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ |