เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์[1] (พ.ศ. 2258 – พ.ศ. 2298) หรือพระนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล | |||||
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2284 - พ.ศ. 2298 (14 ปี) | ||||
รัชสมัย | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | ||||
ก่อนหน้า | เจ้าฟ้าพร | ||||
ถัดไป | เจ้าฟ้าดอกเดื่อ | ||||
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2258 | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 2298 | ||||
พระชายา | กรมขุนยี่สารเสนีย์ | ||||
พระราชบุตร | กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ พระองค์เจ้าฉาย พระองค์เจ้าหญิงมิตร พระองค์เจ้าหญิงทับ พระองค์เจ้าหญิงชื่น พระองค์เจ้าศรีสังข์ พระองค์เจ้าหญิงดารา พระองค์เจ้าแม้น พระองค์เจ้าหญิงชี พระองค์เจ้าหญิงชาติ พระองค์เจ้ามิ่ง | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ | ||||
พระราชมารดา | กรมหลวงอภัยนุชิต |
พระองค์มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณคดีไทยนั้นทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เห่เรือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เนื่องจากพระองค์ลักลอบเป็นชู้กับพระมเหสีของพระราชบิดาจึงต้องพระอาญาให้เฆี่ยน เป็นเหตุให้พระองค์เสด็จสวรรคตในที่สุด
พระราชประวัติ
แก้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (คำให้การชาวกรุงเก่าว่า เจ้าฟ้านราธิเบศร์[2]) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2258[3] ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (เชาวน์ รูปเทวินทร์ สันนิษฐานว่าเสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2247 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[4]) พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต (หรือพระพันวัสสาใหญ่) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัธยมประเทศ
พระองค์มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าหญิงบรม และพระขนิษฐา 5 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์ เจ้าฟ้าหญิงสุริยา เจ้าฟ้าหญิงธิดา เจ้าฟ้าหญิงรัศมี เจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระขนิษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดาที่สำคัญ 3 พระองค์ คือเจ้าฟ้าเอกทัศ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์) เจ้าฟ้าอุทุมพร (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) และ เจ้าฟ้าหญิงนวน (กรมขุนยี่สารเสนีย์ พระอัครมเหสีในพระองค์) เมื่อสมเด็จพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์
เหตุแห่งการออกผนวช
แก้เนื่องจากกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงสนิทกับพระราชบิดาของพระองค์อย่างมาก ทำให้พระองค์เกิดความระแวงขึ้น เมื่อพระราชบิดาทรงประชวร พระองค์จึงตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้ามายังพระราชวังหน้าเพื่อมาเยี่ยมพระราชบิดา เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาถึง พระองค์ได้ใช้พระแสงดาบฟันเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จไปยังตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาของพระองค์
หลังจากนั้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หยอกท่าน เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตได้เสด็จมาอ้อนวอนและตรัสว่าถ้าท่านไม่ช่วยในคราวนี้เห็นทีกรมขุนเสนาพิทักษ์คงสิ้น เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จึงตรัสว่าคงมีแต่ร่มกาสาวพัตรเท่านั้นที่จะช่วยได้ กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง มีพระนามฉายาว่า "สิริปาโล"[5]
ในครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง 2 พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
อุปราชาภิเษก
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2280 กรมหลวงอภัยนุชิตทรงพระประชวรหนักและได้ตรัสทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานอภัยโทษให้ หลังจากนั้น กรมหลวงอภัยนุชิตก็เสด็จสวรรคตลง ส่วนกรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงลาผนวชและได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดังเดิม
ในปี พ.ศ. 2284 พระราชโกษาปานบ้านวัดระฆังได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานให้สถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ประชุมเสนาบดี เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าฟ้าอินทสุดาวดีทรงกรมที่กรมขุนยิสารเสนี และพระราชทานให้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย
เสด็จสวรรคต
แก้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลประชวรด้วยพระโรคสำหรับบุรุษ และกลายไปเป็นพระโรคคุดทะราด เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง 3 ปีเศษ วันหนึ่งพระองค์มีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรม และนายเวรปลัดเวรของเจ้าสามกรม (กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี) มาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุน ซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้างคนละ 20 ทีบ้าง
หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาล (นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นองค์เดียวกัน[5]) ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หากรมพระราชวังบวรฯ เพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รับสารภาพแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระบาทแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ ต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม
จดหมายจากนายนิโกลาส บัง (Nicolaas Bang) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงศรีอยุธยา ถึงข้าหลวงใหญ่ MOSSCL ณ กรุงปัตตาเวีย เขียนที่กรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. 1758 ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัย ให้รายละเอียดต่างไปว่า ราวเดือนเมษายน ค.ศ. 1756 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (Kpoomprincs) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus (กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า French Pox หรือ Condyloma Accuminata หรือเรียกว่า โรคหูดหงอนไก่[6]) เป็นเวลาราว 1 ปี ไม่สามารถเข้าวังหลวงได้ ทรงประทับอยู่แต่ในวังหน้า ในช่วงที่ทรงพระประชวร กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสั่งลงโทษข้าหลวงอย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าสระแก้ว (Tjauw Sakew) สันนิษฐานว่าหมายถึงกรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้สั่งให้บริวารไปล้อมที่ประทับของกรมหมื่นสุนทรเทพ แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์สามารถหลบหนีไปได้ เสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบว่า กรมหมื่นสุนทรเทพหนีเข้าไปในพระราชวังหลวงแล้ว ก็ทรงนำบริวารบุกไปถึงพระทวารพระราชวังหลวง โดยตั้งพระทัยจะจับตัวกรมหมื่นสุนทรเทพมาฆ่าเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสว่าให้ปิดพระทวารพระราชวังเสีย ไม่ให้ผู้ใดล่วงเข้าไปทั้งสิ้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเลยเสด็จกลับไปยังวังหน้าของพระองค์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงออกพระโอษฐ์เรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าเฝ้า ทีแรกกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ยอมมาเฝ้า แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงทรงยอมไปเข้าเฝ้าที่พระราชวังหลวง ทรงนำอาวุธ (ดาบ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระราชวังหลวง (แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้เจ้านายพระองค์หนึ่งก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตรัสถามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่ากรมหมื่นสุนทรเทพ แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงให้จับตัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาตจากพระองค์ ให้เจ้านายองค์หนึ่งพร้อมขุนนาง 2 คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมาก
ในเวลา 3 วัน ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลติดคุกอยู่ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลายเรื่อง จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้กรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นจิตรสุนทร (Tjauw Cromme Kiesa Poon) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงลงพระอาญาให้โบยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 20 ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงถูกโบยอีก 20 ที และให้เผาปลายพระบาท (นาบพระบาท) ด้วย ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญ ๆ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่าง ๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้ จึงได้ความว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงสั่งให้ทำกุญแจไขเข้าไปในพระราชวังหลวงฝ่ายใน เพื่อที่จะได้ทรงเข้าไปหาพระมเหสีและพระสนมของของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ในตอนกลางคืน นอกจากนั้นแล้วยังได้ความอีกว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงรับสั่งให้ข้าหลวงซื้ออาวุธปืนไฟ (ปืนยาว) และดาบมาเก็บไว้ และยังมีการกล่าวหากรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกด้วยว่า ทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพระสงฆ์และคนอื่น ๆ อีกหลายคน และทรงรับสั่งให้ตัดมือตัดนิ้วมือของคนจำนวนหนึ่ง เมื่อกรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นจิตรสุนทร, เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาพระคลัง นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรับสั่งให้นำตัวเจ้าหญิงทั้ง 4 องค์ (Devier Princersen) เข้ามาสอบสวน ทีแรกต่างทรงปฏิเสธ แต่เมื่อทรงถูกขู่มากๆ เข้าก็ทรงยอมรับว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีแผนการที่จะลอบปลงพระชนม์ (เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้ามาหาพระมเหสี/พระสนม) เพื่อที่จะได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ด้วยความร่วมมือของเจ้านาย (เจ้าฟ้าเอกทัศ) และขุนนางจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวารของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเอง ซึ่งมีอาวุธพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้ามายึดพระราชวังหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตกพระทัยมาก จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก 50 ที และให้เอาเหล็กร้อน ๆ มาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ 50 ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่างถูกโบยทั้งสิ้นและเสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1756 พวกชาวฮอลันดาได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์แล้ว[7]
พระราชกรณียกิจ
แก้พระองค์เป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์วัดอื่น ๆ มากมายและทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมหามงคลบพิตร ทรงรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมหามงคลบพิตรแล้วก่อขึ้นใหม่เป็นพระวิหารแทน รวมทั้ง ทรงอำนวยการซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จภายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา[5]
พระราชนิพนธ์
แก้พระองค์มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้โดยมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ พระนิพนธ์ประเภทกาพย์ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น พระนิพนธ์ "กาพย์เห่เรือ" แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นบทชมพยุหยาตราทางชลมารค ต่อด้วยชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และชมนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทเห่เรือที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์เองเวลาตามเสด็จขึ้นพระบาท[8] ส่วนเรื่องที่ 2 ได้หยิบยกเอาเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมาเป็นบทนำ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทที่สะท้อนความในพระหฤทัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ลอบผูกสมัครรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาล ด้วยเหตุนี้แต่เดิมเห็นจะใช้บทนี้เห่เวลาประพาสทางเรือโดยลำพัง[9] บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย
งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์
ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
ขณะที่ผนวชหรือภายหลังผนวชเล็กน้อย พระองค์ทรงนิพนธ์วรรณกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 และ พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2280 นอกจากนี้ ยังมีพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บทเห่เรื่องกากี 3 ตอน, บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง (กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง), เพลงยาวบางบท และกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท
ชีวิตส่วนพระองค์
แก้กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์มีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามหลายพระองค์ เท่าที่ปรากฏพระนามมีดังต่อไปนี้[10]
ลำดับ | พระอัครชายา พระชายา และพระสนม | พระราชโอรสธิดา |
---|---|---|
1. | กรมขุนยี่สารเสนีย์ | ไม่มีพระราชโอรสธิดา |
2. | เจ้าฟ้าหญิงเส | เจ้าฟ้าศรี |
3. | หม่อมพัน | กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ |
4. | หม่อมเหม หรือ เหญก | พระองค์เจ้าฉาย หรือ พระองค์เจ้าฉัตร หรือ พระองค์เจ้าเกิด |
5. | หม่อมเจ้าหญิงสวย | พระองค์เจ้าหญิงมิตร พระองค์เจ้าหญิงทับ พระองค์เจ้าหญิงชื่น |
6. | หม่อมจัน | พระองค์เจ้าศรีสังข์ |
7. | หม่อมสรวย | พระองค์เจ้าหญิงตา |
8. | หม่อมทองแดง | พระองค์เจ้าชายแม้น |
9. | หม่อมเจ้าหญิงสร้อย | พระองค์เจ้าหญิงดารา |
10. | หม่อมสุ่น | พระองค์เจ้าหญิงชี พระองค์เจ้าหญิงชาติ |
11. | หม่อมเต่วน | พระองค์เจ้าชายมิ่ง |
แต่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีเจ้าฟ้านุ่มเป็นพระมเหสีแต่ไม่มีพระโอรสธิดา[11][12]
พระอิสริยยศ
แก้- พระราชสมภพ - 2276 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธิเบศร์
- พ.ศ. 2276 - 2284 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนเสนาพิทักษ์
- พ.ศ. 2284 - 2298 สมเด็จพระราชโอรสาธิราชเจ้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐาสุริยวงษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[13]
บันเทิงคดี
แก้มีการนำพระประวัติของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯ มาสร้างเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงหลายครั้ง อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าธรรมาธิเบศร์ ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2499 นำแสดงโดยพร้อมสิน สีบุญเรือง ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง ฟ้าใหม่ ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2547 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "เจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯ" นำแสดงโดยอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร และเรื่อง ศรีอโยธยา ออกฉายครั้งแรกทางช่องทรูวิชั่นส์เมื่อ พ.ศ. 2560 นำแสดงโดยปกรณ์ ลัม เป็นต้น
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พงศาวลี
แก้พงศาวลีในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก, หน้า 368
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 551
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2550). วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 32(1-2). (มกราคม - มิถุนายน 2550):414.
- วรเวทย์พิสิฐ (เซ็ง ศิวะศรียานนท์), พระ. (2494). หนังสือประวัติกวีและวรรณคดีไทย. พระนคร: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. 168 หน้า. หน้า 100.
- เล็กสุมิตร โดดชื่น. (2504). อภิธานประวัติศาสตร์ไทย ภาคสอง: นับแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงธนบุรี. พระนคร: นิติสาส์น. 860 หน้า. หน้า 37.
- ↑ เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด. 672 หน้า. หน้า 272.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร". สืบค้นเมื่อ 23 March 2013.[ลิงก์เสีย]
- ↑ พนิดา สงวนเสรีวานิช. (2542). "เซ็กซ์ในสยาม", ศิลปวัฒนธรรม, 20(4): 85. (กุมภาพันธ์ 2542). ISSN 0125-3654 อ้างใน หลักฐานของชาวฮอลันดา.
- ↑ การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง
- ↑ กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง, หน้า 4
- ↑ กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง, หน้า 5
- ↑ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร, หน้า 25
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 626
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 747
- ↑ คําปริวรรตจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอท ด้านที่ 2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 15 กรกฎาคม 2564.
- บรรณานุกรม
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2455. [สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี]
- กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง และ เสภาของสุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่อง เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารและเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2498. [อนุสรณ์งานฌาปณกิจศพ นายแดง ศิลปสุขุม]
- ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549. 434 หน้า. หน้า 368-369. ISBN 974-9588-63-0
ก่อนหน้า | เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) |
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2284 - พ.ศ. 2298) |
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) |