การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารพระราชวงศ์ไทยโดยการใช้ท่อนจันทน์เป็นอุปกรณ์ วิธีการดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติอีกต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] และได้เลิกเสียอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ในรัชกาลต่อมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นกระทำโดยการตัดศีรษะ[2]

ประวัติ

แก้

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นการประหารชีวิตพระราชวงศ์ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 176 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวงฉบับชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า[3] [4]

ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบสามคาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง

กฎมนเทียรบาลเช่นว่านี้จะประกาศใช้เมื่อใดเป็นครั้งแรกยังคงเป็นที่ถกเกียงกันอยู่ในขณะนี้[5]

อย่างไรก็ดี ในบานแผนกของกฎมนเทียรบาลฉบับที่เก่าที่สุดปรากฏความว่า "ศุกมัสดุ ศักราช 720 วันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ชวดนักษัตรศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ... (ข้อความต่อไปเกี่ยวกับว่า ทรงประกาศใช้กฎหมายดังต่อไปนี้) "[6] ศักราชดังกล่าวเป็นจุลศักราช

ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ได้ตรวจสอบพระราชพงศาวดารต่าง ๆ ปรากฏปีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแตกต่างดังต่อไปนี้[5]

  1. พระราชวงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม (ฉบับหมอบรัดเล) : เสด็จขึ้นทรงราชย์ จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
  2. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีขาล จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
  3. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีมะโรง จ.ศ. 810 (พ.ศ. 1991)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นถูก..." ในกรณีนี้ ปี จ.ศ. ที่ระบุไว้ในบานแผนกได้แก่ จ.ศ. 720 ก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นทรงราชย์เก้าสิบปี (จ.ศ. 810) ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแก้ว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิด โดยเขียนเลข 8 เป็นเลข 7 ที่ถูกคือ จ.ศ. 820[7] ทั้งนี้ หากนับตามปีปฏิทินแล้ว จ.ศ. 720 ตรงกับปีจอ ซึ่งในบานแผนกว่าปีชวด และปีชวดจะตรงกับ จ.ศ. 722

ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิดเช่นกัน แต่ที่เขียนผิดคือเลข 0 ที่ถูกต้องเป็น 2 อันได้แก่ จ.ศ. 722 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง)[7]

ปรามินทร์ เครือทอง เชื่อว่า ปีที่ระบุในบานแผนกน่าจะเป็นปีรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่น่าใช่ปีรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ได้มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้

ศักราช 744 ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 13 ปี

จึงเจ้าทองจันทร์ ราชบุตร พระชนม์ได้ 15 พรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ 7 วัน

สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้

ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ

หากสรุปเอาตามพระบรมราชวินิจฉัยและความคิดเห็นของปรามินทร์ เครือทองข้างต้น ก็จะได้ว่ากฎมนเทียรบาลอันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้นประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 1

ความผิดและผู้กระทำความผิดอันระวางโทษนี้

แก้

มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา..." โดยมิได้ระบุรายละเอียดโทษดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ในกฎมนเทียรบาลเองมีบัญญัติข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และข้อกำหนดโทษสำหรับพระราชวงศ์ตลอดจนนางสนมกรมในไว้ โดยโทษมีตั้งแต่ระดับโบย จำ เนรเทศ และประหารชีวิต ส่วนข้อปฏิบัติและข้อห้ามนั้นส่วนใหญ่เพื่อป้องกันความไม่เหมาะสมทางเพศ เช่น การพูดจา ไปมาหาสู่ และ/หรือมีสัมพันธ์กับนางสนมกรมใน นอกจากนี้ ในส่วนเฉพาะสำหรับพระราชกุมารยังมีข้อห้ามอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกบฏต่อพระราชบัลลังก์อีกด้วย เป็นต้นว่า มาตรา 77 ห้ามมิให้ขุนนางที่มีศักดินาตั้งแต่แปดร้อยถึงหนึ่งหมื่นไร่ไปมาหาสู่กับพระราชโอรสและ/หรือพระราชนัดดา หากขุนนางใดละเมิดฝ่าฝืนต้องระวางโทษประหารชีวิต[3]

อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผู้รับโทษประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์นี้มักเป็นพระราชวงศ์ที่ต้องโทษทางการเมือง เป็นต้นว่า มีการชิงพระราชบัลลังก์ และผู้กระทำการดังกล่าวสำเร็จจะสั่งให้ประหารพระมหากษัตริย์พระองค์เดิม ตลอดจนพระราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดทั้งปวงของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวอีกด้วย เพื่อป้องกันความสั่นคลอนของพระราชบัลลังก์ในภายหลัง อีกกรณีหนึ่งคือการที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์และมีพระราชบุตรทรงอยู่ในพระราชสถานะที่จะเสด็จขึ้นทรงราชย์ได้ แต่มีบุคคลที่สามต้องการพระราชบัลลังก์เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดพระราชบุตรคนดังกล่าวตลอดจนผู้เกี่ยวข้องไปให้พ้นทาง[8] กระบวนการสำเร็จโทษ อุปกรณ์ 1 ท่อนจัทร์ 2 ผ้าแดง 3 เบาะรอง

บุคลากร

แก้

มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู..."[3]

ทะลวงฟัน

แก้

มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวง ส่วนพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมืองว่า "หมื่นทะลวงฟัน" มีหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยจู่โจม[3] ซึ่งในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ หมื่นทะลวงฟันมีหน้าที่เป็นเพชฌฆาต

นายแวงและขุนดาบ

แก้

"นายแวง" และ "ขุนดาบ" เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการระดับหนึ่งในสมัยโบราณมีหน้าที่ล้อมวงพระมหากษัตริย์เพื่อถวายการอารักขา และมีหน้าที่ประสานกับชาวพนักงานฝ่ายอื่น ๆ เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปโดยเรียบร้อย ซึ่งนายแวงมียศสูงกว่าขุนดาบ โดยในมาตรา 30 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวง บัญญัติว่า "...ถ้าเสด็จขึ้นเขาแลเข้าถ้ำ ขึ้นปรางค์เข้าพระวิหาร ให้ขุนดาบเข้าค้น แล้วให้ตำรวจในเข้าค้น แล้วให้นายแวงเข้าค้น แล้วให้กันยุบาตรค้นเล่าเป็นสี่ท่าจึ่งเชิญเสด็จ เมื่อเสด็จตำรวจในแนมสองข้าง นายแวงถัด ขุนตำรวจขุนดาบอยู่แต่ข้างล่าง ครั้นเสด็จถึงใน ตำรวจในอยู่บานประตูข้างใน นายแวงอยู่บานประตูข้างนอก ขุนดาบอยู่เชิงบันไดเชิงเขา..."[3]

ทั้งนี้ คำว่า "แวง" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 บัญญัติความหมายว่า[9] "แวง 1 ว. ยาว, แถว; เรียกเส้นลองจิจูดว่า เส้นแวง. (ข.). แวง 2 น. ดาบ. ...แวง 4 ก. ล้อมวง."

สำหรับการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์ นายแวงและขุนดาบมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมณฑลพระราชพิธีประหาร โดยเฉพาะนายแวงยังมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษประหารด้วยท่อนจันทน์ไปยังมณฑลดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งในการควบคุมตัวดังกล่าว มาตรา 175 ยังให้อำนาจนายแวงสามารถจับกุมผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยได้ทันที ทั้งนี้ บัญญัติไว้ว่า "เมื่อไปนั้น ถ้ามีเรือผู้ใดเข้าไปผิดประหลาดอัยการนายแวง ท้าวพระยาห้วเมือง มนตรีมุข ลูกขุนแต่นาหนึ่งหมื่นถึงนาหกร้อยผู้ใดส่งลูกเธอก็ดี ให้ของส่งของฝากก็ดี อัยการนายแวงได้กุมเอาตัวเป็นขบถตามโทษนุโทษ"[3] [10]

ขุนใหญ่

แก้

คำว่า "ขุนใหญ่" หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540 ให้ความหมายของคำว่า "ขุน" ไว้ดังนี้[9] "ขุน 1 น. ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, บรรดาศักดิ์ข้าราชการรองจากหลวงลงมา เช่น ขุนวิจิตรมาตรา; เรียกหมากรุกตัวสำคัญที่สุด. ว. ใหญ่ เช่น ขุนเขา.ขุนนาง (โบ) น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ตามปรกติต้องมีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป"

ขุนใหญ่ในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ได้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานในพระราชพิธีสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในกรณีที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ ขุนใหญ่มีหน้าที่ไปกำกับการพระราชพิธีต่างพระเนตรพระกรรณเพื่อให้การเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีหน้าที่อ่านประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานโทษประหารชีวิตในมณฑลพระราชพิธีก่อนจะเริ่มประหารด้วย[11]

สถานที่

แก้

สถานที่สำเร็จโทษนั้นจะใช้ที่วัดโคกพญา หรือ โคกพระยาซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจะใช้โคกพญาเดียวกันกับในมนเทียรบาล

ขั้นตอน

แก้

วิธีการนั้นถ้าเป็นแบบปรกติจะต้องใส่ถุงแดงให้เรียบร้อยก่อน เจ้าหน้าจึงอัญเชิญไปยังลานพิธี แล้วปลงพระชนม์ตามพระราชอาญา นอกจากนี้ยังมีการสำเร็จโทษด้วยวิธีอื่น ๆ อีก เช่น ใส่หลุมอดอาหาร ฝังทั้งเป็น ถ่วงน้ำ ตัดพระเศียร หรือวิธีพิสดารอื่น ๆ

รายพระนามผู้ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

แก้

ความเห็นของนักวิชาการ

แก้
  • ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการไทย ให้ความเห็นว่า
    1. "การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันอลังการดังที่กล่าวนี้ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาฝรั่งว่าอย่างไร อังกฤษมีคำที่ผูกจากละตินว่า regicide แปลตามตัวก็คือ "สังหารพระเจ้าแผ่นดิน"[14] แล้วฝรั่งก็ใช้คำนี้ในความหมายทื่อ ๆ ตามนั้น เช่น เอามีดจิ้มให้ตายอย่างที่แมคเบธ[15]ทำ หรือเอาไปบั่นพระเศียรเสียด้วยกิโยตีน ซึ่งไม่ได้เป็นพระราชกิโยตีนด้วย เพราะกิโยตีนอันนั้นใช้ประหารได้ตั้งแต่โสเภณียันพระราชา หรือเอาไปขังไว้ในหอคอยรอให้ตายโดยดี ครั้นไม่ตายก็เลยเอาหมอนอุดจมูกให้ตายเสีย เป็นต้น ฉะนั้นถ้าพูดถึงการประหารเจ้านายของไทยว่าเป็น regicide จึงทำให้ฝรั่ง (และคนไทยที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย) เข้าใจไขว้เขวไปหมด มันไม่ใช่อย่างนั้นครับ ไม่ใช่อย่างนั้น"[16]
    2. "การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันซับซ้อนแสดงให้เห็นว่าคนไทยแต่ก่อนมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันอย่างชัดแจ๋วเลยทีเดียว จะชิงราชบัลลังก์ขจัดพระเจ้าแผ่นดินออกไปไม่ใช่แค่เอาบุคคลที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินไปฆ่าง่าย ๆ อย่างนั้น เอาไปฆ่านั้นฆ่าแน่ แต่จะฆ่าบุคคลอย่างไรจึงไม่กระทบต่อสถาบัน เพราะเขาแย่งชิงราชบัลลังก์ ไม่ได้พิฆาตราชบัลลังก์ซึ่งต้องสงวนไว้ให้เขาขึ้นไปครองแทน ฉะนั้นเลือดเจ้าจึงตกถึงแผ่นดินไม่ได้ ต้องสวมถุงแดงไม่ให้ใครถูกเนื้อต้องตัวพระบรมศพ ใช้ท่อนจันทน์ในการประหาร ฯลฯ..."[16]
    3. "จุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์นับแต่ต้นอยุธยาก็คือ ปัญหาการสืบราชสมบัติ คุณสมบัติเพียงประการเดียวของผู้มีสิทธิจะสืบราชสมบัติได้ก็คือความเป็นเชื้อพระวงศ์"[17]
  • ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ให้ความเห็นว่า[18] "คงจะเป็นการไม่ยุติธรรมหากเราเอาความรู้สึกปัจจุบันไปตัดสินกระบวนการทางการเมืองดังกล่าว เพราะภาพที่เราเห็นคือพ่อฆ่าลูก อาฆ่าหลาน พี่ฆ่าน้อง เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในปัจจุบัน แต่หลายเหตุการณ์ในอดีตนั้นกลับชี้ให้เราเห็นว่า ผู้ที่ได้รับการละเว้นมักจะกลับคืนมาพร้อมที่จะ 'ฆ่า' เพื่อทวงบัลลังก์คืนเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีการครอบครองพระราชอำนาจโดยปราศจากความหวาดระแวง สิ่งนี้เป็นเสมือนคำสาปที่อยู่คู่กับราชบัลลังก์สยามมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ในสมัยรัตนโกสินทร์..."

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิงและเชิงอรรถ

แก้
  1. ปรามินทร์ เครือทอง. (2545). สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 89.
  2. ชลันธร คิดถาง. (2547). กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 โดยยอร์ช ปาดู กับสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาฝรั่งเศสศึกษา ภาควิชาฝรั่งเศส บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 กฎหมายตราสามดวง. (2481). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (จัดพิมพ์).
  4. มาตรานี้ อาจจัดวรรคตอนอย่างปัจจุบันได้ดังนี้
    "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา
    นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบ 3 คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม
    นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทองโทษถึงตาย
    เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง"
  5. 5.0 5.1 ปรามินทร์ เครือทอง. (2545). สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 6-7.
  6. กฎหมายเมืองไทย เล่ม 2. (จุลศักราช 1258). กรุงเทพฯ : ดี.บี. บรัดเล (จัดพิมพ์)
  7. 7.0 7.1 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1. (2516). กรุงเทพฯ : คลังวิทยา. หน้า 449.
  8. ปรามินทร์ เครือทอง. (2545). สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 14-16.
  9. 9.0 9.1 ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 28 มิถุนายน 2551).
  10. มาตรา 175 นี้ ถอดเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า "ในการกำกับผู้ต้องโทษไปนั้น ถ้ามีเรือของผู้ใดเข้าไปยังเรือกำกับผู้ต้องโทษอันนายแวงควบคุมอยู่ ไม่ว่าเจ้าของเรือนั้นจะเป็นท้าวพระยาหัวเมือง เป็นมนตรีมุข หรือเป็นลูกขุนที่มีศักดินาตั้งแต่หนึ่งหมื่นไร่ถึงหกร้อยไร่ก็ตาม และไม่ว่าจะเข้าไปเพื่อส่งเสด็จผู้ต้องโทษ หรือถวายของฝากแก่ผู้ต้องโทษก็ตาม ให้นายแวงมีอำนาจจับกุมตัวบุคคลดังกล่าวไว้ได้โดยให้ถือว่าได้กระทำความผิดฐานเป็นกบฏและให้นำไปลงโทษตามกฎหมายต่อไป"
  11. ปรามินทร์ เครือทอง. (2545). สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 75-77.
  12. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 248-249
  13. "การประหารด้วยท่อนจันทน์ครั้งสุดท้าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2011-07-12.
  14. คำนี้ ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์ว่า "การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์" โดยเป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์
  15. แม็กเบท (MacBeth) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ โดยเป็นตัวละครในอุปรากรเรื่อง "แม็กเบท" ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ชื่ออุปรากรนี้ภาษาไทยว่า "แม็คเบธ...ผู้ทรยศ" ดู แม็คเบ็ธ
  16. 16.0 16.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2544, พฤษภาคม). ระหว่างสถาบันและองค์พระมหากษัติรย์. ศิลปวัฒนธรรม, (ปีที่ 22, ฉบับที่ 7).
  17. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2523). การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  18. ปรามินทร์ เครือทอง. (2545). สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 5.