เจ้าฟ้าน้อย หรือ พระเยาวราช[2] (พ.ศ. 2195–2231) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เป็นเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์สืบจากพระเชษฐา ด้วยมีรูปพรรณงาม มีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี จึงเป็นที่นิยมในหมู่ทวยราษฎร์ และถูกวางตัวสำหรับเสกสมรสกับกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระภาติกา

เจ้าฟ้าน้อย
เจ้าฟ้า
ประสูติพ.ศ. 2195[1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2231 (ราว 36 พรรษา)
ตำบลวัดทราก เมืองลพบุรี อาณาจักรอยุธยา
พระบุตรกรมขุนเสนาบริรักษ์
ราชวงศ์ปราสาททอง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

แต่ทว่าพระองค์ลอบสังวาสกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระเพทราชา และมีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือหม่อมแก้ว เจ้าฟ้าน้อยจึงถูกโบยตามกฎหมาย หลังจากนั้นพระองค์มีพระวรกายบวม อ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และเป็นอัมพาตที่พระชิวหา ไม่สามารถตรัสสิ่งใดได้อีก และท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษ

ประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

เจ้าฟ้าน้อยเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีพระชนมายุห่างกันมากเปรียบพระเชษฐาเป็นพระชนกได้[3] แต่ คู่มือทูตตอบ ซึ่งเป็นเอกสารของราชบัณฑิตอยุธยา ระบุว่าเจ้าฟ้าน้อยมีพระชนมายุ 29 ปี ใน พ.ศ. 2224[1] พระองค์มีพระเชษฐาที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกันคือเจ้าฟ้าอภัยทศ[4]

เจ้าฟ้าน้อยเป็นเจ้านายที่มีจริยวัตรงดงาม โอบอ้อมอารี พระโฉมงามสง่าเป็นที่ประจักษ์ กอปรกับพระฉวีค่อนข้างขาวอันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวสยาม พระองค์จึงเป็นที่นิยมชมชอบในประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งในราชสำนักและราษฎรทั่วไป[3] สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเองก็ทรงชุบเลี้ยงพระองค์เป็นอย่างดี และหมายจะให้เป็นรัชทายาทแทนเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งมีพฤติกรรมอันน่าอดสู รวมทั้งจะจัดพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว[3] แต่หลังการกบฏของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่ไว้วางพระทัยในพระราชอนุชาทั้งสองอีกเลย แม้จะไม่ประหาร แต่ก็มิได้สถาปนาขึ้นเป็นวังหน้า[5]

พระองค์มีบทบาททางการเมืองระดับหนึ่ง ในเอกสารลับของฝรั่งเศสระบุว่าเจ้าฟ้าน้อยตั้งตนเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสและคริสต์ศาสนา[6] ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า "ผู้สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์สยามที่คาดกันไว้ [เจ้าฟ้าน้อย] แสดงเจตนาร้ายต่อกษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาและต่อที่ปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์ ในอนาคต จะทรงปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างเลวร้ายและจะทรงทำลายทุกอย่างที่กษัตริย์พระองค์ก่อนเคยดำริไว้ด้วยว่าผู้คนที่โปรด และเหล่าเสนาบดีคงจะกราบทูลเรื่องราวที่กษัตริย์องค์ก่อน [สมเด็จพระนารายณ์มหาราช] ทรงขาดความรอบคอบ ไปผูกไมตรี โปรดให้คนเหล่านี้ [ชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์] รวมตัวกันเพื่อจะล้มล้างศาสนา [ศาสนาพุทธ] อันเป็นที่นับถือในแว่นแคว้นของพระองค์มาเป็นเวลานานช้า เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในประเทศ"[7]

เจ้าฟ้าน้อยมีความสัมพันธ์ที่ไม่แน่ชัดกับกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระภาติกาของพระองค์ และเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในเอกสารของนายพลเดฟาร์ฌระบุถึงกรมหลวงโยธาเทพไว้ ความว่า "ได้ทรงเสกสมรสอย่างลับ ๆ กับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง"[2]

กรณีท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แก้

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นธิดาของพระนมเปรมในสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นน้องสาวของพระเพทราชา ได้ถวายตัวเป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวกันว่านางเป็นผู้มักมากในกามคุณ มักหาข้ออ้างออกจากพระราชฐานชั้นในเพื่อไปสังวาสกับกระทาชายต่างด้าวในหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างไม่ระมัดระวัง จนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมของนางต่างพากันขับเพลงเกริ่นความอัปรีย์ของนางผู้อื้อฉาวไปทั่วพระนคร ซึ่งผิดปรกวิสัยของชาวสยามที่รักสงบ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้นางอยู่แต่ในพระราชวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก[3]

จากการที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังที่ห้อมล้อมไปด้วยสาวสรรกำนัลใน มีเพียงแต่เจ้าฟ้าน้อยเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่นางจะสานสัมพันธ์ได้ เธอจึงหาลู่ทางในการมีปฏิสัมพันธ์ให้เจ้าฟ้าน้อยพอพระทัย จนนำไปสู่สัมพันธ์สวาทในที่สุด[3] วันหนึ่งนางลักลอบนำฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าน้อยไปไว้ในห้องส่วนตัวของเธอ หมายจะให้เจ้าฟ้าน้อยไปหาฉลองพระองค์ที่ห้องของเธอ แต่เจ้าฟ้าน้อยมิได้เฉลียวพระทัยจึงเข้าใจว่าฉลองพระองค์หายไปจริง ๆ เมื่อเรื่องถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพิโรธว่ามีคนมาขโมยทรัพย์ของพระราชอนุชาถึงในเขตพระราชฐาน และผู้ที่จะหยิบออกไปได้ก็มีแต่ผู้ที่มาจากพระราชฐานฝ่ายในเท่านั้นจึงมีรับสั่งให้ผู้คนค้นหาให้ทั่วทันที โดยเข้าค้นที่ห้องของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก่อน ก็พบฉลองพระองค์เจ้าฟ้าน้อยอยู่ในห้องอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านางทาสีจึงรีบเอาตัวรอด ชิงกราบบังคมทูลความระยำตำบอนของท้าวศรีจุฬาลักษณ์จนสิ้น หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยคดีความของเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หนึ่งในนั้นคือพระเพทราชาพี่ชายของท้าวศรีจุฬาลักษณ์เอง สุดท้ายได้วินิจฉัยว่าเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีความผิดจริง จึงพิพากษาให้ประหารท้าวศรีจุฬาลักษณ์ด้วยการโยนให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยถูกพิพากษาให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ แต่กรมหลวงโยธาทิพ พระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษว่า "[อย่าได้มี] พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด"[3] สมเด็จพระนารายณ์มิกล้าขัดคำขอร้องของพระราชขนิษฐาอันเป็นที่รัก จึงเปลี่ยนการลงทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวายแทน แล้วให้พระเพทราชาและพระปีย์ร่วมกันเฆี่ยนอย่างรุนแรงจนเจ้าฟ้าน้อยสลบไป[3]

หลังพระองค์ฟื้น ก็พบว่าพระวรกายบวม มีพระอาการอ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และมีพระอาการอัมพาตที่พระชิวหา หลายคนเชื่อว่าพระองค์แสร้งเป็นใบ้ กระนั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่และกรมหลวงโยธาเทพก็ยังสมัครรักใคร่เจ้าฟ้าน้อยอยู่[3]

ในช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ให้ประสูติพระโอรสนามว่าหม่อมแก้ว ในเอกสารของฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง (François Henri Turpin) ที่เรียบเรียงจากบันทึกของสังฆราชแห่งตาบรากา (Bishop of Tabraca) ให้ข้อมูลว่าพระโอรสนี้เป็นบุตรที่เกิดกับเจ้าฟ้าน้อย ดังความตอนหนึ่งว่า "...น้องสาว [ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น้องสาวพระเพทราชา] ผู้มีความงามมากและเป็นที่ชื่นชมของทุกคนถูกถวายตัวเป็นพระสนมและเป็นสนมเอกที่โปรดปรานคนหนึ่งด้วย แต่โชคไม่ดีที่นางมีครรภ์ เพราะเป็นชู้กับพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นความลับอยู่เป็นเวลานาน พระสนมผู้ไม่ซื่อสัตย์จึงถูกจับได้แล้วถูกลงโทษโยนให้เสือกิน"[8] หลังสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชสมบัติจึงโปรดเกล้าสถาปนาพระโอรสที่ประสูติแต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระว่า ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์[9] ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าทรงสถาปนาพระเจ้าหลานเธอพระองค์แก้วขึ้นเป็นกรมขุนเสนาบุรีรักษ์[10]

การผลัดแผ่นดิน แก้

ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งขณะนั้นยังทรงพระประชวรใกล้แก่กาลสวรรคต พระองค์มีเพียงพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว และพระราชโอรสบุญธรรม จนเกิดวิกฤตการณ์ขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชอนุชาเสวยราชสมบัติ[6] แม้จะมีผู้เพ็ดทูลว่าเจ้าฟ้าน้อยยังทรงแค้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ลงทัณฑ์ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ชู้รักจนถึงแก่ความตาย และกล่าวอีกว่า หากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตไปแล้ว เจ้าฟ้าน้อยจะไม่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมเกียรติ มิหนำซ้ำจะนำพระบรมศพไปประจานให้เสียด้วยเพื่อแก้แค้น[11] ด้วยเหตุนี้พระเพทราชาจึงวางอุบายเพื่อจะสำเร็จโทษเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าฟ้าน้อยทรงเป็นหนึ่งในนั้นตามกฎมนเทียรบาล[3] เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรส พระเพทราชาจึงแสร้งไปทูลเจ้านายสามพระองค์ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก และเป็นหน้าที่ของตนที่จะสถาปนาเจ้านายที่เหลือขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[12] เหล่าพระราชอนุชาและพระราชธิดาจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีด้วยความลังเล[13]

เบื้องต้นพระเพทราชาได้ถวายการต้อนรับเหล่าเจ้านายเป็นอย่างดี ก่อนลอบประหารเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ต่อมาจึงได้จับกุมพระราชอนุชาคลุมด้วยผ้ากำมะหยี่แล้วทุบด้วยท่อนจันทน์[14]วัดซาก แขวงเมืองลพบุรี[15] โดยเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษสามพระองค์ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย[16] และพระปีย์[4] แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษเป็นพระราชอนุชาสองพระองค์คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอินทรราชาหรือพระองค์อินท์ และพระราชบุตรบุญธรรมคือพระปีย์[17] ส่วนกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาทรงถูกสงวนไว้สำหรับเป็นพระมเหสีของพระเพทราชา[18][19] แต่พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน[20]

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวันถัดมา[14] พระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่[21]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93
  2. 2.0 2.1 มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex, หน้า 258
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 220-226
  4. 4.0 4.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (16 ธันวาคม 2559). "ปริศนาโบราณคดี : 'แช่แข็งสยาม' ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, หน้า 36
  6. 6.0 6.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 227
  7. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 240
  8. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (11 กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 105
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 318
  10. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 413
  11. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex, หน้า 263
  12. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 522
  13. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 18
  14. 14.0 14.1 ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 39
  15. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 416
  16. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 230
  17. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 509
  18. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 40
  19. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 231
  20. หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน, หน้า 22
  21. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 531
บรรณานุกรม
  • กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 336 หน้า. ISBN 978-974-02-1717-6
  • ขจร สุขพานิชออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
  • เดส์ฟาร์จ, นายพล (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 120 หน้า. ISBN 978-974-02-1610-0
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 112 หน้า. ISBN 974-323-832-8
  • โบชอง, พันตรี (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 100 หน้า. ISBN 978-974-02-1111-2
  • สปอร์แตช, มอร์กาน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 280 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9