สมเด็จพระราเมศวร (พ.ศ. 1883 - พ.ศ. 1938) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

สมเด็จพระราเมศวร
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ครั้งที่ 1)
ครองราชย์พ.ศ. 1913 (1 ปี)
ราชาภิเษกพ.ศ. 1913
ก่อนหน้าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
ถัดไปสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ครั้งที่ 2)
ครองราชย์พ.ศ. 1931 - พ.ศ. 1938 (7ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าทองลัน
ถัดไปสมเด็จพระเจ้ารามราชา
พระราชสมภพพ.ศ. 1883
พระราเมศวร
สวรรคตพ.ศ. 1938 (56 พรรษา)
พระราชบุตรสมเด็จพระรามราชาธิราช
ราชวงศ์อู่ทอง
พระราชบิดาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้เพียง 1 ปีเท่านั้นก็สละราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ผู้เป็นพระมาตุลา และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งภายหลังการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ที่ครองราชสมบัติได้เพียง 7 วัน[1]

แม้พระองค์จะทรงสำเร็จโทษพระเจ้าทองลันเพื่อชิงราชสมบัติ แต่ก็ทรงสร้างคุณูปการต่อกรุงศรีอยุธยาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านพระศาสนาหรือการสงคราม ซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ควรยกย่องเชิดชูพระเกียรติที่ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยที่ไม่มีเมืองต่าง ๆ มารุกราน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงขยายอาณาเขตให้อาณาจักรอยุธยายิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา แม้เวลาส่วนมากจะทำศึกสงคราม

พระราชประวัติ

สมเด็จพระราเมศวร เสด็จพระราชสมภพในปี พ.ศ. 1883[2] เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กับพระมเหสีซึ่งเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่วจากรัฐสุพรรณภูมิ[3][4][5][6][7] เพราะใน พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเรื่องราวว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีพระบรมราชโองการให้ขุนตำรวจไปเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ช่วยสมเด็จพระราเมศวรไปรบกับกรุงกัมพูชาซึ่งในพงศาวดารใช้คำว่า "...ให้อัญเชิญท่านออกไปช่วยหลานท่าน..."[5][8] เพราะในขณะนั้นการเกี่ยวดองทางเครือญาติจากการอภิเษกสมรสระหว่างสองเมือง ถือเป็นที่นิยมของผู้นำรัฐ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เอง ก็อภิเษกสมรสกับพระมหาเทวี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของกษัตริย์สุโขทัยเช่นกัน[5] ส่วนประทีป ชุมพล ระบุว่า พระชนนีเป็นเจ้าหญิงจากเมืองละโว้[1] เดิมมีพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราเมศวรไปครองราชสมบัติในเมืองลพบุรี[8] แต่จากความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ละโว้-อโยธยากับราชวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งเกิดจากการอภิเษกสมรสนี้ เป็นจุดกำเนิดการชิงราชบัลลังก์กรุงอโยธยาระหว่างสองราชวงศ์[4]

หลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1913 พระองค์จึงเสด็จฯ จากเมืองลพบุรีมาเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา[9] ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาได้ 37 พรรษา แต่พระองค์ทรงครองราชสมบัติได้เพียงปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าก็ยกทัพจากเมืองสุพรรณบุรีเข้ามา พระองค์จึงออกไปรับเสด็จฯ เข้าพระนคร แล้วถวายราชสมบัติให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน[3] ส่วนพระองค์กลับไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม[10]

ภายหลังสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1931 สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรได้ยกพลจากเมืองลพบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลัน ณ วัดโคกพระยา[11] แล้วขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา[2]

ในปี พ.ศ. 1938 เย็นวันหนึ่งสมเด็จพระราเมศวรเสด็จไปพระที่นั่งมังคลาภิเษก ระหว่างทางมีวิญญาณของท้าวมล มาปรากฏนั่งขวางทางเสด็จอยู่แล้วหายไป พระองค์ก็สวรรคต[12] สิริพระชนมพรรษา 56 พรรษา[13] ทรงครองราชสมบัติรวม 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยสมเด็จพระเจ้ารามราชา พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชสมบัติ

พระราชกรณียกิจ

ราชการสงคราม

เมื่อปี พ.ศ. 1896 ขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อยู่นั้น สมเด็จพระราชบิดาโปรดให้เชิญพระองค์ลงมาจากเมืองลพบุรีและตรัสว่าขอมแปรพักตร์ต้องปราบปรามเสีย จึงโปรดให้พระองค์ยกพล 5,000 ไปยังกัมพูชาธิบดี พระยาอุปราชพระราชโอรสในพระบรมลำพงษ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ได้เข้าโจมตีทัพหน้าของกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่าย แล้วจึงเข้าปะทะกับทัพหลวงต่อ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าที่ประทับอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นไปทำศึกช่วยพระราเมศวร การศึกดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 ปีโดยประมาณ จึงสามารถเอาชนะกรุงกัมพูชาธิบดีได้สำเร็จและได้กวาดต้อนชาวกัมพูชาธิบดีเข้ามาอยู่ยังกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก[8]

หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในครั้งที่ 2 แล้วนั้น พระองค์ทรงทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาออกไปยังหัวเมืองทางตอนเหนือและแถบเมืองกัมพูชา ดังนี้

สงครามกับเมืองเชียงใหม่

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า พ.ศ. 1927 พระองค์ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ได้ขอสงบศึก โดยขอเวลา 7 วันแล้วจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อเจริญพระราชไมตรี ในการนี้มุขมนตรีนายทัพนายกองได้ปรึกษาหารือว่า อาจจะเป็นกลอุบายของพระเจ้าเชียงใหม่เพื่อจะได้เตรียมการรับมือกองทัพของกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ตรัสว่าเมื่อเขาไม่รบแล้วเราจะรบนั้นดูมิบังควรและถึงแม้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่รักษาสัตย์ก็ใช่ว่าจะสามารถรอดพ้นจากทหารของกรุงศรีอยุธยาไปได้ เมื่อผ่านไป 7 วัน พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้านไม่ได้จึงหนีออกไป แต่สามารถจับนักสร้างพระโอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ พระองค์ทรงพระกรุณาให้นักสร้างขึ้นครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ และได้กวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้โดยให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบูร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา[14]

อย่างไรก็ตาม ศึกครั้งนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายล้านนา และในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยายังไม่สามารถผนวกดินแดนสุโขทัยไว้ได้ การยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่จึงไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ และชื่อนักสร้างที่พระราชพงศาวดารว่าเป็นโอรสพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่พบในหลักฐานล้านนา สันนิษฐานว่า ผู้ชำระพระราชพงศาวดารน่าจะนำเรื่องราวของสมเด็จพระราเมศวร (ซึ่งเป็นพระนามก่อนขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเอกาทศรถ) ไปตีเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2143 มาลงไว้ โดยแก้ศักราชเป็นพ.ศ. 1927 เนื่องจากเข้าใจผิดว่าสมเด็จพระราเมศวรที่กล่าวถึง คือ สมเด็จพระราเมศวร พระโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[15]

สงครามกับเมืองกัมพูชาธิบดี

หลังจากที่เสด็จกลับจากการทำศึก ณ เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้ทรงทำศึกกับเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง เนื่องจากพระยากัมพูชาได้ยกทัพมายังเมืองชลบุรีและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบุรีและเมืองชลบุรีไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีประมาณ 6,000 - 7,000 คน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงยกกองทัพไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง โดยโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองพระนครได้แล้ว พระยากัมพูชาได้ลงเรือหลบหนีไป แต่สามารถจับพระยาอุปราชพระราชโอรสของพระยากัมพูชาได้[14] และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยณรงค์อยู่รั้งเมืองกัมพูชาธิบดีพร้อมกำลังพล 5,000 คน ต่อมาญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา[12]

ด้านพระพุทธศาสนา

หลังจากศึก ณ เมืองเชียงใหม่เสร็จสิ้น พระองค์เสด็จยังเมืองพิษณุโลก ในการนี้พระองค์เสด็จนมัสการพระพุทธชินราชและเปลื้องเครื่องต้นทำสักการบูชาสมโภช 7 วัน แล้วจึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา สำหรับการพระพุทธศาสนาภายในกรุงศรีอยุธยานั้น พระองค์โปรดให้สถาปนาพระมหาธาตุสูง 17 วา ยอดสูง 3 วา ณ บริเวณที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฎิหารย์ โดยพระราชทานชื่อว่าวัดพระมหาธาตุ[14] นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สถาปนาวัดภูเขาทองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1930[12]

พงศาวลี


อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 การแย่งอำนาจกลุ่มสุพรรณบุรีกับกลุ่มลวะปุระในสมัยอยุธยาตอนต้น ผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2554
  2. 2.0 2.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 53
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 56
  4. 4.0 4.1 ณรงค์กรรณ รอดทรัพย์ และนิพัทธพงศ์ พุมมา (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "พระมหาอุปราชกับปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ในราชสำนักสยาม". วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 9:2, หน้า 100
  5. 5.0 5.1 5.2 ฉันทัส เพียรธรรม (มกราคม–เมษายน 2560). การสังเคราะห์องค์ความรู้ประวัติศาสตร์รัฐสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม (PDF). วารสารวิทยาลัยนครราชสีมา 11:1. p. 278-279.
  6. โรม บุนนาค. "ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะได้ครองอำนาจ! ๕ ยุวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ถูกผู้ใหญ่ฆ่าเรียบ!!". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. โรม บุนนาค (6 ตุลาคม 2564). "๕ ยุวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ถูกฆ่าไม่เหลือ! ๓ ยุวกษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมหาราช ๒ พระองค์!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 38
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 42
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 43
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 46
  12. 12.0 12.1 12.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 48
  13. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 54
  14. 14.0 14.1 14.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 47
  15. “ล้านนา” ใน “ทักษิณ”: ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จารึก และวรรณกรรม
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้า สมเด็จพระราเมศวร ถัดไป
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(ก่อนสมัยที่ 1)
สมเด็จพระเจ้าทองลัน
(ก่อนสมัยที่ 2)
   
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์อู่ทอง)

((สมัยที่ 1) พ.ศ. 1912 - พ.ศ. 1913
(สมัยที่ 2) พ.ศ. 1931 - พ.ศ. 1938)
  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
(หลังสมัยที่ 1)
สมเด็จพระเจ้ารามราชา
(หลังสมัยที่ 2)