พระมหาเทวีแห่งสุโขทัย (พระชายาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1)

มหาเทวี เป็นฝ่ายในที่ไม่ปรากฏพระนามแห่งอาณาจักรสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ปรากฏเพียงว่าเป็นพระขนิษฐาในพระมหาธรรมราชาที่ และเป็นพระชายาพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยพระองค์ได้ขึ้นครองเมืองสุโขทัยระยะหนึ่งหลังต่อจากพระมหาธรรมราชาที่ 1 ผู้เป็นพระเชษฐา หลังพระองค์เสด็จสวรรคตพระราชอำนาจจึงตกอยู่กับพระศรีเทพาหูราช

พระมหาเทวี
(ไม่ปรากฎพระนาม)
ผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
ครองราชย์พ.ศ. 1905–1913
ก่อนหน้าพระมหาธรรมราชาที่ 1
ถัดไปพระยาศรีเทพาหูราช
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 1913
พระราชสวามีสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
พระราชบุตรพระยาศรีเทพาหูราช
ราชวงศ์พระร่วง (ประสูติ)
สุพรรณภูมิ (อภิเษก)
พระราชบิดาพระยาเลอไทย

พระราชประวัติ

แก้

แต่เดิมอาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางกินอาณาบริเวณตั้งแต่ที่ราบลุ่มภาคกลาง และติดต่อกับกลุ่มรัฐสุพรรณภูมิทางฝั่งตะวันตก หลังการเกิดขึ้นของอาณาจักรอยุธยา กาลนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองสรลวงสองแควช่วงปี พ.ศ. 1902-1905 แล้วส่งขุนหลวงพะงั่ว เจ้าจากวงศ์สุพรรณภูมิมาปกครองแทน[1][2][3] ช่วงเวลานั้นพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลือไทย) จำต้องส่งบรรณาการเป็นอันมากเพื่อขอเมืองคืน[1][2] ในเวลาต่อมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ทรงพระราชทานเมืองต่าง ๆ คืนอย่างมีเงื่อนไข คือให้พระมหาธรรมราชาที่ 1 ครองแต่เมืองสรลวงสองแคว แล้วให้พระขนิษฐาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ไปครองเมืองสุโขทัยแทน ส่วนขุนหลวงพะงั่วนั้นให้กลับไปปกครองเมืองสุพรรณภูมิตามเดิม[1]

ช่วงเวลานี้มหาเทวีคงเข้าเป็นพระชายาพระองค์หนึ่งของขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นเจ้านายจากสุพรรณภูมิ จนมีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือ พระศรีเทพาหูราช[1]

หลังสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรเสด็จจากเมืองละโว้ขึ้นเสวยราชย์ต่อ แต่เมื่อขุนหลวงพะงั่วเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวรก็ทรงถวายราชสมบัติให้ขุนหลวงพะงั่วครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หลังเสวยราชย์แล้วพระองค์ทรงเข้ายึดเมืองเหนือทั้งปวง (เมืองเหนือคือแคว้นสุโขทัย) ที่เจ้านายวงศ์พระร่วงแย่งชิงอำนาจกัน หลังพระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จสวรรคต[2] สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ทรงมอบเมืองสุโขทัยให้มหาเทวีซึ่งเป็นพระชายาครองดังเดิม[1] ดังปรากฏในจารึกวัดช้างล้อม และจารึกวัดวัดตระพังช้างเผือกว่ายืนยันว่ามหาเทวีครองเมืองสุโขทัยจนกระทั่งสวรรคต[1] หลังครองเมืองได้ 7 ปี[3] ดังปรากฏใน จารึกวัดช้างล้อม ความว่า

"...เมื่อสมเด็จมหาธรรมราชาเสวยพิราไลยไคลจากพรากเสีย พ่อนมเข้าบวชในสำนักมหาเถรพุทธสาคร อันทันมรไปด้วยเถรานุเถรทั้งหลาย ให้บุญไปแก่พ่อแม่พี่น้องพวกพ้องเผ่าพันธุ์อันเหง้าเจ้าไทอันไปสู่ปรโลกพู้น ๐ ถัดนั้นมหาเทวีสวรรคาลัยไปโสด ๐ พ่อนมเข้าบวชในสำนักมหาเถรอนุราธอันลุกแต่สิงหลมา ๐ พระญาศรีเทพาหูราชเอาออกมาช่วยสร้างบ้านสร้างเมือง ๐ ได้บ่ให้เคืองใจไพร่ฟ้าข้าคนพลทั้งหลายให้วายทุลุ...นดา..."

ต่อมาพระศรีเทพาหูราช พระโอรสของพระมหาเทวีมีสิทธิครองกรุงสุโขทัยต่อ แต่ทรงประสบปัญหากระทบกระทั่งกับเครือญาติฝ่ายหน้าในพระมหาธรรมราชาที่ 1 จนต้องให้พ่อนมไสดำ ข้าราชบริพารของพระมหาธรรมราชาที่ 1 และเป็นสามีของแม่นมเทดมาเป็นคนกลางระงับข้อขัดแย้งและช่วยราชการจนสามารถครองเมืองสุโขทัยในปี พ.ศ. 1927[1]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 30-39
  2. 2.0 2.1 2.2 กนกวรรณ โสภณวัฒนวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 129
  3. 3.0 3.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุโขทัย มาจากไหน ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 121-129
ก่อนหน้า พระมหาเทวีแห่งสุโขทัย (พระชายาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) ถัดไป
พระมหาธรรมราชาที่ 1    
ผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
  พระศรีเทพาหูราช