สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพ่องั่ว (พ.ศ. 1854 – พ.ศ. 1931) เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์แรกในราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1913 – 1931 รวมเป็นระยะเวลา 18 ปี พระองค์เป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของสมเด็จพระราเมศวร

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
พระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ที่อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1913 — 1931 (18 ปี 0 วัน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระราเมศวร
(ราชวงศ์อู่ทอง)
ถัดไปสมเด็จพระเจ้าทองลัน
ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี
ครองราชย์พ.ศ. 1894 — 1916
ก่อนหน้าพระเจ้าอู่ทอง
ถัดไปสมเด็จพระอินทราชา
พระราชสมภพพ.ศ. 1854
สวรรคตพ.ศ. 1931 (78 พรรษา)
พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าทองลัน
สมเด็จพระอินทราชา
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ
  • สงครามตีเมืองเขมร
  • สงครามตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร)
  • สถาปนา วัดมหาธาตุ

พระราชประวัติ

แก้

มีข้อสันนิษฐานว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เป็นราชบุตรพระองค์ที่ 5 เพราะคำว่า "งั่ว" หมายถึงลำดับที่ 5 ตามการนับเลขแบบไทย และเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงตรัสเรียกพระองค์ว่าพระเชษฐา

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 ในการนั้นพระองค์ทรงสถาปนาขุนหลวงพ่องั่วขึ้นเป็น "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" พร้อมทั้งโปรดให้ขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จมาแต่เมืองลพบุรีและขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อมา โดยพระองค์ยังคงครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีเช่นเดิม

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 1916 พระองค์ได้เสด็จจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา ความทราบถึงสมเด็จพระราเมศวร พระองค์จึงเสด็จออกไปอัญเชิญเสด็จพระมาตุลาเข้าสู่พระนคร หลังจากนั้น สมเด็จพระราเมศวรได้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์และถวายบังคมลาเสด็จไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1931 รวมระยะเวลาในการครองราชสมบัติได้ 15 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบไป

พระราชกรณียกิจ

แก้

ราชการ

แก้

ด้วยทรงเป็นจอมทัพที่เข้มแข็ง พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ตลอดรัชกาลจึงทรงเป็นจอมทัพออกไปทำการรณรงค์ โดยศึกสำคัญมีดังนี้

ศึกเขมรแปรพักตร์

แก้

เมื่อ พ.ศ. 1896 พระองค์ได้ทรงยกทัพไปยังนครธมแห่งกรุงกัมพูชาธิบดีเพื่อช่วยทัพของสมเด็จพระราเมศวรที่เข้าโจมตีกรุงกัมพูชาธิบดีก่อนหน้านั้น การศึกครั้งนี้มีเหตุจากการที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาบดีแปรพักตร์ ดังนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปปราบปราม แต่การไม่เป็นดังคาด ทัพพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีสามารถโจมตีทัพหน้าของกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่าย แล้วจึงเข้าปะทะกับทัพหลวงต่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปเชิญพระองค์ที่ประทับอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นไปทำศึกช่วยสมเด็จพระราเมศวร การศึกดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 ปีโดยประมาณ จึงสามารถเอาชนะกรุงกัมพูชาธิบดีได้สำเร็จและได้กวาดต้อนครัวชาวกัมพูชาธิบดีเข้ามายังอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก

หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในปี พ.ศ. 1917 พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปทำสงครามกับเมืองฝ่ายเหนือหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว เมืองพิษณุโลก เวียงเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง สงครามยืดเยื้อกันมาเป็นเวลานาน จนพระองค์เสด็จสวรรคต

สงครามกับเมืองชากังราว

แก้

พระองค์ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองชากังราวถึง 4 ครั้ง เนื่องจากเมืองชากังราวเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย โดยครั้งแรกนั้นทรงยกกองทัพไปเมืองปี พ.ศ. 1919 พระยาไสแก้วและพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกรบต่อพระองค์ การศึกในครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระยาไสแก้วเสียชีวิตแต่พระยาคำแหงนั้นสามารถกลับเข้าเมืองได้ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองชากังราวครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 1921 พระยาคำแหงและท้าวผ่าคองคิดกันว่าจะยอทัพหลวงทำมิได้ ครั้งนั้นท้าวผ่าคองเลิกทัพหนีแต่พระองค์ทรงยกทัพตามและสามารถตีทัพท้าวผ่าคองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นเป็นจำนวนมากแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพมาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 1924 ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงสุโขทัยทรงออกรบเป็นสามารถ แต่เห็นจะสู้ทัพจากกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว ดังนั้น พระมหาธรรมราชาจึงออกมาถวายบังคม พระองค์ทรงให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองต่อไปในฐานะเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพไปเมืองชากังราวอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 1931 แต่ไม่ปรากฏว่าทรงยกทัพไปด้วยสาเหตุอันใด ครั้งนั้นทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

การพระศาสนา

แก้

เมื่อ พ.ศ. 1918 พระองค์และพระมหาเถรธรรมากัลญาณได้ปรึกษากันและทรงสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบูรพาทิศ (วัดมหาธาตุ) หน้าพระบันชรสิงห์สูง 19 วา ยอดนพศูลสูง 3 วา

อ้างอิง

แก้
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. พ.ศ. 2455. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกพร้อม มิตรภักดี (พระยานรินทร์ราชเสนี). พ.ศ. 2486. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ถัดไป
พระเจ้าอู่ทอง   เจ้าผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี
(เมืองอู่ทองแคว้นสุพรรณภูมิเก่า)

(พ.ศ. 1894 - 1916)
  สมเด็จพระอินทราชา
สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ 1)
(ราชวงศ์อู่ทอง)

(พ.ศ. 1912 - 1913)
  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1913 - 1931)
  สมเด็จพระเจ้าทองลัน
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1931)