เมืองชากังราว

เมืองโบราณในประเทศไทย

ชากังราว เป็นเมืองที่เอ่ยถึงในหลักฐานโบราณ และมีผู้สันนิษฐานเกี่ยวกับสถานที่ตั้งไว้ต่างกัน เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยไว้ใน พ.ศ. 2451 ว่า เป็นเมืองเดียวกับเมืองสวรรคโลก[1] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ใน พ.ศ. 2457 ว่า เป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชร[2] แต่ปัจจุบันมีการเสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไป[3]

ในประวัติศาสตร์

แก้

เมืองชากังราวปรากฏชื่อมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย[4] จารึกสุโขทัยหลายหลักระบุว่า ชากังราวเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย โดยเป็นเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย[5]

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911) กล่าวว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งสุโขทัย เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุมนกูฏพร้อมชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัย ซึ่งรวมถึงเมืองชากังราว และโปรดให้ทำจารึกนี้ขึ้นเป็นที่ระลึก[4]

ส่วนเอกสารสมัยอยุธยาระบุถึงความพยายามของอยุธยาที่จะยึดเมืองชากังราวหลายคราว เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระมหากษัตริย์อยุธยา ต้องทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราวถึงสี่ครั้ง ครั้งแรกในปีฉลู จ.ศ. 735 (พ.ศ. 1916) พญาคำแหงผู้เป็นเจ้าเมืองชากังราว กับพญาใสแก้ว ออกมาตีตอบโต้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงฆ่าพญาใสแก้วตาย ส่วนพญาคำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ครั้งที่สองในปีมะโรง จ.ศ. 738 (พ.ศ. 1919) พญาคำแหง กับท้าวผ่าคอง เตรียม "ยอ" ทัพของสมเด็จพระบรมราชาธิราช แต่ท้าวผ่าคองเห็นว่าจะทำไม่ได้ จึงเลิกทัพหนี ทัพสมเด็จพระบรมราชาธิราชตามตีทัพท้าวผ่าคองแตก จับตัว "ท้าวพญาแลเสนาขุนหมื่น" ได้มากมาย ครั้งที่สามในปีมะเมีย จ.ศ. 740 (พ.ศ. 1921) พระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหากษัตริย์สุโขทัย ออกมาต่อสู้ด้วยพระองค์เอง แต่เห็นว่าสู้ไม่ได้ จึง "ออกถวายบังคม" และครั้งที่สี่ในปีมะโรง จ.ศ. 750 (พ.ศ. 1931) แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชประชวรหนักและเสด็จกลับเสียก่อน ไปสวรรคตกลางทางกลับอยุธยา[6]

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ระบุอีกว่า ในปีมะเแม จ.ศ. 813 (พ.ศ. 1994) มหาราชแห่งเชียงใหม่ (พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา) เสด็จมาเอา "เมืองซากังราว" ได้ แล้วจึงไปเอา "เมืองสุกโขใทย" แต่ไม่สำเร็จ จึงยกทัพกลับคืน[7]

เมืองชากังราวยังได้รับการกล่าวถึงในพระอัยการลักษณะลักพา ซึ่งเป็นกฎหมายสมัยอยุธยา[8]

สถานที่ตั้ง

แก้

แนวคิดเดิม

แก้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยถึงที่ตั้งเมืองชากังราวไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2451 ว่า เมืองชากังราวได้แก่เมืองสวรรคโลก โดยทรงระบุว่า "เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใดอยู่แห่งหนตำบลใด มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น คือ แห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า 'ศักราช 813 มะแมศก ครั้งนั้น มหาราชมาเอาเมืองชากังราว ได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลยยกทัพกลับคืน' ดังนี้จึงเป็นเครื่องนำให้สันนิษฐานว่า เมืองชากังราวนั้นคือเมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่า มหาราช (เมืองเชียงใหม่) ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองใกล้เคียงกัน ถ้าจะนึกถึงทางที่เดิน ก็ดูถูกต้องดี แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว ข้อนี้แปลไม่ออก"[1]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยถึงที่ตั้งเมืองชากังราวไว้ในคำอธิบาย พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2457) ว่า ทรงตรวจสอบแผนที่แล้วทรงเห็นว่า "เมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่นนอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้" ประกอบกับทรงพบพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เขียนชื่อ "ชาวดงราวกำแพงเพชร" ติดกัน และทรงเชื่อว่า "ชาวดงราว" เป็นการเขียน "ชากังราว" ผิด จึงทรงวินิจฉัยว่า ชากังราวเป็นเมืองเดียวกับกำแพงเพชร โดยเป็นเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก (ฝั่งวัดพระบรมธาตุ) ของเมืองกำแพงเพชรปัจจุบัน[2]

ความเห็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นได้รับการนับถือสืบ ๆ มาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน จนกลายเป็นความเชื่อว่า ชากังราวคือกำแพงเพชร และมีการสรุปว่า "กำแพงเพชรมีชื่อเดิมว่า เมือง 'ชากังราว'"[9] ทั้งมีการใช้ชากังราวสื่อถึงกำแพงเพชร เช่น เรียกเฉาก๊วยจากกำแพงเพชรว่า "เฉาก๊วยชากังราว"[10] และเรียกการแข่งขันกีฬาในจังหวัดกำแพงเพชรว่า "ชากังราวเกมส์"[11] ตลอดจนมีสถานที่หลายแห่งในกำแพงเพชรใช้คำว่า "ชากังราว" เช่น โรงเรียนชากังราววิทยา (อินทร์-ชุ่ม ดีสารอุปถัมภ์) ในอำเภอเมืองกำแพงเพชร

แนวคิดใหม่

แก้

ใน พ.ศ. 2539 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เสนอแนวคิดใหม่ว่า ชากังราวควรอยู่ในพื้นที่ที่เป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มากกว่าในจังหวัดกำแพงเพชร โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาเสด็จมายึดชากังราวเมื่อ พ.ศ. 1994 ซึ่งเอกสารจากล้านนาพรรณนาเส้นทางทัพไว้โดยละเอียดว่า เสด็จออกจากเขตล้านนาทางจังหวัดแพร่หรือน่านในปัจจุบัน ผ่านเข้าเขตที่ราบในเมืองฝาง (จังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน แล้วค่อย ๆ ตีเมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้ คือ ตั้งแต่เมืองทุ่งยั้งในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองสองแควในจังหวัดพิษณุโลก ไปจนเมืองปากยมในเขตจังหวัดพิจิตร แสดงว่า เมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแคว อันได้แก่ เมืองพิชัย ในอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์[12] แนวคิดของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้รับการสนับสนุนจากนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทษ[13]

ในการพิมพ์ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรระบุว่า "แนวคิดเดิม เมืองชากังราวเป็นเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันนายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอแนวคิดใหม่ว่า เป็นเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งยังมิได้มีการพิจารณาตัดสิน"[3]

อ้างอิง

แก้

บรรณานุกรม

แก้