จังหวัดสุโขทัย
สุโขทัย (เดิมสะกดว่า ศุโขไทย)[3] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนบนหรือบางแห่งแบ่งเป็นภาคเหนือตอนล่าง ของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก และลำปาง (เรียงตามเข็มนาฬิกาจากด้านเหนือ) มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านคือแม่น้ำยม เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา คำว่า "สุโขทัย" มาจากคำสองคำคือ "สุข+อุทัย" มีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข "
จังหวัดสุโขทัย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Sukhothai |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง: | |
คำขวัญ: มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดสุโขทัยเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ![]() |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | สุชาติ ทีคะสุข (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 6,596.092 ตร.กม. (2,546.765 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 30 |
ประชากร (พ.ศ. 2564)[2] | |
• ทั้งหมด | 585,352 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 42 |
• ความหนาแน่น | 88.74 คน/ตร.กม. (229.8 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 51 |
รหัส ISO 3166 | TH-64 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | ตาล |
• ดอกไม้ | บัวหลวง |
• สัตว์น้ำ | ปลาก้างพระร่วง |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนนิกรเกษม ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64000 |
• โทรศัพท์ | 0 5561 4531 |
• โทรสาร | 0 5561 1619 |
เว็บไซต์ | http://www.sukhothai.go.th/ |
![]() |
ประวัติศาสตร์แก้ไข
สมัยราชธานีสุโขทัยและอยุธยาแก้ไข
ในอดีต สุโขทัยเป็นรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สถาปนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะสถานีการค้าของรัฐละโว้ ต่อมาเมื่อจักรวรรดิขแมร์และอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจ ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากๆในเวลาไล่เลี่ยกัน ราวปี 1782 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพงเป็นผลสำเร็จ และได้สถาปนาเอกราชให้รัฐสุโขทัยเป็นอาณาจักรสุโขทัย โดยพ่อขุนบางกลางหาวราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์แรกของอาณาจักรสุโขทัย[4] หลังจากประสบปัญหาทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในและการแทรกแซงจากอยุธยา ต่อมาอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด รัฐสุโขทัยถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดย เมืองสรวงสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง ส่วนเมืองสุโขทัยเป็นเมืองรอง มี พระยาราม เป็นผู้ปกครองเมือง และเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มี พระยาเชลียง เป็นผู้ปกครองเมือง[4][5]
ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สุโขทัยถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร มีการกำหนดเป็นเมืองเอก โท หรือตรี ตามลำดับความสำคัญ ภายหลังการเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง และหลังประกาศอิสรภาพ และหลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวหัวเมืองเหนือทั้งปวง (เมืองพระพิษณุโลกสองแคว เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิจิตร และเมืองพระบาง) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ ผ่านไป 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ และเปลี่ยนสุโขทัยจากหัวเมืองชั้นนอก เป็นหัวเมืองชั้นโท คือเมืองพระยามหานครที่มีความสำคัญรองลงมา มีอยู่ 6 หัวเมือง ทางเหนือมีสวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ เพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง[6][7]
สมัยรัตนโกสินทร์แก้ไข
สุโขทัยยังคงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นโท จนกระทั่งยุครัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2437 ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า และจัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ทำให้สุโขทัยมีฐานะเป็น เมืองสุโขทัย ภายใต้การจัดการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคของ มณฑลพิษณุโลก [8][9]
ต่อมา เมืองสุโขทัยได้เปลี่ยนเป็น จังหวัดสุโขทัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น และนับจากนั้น จังหวัดก็ได้กลายเป็นเขตการปกครองย่อยของประเทศไทยที่มีระดับสูงที่สุด และสุโขทัยก็มีฐานะเป็นจังหวัดสุโขทัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา[9]
ภูมิศาสตร์แก้ไข
ตามการแบ่งจังหวัดเป็นภาคโดยคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติและราชบัณฑิตยสภา จังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่ในภาคกลาง บริเวณตอนบนของภาค หากแบ่งเขตตามการพยากรณ์อากาศและเศรษฐกิจ สังคม จะจัดอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานครตามระยะทางหลวงแผ่นดินประมาณ 440 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวังชิ้น อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอลับแล และอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยจะเป็นที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือและตอนใต้ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีเขาหลวงเป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุด วัดจากระดับน้ำทะเลมีความสูงประมาณ 1,200 เมตร โดยมีแนวภูเขายาวเป็นพืดทางด้านทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดจะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำยมไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยยาวประมาณ 170 กิโลเมตร
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดแก้ไข
- ตราประจำจังหวัด: รูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับบนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์
- ธงประจำจังหวัด: ธงพื้นสีแดง-เหลือง-เขียว แบ่งตามแนวนอน แถบสีเหลืองนั้นกว้างเป็น 2 เท่าของแถบสีแดงและสีเขียว ที่มุมธงด้านคันธงมีตราประจำจังหวัดเป็นรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับบนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์
- คำขวัญประจำจังหวัด: มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: ตาล (Borassus flabellifer)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกบัวหลวง (Nelumbo nucifera)
ต้นตาล ต้นไม้ประจำจังหวัดสุโขทัย
ดอกบัวหลวง ดอกไม้ประจำจังหวัดสุโขทัย
การเมืองการปกครองแก้ไข
หน่วยการปกครองแก้ไข
การปกครองของสุโขทัยแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 86 ตำบล 843 หมู่บ้าน
ลำดับที่ | ชื่ออำเภอ | แผนที่ | พื้นที่
(ตร.กม) |
ประชากร[10] | จำนวน
ตำบล |
จำนวน
หมู่บ้าน |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | อำเภอเมืองสุโขทัย | 581.474 | 60,623 | 10 | 97 | |
2. | อำเภอบ้านด่านลานหอย | 1,018.11 | 44,244 | 7 | 71 | |
3. | อำเภอคีรีมาศ | 521.9 | 45,948 | 10 | 100 | |
4. | อำเภอกงไกรลาศ | 502.382 | 58,920 | 11 | 109 | |
5. | อำเภอศรีสัชนาลัย | 2,050.511 | 69,408 | 11 | 148 | |
6. | อำเภอศรีสำโรง | 565.731 | 61,000 | 13 | 118 | |
7. | อำเภอสวรรคโลก | 586.192 | 49,753 | 14 | 117 | |
8. | อำเภอศรีนคร | 199.865 | 22,311 | 5 | 49 | |
9. | อำเภอทุ่งเสลี่ยม | 569.932 | 41,592 | 5 | 59 |
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไข
จังหวัดสุโขทัยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 91 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย, เทศบาลเมือง 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย เทศบาลเมืองสวรรคโลก และเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี, เทศบาลตำบล 18 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 69 แห่ง[11]
อำเภอ | เทศบาลเมือง | ประชากร
เทศบาลเมือง |
เทศบาลตำบล | ประชากร
เทศบาลตำบล |
จำนวน
องค์การบริหาร ส่วนตำบล |
---|---|---|---|---|---|
อำเภอเมืองสุโขทัย | เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี | 13,664 | เทศบาลตำบลบ้านสวน
เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลบ้านกล้วย |
4,265
7,104 15,950 |
8 |
อำเภอบ้านด่านลานหอย | - | - | เทศบาลตำบลลานหอยเทศบาลตำบลตลิ่งชัน | 3,539
9,966 |
6 |
อำเภอคีรีมาศ | - | - | เทศบาลตำบลทุ่งหลวง
เทศบาลตำบลบ้านโตนด |
7,062
2,962 |
9 |
อำเภอกงไกรลาศ | - | - | เทศบาลตำบลกงไกรลาส | 4,021 | 10 |
อำเภอศรีสัชนาลัย | เทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย | 14,876 | เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว | 6,459 | 8 |
อำเภอศรีสำโรง | - | - | เทศบาลตำบลศรีสำโรง | 7,161 | 12 |
อำเภอสวรรคโลก | เทศบาลเมืองสวรรคโลก | 14,804 | เทศบาลตำบลในเมือง
เทศบาลตำบลป่ากุมเกาะ เทศบาลตำบลคลองยาง เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง |
8,053
8,125 7,648 4,826 |
8 |
อำเภอศรีนคร | - | - | เทศบาลตำบลศรีนคร | 3,012 | 5 |
อำเภอทุ่งเสลี่ยมล | - | - | เทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยมเทศบาลตำบลเขาแก้วสมบูรณ์
เทศบาลตำบลกลางดง |
7,201
7,808 12,157 |
3 |
ทำเนียบเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยแก้ไข
|
|
การขนส่งแก้ไข
ทางถนนแก้ไข
จังหวัดสุโขทัยมีทางหลวงสำคัญ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมต่อกับจังหวัดตากและจังหวัดพิษณุโลก, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 เชื่อมต่อกับจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดแพร่, และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102เชื่อมต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์
ทางรางแก้ไข
ในสุโขทัยการขนส่งทางราง มีสถานีรถไฟ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก และสถานีรถไฟคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร ซึ่งปัจจุบันหยุดวิ่งทำการชั่วคราว นอกจากนี้ในอนาคตจะมีทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือตัดผ่าน มีสถานี 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูงสุโขทัย และสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีสัชนาลัย[12]
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆแก้ไข
- อำเภอศรีสำโรง 19 กิโลเมตร
- อำเภอคีรีมาศ 22 กิโลเมตร
- อำเภอกงไกลาศ 22 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านด่านลานหอย 31 กิโลเมตร
- อำเภอสวรรคโลก 39 กิโลเมตร
- อำเภอศรีนคร 49 กิโลเมตร
- อำเภอทุ่งเสลี่ยม 65 กิโลเมตร
- อำเภอศรีสัชนาลัย 66 กิโลเมตร
สถานที่ท่องเที่ยวแก้ไข
|
|
งานเทศกาลและประเพณีแก้ไข
- งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ อำเภอเมืองสุโขทัย
- งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อำเภอเมืองสุโขทัย
- งานสักการะพระแม่ย่าและงานกาชาด อำเภอเมืองสุโขทัย
- งานออกพรรษาแห่ตาชูชก อำเภอบ้านด่านลานหอย
- งานมหาสงกรานต์กรุงเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย
- งานสงกรานต์เสื้อลายดอก ถนนข้าวตอกสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย
- งานแข่งขันเรือพายเทโวโรหณะ อำเภอเมืองสุโขทัย
- ประเพณีบวชนาคแห่ช้างหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานนสมโภชพระธาตุเฉลียงและพระธาตุมุเตา(วัดพระปรางค์) อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานย้อนอดีตศรีสัชนาลัยนุ่งผ้าไทยใส่เงินทองโบราณ อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานของดีศรีสัชนาลัยและเทศกาลอาหาร อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานประเพณีแห่กฐินทางน้ำ(เฮือซ่วง) อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านหาดสูง อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานประเพณีออกพรรษาศรีสัชฯ-ท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย
- งานหมากม่วงหมากปรางและงานของดีศรีสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก
- งานประเพณีสงกรานต์และเทศกาลอาหารเมืองสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก
- งานวันพิชิตยอดเขาหลวง อำเภอคีรีมาศ
- ประเพณีการทำขวัญผึ้ง อำเภอคีรีมาศ
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
- ↑ 4.0 4.1 อาณาจักรสุโขทัย
- ↑ เมืองลูกหลวง สถาบันปกเกล้า
- ↑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- ↑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- ↑ มณฑลพิษณุโลก
- ↑ 9.0 9.1 มณฑลเทศาภิบาล
- ↑ สถิติจำนวนประชากรทางการทะเบียน
- ↑ ข้อมูลจำนวน อปท. แยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- ↑ รถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย
ดูเพิ่มแก้ไข
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: สุโขทัย |
พิกัดภูมิศาสตร์: 17°01′N 99°45′E / 17.01°N 99.75°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดสุโขทัย
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2005-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติจังหวัดสุโขทัย เก็บถาวร 2006-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์จังหวัดสุโขทัย
ก่อนหน้า | จังหวัดสุโขทัย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ไม่มี | อดีตเมืองหลวงราชอาณาจักรแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 1792 - พ.ศ. 1981) |
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310) |